รัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย

รัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 20,886 view


รัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย
Plurinational State of Bolivia

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง
พื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของอเมริกาใต้ มีพรมแดนด้านเหนือและตะวันออกติดกับบราซิล ด้านตะวันตกติดกับชิลีและเปรู ด้านใต้ติดปารากวัยและอาร์เจนตินา โบลิเวียมีที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปอเมริกาใต้ ไม่มีทางออกทางทะเล ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง

ภูมิอากาศ
แตกต่างออกไปแต่ละพื้นที่ บริเวณที่ราบสูงและเทือกเขาแอนดีสอากาศหนาวเย็น หุบเขาตอนกลางและตอนล่างอากาศปานกลาง ไม่ร้อนไม่หนาวนัก ส่วนทางเหนือและตะวันออกของประเทศมีอุณหภูมิอากาศแบบเส้นศูนย์สูตร

ขนาดพื้นที่
1,098,580 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง
กรุงซูเคร (Sucre) เป็นเมืองหลวงตามรัฐธรรมนูญ และกรุงลาปาซ (La Paz) เป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญของรัฐบาล

ประชากร (2552)
9.9 ล้านคน

ภาษา
ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ สำหรับภาษา Quechua,
Aymara และ Quarani ใช้ในบางภูมิภาค

เชื้อชาติ
Mestizo (คนผิวขาวกับชาวพื้นเมือง) ร้อยละ 30 เชื้อสาย Quechua ร้อยละ 30 เชื้อสาย Aymara ร้อยละ 25 และเชื้อสายยุโรป ร้อยละ 15

ศาสนา
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 95 และนิกายโปรแตสแตนท์ ร้อยละ 5

หน่วยเงินตรา
โบลิเวียโน (Boliviano) อัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยในปี 2552 อยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 7.07 โบลิเวียโน

วันประกาศอิสรภาพ
6 สิงหาคม 2368 (ค.ศ. 1825) ได้รับเอกราชจากสเปน

วันชาติ
6 สิงหาคม

วันสถาปนารัฐธรรมนูญ
7 กุมภาพันธ์ 2552

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ

CAN, FAO, G-77, LO, IMF, LAES, LAIA, Mercosur (สมาชิกสมทบ), MIGA, MINUSTAH, MONUC, NAM, OAS, UN, UNASUR, UNCTAD, UNESCO, UNFICYP, UNIDO, Union Latina, UNOCI, , WHO, WIPO, WMO, WTO

การเมืองการปกครอง

ประวัติโดยสังเขป

ระหว่าง 100 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงศตวรรษที่ 9 ชนเผ่า Aymara คือชนชาติที่อาศัยอยู่ในโบลิเวีย ต่อมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 ชาวเผ่าอินคาที่ใช้ภาษา Quechua ได้ผนวกโบลิเวียเข้ากับจักรวรรดิอินคา

สเปนได้เข้ายึดครองโบลิเวียในปี ในปี 2078 (ค.ศ. 1535) โดยปกครองโบลิเวียนานถึง 290 ปี จนกระทั่งถึงปี 2368 (ค.ศ.1825) โบลิเวียได้รับเอกราชจากสเปน และได้ก่อตั้งประเทศขึ้นโดยใช้ชื่อตาม Simon Bolivar วีรบุรุษผู้นำที่ได้กอบกู้อิสรภาพจากสเปนให้กับอเมริกาใต้ หลังจากได้รับเอกราชแล้ว โบลิเวียอยู่ใต้การปกครองของทหารมาโดยตลอด และได้เข้าสู่สงครามกับชิลี (ปี 2422-2427 หรือ ค.ศ. 1879-84) แต่ต้องพ่ายแพ้และสูญเสียดินแดน ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นทางออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกให้แก่ชิลี

ต่อมา ในปี 2446 (ค.ศ. 1903) โบลิเวียสูญเสียดินแดนอีกส่วนหนึ่งของจังหวัด Acre ซึ่งเป็นแหล่งยางพาราที่สำคัญให้กับบราซิล และในปี 2481 (ค.ศ. 1938) เสียดินแดนอีกครั้งให้ปารากวัย 100,000 ตารางไมล์ เนื่องจากแพ้สงคราม

