วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.พ. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล
Federative Republic of Brazil
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้ มีอาณาเขตติดกับเกือบทุกประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ ซูรินาเม กายอานา เฟรนช์เกียนา เวเนซุเอล่า โคลอมเบีย เปรู โบลิเวีย ปารากวัย อาร์เจนตินา และอุรุกวัย ยกเว้น ชิลี และเอกวาดอร์
ขนาดพื้นที่ 8,511,965 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกาและใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก (ไทย 513,120 ตารางกิโลเมตร อันดับ 51 ของโลก)
ภูมิประเทศ/ภูมิอากาศ 1) ภาคเหนือ กินพื้นที่ร้อยละ 42 ของทั้งประเทศ หรือใหญ่กว่ายุโรปตะวันตกทั้งหมด เป็นเขตลุ่มแม่น้ำอเมซอน ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีปริมาณน้ำจึด 1 ใน 5 ของโลก รวมทั้งเป็นเขตป่าฝน (rainforest) ที่ใหญ่ที่สุดของโลกด้วย 2) ภาคตะวันตกตอนกลาง เป็นที่ราบสูงเฉลี่ย 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล กินพื้นที่ร้อยละ 22 ของประเทศต่อจากเขตอเมซอนไปทางใต้ เป็นเขตป่าไม้ชุกชุม เป็นพี้นที่เพาะปลูกและทำปศุสัตว์ บางแห่งเป็นพื่นที่แห้งแล้งกันดาร 3) ภาคตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่เพียงร้อยละ 11 ของประเทศ แต่เป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่ที่สุด 3 เมืองของบราซิล คือรีโอเดจาเนโร เซาเปาลู และเบโลโอรีซอนตี และเป็นที่อยู่ของประชากรร้อยละ 45 ของทั้งประเทศ เป็นพื้นที่ชายฝั่งหาดทราย และที่ราบสูง 4) ภาคใต้ มีพื้นที่น้อยที่สุด มีอากาศใกล้เคียงกับยุโรป มีหิมะตกบางพื้นที่ในฤดูหนาว เป็นที่ตั้งรกรากของชาวยุโรปที่ไปตั้งถิ่นฐานในบราซิลในศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะจาก อิตาลี เยอรมนี โปแลนด์ และรัสเซีย และอยู่อาศัยเรื่อยมาจนปัจจุบัน ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ผลิตผลสำคัญ ได้แก่ ข้าวสาลีข้าวโพด ถั่วเหลือง และข้าว รวมทั้งเป็นเขตปศุสัตว์ที่สำคัญของประเทศด้วย
ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม บอกไซท์ ทองคำ แร่เหล็ก (เป็นผู้ส่งออกแร่และผลิตภัณฑ์เหล็กรายใหญ่ที่สุดในโลก) แมงกานีส นิกเกิล ฟอสเฟต พลาตินัม ดีบุก ยูเรเนียม พลังน้ำ และไม้
ประชากร (2555) 194.7 ล้านคน
เมืองหลวง กรุงบราซิเลีย (Brasilia)
ภาษา โปรตุเกส (ภาษาราชการ)
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (ร้อยละ 80)
เชื้อชาติ ผิวขาว (โปรตุเกส อิตาลี เยอรมัน สเปน โปแลนด์) (ร้อยละ 55) ผิวผสมระหว่างผิวขาวและผิวดำ (ร้อยละ 38) ผิวดำ ร้อยละ 6และอื่นๆ {ญี่ปุ่น อาหรับ ชาวอินเดียนพื้นเมือง (Amerindian)} (ร้อยละ 1
หน่วยเงินตรา เฮอัล (REAL) อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 1.95 เฮอัล (พ.ค. 2555)
วันได้รับเอกราช 7 กันยายน 2365 (ค.ศ. 1822) จากโปรตุเกส
วันชาติ Independence Day วันที่ 7 กันยายน
วันสถาปนารัฐธรรมนูญ 5 ตุลาคม 2531 (ค.ศ. 1988)
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ FAO, ECLAC,G11, G15, G20, G77, GATT, IBRD, ICAO, ILO,IMF,ITU,LAIA, MERCOSUR, NAM (OBSERVER), OAS, UN, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, Rio Group, UNPROFOR, WHO, WIPO, เป็นต้น
เวลาต่างจากไทย ช้ากว่าไทย 9 ชั่วโมงในช่วงเดือนตุลาคม - มีนาคม และ 10 ชั่วโมง ในช่วงเดือนมีนาคม - ตุลาคม
รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี และเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐ (Federative Republic)
ประมุขของประเทศ ประธานาธิบดี นาง Dilma Rousseff ซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อ 31 ต.ค. 2553 และเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ม.ค. 2554
รองประธานาธิบดี นาย Michel Temer
หัวหน้ารัฐบาล นาง Dilma Rousseff
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Antonio de Aguiar Patriota
การแบ่งเขตการปกครอง 26 รัฐ (state) และ 1 เขตนครหลวง (Federal District) มีผู้ว่าการรัฐรวม 27 คน และผู้บริหารเทศบาล (municipalities) จำนวน 5,564 แห่ง
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี คณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี
ฝ่ายนิติบัญญัติ สภาแห่งชาติ (Congresso Nacional) เป็นระบบรัฐสภาคู่ ประกอบด้วย; 1) วุฒิสภา (Federal Senate) มีสมาชิกจำนวน 81 คน ประกอบด้วยตัวแทนจาก 26 รัฐ และ 1 เขตนครหลวง มาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของแต่ละรัฐและเขตนครหลวงจำนวนละ 3 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี โดยที่ 1 ใน 3 ได้รับเลือกตั้งหลังจาก 4 ปี และ 2 ใน 3 ได้รับการเลือกตั้งอีก 4 ปีถัดไป มีการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อ 31 ต.ค. 2553 ประธานวุฒิสภาปัจจุบันคือนาย José Sarney จากพรรค PMDB 2) สภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) มี สมาชิกจำนวน 513 คน โดยแต่ละรัฐจะมีผู้แทนอย่างน้อย 8 ที่นั่งและไม่เกิน 70 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งตามสัดส่วนประชากร มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี วาระการประชุม สภาแห่งชาติมีการประชุมที่กรุงบราซิเลีย ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 30 มิถุนายน และระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 15 ธันวาคม ของทุกปี ทั้งวุฒิสมาชิกและผู้แทนราษฎรต่างสังกัดพรรคการเมืองและการย้ายพรรคการเมืองเป็นเรื่องปกติ ทั้งสองสภามีอำนาจเสนอร่างกฏหมายและมีหน้าที่พิจารณาร่างกฏหมายที่ประธานาธิบดีเสนอ โดยสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาก่อนและส่งให้วุฒิสภาพิจารณาจากนั้นจึงส่งต่อให้ประธานาธิบดีพิจารณาก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ระบบกฏหมาย ใช้ประมวลกฎหมายโรมัน (Roman codes)
ฝ่ายตุลาการ มีศาลสูงสุดแห่งชาติ (Supreme Federal Tribunal) โดยที่ผู้พิพากษาทั้ง 11 คน มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและรับรองโดยวุฒิสภา มีวาระดำรงตำแหน่งตลอดชีพ นอกจากนี้ ยังมี Superior Court of Justice และ Supreme Electoral Court และ National Justice Council
