สาธารณรัฐเปรู
Republic of Peru
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก มีพรมแดนด้านเหนือ ติดกับเอกวาดอร์และโคลอมเบีย ด้านตะวันออกติดกับบราซิล และโบลิเวีย และด้านใต้ติดกับชิลี
พื้นที่ 1,285,200 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในทวีปอเมริกาใต้ และมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทย 2 เท่า
ภูมิอากาศ ภาคตะวันออกของประเทศมีอากาศร้อนชื้น ภาคตะวันตกแห้งแล้งแบบทะเลทราย และแถบเทือกเขาแอนดีสมีอากาศหนาวเย็น
เมืองหลวง กรุงลิมา (Lima)
ประชากร 29.15 ล้านคน (2552)
ภาษา ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ รวมถึงภาษา Quechua และภาษา Aymara ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นก็ได้รับการรับรองฐานะให้เป็นภาษาราชการด้วยเช่นกัน
ศาสนา นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 81 และนิกายอื่นๆ อีกร้อยละ10
เชื้อชาติ อินเดียนพื้นเมือง ร้อยละ 45 เมสติโซ (ผิวขาวผสมชนพื้นเมือง) ร้อยละ 37 ผิวขาว ร้อยละ 15 แอฟริกัน ญี่ปุ่น จีน และอื่นๆ ร้อยละ 3
อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 92.9
หน่วยเงินตรา นูเอโบ โซล (Nuevo Sol)
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2.772 นูเอโบ โซล
วันชาติ 28 กรกฎาคม (วันประกาศอิสรภาพจากสเปน)
สมาชิกองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ APEC, Andean Community, G-24, G-77, MERCOSUR (สมาชิกสมทบ), Non-Alignment Movement (NAM), Organization of American States (OAS), Union of the South American Nations (UNASUR), Union Latina
เวลาต่างจากไทย ช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง
การเมืองการปกครอง
รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยในระบอบสาธารณรัฐ
ฝ่ายนิติบัญญัติ มีสภาเดียว เรียกว่า Democratic Constituent Congress มีสมาชิก 120 คน และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี โดยอาจมีการยุบสภาระหว่างวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2554 พร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Alan Garcia Perez (พรรค APRA) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 28 กรกฎาคม 2549 ทั้งนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2554 พร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา
พรรคการเมืองสำคัญ พรรค American Popular Revolutionary Alliance (APRA) พรรค Peru Possible พรรค National Unity พรรค Union for Peru พรรค Peruvian Nationalist Party พรรค Force 2011
ฝ่ายตุลาการ ศาลชั้นต้น ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัดสำคัญของทุกภาค และศาลฎีกาที่ตั้งอยู่ในกรุงลิมา
สถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ
เปรูมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำประเทศ และมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยประธานาธิบดีไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้ง 2 สมัยติดกันได้ ปัจจุบันนาย Alan García Perez จากพรรค American Popular Revolutionary Alliance (APRA) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองซ้ายกลาง เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2549 และจะหมดวาระลงกลางปี 2554 นี้
ที่ผ่านมา รัฐบาลนาย Alan García Pérez เน้นนโยบายประชานิยมที่มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นและการพัฒนาระบบบริหารของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนาย Alan Garcia ได้พัฒนาเศรษฐกิจเปรูให้ดีขึ้นโดยลำดับจนเปรูกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตมากที่สุดแห่งหนึ่งในลาตินอเมริกา
ในวันที่ 10 เมษายน 2554 ที่จะถึงนี้ เปรูกำหนดจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ โพลล่าสุดของสำนัก Iposos Apoyo ชี้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีคะแนนนำ 3 รายได้แก่ นาย Alejandro Toledo อดีตประธานาธิบดีเปรูซึ่งดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2544-2549 นาง Keiko Fujimori บุตรสาวอดีตประธานาธิบดี Alberto Fujimori แห่งเปรู และนาย Luis Castañeda อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลิมา
ผู้สมัครทั้งสามรายมีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยสนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งจะเอื้อต่อบรรยากาศในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามแนวทางที่นาย Alan García ได้ดำเนินมา อย่างไรก็ดี รัฐบาลชุดต่อไปมีภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ การรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเปรูให้คงอยู่ในระดับเดิมหรือสูงกว่าต่อไป ทั้งนี้ หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่า ร้อยละ 50 จะต้องมีการเลือกตั้งในรอบที่สองซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน 2554
นโยบายต่างประเทศ
เปรูให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับทั้งสหรัฐฯ และการเพิ่มบทบาทในประชาคมระหว่างประเทศ โดยเคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มาแล้ว 4 สมัย และเคยมีชาวเปรูดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ คือ นาย Javier Perez de Cuellar