เมื่อปี 2552 รัฐบาลโบลิเวียได้เปลี่ยนชื่อทางการของประเทศ จากสาธารณรัฐโบลิเวีย (Republic of Bolivia) เป็น “รัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย (Plurinational State of Bolivia)

รูปแบบการปกครอง
ระบบประชาธิปไตยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และหัวหน้ารัฐบาล

ฝ่ายนิติบัญญัติ
มีสภาคู่ ประกอบด้วย วุฒิสภา 36 ที่นั่ง และสภาผู้แทนราษฎร 190 ที่นั่ง ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี ค.ศ. 2014

ฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 5 ปี ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ และมีอำนาจแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

ฝ่ายตุลาการ
ประกอบด้วยศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลระดับภูมิภาค และศาลในระดับท้องถิ่น

เขตการปกครอง
แบ่งออกเป็น 9 เขต (departamentos) อาทิ 1) Chuquisaca, 2) Cochabamba 3) Beni 4) La Paz 5) Oruro 6) Pando 7) Potosí 8) Santa Cruz และ 9) Tarija

สถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ

เมื่อปี 2525 รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยได้เข้ามาบริหารประเทศ แต่ต้องประสบปัญหาความไร้เสถียรภาพตลอดมา ทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายพรรคการเมืองที่เคยอยู่ในอำนาจเดิม และหันไปให้การสนับสนุนพรรคการเมืองจากฝ่ายซ้ายแทน จนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 นายอีโว โมราเลส (Evo Morales) จากพรรค Movimiento al Socialismo (MAS) ซึ่งเป็นชนพื้นเมือง มีแนวความคิดทางการเมืองแบบฝ่ายซ้าย ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

ภายหลังการเลือกตั้ง นายโมราลเสสเร่งปฏิรูปประเทศตามแนวทางสังคมนิยม โดยเน้นการมีบทบาทของรัฐให้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในการบริหารทรัพยากรสำคัญของชาติ รวมทั้งเร่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้ผ่านประชามติเห็นชอบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการปฏิรูปประเทศ

หัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการยอมรับสิทธิของชนพื้นเมืองซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ เพิ่มความเป็นอิสระให้กับเขตปกครองต่างๆ รวมทั้งเพิ่มบทบาทของรัฐในการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของชาติ

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อบทบัญญัติให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ 2 สมัยเท่านั้น แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ในกรณีของนายโมราลเลส เมื่อหมดวาระที่ 2 ในปี 2558 แล้วจะสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกสมัยหรือไม่ เนื่องจากผู้สนับสนุนนายโมราลเลส ระบุว่า การดำรงตำแหน่งสมัยปัจจุบันของนายโมราลเลส ถือเป็นการดำรงตำแหน่งสมัยแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่บัญญัติข้อจำกัดนี้ไว้

เศรษฐกิจการค้า

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
18,235 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายได้ประชาชาติต่อหัว
4,620 ดอลลาร์สหรัฐ

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ร้อยละ 3.4

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ
33.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

หนี้ต่างประเทศ
8,581 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อัตราเงินเฟ้อ
ร้อยละ 0.3

มูลค่าการส่งออก
4,848 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญ
เมล็ดถั่วเหลือง แก๊สธรรมชาติ ดีบุก ทองคำ ไม้

มูลค่าการนำเข้า
4,095 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้านำเข้าสำคัญ
วัตถุดิบ สินค้ากึ่งอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ น้ำมันปิโตรเลียม และสินค้าทุน

ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ
น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ทองคำ ทองแดง เงิน สังกะสี ปลาและสัตว์ทะเล ใบโคคา

อัตราการว่างงาน
ร้อยละ 8.5

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ


โบลิเวียเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในลาตินอเมริกา แม้จะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียม โดยเมื่อปี 2550 เป็นที่มาของรายได้ร้อยละ 11.3 ของ GDP ของประเทศ และมีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของสินค้าส่งออกของโบลิเวียทั้งหมด รวมทั้ง แร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะลิเทียม ซึ่งมีปริมาณมากที่สุดในโลกและมีศักยภาพด้านการเกษตร