ระบบพรรคการเมือง
บราซิลได้รับเอกราชจากโปรตุเกสเมื่อปี 2365 แต่ยังคงปกครองด้วยระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่อีกระยะหนึ่งจนในปี 2434 จึงสถาปนาระบบสหพันธ์สาธารณรัฐ (Federative Republic)
บราซิลอยู่ภายใต้การปกครองของทหารในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2507 จนกระทั่งมีการ เลือกตั้งประธานาธิบดีที่เป็นพลเรือนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยขึ้นในปี 2528 ปัจจุบันบราซิลมีพรรคการเมืองกว่า 20 พรรค และมีรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค นำโดยพรรคแรงงาน และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 9 พรรค มีที่นั้งในสภารวม 311 ที่นั่ง และพรรคฝ่ายค้านจำนวน 6 พรรค มีที่นั่งในสภารวม 136 ที่นั่ง อีก 66 ที่นั่งเป็นพรรคการเมืองอิสระ
พรรคการเมืองที่สำคัญในบราซิล ได้แก่ พรรคแรงงาน (Partido Trabalhista Brasileiro – PT) และพรรคแนวร่วมประชาธิปไตยบราซิล (Partido do Movimento Democrático Brasileiro – PMDB) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลักในปัจจุบัน นอกจากนั้น ยังมีพรรคสังคมประชาธิปไตยบราซิล (Partido da Social Democracia Brasileira – PSDB) และพรรคประชาธิปไตย (Democratas – DEM) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน
1) พรรคแรงงาน (Partido Trabalhista Brasileiro – PT)
ก่อตั้งเมื่อปี 2523 โดยมีรากฐานจากกลุ่มสหภาพแรงงานรวมตัวเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร มีแนวนโยบายสังคมนิยมซ้าย เป็นแกนนำพรรครัฐบาลตั้งแต่ ปี 2545 มาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้นำพรรค ได้แก่ อดีตประธานาธิบดี Luiz Inácio Lula da Silva (2545 – 2553) ชนะการเลือกตั้งในปี 2545 และอีกสมัยในปี 2549 ประธานาธิบดี Lula ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเพราะบุคลิกภาพ และมีความเป็นผู้นำสูง ประกอบกับประวัติส่วนตัวที่เคยเป็นผู้ใช้แรงงาน ด้อยโอกาสทางการศึกษา และเป็นผู้นำสหภาพแรงงาน ทำให้ได้รับความชื่นชม และการสนับสนุนอย่างมากจากผู้ยากไร้
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 นาง Dilma Rousseff เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีหญิง คนแรกของบราซิล เป็นทายาททางการเมืองของอดีตประธานาธิบดี Lula นาง Rousseff ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง เคยเป็นนักต่อสู้เข้าร่วมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารในยุคทหารปกครองประเทศ เข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานบราซิลเมื่อปี 2544 และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทางการเมืองในช่วงรัฐบาล Lula ได้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเหมืองแร่ และรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดีตามลำดับ
ปัจจุบันพรรค PT มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 88 ที่นั่ง (จากจำนวน 513 ที่นั่ง) และวุฒิสภา 14 ที่นั่ง (จาก 81 ที่นั่ง)
2) พรรคแนวร่วมประชาธิปไตยบราซิล (Partido do Movimento Democrático Brasileiro - PMDB)
ก่อตั้งในยุคทศวรรษที่ 1970 มีอุดมการณ์สังคมนิยมซ้ายต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร เคยใช้สัญลักษณ์ธงแดงพื้นดำเป็นธงประจำพรรค แต่ปัจจุบันปรับนโยบายเป็นพรรคสายกลาง (centrists) มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 79 ที่นั่ง (จากจำนวน 513 ที่นั่ง) และวุฒิสภา 20 ที่นั่ง (จาก 81 ที่นั่ง) พรรค PMDB ให้การสนับสนุน ประธานาธิบดี Rousseff และเป็นพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้
3) พรรคสังคมประชาธิปไตยบราซิล (Partido da Social Democracia Brasileira – PSDB)
ก่อตั้งเมื่อปลายทศวรรษที่ 1980 โดยแยกมาจากพรรค PMDB นำโดยอดีตวุฒิสมาชิก Fernando Henrique Cardoso ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้คิดค้น “Real Plan” ซึ่งสร้างความเจริญเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงดำเนินนโยบายสุขภาพพื้นฐาน และการปฏิรูปการศึกษา ทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสองสมัย (ปี 2537 และ 2541) ก่อนพ่ายแพ้ให้แก่พรรค PT เรื่อยมา หลังจากที่ประธานาธิบดี Lula ครบวาระในสมัยแรก นาย Jose Serra ได้พยายามชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2545 แต่พ่ายแพ้ต่อประธานาธิบดี Lula หลังจากนั้นได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐเซาเปาลู และลาออกเพื่อลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2553 แต่ก็ยังพ่ายแพ้แก่นาง Rousseff ผู้สมัครจากพรรค PT
อย่างไรก็ดี แม้พรรค PSDB พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2553 แต่กลับได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งระดับรัฐหลายรัฐสำคัญ ซึ่งรวมถึงรัฐเซาเปาลู และรัฐมีนัสเชไรส์ ปัจจุบันพรรค PSDB เป็นพรรคฝ่ายค้าน มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 53 ที่นั่ง (จากจำนวน 513 ที่นั่ง) และวุฒิสภา 11 ที่นั่ง (จาก 81 ที่นั่ง)
4) พรรคประชาธิปไตย (Democratas – DEM)
เป็นพรรคฝ่ายตรงข้ามของพรรค PT และพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ มีแนวนโยบายเสรีนิยม มุ่งลดภาษี เดิมชื่อพรรค Frente Liberal แต่เนื่องจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งติดต่อหลายสมัย จึงเปลี่ยนชื่อเพื่อแก้ภาพลักษณ์ ปัจจุบัน พรรค DEM ได้แสวงหาแนวร่วมและสมาชิกจากคนรุ่นใหม่ เพราะพรรคเคยประกอบด้วยคนสูงอายุหัวเก่าและมีความผูกพันกับกลุ่มนิยมทหารเดิม ปัจจุบันมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 43 ที่นั่ง (จากจำนวน 513 ที่นั่ง) และวุฒิสภา 6 ที่นั่ง (จาก 81 ที่นั่ง)
การเมืองการปกครอง