แม้เปรูจะให้ความสำคัญต่อการบูรณาการกลุ่มประชาคมแอนเดียน และการเป็นปึกแผ่นของอเมริกาใต้ (ภายใต้กรอบความร่วมมือ UNASUR และ FTAA) อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของเปรู โดยเป็นทั้งตลาดส่งออกและนำเข้าอันดับหนึ่งของประเทศ ขณะเดียวกันเปรูก็ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และประเทศในเอเชียอื่นๆ รวมทั้งไทย เพื่อเป็นฐานในการขยายตลาดด้านการค้า และการลงทุน ซึ่งจะเห็นได้จากการเข้าเป็นสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค การเข้าเป็นสมาชิก Trans-Pacific Strategic Economic Partnership พร้อมกับสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เวียดนามและมาเลเซีย รวมถึงนโยบายการจัดทำความตกลงเขตกาค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย ทั้งไทย จีน สิงคโปร์และเกาหลีใต้ เป็นต้น
เปรูเป็นหนึ่งในสามของประเทศลาตินอเมริกา (เปรู ชิลีและเม็กซิโก) ซึ่งเป็นสมาชิกเอเปค โดยมีบทบาทอย่างเข้มแข็งในกรอบความร่วมมือดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างเปรูกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความเจริญเติบโตและศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งทำให้เปรูได้รับประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี นอกจากนั้น เปรูยังเป็นสมาชิกเวทีความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia Latin America Cooperation: FEALAC) เช่นเดียวกับไทย
เศรษฐกิจการค้า
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 156.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2553)
อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 8.7 (2553)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 9,162 ดอลลาร์สหรัฐ(2553)
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 44.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2553)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.08 (2553)
มูลค่าการส่งออก 34.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2553)
สินค้าส่งออกสำคัญ ทองคำ ทองแดง ปลาและผลิตภัณฑ์จากปลา ปิโตรเลียม สังกะสี สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม หน่อไม้ฝรั่ง น้ำตาล กาแฟและฝ้าย
มูลค่าการนำเข้า 29.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2553)
สินค้านำเข้าสำคัญ ปิโตรเลียม เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานพาหนะ อาหารแปรรูป เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ทองคำ ทองแดง เงิน สังกะสี ตะกั่ว น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ปลาและสัตว์ทะเล
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ สหรัฐอเมริกา จีน บราซิล เอกวาดอร์ ชิลี อาร์เจนตินา เม็กซิโก แคนาดา ญี่ปุ่น
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 7.7
สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ
เปรูมีนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม มุ่งเน้นการเปิดเสรีทางการค้าและเศรษฐกิจ การแปรรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ปรับปรุงและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบภาษี ปรับลดภาษีนำเข้าผ่านทางการเปิดเสรีทั้งในระดับภูมิภาคภายใต้กรอบประชาคมแอนเดียน (ANDEAN Community) และ ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) และการทำความตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) กับประเทศต่างๆ ทั้งในลาตินอเมริกาและเอเชีย
เศรษฐกิจของเปรูในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก โดยมีภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าประมงและแร่ธาตุ และการลงทุนภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ในปี 2552 รัฐบาลเปรูได้อัดฉีดงบประมาณจำนวน 3.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างที่อยู่อาศัย ระบบน้ำปะปา ถนน ท่าเรือ และท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความยากจนในประเทศลดลงต่อเนื่องสี่ปี โดยล่าสุด เมื่อปี 2552 ความยากจนในเปรู คิดเป็นร้อยละ 34.8
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเปรู
1.ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยและเปรูได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2508 ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอ โดยไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม. 2549 (ค.ศ. 2006) ในขณะที่เปรูเปิดสถานเอกอัครราชทูตในไทยตั้งแต่ปี 2535 (ค.ศ.1992) และมีการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำจังหวัดสงขลาและเชียงใหม่
ปี 2553 เป็นปีแห่งการครบรอบ 45 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตเปรู ประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญดังกล่าว ดังนี้
การแลกเปลี่ยนสารแสดงความยินดีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ
การจัดทำ Common Bilateral Agenda Thailand-Peru 2011-2012 (ซึ่งเป็นเอกสารที่กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตเปรู ประจำประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน) สาระสำคัญของ Common Bilateral Agenda Thailand - Peru 2011 - 2012 สรุปได้ ดังนี้