ที่ผ่านมา ชาวโบลิเวียส่วนใหญ่เห็นว่า การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจทำให้ประชาชนทั่วไปถูกเอารัดเอาเปรียบ และไม่ได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ตนมีส่วนเป็นเจ้าของ รัฐบาลนายโมราลเลส ซึ่งบริหารประเทศด้วยแนวความคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยม ได้โอนกิจการสำคัญที่เป็นรายได้หลักของประเทศมาเป็นของรัฐเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม

เมื่อปี 2549 รัฐบาลได้เริ่มการโอนกิจการก๊าซธรรมชาติให้บริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของเป็นผู้บริหารงาน นอกจากนี้ ยังมีการโอนกิจการเหมืองแร่ Huanuni สัมปทานโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่เคยถือครองโดยบริษัท ENTEL และกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียมอีกหลายบริษัทมาเป็นของรัฐด้วย ซึ่งการโอนกิจการดังกล่าวมาเป็นของรัฐ ในแง่หนึ่งได้กลายมาเป็นข้อด้อยของเศรษฐกิจโบลิเวีย ที่ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ การลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศของโบลิเวียอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายถอนตัวจากศูนย์ระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนของธนาคารโลก และขู่ที่จะเจรจาจัดทำความตกลงทวิภาคีเพื่อคุ้มครองการลงทุนที่ลงนามไว้กับประเทศต่างๆ ใหม่ทั้งหมด

นอกจากนี้ โบลิเวียเสียเปรียบด้านการแข่งขันกับประเทศอื่นในลาตินอเมริกาเนื่องจากไม่มีทางออกทะเล การขนส่งสินค้าเข้าออกต้องอาศัยท่าเรือที่เมือง Arica และ Antofagasta ในชิลี และท่าเรือ Mollendo-Matarani ในเปรู รวมทั้งผ่านเส้นทางแม่น้ำที่ไหลไปสู่แม่น้ำอะเมซอน เพื่อขนส่งสินค้าแทน ชาวโบลิเวียถือว่าการสูญเสียทางออกสู่ทะเลให้กับชิลีเมื่อปี 2446 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโบลิเวียประสบปัญหา อย่างต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุของปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับชิลีมาโดยตลอด

นโยบายต่างประเทศ

รัฐบาลนายโมราลเลส ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเป็นอย่างมาก เหตุหนึ่งมาจากความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาที่ไม่ราบรื่นนัก ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีโมราลเลส ได้ขับไล่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำโบลิเวียออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลว่าแทรกแซงกิจการภายใน เมื่อปี 2552 รัฐบาลสหรัฐฯ จึงตอบโต้ด้วยการยกเลิกสิทธิพิเศษทางศุลกากรกับสินค้าจากโบลิเวียซึ่งนำเข้าตลาดสหรัฐฯ ภายใต้ความตกลง Andean Trade-Promotion and Drug Eradication Act (ATPDEA) ที่สหรัฐฯ ทำกับประชาคมแอนเดียน

สำหรับประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา โบลีเวียมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเวเนซุเอลา เนื่องจากมีรัฐบาลที่มีแนวคิดทางการเมืองใกล้เคียงกัน โดยรัฐบาลเวเนซุเอลาภายใต้การนำของประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ ได้ให้ความช่วยเหลือทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อรัฐบาลนายโมราลเลสตลอดมา นอกจากนี้ โบลิเวียยังมีความใกล้ชิดกับเอกวาดอร์และคิวบาด้วย ซึ่งนำไปสู่บทบาทที่สำคัญในการพัฒนากลุ่มความร่วมมือ The Bolivarian Alliance for the Peoples of Our America หรือ ALBA ในลาตินอเมริกาในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ในระดับภูมิภาค โบลิเวียยังเป็นสมาชิกของประชาคมแอนเดียน (Andean Community) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกปัจจุบันอื่น ได้แก่ เปรู โคลอมเบีย และเอกวาดอร์ รวมเป็น 4 ประเทศ กลุ่มความร่วมมือนี้ มีการดำเนินนโยบายการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน และยังมีความตกลงกับสหภาพยุโรปที่ทำให้เศรษฐกิจโบลิเวียได้ประโยชน์ด้วย


ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย

ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและโบลิเวียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2506 ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา มีเขตอาณาครอบคลุมโบลิเวีย และได้แต่งตั้งให้นาย Francisco Muñoz เป็นกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงลาปาซ ในขณะที่โบลิเวียได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตโบลิเวีย ณ กรุงโตเกียว มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย

ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น แต่ไม่ใกล้ชิด และไม่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนบ่อยครั้งนัก โดยเมื่อ 10-12 มิถุนายน 2540 คณะเอกอัครราชทูตสัญจรประจำภูมิภาคลาตินอเมริกาของไทยได้เคยไปเยือนโบลิเวีย และคณะผู้แทนจาก Special Task Force กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ได้เคยเดินทางไปศึกษาตลาดสินค้าที่โบลิเวีย ระหว่าง 24-27 พฤศจิกายน 2546

อย่างไรก็ดี ไทยได้แสดงความเป็นมิตรประเทศที่ดีของโบลิเวีย โดยได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา เป็นผู้แทนระดับสูงของไทยเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายอีโว โมราลเลสเมื่อปี 2553 และเมื่อครั้งที่โบลิเวียประสบอุทกภัยครั้งรุนแรงในปี 2551 รัฐบาลไทยได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแก่รัฐบาลโบลิเวียด้วย

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2552 มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับโบลิเวีย มีจำนวน 7.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 28.77 ไทยส่งออก 7.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 22.97 นำเข้า 0.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 54.47 ทำให้ ไทยได้ดุล 6.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แบตเตอรี่ ผ้าปักและผ้าลูกไม้ รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ รถจักรยานและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องเทศและสมุนไพร ผ้าผืน เครื่องดนตรีและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง สินค้านำเข้าจากโบลิเวียที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ สัตว์น้ำสด แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และสิ่งทอ

ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยและโบลิเวียยังไม่มีความตกลงเพื่อความร่วมมือทางวิชาการในระดับทวิภาคี อย่างไรก็ดี ภายใต้กรอบความร่วมมือ FEALAC และ OAS ไทยให้ทุนการศึกษาและฝึกอบรมแก่ผู้แทนจากโบลิเวีย เช่นเดียวกับประเทศอื่นในลาตินอเมริกา

ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว

จำนวนนักท่องเที่ยวโบลิเวียที่เดินทางเข้าไทยเมื่อปี 2552 มีจำนวน 391 คน ทั้งนี้ หากบุคคลสัญชาติไทยประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศโบลิเวียต้องขอตรวจลงตราเพื่อเดินทางเข้าประเทศโบลิเวียด้วย โดยอาจติดต่อสถานเอกอัครราชทูตโบลิเวีย ประจำประเทศญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ 813 3499 5441-42

ความสัมพันธ์ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ – การแลกเปลี่ยนการสนับสนุน

ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีในการเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยเฉพาะการให้เสียงสนับสนุนในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสำคัญในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น โบลิเวียให้เสียงสนับสนุนไทย ในตำแหน่งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระ ค.ศ. 2010-2013 ซึ่งไทยแลกเปลี่ยนโดยการให้เสียงสนับสนุนการสมัครของโบลิเวียในตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) วาระ ค.ศ. 2013-2015

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคคือ กรอบความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (FEALAC) ซึ่งไทยได้ใช้เป็นโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์กับโบลิเวียผ่านการเสนอให้ทุนการศึกษาและการฝึกอบรมแก่ชาวโบลิเวียอย่างต่อเนื่อง

ความตกลงที่สำคัญระหว่างสองประเทศ

ไทยและโบลิเวียอยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดทำความตกลงการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ ซึ่งหากการเจรจาจัดทำประสบความสำเร็จจะเป็นความตกลงทวิภาคีฉบับแรกระหว่างประเทศทั้งสอง

ปรับปรุงล่าสุด ตุลาคม 2553


กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0 26435000 ต่อ 13042, 13044, 13079, 13010 Fax. 0-2643-5127

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-38-document.doc