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 ประธานาธิบดี Rousseff ได้ประกาศนโยบายหลักในการบริหารรัฐบาล (1 มกราคม 2554 31 ธันวาคม 2557) ว่าจะพยายามเต็มที่ที่จะสานต่อความสำเร็จของประธานาธิบดี Lula โดยจะสานต่อนโยบายของรัฐบาลเดิม ซึ่งใช้ orthodox economic policy กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth Acceleration) ผสมผสานการใช้นโยบายทางสังคม การกระจายรายได้ นโยบายต่อต้านความอดอยากหิวโหย การสนับสนุนครอบครัวรายได้น้อยภายใต้นโยบายการให้เงินช่วยเหลือแก่ครอบครัว (Bolsa Familia) โดยรัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญกับการขจัดความยากจนและการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับประชาชน เร่งดำเนินนโยบายด้านสาธารณูปโภค การศึกษา และการสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมบราซิล รวมถึงปฏิรูประบบการเมืองเพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตยและความโปร่งใส ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น และพัฒนาระบบข่าวกรอง การควบคุมชายแดนเพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลประธานาธิบดี Lula เป็นต้นมา (ปี 2545-2553) รัฐบาลบราซิลได้ดำเนินนโยบายที่รัฐมีบทบาทนำในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (state-led economy) การลงทุนด้านสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมหลัก โทรคมนาคม และการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการน้ำมัน ซึ่งผลจากการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ เมื่อปี 2550 รัฐบาลได้จัดตั้ง Petrosal เพื่อบริหารจัดการกิจการน้ำมันของบราซิล นอกเหนือจากบริษัท Petrobas
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2554) ร้อยละ 2.7
อัตราเงินเฟ้อ (2554) ร้อยละ 6.6
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) (PPP) (2554) 2.324 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 8 ของโลก (ไทย 609 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 25)
โครงสร้าง GDP (2554) ภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 6.5 ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 25.8 ภาคบริการ ร้อยละ 67.7
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) (PPP) (2554) 11,900 ดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 102 ของโลก (ไทย 9,500 ดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 115)
เกษตรกรรม กาแฟ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าว น้ำตาล โกโก้ ข้าวโพด อ้อย ผลไม้จำพวกส้ม เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู
อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์เหล็ก และเหล็กกล้า เครื่องจักรกล และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้า แร่โลหะ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สิ่งทอ รองเท้า และเครื่องหนัง เคมีภัณฑ์ ซีเมนต์ ไม้และผลิตภัณฑ์ เครื่องบิน ยานพาหนะและส่วนประกอบ กระดาษ และเยื่อกระดาษ
อัตราการว่างงาน (2554) ร้อยละ 6
แรงงาน (2554) 104.7 ล้านคน
แรงงานตามสาขาอาชีพ บริการ (ร้อยละ 66) เกษตรกรรม (ร้อยละ 20) อุตสาหกรรม (ร้อยละ 14)
การส่งออก (2554) มูลค่า 256.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้า แร่เหล็ก อลูมิเนียม ตะกั่ว สินแร่อื่น ๆ เครื่องจักรและ อุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ กระดาษ และเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องหนัง รองเท้า สิ่งทอ ถั่วเหลือง กาแฟ น้ำตาล น้ำส้ม เนื้อวัว และเนื้อไก่ บุหรี่และใบยาสูบ
ประเทศคู่ค้า (2554) จีน (ร้อยละ 17.31) สหรัฐฯ (ร้อยละ 10.08) อาร์เจนตินา (ร้อยละ 8.8) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 5.33) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 3.70) ไทย (ลำดับที่ 33 ร้อยละ 0.71)
การนำเข้า (2554) 226.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้า อุปกรณ์ เครื่องจักร และเครื่องยนต์ อุปกรณ์ ไฟฟ้า และอุปกรณ์สำหรับการติดต่อสื่อสาร น้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์ และอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ ธัญพืช ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์ยา ปุ๋ยและยา กำจัดศัตรูพืช เครื่องบิน ผ้าผืน และเส้นด้ายน้ำมัน และวัตถุดิบที่ใช้ในภาคการผลิต
ประเทศคู่ค้า (2554) สหรัฐฯ (ร้อยละ 15.01) จีน (ร้อยละ 14.49) อาร์เจนตินา (ร้อยละ 7.97) เยอรมนี (ร้อยละ 6.72) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 4.46) ไทย (อับดับที่ 22 ร้อยละ 1.06)
**ข้อมูล CIA World Factbook
นโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ
- ก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยยึดหลักสำคัญคือ พลังงานสะอาด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี การลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต
- รักษาเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมนโยบายการค้าเสรี ต่อต้านระบบ Protectionism
- สนับสนุนการปฏิรูประบบการเงินโลก เพื่อป้องกันปัญหาเงินทุนไหลเวียนและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ต่อต้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม/ การไหลข้าวของเงินทุนต่างประเทศ เพื่อเก็งกำไร
- ปฏิรูประบบภาษีให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน และเป็นธรรม รวมทั้งแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2554 จะอยู่ที่ร้อยละ 5
- ส่งเสริมโครงการลงทุนและระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2557 และกีฬาโอลิมปิกในปี 2559 และเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนในท้องถิ่นในระยะยาว
- พัฒนาโครงการขุดเจาะน้ำมันซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อความก้าวหน้าทางสังคมโดยคำนึงถึงดุลยภาพด้านสิ่งแวดล้อม
- ลดรายจ่ายภาครัฐ โดยการลดงบประมาณของทุกกระทรวงลงตามสัดส่วน ยกเว้นนโยบายด้านสังคม เช่น Bolsa Familia
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
ในช่วง 3 ทศวรรษก่อนทศวรรษที่ 1980 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิลสูงถึงร้อยละ 7.3 แต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 ได้เกิดวิกฤตการณ์เสถียรภาพทางการเงิน โดยมีปัญหาเงินเฟ้อและขาดดุลการชำระเงิน รัฐบาลจึงดำเนินมาตรการต่างๆ ในชื่อ Real Plan เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงิน โดยสร้างวินัยการเงิน ปล่อยค่าเงินลอยตัว และลดภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงทบทวนนโยบายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าซึ่งดำเนินมาตรการมากว่า 35 ปีและทำให้เศรษฐกิจมีลักษณะปิดและปกป้องตัวเอง