ด้านการเมือง ครอบคลุมเรื่องการประชุม JC ครั้งที่ 3 (ที่เปรูจะเป็นเจ้าภาพ) การเจรจาจัดทำและ/หรือลงนามในความตกลงทวิภาคี การประเมินผล/ทบทวนการบังคับใช้ความตกลงทวิภาคีที่ลงนามไปแล้ว การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน และการให้มีการหารือทวิภาคีระหว่างผู้แทนระดับสูงในช่วงการประชุมพหุภาคีในกรอบต่างๆ
ด้านเศรษฐกิจ ครอบคลุมการบังคับใช้พิธีสาร Early Harvest บทบาทการเป็น hub ของแต่ละฝ่ายในภูมิภาคของตน การจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน รวมทั้งการจัดตั้ง Thai-Peru Business Council และการจัด Thai-Peru Business Summit Forum
ด้านวัฒนธรรม ครอบคลุมการจัดกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม อาทิ การจัดเทศกาลอาหาร การจัดการแสดง นิทรรศการภาพวาดและภาพถ่าย การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันต่างๆ เป็นต้น
ด้านความร่วมมือ ครอบคลุมความร่วมมือในระดับทวิภาคีต่าง เช่น ความร่วมมือทางวิชาการในสาขาต่างๆ เช่น การพัฒนาการปลูกข้าว การแปรรูปอาหารทะเล โบราณคดี การพัฒนาความร่วมมือด้านไทยศึกษาและเปรูศึกษา และการพัฒนาความร่วมมือด้านศุลกากร เป็นต้น อีกทั้งได้กล่าวถึงการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคีระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วย
ด้านกงสุล ครอบคลุมการพิจารณาเปิด สกม. ในเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยฝ่ายเปรูอยู่ระหว่างพิจารณาเปิด สกม. ที่ จ. ขอนแก่นและภูเก็ตเพิ่มเติม
การจัดเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คณะกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาเปรู-ไทยที่มีกำหนดเยือนไทยระหว่างวันที่ 14-21 พฤศจิกายน 2553 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ
การจัดทำสิ่งพิมพ์เพื่อแสดงลำดับเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเปรู
2. ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ไทยกับเปรู มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและใกล้ชิด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในระดับราชวงศ์และรัฐบาล อาทิ
ฝ่ายไทยเยือนเปรู
- ระดับพระราชวงศ์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนเปรูอย่างเป็นทางการ (ปี 2536) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนเปรู (ปี 2543)
- ระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล คือ นายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายชวน หลีกภัย (ปี 2542) และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (ปี 2551) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล เคยเดินทางเยือนเปรู 4 ครั้ง รวมทั้งในฐานะผู้แทนการค้าไทย (ปี 2546 -2548) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายสวนิต คงสิริ) เยือนเปรูเมื่อเดือน ส.ค. 2550 ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เปรู (นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์) เมื่อปี 2552 ผู้แทนการค้าไทย (นายวัชระ พรรณเชษฐ์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เยือนเปรู เมื่อปี 2553
ฝ่ายเปรูเยือนไทย คือ ประธานาธิบดีเปรู ได้แก่ นายอัลเบร์โต ฟูจิโมริ (ปี 2539) นายอเลฆานโดร โตเลโด (ในช่วงการประชุมเอเปค เมื่อปี 2546) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศ (นายคาร์ลอส โปซาดา) และกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาเปรู-ไทย นำโดยนายอัลแบร์โต เอสกูเดโร ประธานกลุ่มฯ เมื่อปี 2553
3. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
การค้าระหว่างไทยกับเปรูในปี 2553 มีมูลค่ารวม 414.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 213.28 จากปี 2553 โดยมูลค่าการค้าดังกล่าวคิดเป็น ร้อยละ 0.11 ของมูลค่าการค้ารวมของไทยกับทั่วโลก ไทยยังคงเป็นฝ่ายได้ดุล 203.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยมูลค่าการส่งออก 309.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 221.58 และนำเข้า 105.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 191.27 ทำให้เปรูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา (รองจากบราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา ชิลีและโคลอมเบีย)
สินค้าส่งออกที่สำคัญจากไทย 1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2) เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง 3) เม็ดพลาสติก 4) ผลิตภัณฑ์ยาง 5) ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ 6) ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ 7) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ
สินค้านำเข้าที่สำคัญจากเปรู 1) สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ 2) สัตว์น้ำสดแช่เย็น แช่แข็งแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป 3) สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ 4) ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ 5) เคมีภัณฑ์ 6) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 7) เสื้อผ้าสำเร็จรูป
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 ทั้งสองประเทศได้ลงนามในพิธีสารเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 ภายใต้พิธีสารเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า 2548 (Early Harvest) ซึ่งครอบคลุมการลดหรือยกเลิกภาษีของสินค้าที่ค้าขายระหว่างกันบางส่วนประมาณร้อยละ 70 ในชั้นนี้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการภายในเพื่อให้พิธีสารข้างต้นมีผลบังคับใช้
