เครือรัฐบาฮามาส

เครือรัฐบาฮามาส

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 10,708 view


เครือรัฐบาฮามาส
Commonwealth of the Bahamas

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง อยู่ในทะเลแคริบเบียน ประกอบด้วยเกาะจำนวน 700 เกาะ และเกาะขนาดเล็กและโขดหินอีก 2,000 แห่ง ห่างจากมลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกาไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 80 กิโลเมตร

พื้นที่ 13,939 ตารางกิโลเมตร

ภูมิอากาศ กึ่งร้อนชื้น

ประชากร 307,451 คน (2551)

เมืองหลวง กรุงแนสซอ (Nassau)

ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ

ศาสนา คริสต์นิกายแบ็บติส โรมันคาทอลิก แองกลิกัน และโปรแตสแตนท์

เชื้อชาติ เชื้อสายแอฟริกัน ร้อยละ 85 เชื้อสายยุโรป ร้อยละ 12 เชื้อสายเอเชียและสเปน ร้อยละ 3

อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 96.6

หน่วยเงิน ดอลลาร์บาฮามาส (Bahamas Dollar) โดยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ คือ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 1 ดอลลาร์บาฮามาส

วันชาติ 10 กรกฎาคม (วันประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1973)

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ อาทิ กลุ่มประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-Caricom), CARIFORUM (CARICOM และสาธารณรัฐโดมินิกัน และคิวบา), G-77, ITU, OAS, NAM, PetroCaribe, UN , WTO (ในฐานะผู้สังเกตการณ์) เป็นต้น

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย

ประมุขของรัฐ สมเด็จพระราชชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีบาฮามาส คนปัจจุบันได้แก่ Sir Arthur A. FOULKES ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 14 เมษายน 2553

ฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล คนปัจจุบันได้แก่ นาย Hubert Ingraham ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบสภาคู่ ประกอบด้วยวุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิก 16 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 41 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงโดยทั้งสองสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2555

ฝ่ายตุลาการ ใช้ระบบกฎหมายและระบบศาลตามแบบอังกฤษ

สถานการณ์สำคัญทางการเมือง

เมื่อปี 2546 มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2516 (ค.ศ. 1973) เมื่อครั้งบาฮามาสได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร โดยคณะกรรมาธิการดังกล่าว ได้เสนอรายงานการศึกษาชุดแรกให้รัฐบาลพิจารณาเมื่อปี 2549 โดยเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองให้เป็นสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดี ซึ่งได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งจากรัฐสภา เป็นประมุขของรัฐ ทั้งนี้ ประชาชนชาวบาฮามาสจะมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอแก้ไขดังกล่าว ก่อนมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 พรรค Free National Movement (FNM) ซึ่งนำโดยนาย Hubert Ingraham ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และได้เข้ามาบริหารประเทศ โดยได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนสูง อย่างไรก็ดี วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2552 ที่ทำให้อัตราการว่างงานภายในประเทศสูงขึ้นมาก ส่งผลต่อคะแนนนิยมต่อนาย Ingraham ไม่น้อย การที่นาย Ingraham จะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในสมัยต่อไปหรือไม่ จึงยังไม่เป็นที่แน่ชัด

นโยบายต่างประเทศ

บาฮามาสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา โดยนอกจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าแล้ว บาฮามาสยังได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดและผู้อพยพด้วย เนื่องจากผลประโยชน์ส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับความมีเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาฮามาสด้วย เพราะมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้กันมาก โดยพื้นที่เกาะของบาฮามาสที่ใกล้สหรัฐฯ มากที่สุดอยู่ห่างออกไปเพียง 80 กิโลเมตรเท่านั้น บาฮามาสจึงถูกใช้เป็นเส้นทางผ่านในการลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่สหรัฐฯ อยู่เสมอ

ปัจจุบัน รัฐบาลบาฮามาสกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยบาฮามาสเป็นสมาชิก CARICOM เพียงประเทศเดียวที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก WTO ในขณะนี้ ซึ่งได้ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้าบางประการให้กับบาฮามาส ทางการบาฮามาสจึงต้องปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ภายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของ WTO อาทิ ระเบียบด้านทรัพย์สินทางปัญญา ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งคาดว่าอาจใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปีกว่ากระบวนการเข้าเป็นสมาชิก WTO จะแล้วเสร็จ