โดยในช่วงทศวรรษที่ 1990 บราซิลหันมาใช้นโยบายเปิดเศรษฐกิจ และได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 และในเวลาต่อมา รัฐบาลของประธานาธิบดี Lula ได้แสดงเจตจำนงในการใช้หนี้ต่างประเทศทำให้ลดลงจากร้อยละ 58.7 ของ GDP ในปี 2546 เหลือร้อยละ 51.6 ในปี 2548 และในปี 2552 หนี้ต่างประเทศของบราซิลลดเหลือร้อยละ 11.6 ของ GDP นอกจากนี้ การตัดสินใจให้กู้เงินจำนวน 14 พันล้านเหรียญสหรัฐแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศในปลายปี 2552 แสดงถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของบราซิลเป็นอย่างมาก และในปี 2554 บราซิลคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวของ GDP ประมาณร้อยละ 8
ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม G20 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่สาธารณรัฐเกาหลี ประธานาธิบดีบราซิลได้วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างรุนแรง ว่าเป็นชนวนก่อให้เกิดสงครามเงินตรา (Currency War) ทั่วโลก และจะทำให้เศรษฐกิจของโลกล้มละลายหากทุกประเทศลดค่าเงินของตนเพื่อความได้เปรียบในการส่งออก
ภาพรวมเศรษฐกิจ
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เมื่อเดือนมกราคม 2555 ธนาคารกลางบราซิลเปิดเผยว่า GDP ของบราซิลจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.5 จากปีที่ผ่านมา
- การค้าระหว่างประเทศ ในปี 2554 บราซิลส่งออกเป็นมูลค่ารวม 256.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าเป็นมูลค่ารวม 226.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บราซิลได้เปรียบดุลการค้า 29.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการค้ารวมปรับตัวสูงขึ้น จาก 383.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2553 เป็น 482.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2555
- การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) ธนาคารกลางบราซิล รายงานว่ามูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศปี 2554 มีมูลค่าถึง 66.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึงร้อยละ 37.5 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางบราซิลคาดว่าในปี 2555 มูลค่าการลงทุนจะลดเหลือ 50 พันล้านดอลลร์สหรัฐ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของเม็ดเงินที่ไหลเข้าบราซิลมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็งกำไรจากอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหา
- อัตราเงินเฟ้อ เมื่อปี 2554 ธนาคารกลางบราซิลได้ประเมินอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ ร้อยละ 6.5 และได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 12.50 เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ในปี 2555 และ 2556 บราซิลตั้งเป้าจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ร้อยละ 4.5 เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และเพื่อควบคุมราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้น
ภาพรวมพลังงานทดแ ทนของบราซิล
บราซิลมีเป้าหมายจะลงทุนด้านพลังงานมูลค่าประมาณ 644 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างปี ค.ศ. 2011 – 2020 โดยจะลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (434 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภาคการผลิตไฟฟ้า (149 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเชื้อเพลิงชีวภาพ (61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งหากการลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2020 พลังงานทดแทนจะมีสัดส่วนเป็น ร้อยละ 46.3 (ปัจจุบันพลังงานทดแทนมีสัดส่วน ร้อยละ 44.8) และปิโตเลียมจะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 31.8 (ปัจจุบันปิโตรเลียมมีสัดส่วนร้อยละ 38.5) ของโครงสร้างพลังงานของประเทศ
ปัจจุบัน บราซิลมีบทบาทสำคัญในการสร้างอุปสงค์ของพลังงานทดแทนในเวทีระหว่างประเทศ และเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเอทานอลในหลายโอกาส
การพัฒนาเอทานอลเป็นพลังงานทดแทน
วิกฤตการณ์น้ำมันในปี 2516 ประกอบกับราคาน้ำตาลตกต่ำ ทำให้รัฐบาลบราซิลประกาศโครงการ “Pro-Alcool” หรือ “Program Nacional do Alcool” (National Alcohol Program) ขึ้นในปี 2518 ส่งเสริมการใช้เอทานอลที่ผลิตจากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ โดยรัฐบาลบราซิล และธนาคารโลกได้ให้เงินสนับสนุนทั้งในการขยายพื้นที่การ ปลูกอ้อย และการสร้างโรงกลั่นเอทานอล
ในระยะแรก บราซิลใช้เอทานอลผสมในน้ำมัน (anhydrous ethanol) ในอัตราส่วนร้อยละ 13 - 20 (E13 – E20) ต่อมาในปี 2523 บราซิลเริ่มทดลองใช้เอทานอล ร้อยละ 100 (E100 - hydrous ethanol) แต่โดยที่รถยนต์ยังเป็นแบบที่ผลิตเพื่อใช้กับน้ำมัน จึงทำให้การทำงานของเครื่องยนต์ไม่ได้ ประสิทธิภาพเต็มที่ รัฐบาลบราซิลจึงเริ่มส่งเสริมการผลิตรถยนต์ที่ออกแบบพิเศษ สามารถใช้ได้กับทั้งเอทานอล และกับน้ำมันเชื้อเพลิง (Flexible-fuel vehicle หรือ Flex-Fuel) และตั้งแต่ปี 2546 ก็เริ่มมีการผลิตรถยนต์ Flex-Fuel เพื่อการค้า ซึ่งใช้ได้กับ E100 และ E18 – E25 ทั้งนี้ รถยนต์ Flex-Fuel ได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2547 ปริมาณการผลิตรถยนต์ Flex-Fuel มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 17 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2554 มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 83 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในบราซิล
ในการเยือนบราซิลของอดีตนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร) ระหว่าง 15 – 16 มิถุนายน 2547 ไทยและบราซิลได้หารือความร่วมมือด้านเอทานอล นับจากนั้นไทยและบราซิลได้ แลกเปลี่ยนการเยือนของผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ทดแทนของบราซิลและชาติอื่นๆ เข้าร่วมการประชุม FEALAC Inter-regional Workshop on Clean Fuels and Vehicle Technologies: the Role of Science and Innovation เมื่อ 28 – 29 มิถุนายน 2549 ที่กรุงเทพฯ ช่วยให้เกิดเครื่อข่ายระหว่างผู้เชี่ยวชาญ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยี
เมื่อปี 2553 บราซิลผลิตเอทานอลเป็นปริมาณ 27 พันล้านลิตร คิดเป็นร้อยละ 26 ของปริมาณที่ผลิตได้ในโลก เป็นรองเพียงสหรัฐฯ ซึ่งผลิตเป็นปริมาณ 50 พันล้านลิตรในปีเดียวกัน บราซิลและสหรัฐฯ สามารถผลิตเอทานอลได้กว่าร้อยละ 70 ของเอทานอลที่จำหน่ายทั่วโลก โดยสหรัฐฯ ผลิตเอทานอลจากข้าวโพด ในขณะที่บราซิลผลิตจากอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพจึงทำให้สามารถผลิตเอทานอลได้ในราคาที่ถูกกว่าการใช้วัตถุดิบประเภทอื่น อย่างไรก็ดี การผลิตเอทานอลจากอ้อยยังไม่เสถียรเพราะเมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น เกษตรกรก็จะหันไปให้ความสำคัญกับการผลิตน้ำตาลเป็นหลัก
นโยบายการต่างประเทศภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี Rousseff ตามที่ได้กล่าว ในการแถลงนโยบายครั้งแรก ได้แก่
- ยึดมั่นในสันติภาพ การไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
- ต่อสู้ความยากจน ความอดอยากในโลก
- กระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในอเมริกาใต้ ลาตินอเมริกา แคริบเบียน แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย รักษาและกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป และให้ความสำคัญ กับประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของ MERCOSUR และ UNASUR
- เข้าร่วมการสร้างเสริมเสถียรภาพของสภาบันการเงินระหว่างประเทศ สนับสนุนการ ปฏิรูปองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติและสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ บราซิลได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันการปฏิรูปสหประชาชาติ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยบราซิลร่วมกับเยอรมนี อินเดีย และญี่ปุ่น ในนามกลุ่ม 4 (G-4) เสนอ ให้เพิ่มจำนวนสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อให้คณะมนตรีฯ มีสมาชิกจากแต่ละภูมิภาคของโลกในสัดส่วนที่เป็นธรรม และมีสมาชิกทั้งจากประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา โดยเสนอให้เพิ่มสมาชิกถาวรอีก 6 ประเทศ (จากเดิม 5 ประเทศ) จากภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกาภูมิภาคละ 2 ประเทศ ลาตินอเมริกา และแคริบเบียน และยุโรปตะวันตก และอื่นๆ ภูมิภาคละ 1 ประเทศ และให้เพิ่มสมาชิกไม่ถาวรอีก 4 ประเทศ (จากเดิม 10 ประเทศ) จากภูมิภาคแอฟริกา เอเชีย ลาตินอเมริกา และแคริบเบียน และยุโรปตะวันออก ภูมิภาคละ 1 ประเทศ รวมเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้งหมด 25 ประเทศ
- ไม่สนับสนุนการมีและการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ การก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ
- ส่งออกวัฒนธรรมบราซิลผ่านดนตรี ภาพยนตร์ และวรรณกรรม
บราซิลพยายามรักษาสมดุลของความสัมพันธ์กับทั้ง สหรัฐฯ และบางประเทศ ในลาตินอเมริกาที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ เช่น เวเนซุเอลา และคิวบา บราซิลดำเนินความสัมพันธ์กับ สหรัฐฯ บนหลักต่างตอบแทนและการเคารพซึ่งกันและกัน สำหรับภูมิภาคอื่นๆ บราซิลดำเนินความ สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศที่มีบทบาทสูงในภูมิภาคเอเชีย อาทิ จีน ญี่ปุ่น เช่น เห็นได้จากการ ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกประเภทนอกภูมิภาค (Non-regional membership) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) เมื่อปลายปี 2552 ซึ่งนับเป็นการพยายามขยายและยกระดับบทบาท บราซิลทั้งในภูมิภาคเอเชียและในเวทีโลก รวมถึงการเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับ ASEAN ให้มากขึ้น โดยบราซิลได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตบราซิลประจำอินโดนีเซียให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวร ประจำอาเซียนอีกตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย และแอฟริกาใต้ ภายใต้กรอบเวทีเจรจาสามฝ่ายระหว่างอินเดีย บราซิล และแอฟิกาใต้ (India, Brazil and South Africa Dialogue Forum – IBSA) อีกด้วย
ในส่วนของเวทีระหว่างประเทศนั้น ประเด็นที่บราซิลให้ความสนใจเป็นพิเศษ และพยายามมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การต่อสู้เพื่อขจัดความยากจน การพัฒนาคุณภาพชีวิต การสาธารณสุขโดยเฉพาะการต่อสู้กับโรคเอดส์ และการพัฒนาพลังงานทดแทน ส่งเสริมนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะสาขาที่บราซิลมีความก้าวหน้า เช่น เกษตร สาธารณสุข การศึกษา พลังงาน สิ่งแวดล้อม ประเทศเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือ คือ ลาตินอเมริกา สมาชิก MERCOSUR ติมอร์ตะวันออก และประเทศแอฟริกาที่ใช้ภาษาโปรตุเกส ปัจจุบันบราซิลได้ขยายขอบเขตความร่วมมือในกรอบไตรภาคีกับอินเดีย แอฟริกาใต้ จีน และความร่วมมือในกรอบพหุภาคีกับ ญี่ปุ่น แคนาดา ยุโรป และกำลังมีความพยายามจะขยายความร่วมมือในลักษณะไตรภาคีกับไทยด้วย
บราซิลกับสหรัฐอเมริกา
บราซิลรักษาสมดุลของความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐฯ และบางประเทศในลาตินอเมริกาที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ เช่น เวเนซุเอลา และคิวบา โดยดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ บนหลักผลประโยชน์ต่างตอบแทนและการเคารพซึ่งกันและกัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับบราซิลในฐานะมหาอำนาจหนึ่งของโลก และเปิดกว้างในการหารือประเด็นเกี่ยวกับประชาคมโลกกับบราซิลมากขึ้น ทั้งในประเด็นการปฏิรูป UNSC (สหรัฐฯ ไม่ได้สนับสนุนบราซิลดังที่สนับสนุนอินเดีย) ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ประเด็นด้านการก่อการร้าย อีกทั้งยังเห็นความสำคัญของบราซิลในฐานะประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคลาตินอเมริกา
ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ปี 2555 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจขยายตัวและเป็นไปได้ด้วยดี โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 70 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาต่อบราซิลคือการเน้นการส่งเสริมการศึกษาตามโครงการ Sciences without Border และส่งเสริมการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านวีซ่าเพื่อเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวชาวบราซิลในสหรัฐอเมริกา