ในแง่การลงทุน ทั้งสองประเทศยังมีการลงทุนระหว่างกันน้อย บริษัทสัญชาติเปรูที่ลงทุนในไทย คือ บริษัท อาเจไทย จำกัด (Ajethai Co., Ltd) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำอัดลม ภายใต้ชื่อ Big Cola ที่มีการส่งออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียด้วย โดยไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เปรูมาลงทุนในสินค้านี้ ผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปด้วยดี และมีแผนจะลงทุนสร้างโรงงานการผลิตแห่งใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิตด้วย
4. ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว
ในปี 2553 มีชาวเปรูเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 2,641 คน ทั้งนี้ การเดินทางของประชาชน ทั้งสองประเทศมีความสะดวก เนื่องจากไทยและเปรูได้ทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต ราชการ และธรรมดา ตั้งแต่ปี 2542
5. ความร่วมมือทางด้านวิชาการ
ไทยและเปรูลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กับ Peruvian International Cooperation Agency (APCI) ลงนามเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2549 ซึ่งฝ่ายไทยได้เสนอให้ความร่วมมือกับเปรูใน 3 สาขา ได้แก่ (1) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture) (2) การท่องเที่ยว (Tourism) และ (3) ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีความพร้อม และฝ่ายเปรูได้เสนอให้ความร่วมมือกับไทยในด้านการแปรรูปอาหารทะเลและด้านการย้อมสีเส้นด้ายไหม และการศึกษาดูงานที่เปรูของผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปอาหารทะเลของไทย นอกจากนี้ ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองประเทศอาจจะขยายครอบคลุมด้านพลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยาเสพติด เป็นต้น โดยผ่านการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ การให้ทุนการศึกษา และการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและการสัมมนา
ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือทางวิชาการในกรอบ FEALAC ด้วย โดยไทยได้เชิญให้ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศเปรูเข้าร่วมโครงการบัวแก้วสัมพันธ์-ลาตินอเมริกา เพื่อรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา โดยฝ่ายเปรูให้ความสนใจที่จะกระชับความร่วมมือกับไทยในโครงการพัฒนาทางเลือก รวมทั้งเมื่อครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือด้านยาเสพติดสำหรับประเทศในกลุ่ม FEALAC ซึ่งเปรูเป็นสมาชิก เมื่อปี 2548 เปรูก็ส่งผู้แทนเข้าร่วมงาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการต่อสู้กับปัญหายาเสพติด
6. ความสัมพันธ์ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนการสนับสนุน
ไทยและเปรูเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ซึ่งภูมิภาคลาตินอเมริกามี 3 ประเทศ คือ เม็กซิโก ชิลี และเปรู ที่เป็นสมาชิก และกรอบความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (FEALAC)
ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือที่ดีระหว่างกันในเวทีระหว่างประเทศโดยตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในเวทีเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศในฐานะที่ต่างเป็นประเทศกำลังพัฒนาและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรด้วยกัน โดยเฉพาะในเวทีองค์การสหประชาชาติและ The Cairns Group
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุนในการลงสมัครตำแหน่งสำคัญในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ด้วยดีตลอดมา อาทิ เปรูให้เสียงสนับสนุนไทย ในตำแหน่งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี 2010-2013 โดยไทยจะสนับสนุนเปรูในตำแหน่งเดียวกัน วาระปี 2011-2014 เป็นการต่างตอบแทน
7. ความตกลงที่สำคัญ
ไทยและเปรูได้ลงนามความตกลงทวิภาคีแล้ว 37 ฉบับ และยังอยู่ระหว่างการเจรจาอีกจำนวน 15 ฉบับ
ความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว อาทิ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศกับกับ National Aerospace Research and Development Commission of Peru (CONIDA) ซึ่งฝ่ายไทยตอบรับข้อเสนอโครงการความร่วมมือของเปรูใน 3 สาขาได้แก่ พืชเสพติด (Illicit crops) การติดตามการทำลายป่าไม้ (Deforestation monitoring) และการทำแผนที่เพื่อการจัดการพื้นที่ (Cartography for land-use management) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการและหนังสือเดินทางธรรมดา บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทยกับ The Peruvian International Cooperation Agency
ความตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา อาทิ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติด ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน สนธิสัญญาว่าด้วยโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข บันทึกความเข้าใจด้านการเพาะเลี้ยงหม่อนไหม เป็นต้น
ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554
กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 02 6435000 ต่อ 13042, 13044, 13079, 13010 Fax. 0-2643-5127