เศรษฐกิจการค้า

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -1.7 (2551)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 22,102.2 ดอลลาร์สหรัฐ (2551)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 7.9 (2551)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.1 (2552)

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ แร่อะราโกไนท์ เกลือ ไม้

มูลค่าการส่งออก 955.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

สินค้าส่งออกที่สำคัญ แร่เชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ขนส่ง อาหาร อาหารสัตว์ ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากแร่และเกลือ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เหล้ารัม เหล็ก เหล็กกล้า

มูลค่าการนำเข้า 3,199.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรกล เครื่องมือที่ใช้ในการขนส่ง แร่เชื้อเพลิงผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ อาหาร ข้าว ผลิตภัณฑ์ ข้าวสาลี รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ประเทศคู่ค้า สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สิงคโปร์ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ

บาฮามาสเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์กลางทางธุรกิจการเงินที่สำคัญในแคริบเบียน โดยรายได้จากการท่องเที่ยวมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ของ GDP ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมถึง ร้อยละ 50 ของแรงงานของประเทศ และแม้ว่าบาฮามาสจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้สูงที่สุดในโลก แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการกระจายรายได้ โดยส่วนมากจะกระจุกอยู่ในศูนย์กลางทางการพาณิชย์และการท่องเที่ยวเท่านั้น
เมื่อปี 2552 บาฮามาสได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกเช่นกัน โดยเฉพาะอันเนื่องมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ทำให้รัฐบาลมีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลงทุนในสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ได้แก่ การพัฒนาสนามบินนานาชาติประจำกรุงแนสซอและท่าเทียบเรือต่างๆ โครงการพัฒนาการเคหะ ไฟฟ้าและน้ำประปา รวมถึงการลงทุนพัฒนากองทัพและกองกำลังตำรวจของประเทศด้วย

ในด้านการค้ากับต่างประเทศ รัฐบาลบาฮามาสมีนโยบายส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้า และการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีการจัดคณะผู้แทนเยือนต่างประเทศ โดยเฉพาะทวีปเอเชีย ลาตินอเมริกา ประเทศอินเดียและแคนาดา เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเครือรัฐบาฮามาส

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและบาฮามาสอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยฝ่ายไทย มีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา เป็นจุดติดต่อราชการระหว่างไทยกับบาฮามาส

เมื่อปี 2548 ไทยได้เชิญผู้แทนจากประเทศสมาชิก CARICOM เยือนไทย เพื่อสร้างความรู้จักและความเข้าใจระหว่างประเทศไทยกับประเทศในแคริบเบียนให้มากขึ้น รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของประเทศเหล่านี้ อีกทั้งเพื่อเสริมสร้างและเผยแพร่บทบาทของไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหม่ ซึ่งบาฮามาสได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย

2. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็น 4.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 2.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 1.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าบาฮามาส มูลค่า 0.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผักกระป๋องและแปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา

แม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศในปี 2553 (มกราคม-ตุลาคม) จะขยายตัวขึ้นเป็น 7.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว แต่ไทยยังเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าบาฮามาสถึง 4.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกสินค้ามูลค่า 1.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้ามูลค่า 6.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

5.3 การท่องเที่ยว

เมื่อปี 2552 มีนักท่องเที่ยวชาวบาฮามาสเดินทางมาประเทศไทย จำนวน 183 คน

5.4 ความร่วมมือทางด้านวิชาการ

ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในระดับทวิภาคี อย่างไรก็ดี เพื่อส่งเสริมบทบาทการเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหม่ของประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของชาวบาฮามาสมากขึ้น ไทยจึงได้พัฒนาความร่วมมือกับบาฮามาส โดยการให้ทุนฝึกอบรมและทุนศึกษา ผ่านกรอบองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States-OAS) และประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-CARICOM) มาอย่างต่อเนื่อง

5.5 ความสัมพันธ์ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

ไทยและบาฮามาสมีความสัมพันธ์ที่ดีในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุนระหว่างกันในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ในองค์การระหว่างประเทศที่ไทยและบาฮามาสเป็นสมาชิก อาทิ สมาชิกคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระ ค.ศ. 2011-2013 ซึ่งบาฮามาสให้เสียงสนับสนุนฝ่ายเดียวแก่ไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งดังกล่าว และไทยได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งนี้

ปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อ 30 ธันวาคม 2553 โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กองลาตินอเมริกา

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0 26435000 ต่อ 13042, 13044, 13079, 13010 Fax. 0-2643-5127

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