การเยือนที่สำคัญระหว่างบราซิล - สหรัฐอเมริกา
1. ประธานาธิบดีโอบามาได้เดินทางเยือนบราซิลอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2554 เพื่อหารือถึงแผนงานความร่วมมือในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะประเด็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และนโยบาย Science without Border ของประธานาธิบดีดิลมาที่ส่งเสริมให้ชาวบราซิลเดินทางเข้ามาศึกษาในสหรัฐอเมริกามากขึ้น
2. ประธานาธิบดี Rousseff ได้เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการเมื่อ 9 – 11 เมษายน 2555 โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันการเป็นหุ้นส่วนด้านยุทธศาสตร์พลังงานระหว่างกัน และเห็นพ้องให้มีการยกระดับความสัมพันธ์ด้านการทหาร โดยยกระดับกลไกการหารือ Defense Cooperation Dialogue ให้เป็นระดับสุดยอด นอกจากนี้ยังได้ลงนาม MoU ต่าง ๆ คือ 1) ความร่วมมือการเป็นพันธมิตรด้านการบิน 2) ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษา 3) ความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครต่าง ๆ และ 4) การแลกเปลี่ยนหนังสือความเข้าใจร่วมเรื่องความมีลักษณะเฉพาะของเครื่องดื่ม Cachaça ของบราซิล และ Bourbon ของสหรัฐฯ
บราซิลกับตะวันออกกลาง
บราซิลให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงและเหตุการประท้วงต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในฐานะสมาชิกกลุ่ม BRICS บราซิลแสดงท่าทีชัดเจนในการปฏิเสธการแทรกแซงประเทศในตะวันออกกลางเพื่อนำไปสู่ประเทศประชาธิบไตย และเรียกร้องให้จีนและรัสเซียร่วมปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวด้วย บราซิลให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ยุติความรุนแรง หลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหาร และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้การหารือเพื่อแก้ปัญหา
ทั้งนี้ บราซิลมีความสัมพันธ์กับอียิปต์ ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และปัญหาในซีเรีย ดังนี้
1. อียิปต์ บราซิลมีความสัมพันธ์กับอียิปต์มายาวนาน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการค้า ในด้านการทหาร บราซิลส่งทหารเข้าร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในช่วงวิกฤตคลองซุเอช เมื่อปี 2499 ในช่วงต้นปี 2554 ประธานาธิบดี Rousseff ของบราซิลได้เคยพบปะกับผู้นำ และแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง กับอียิปต์อยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลบราซิลกับรัฐบาลใหม่ของอียิปต์ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังเหตุการณ์ Arab Spring ยังมีไม่มากนัก แต่ยังคงรักษาปริมาณการค้าระหว่างกันได้สม่ำเสมอ
2. ตุรกี นับแต่ปี 2547 ความสัมพันธ์ระหว่างบราซิล – ตุรกี พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ มูลค่าการค้าในปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24 นับจากปี 2546 บราซิลให้ความสำคัญกับตุรกีในฐานะพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญต่อนโยบายการต่างประเทศต่อประเทศในตะวันออกกลางของบราซิล นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศต่างพัฒนาแบบก้าวกระโดด โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 25,000 คนในปี 2554 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึง 28,000 คน
3. ซาอุดิอาระเบีย นับแต่ปี 2551 – 2552 ความสัมพันธ์ระหว่างบราซิล - ซาอุดิอารเบียได้พัฒนามากขึ้นไปกว่ามิติด้านการค้า โดยมีความร่วมมือด้านการเมืองและการแลกเปลี่ยนนักวิชาการระหว่างกัน ปัจจุบันบราซิลกำลังขอเข้าเป็นผู้สังเกตุการณ์ของใน OIC ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงริยาดเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง
4. ซีเรีย บราซิลให้ความสำคัญต่อวิกฤตการณ์ในซีเรีย โดยที่ผ่านมาบราซิลยืนยันไม่เห็นด้วยกับแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้กำลังทหาร ทั้งนี้ ประธานาธิบดี Rousseff เคยกล่าวถึงจุดยืนดังกล่าวในระหว่างการประชุม UNGA เมื่อเดือนกันยายน 2555 โดยบราซิลได้เสนอแนวคิด Responsibility while Protecting เนื่องจากเห็นว่าหลักการ R2P มีประโยชน์ในการคุ้มครองพลเรือนแต่อาจถูกใช้ไปในแนวทางที่ผิด บราซิลจึงเสนอให้การอนุญาตใช้กำลังทหารโดยสหประชาชาติควรมีขอบเขตด้านการใช้กำลังทหารที่ชัดเจน และกองกำลังดังกล่าวต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ขณะเข้าปกป้อง
5. อิสราเอล – ปาเลสไตน์ บราซิลเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอเมริกาใต้ที่ให้การรับรองรัฐปาเลสไตน์ และเมื่อ 14 – 15 ตุลาคม 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบราซิลได้เดินทางเยือนอิสราเอลและปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ โดยในระหว่างการเยือนได้กล่าวยืนยันการสนับสนุนของบราซิลต่อคำร้องของปาเลสไตน์เพื่อยกฐานะของปาเลสไตน์เป็นรัฐในสหประชาชาติ
การทูต
ไทยและบราซิลได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2502 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 53 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศดำเนินด้วยดีเสมอมา และในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ประธานาธิบดีบราซิลได้มีสาส์นถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วย
นายธฤต จรุงวัฒน์ เอกอัครราชทูตคนปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ในทีมประเทศไทยที่บราซิล ยังประกอบด้วยสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย เปิดสำนักงานเมื่อเดือนเมษายน 2551 และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเซาเปาลู และสถานกงสุลกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครรีโอเดจาเนโร และกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครเซาเปาลู
สถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย มีนายเปาลู เซซา เมรา เด วาชคอนเซลลูช (Paulo Cesar Meira de Vasconcellos) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เพื่อถวายอักษรสาส์นตราตั้งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553
ไทยและบราซิลมีการแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญหลายครั้งทั้งระดับพระราชวงศ์ และ ผู้นำระดับสูง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนบราซิลในปี 2536 และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยือนบราซิล ในปี 2535 ปี 2543 ปี 2553 และ ปี 2555
ในระดับรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 11 และเยือนบราซิลอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2547 และนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศเยือนบราซิลเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2549 ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เพื่อขอรับการสนับสนุนผู้สมัครของไทยในตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เยือนบราซิลอย่างเป็นทางการเมื่อ 16 – 18 สิงหาคม 2555 โดยได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบราซิลเมื่อ 17 ส.ค. 2555
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาไทย บราซิล
กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย – บราซิล คณะกรรมการบริหารกลุ่มมิตรภาพฯ ไทย-บราซิล มี นายกษิต ภิรมย์ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) เป็นประธานคณะกรรมการบริหารกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย – บราซิล ซึ่งสมาชิกรัฐสภาไทยระหว่างประเทศ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (ก) ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างรัฐสภาไทยกับรัฐสภาบราซิล (ข) แลกเปลี่ยนข่าวสารในวงสภา (ค) แลกเปลี่ยนการเยือนในลักษณะถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ
การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างรัฐสภาไทย – บราซิล ที่ผ่านมามีดังนี้
- นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฏร คนที่หนึ่งและคณะเยือนบราซิล ระหว่าง 14 – 20 มกราคม 2546
- นายอุดร ตันติสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง วุฒิสภาและคณะเยือนบราซิล ระหว่าง 30 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2546
- นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาและคณะเยือนบราซิล ระหว่างวันที่ 9-18 เมษายน 2547
- นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา เข้าร่วมการประชุม สมาชิกรัฐสภาในโอกาสการประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 11 ระหว่าง 8 – 18 มิถุนายน 2547
- นายอาคม ตุลาดิลก ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย – บราซิล เยือนบราซิลและเยี่ยมคารวะนาย Joao Paulo Cunha ประธานสภา ระหว่างวันที่ 16-20 ธันวาคม 2547
- นายวีรพงศ์ สกลกิติวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา และคณะ ดูงานด้านสาธารณสุขของบราซิล ระหว่างวันที่ 16 - 27 มกราคม 2548
- นายกุเทพ ใสกระจ่าง (ส.ส.) และนายปรีดี หิรัญพฤกษ์ (ส.ว.) เข้าร่วมการประชุม สมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (International Parliamentarians’ Association for Information Technology - IPAIT) ครั้งที่ 3 ที่กรุงบราซิลเลีย ระหว่างวันที่ 4-8 มิถุนายน 2548
- รองศาสตราจารย์ ดร. ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง และประธาน คณะกรรมการบริหารกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย – บราซิล ระหว่าง 22 – 25 มิถุนายน 2553
การค้า
บราซิลเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในลาตินอเมริกา ในปี 2552 มีมูลค่าการค้ารวม 2,325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 30) โดยการส่งออกของไทยลดลงร้อยละ 18.6 (เหลือ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และการนำเข้าลดลงเหลือ 1,325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 37) แต่เป็นปีแรกที่ทั้งไทยและบราซิลต่างเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกันและกันในอาเซียนและลาตินอเมริกาตามลำดับ (แทนที่สิงคโปร์) สินค้าที่ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น คือ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็กและเครื่องมือเครื่องใช้โลหะ เครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ นาฬิกา สบู่และน้ำมันหอมระเหย ผลิตภัณฑ์จากไม้และเฟอร์นิเจอร์ สารฟอกหนัง-ย้อมสี ยางและผลิตภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ชนิดยาว ของเล่นและเครื่องกีฬา สินค้าที่ไทยนำเข้าลดลง คือ หนังสัตว์ฟอก อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ สินค้าที่ไทยนำเข้ามากขึ้น คือ ธัญพืชที่นำมาสกัดน้ำมัน (รวมถั่วเหลือง) กากน้ำมันถั่วเหลือง เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ อัญมณีสังเคราะห์และเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์อินทรีย์
ส่วนมูลค่าการค้ารวมในปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.61 เป็น 4,532.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลประมาณ 0.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐไทยส่งออก 2,265.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.56 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยางพารา รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่อง เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น และนำเข้า 2,266.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.51 สินค้าที่นำเข้า ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบสำหรับป้อนโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันดิบ สินแร่โลหะอื่น ๆ และผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
การลงทุน
นับตั้งแต่ปี 2513 ถึงปัจจุบัน มีการลงทุนจากบราซิลในไทยเพียงโครงการขนาดเล็กของบริษัท Asian Production and Technique Services Ltd. ซึ่งตั้งอยู่ที่ จังหวัดนครราชสีมา ผลิต wiring harness สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า และบริษัท Interman Corporation Ltd. ภายใต้ Jacto Group ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิตอุปกรณ์ทางการเกษตรในส่วนของเครื่องพ่นสารเคมีแบบสะพายหลัง ซึ่งส่งขายไปยังต่างประเทศ ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง อย่างไรก็ตาม ล่าสุด บริษัท MWM ผู้ผลิตเครื่องจักรและมอเตอร์พาหนะสนใจจะมาลงทุนในไทย
ในส่วนของไทยนั้น มีบริษัทของไทยเคยสนใจจะใช้บราซิลเป็นฐานการลงทุนเพื่อกระจายสินค้าในภูมิภาค และสนใจการทำเกษตรแบบมีสัญญา (contract farming) ถั่วเหลืองและธัญพืช ในบราซิล นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจโลกซึ่งกระทบต่อการส่งออกในปี 2552 ได้ผลักดันให้ภาคธุรกิจไทยสนใจที่จะแสวงหาตลาดและคู่ร่วมลงทุนใหม่ๆ ของลาตินอเมริกาและบราซิล อาทิ สาขาพลังงานทดแทน อาหารกระป๋องและแช่แข็ง อัญมณี (บราซิลมีพลอยและสินแร่มีค่า) อะไหล่รถยนต์ (ซึ่งบราซิลมีอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องบิน) ธุรกิจส่งออก อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ตลอดจนถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง จึงเป็นโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนเพื่อชดเชยผลกระทบในปีที่ผ่านมา
สินค้าที่ไทยส่งออก 10 รายการแรก
1) ยางพารา 2) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3)เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่อง 4)เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ 5)ผลิตภัณฑ์ยางยางพารา 6) เม็ดพลาสติก 7) ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ 8) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ 9) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ 10) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
สินค้าที่ไทยนำเข้า 10 รายการแรก
1) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช 2) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 3) น้ำมันดิบ 4) สินแร่โลหะอื่น ๆ และผลิตภัณฑ์ 5) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 6) ด้ายและเส้นใย 7) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนตร์ 8) เคมีภัณฑ์ 9) สัตว์และผิตภัณฑ์จากสัตว์ 10) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ
ความตกลงระหว่างไทย - บราซิล
ไทยและบราซิลได้ลงนามความตกลงทวิภาคีแล้ว 12 ฉบับ ได้แก่ 1) ความตกลงทางการค้า 2) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ 3) ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ 4) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับสมาพันธ์การค้าแห่งชาติบราซิล (The National Confederation of Commerce) 5) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ 6) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา 7) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี 8) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านวิชาการและการแลกเปลี่ยน ข้อมูลระบบการทำงานและการให้สิ้นเชื่อเพื่อการส่งออกและนำเข้า ระหว่างธนาคารเพื่อ การส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธนส.) กับธนาคารแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติบราซิล (Banco Nacional de Desenvovimento Economico e Social – BNDES) 9) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านกีฬา 10) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 11) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคี 12) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือทางการเมืองในเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน
นอกจากนี้มีความตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร 2) ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข 3) ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา 4) ร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือทวิภาคี – ไตรภาคี 5) ร่างบันทึกความเข้าใจด้านการท่องเที่ยว 6) ร่างสนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิด 7) ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเอทานอลระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐเซาเปาลู (สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล)
เอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย
H.E. Mr. Tharit Charungvat (ฯพณฯ นายธฤต จรุงวัฒน์)
Royal Thai Embassy
SEN - Av. Das Nacoes Lote 10
CEP. 40433-900, Brasilia -DF,
Brazil
โทรศัพท์ (5561) 3224-6849, 3224-6943
โทรสาร (5561) 3223-7502
e-mail: [email protected]
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซาเปาลู
Minister Counsellor: Mr. KHAMHAENG KLASUKHON
Thai Trade Office (Sao Paulo)
Rua Gomes de Carvalho 1356 sala 112 ,
Vila Olimpia 04547-005 Sao Paulo - SP BRAZIL
โทรศัพท์ (5511) 3044-7301, 3044-7347, 3045-4563
โทรสาร (5511) 3045-1913
e-mail: [email protected]
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ เมืองรีโอเดจาเนโร
Mr. Daniel Andrea Sauer (Honorary Consul-General)
Royal Thai Consulate-General
Rua Visconde de Piraja, 250, 9 andar
CEP 22410-000, Rio de Janeiro-RJ, Brazil
โทรศัพท์ (5521) 2525-0000
โทรสาร (5521) 2525-0002
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครเซาเปาลู
Mrs. Thassanee Wanderly Wanick de Souza (Honorary Consul-General)
Royal Thai Consulate
Alameda Dinamarca 467 Alphaville 1
CEP 06474-250 Barueri Sao Paulo-SP
Brazil
โทรศัพท์ (5511) 4193-8461
โทรสาร (5511) 4195-2820
เอกอัครราชทูตบราซิลประจำไทย
H.E. Paulo Cesar Meira de Vasconcellos
The Embassy of the Federative Republic of Brazil
34 F Lumpini Tower
1168/101 Rama IV Rd.
Thungmahamek, Sathorn,
Bangkok 10120
โทรศัพท์ (662) 679-8567-8
โทรสาร (662) 679-8569
e-mail: [email protected]
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555
กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5114 Fax. 0-2643-5115 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **