สาธารณรัฐอาร์เจนตินา

สาธารณรัฐอาร์เจนตินา

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ต.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 22,019 view


สาธารณรัฐอาร์เจนตินา
Argentine Republic

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง อยู่ทางใต้ของทวีปอเมริกาใต้ มีพรมแดนด้านตะวันตกติดกับชิลี ด้านเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับปารากวัย โบลิเวียและบราซิล ด้านตะวันออกติดกับอุรุกวัยและมหาสมุทรแอตแลนติก

ภูมิอากาศ โดยทั่วไปมีอุณหภูมิแตกต่างกันระหว่างพื้นที่ภาคเหนือและใต้ของประเทศ
ภาคเหนือ - อากาศกึ่งร้อนกึ่งอบอุ่น (ฤดูร้อน 23-37 เซลเซียส / ฤดูหนาว 5-22 เซลเซียส)
ภาคใต้ - อากาศหนาวและฝนตก (ฤดูร้อน 10-21 เซลเซียส / ฤดูหนาว ต่ำกว่า 0 เซลเซียส)
บริเวณใต้สุดของประเทศมีลักษณะอากาศแบบแอนตาร์กติกซึ่งเป็นน้ำแข็งตลอดทั้งปี ทั้งนี้ บริเวณที่ราบแปมปัส (Pampas plains) มีอากาศอุ่นและชื้น อุณหภูมิเฉลี่ย 23 องศาเซลเซียส ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมีนาคม และ 12 องศาเซลเซียส ตั้งแต่มิถุนายน ถึง กันยายน

พื้นที่2.8 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5 เท่าของประเทศไทย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอเมริกาใต้ รองจากบราซิล และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก

ประชากร ประมาณ 40.1 ล้านคน (2552)

เมืองหลวง กรุงบัวโนสไอเรส (Buenos Aires)

เมืองสำคัญ Federal District, CÓrdoba, Santa Fe, Mendoza, Tucumán

ภาษา ภาษาสเปน เป็นภาษาราชการ

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 92 โปรแตสแตนท์ ร้อยละ 2 ยิว ร้อยละ 2 และอื่นๆ ร้อยละ 4

เชื้อชาติ ผิวขาว (ส่วนใหญ่มีเชื้อสายสเปนและอิตาเลียน) ร้อยละ 97
และอื่นๆ (เมสติโซ – ผิวขาวผสมชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง ชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง และกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ชาวผิวขาว) ร้อยละ 3

อัตราการรู้หนังสือ ร้อยละ 97.4

หน่วยเงินตรา เปโซ (Argentine Peso: ARS) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 3.93 เปโซ (มิ.ย.2553)

เวลาต่างจากไทย ช้ากว่าไทย 10 ชั่วโมง

วันชาติ 25 พฤษภาคม (25 พฤษภาคม 2353 หรือ Revolution Day)

วันประกาศเอกราช 9 กรกฎาคม 2359 (วันประกาศอิสรภาพจากสเปน)

วันสถาปนารัฐธรรมนูญ 1 พฤษภาคม 2396 (มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดเมื่อสิงหาคม 2537)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 270.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2552)

โครงสร้าง GDP
การเกษตร ร้อยละ 6
อุตสาหกรรม ร้อยละ 32
การบริการ ร้อยละ 62

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 0.5 (2552)

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 31.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

หนี้สินต่างประเทศ 134.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2552)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 7.7 (2552)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 8.4 (2552)

มูลค่าการส่งออก 55.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2552)

สินค้าส่งออกสำคัญ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง น้ำมันดิบ น้ำมันถั่วเหลือง ถั่วเหลือง เมล็ดพืช น้ำมัน ข้าวสาลี ข้าวโพด ยานยนต์ และปศุสัตว์/เนื้อ

ประเทศคู่ค้าสำคัญ บราซิล สหรัฐฯ ชิลี และจีน

มูลค่าการนำเข้า 38.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2552)

สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ยานพาหนะ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทวิทยุ โทรทัศน์ และเครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์ในสำนักงาน ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องคอมพิวเตอร์

ประเทศคู่ค้าสำคัญ บราซิล สหรัฐฯ จีน และเยอรมนี

ระบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข

การแบ่งเขตบริหาร แบ่งเป็น 23 จังหวัด (Provinces) และ 1 เขตเมืองหลวงสหพันธ์ (Federal Capital)

ประมุขและหัวหน้ารัฐบาล
นาง Cristina Fernández de Kirchner ประธานาธิบดีจากพรรค Justicialist Party ตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2550 โดยมีนาย Julio Cobos ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี
- ประธานาธิบดี มาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 4 ปี สามารถลงสมัครเป็นสมัยที่สองได้
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Jorge Enrique TAIANA


ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย 2 สภา คือ
1) วุฒิสภา (Senate) มีสมาชิก 72 คน มาจากการเลือกตั้งจากแต่ละจังหวัดและเขตเมืองหลวงสหพันธ์ เขตละ 3 คน มีวาระ 6 ปี
2) สภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) มีสมาชิก 257 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 4 ปี โดยมีการเลือกตั้งสมาชิกครึ่งหนึ่งทุกสองปี

ฝ่ายตุลาการ ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูง (Supreme Court) จำนวน 9 คน โดยได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา

พรรคการเมืองสำคัญ
พรรค Peronist (Justicialist Party) ของประธานาธิบดี Cristina Fernández de Kirchner
พรรค Radical Civic Union (UCR) และ พรรค Union of the Democratic Centre

การเมืองการปกครอง

- ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 4 ปี สามารถลงสมัครเป็นสมัยที่สองได้ ประกอบด้วย 2 สภา คือ (1) วุฒิสภา (Senate) มีสมาชิก 72 คน มาจากการเลือกตั้งจากแต่ละจังหวัดและเขตเมืองหลวงสหพันธ์ เขตละ 3 คน มีวาระ 6 ปี และ (2) สภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) มีสมาชิก 257 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 4 ปี โดยมีการเลือกตั้งสมาชิกครึ่งหนึ่งทุกสองปี พรรครัฐบาลปัจจุบันคือ พรรค Peronist (Justicialist Party)

- รัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดี Cristina de Kirchner มีแนวทางซ้ายกลางและมีนโยบายที่สำคัญ คือ 1) ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน 2) แก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง สร้างความโปร่งใสของภาครัฐ 3) ปรับปรุงและให้ความสำคัญกับระบบการให้บริการของภาครัฐ 4) ทบทวนแนวทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่มากขึ้น

นโยบายของรัฐบาลและสถานการณ์สำคัญในอาร์เจนตินา

- พรรค PJ หรือรู้จักในนามพรรค Peronist เป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทต่อเนื่องและมีอิทธิพลทางการเมืองในอาร์เจนตินามาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 ด้วยแนวคิดแบบสังคมนิยม ป้องผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลาง และประกอบด้วยกลุ่มการเมืองภายใต้แนวคิดต่างๆ ดังกล่าวหลายกลุ่ม มาจนถึงสมัยอดีตประธานาธิบดี Carlos Menem ซึ่งบริหารประเทศในช่วงปี ค.ศ. 1989 -2003 ได้หันเหแนวนโยบายไปสู่ระบบตลาดเสรีและทำให้ฐานของพรรค PJ ขยายไปสู่ชนชั้นกลางและนักธุรกิจ แต่ในปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมาประธานาธิบดี Nestor Kirchner ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มการเมืองใหม่ภายใต้ PJ ในชื่อ “Victory Front” ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้นำนโยบายแบบสังคมนิยมซ้ายกลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง และฟื้นฟูสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจากความไม่มีเสถียรภาพในช่วงรัฐบาลก่อนและประสบผลสำเร็จ และต่อมาได้ส่งผลให้ภรรยา คือ ประธานาธิบดี Cristina Fernandez วุฒิสมาชิกจากจังหวัดบัวโนสไอเรส ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากสามี ในปี ค.ศ. 2007

- พรรคการเมืองสำคัญรองลงมา ได้แก่ พรรค UCR (Union Civica Radical) มีแนวนโยบายแบบขวากลางได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลาง เคยมีบทบาทบริหารร่วมกับพรรค PJ ระยะหนึ่งแบบ Bipartisan ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 แต่ต่อมาเกิดความแตกแยก สมาชิกคนสำคัญบางรายก็หันไปร่วมมือทางการเมืองกับพรรค PJ และบางกลุ่มก็ไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ทำให้ไม่มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะ นาย Julio Cobos ผจก. จังหวัด Mendoza ได้สมัครเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับปธน. Cristina Kirchner และดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นาย Mauricio Macri นักธุรกิจและอดีตประธานสโมสรฟุตบอลอันดับหนึ่ง (Boca Junior) ได้ก่อตั้งพรรค PRO หรือ Republican Proposal โดยมีแนวคิดแบบขวากลาง และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง สส. ในเขตกรุงบัวโนสไอเรส ในปี ค.ศ. 2005 และผู้ว่าการกรุงบัวโนสไอเรสในปี ค.ศ. 2007 ขณะนี้ กำลังมีบทบาทผู้นำคนสำคัญในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน และมีความคาดหวัง เตรียมการเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปลายปี ค.ศ. 2011

เศรษฐกิจการค้า

- อาร์เจนตินาเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกโดยเฉพาะอยางยิ่ง ธัญพืช ถั่วเหลือง (เป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ของโลก) และเนื้อวัว โดยภาคเกษตรเป็นรายได้หลักของภาคเศรษฐกิจอาร์เจนตินา คิดเป็นร้อยละ 11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยถั่วเหลืองและเมล็ดพืชน้ำมัน เป็นสินค้าส่งออกหลักคิดเป็น ร้อยละ 24 ของสินค้าส่งออก สินค้าธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด และเมล็ดทานตะวัน มีปริมาณการส่งออกร้อยละ 8 รวมทั้ง ปศุสัตว์ถือเป็นสินค้าออกที่สำคัญด้วย


- อาร์เจนตินามีปริมาณแร่ธรรมชาติจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณแถบเทือกเขาแอนดีสทางด้านตะวันตกของประเทศ อย่างไรก็ตาม มีเพียง 1 ใน 5 ของประเทศที่ได้ถูกสำรวจ ปัจจุบันมีการพัฒนาการโครงการเหมืองแร่ของประเทศ นอกจากนี้ อาร์เจนตินามีปริมาณก๊าซสำรองจำนวนมาก โดยส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังชิลี


นโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ


- การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของอดีต ปธน. Kirchner ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตในอัตราที่สูง (ประมาณร้อยละ 8 -9) ติดต่อกันระหว่างปี 2547-2551 โดยนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากที่สุดในลาตินอเมริกา อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายของรัฐบาลอาร์เจนตินา ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจอาร์เจนตินาชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยคาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2552 จะติดลบระหว่างร้อยละ 3.5 – 3.9 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงจากประมาณร้อยละ 25 – 30 ในปี 2551 (อัตราที่คำนวณโดยหน่วยงานเอกชน เนื่องจากรัฐบาลอาร์เจนตินามีการปรับเปลี่ยนตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติให้ต่ำกว่าความเป็นจริง) เป็นประมาณร้อยละ 10 – 15 ในปีนี้

- ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2552 พรรครัฐบาล (Victory Front) ได้พ่ายแพ้การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่สำคัญของประเทศ อาทิ กรุงบัวโนสไอเรส จ.บัวโนสไอเรส จ. Cordoba และ จ. Mendoza โดยได้คะแนนรวมร้อยละ 31.2 ลดลงจากร้อยละ 45 จากผลการเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทำให้สูญเสียเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (ตั้งแต่เดือนธ.ค. 2552 ซึ่ง สส.และ สว. ใหม่เข้ารับตำแหน่ง) อนึ่ง ความพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาลในครั้งนี้ บ่งชี้ถึงความไม่พอใจของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรและชนชั้นกลาง ต่อนโยบายการเพิ่มภาษีส่งออกสินค้าเกษตรและแนวทางบริหารประเทศของประธานาธิบดี Cristina Fernandez de Kirchner ซึ่งเข้ามาจัดการกับระบบเศรษฐกิจมากเกินไป และถือเป็นแรงกดดันสำหรับรัฐบาลให้ปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารประเทศที่ต้องลดการเผชิญหน้า ใช้การประนีประนอมมากขึ้น ยุตินโยบายการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลโดยสร้างพันธมิตรกับกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อสามารถบริหารประเทศได้ครบวาระ 4 ปี

- นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลประธานาธิบดี Fernandez de Kirchner หลายอย่างได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ดำเนินนโยบายสวนทางกับประชาคมโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ แนวทางการแก้ไขผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งรัฐบาลส่วนใหญ่มุ่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่อาร์เจนตินาเลือกที่จะยึดกิจการสำคัญๆ เข้าเป็นของรัฐ อาทิ กองทุนบำนาญและสายการบินแห่งชาติ นอกจากนี้ รัฐบาลอาร์เจนตินาซึ่งได้รับการวิจารณ์จากสื่อนานาชาติเรื่องการเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ ยังต่อต้านการจัดอันดับ (rating) ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันและสถานะทางเศรษฐกิจอาร์เจนตินา โดยออกมาวิจารณ์บริษัทจัดอันดับที่น่าเชื่อถือ อาทิ S&P และ Moody’s อยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อเดือน ธ.ค. 52 ผู้ช่วยรัฐมนตรีของสหรัฐฯ ได้วิจารณ์ระหว่างการเยือนอาร์เจนตินา ว่าอาร์เจนตินามีระบบและระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยและขัดขวางการลงทุนของสหรัฐฯ

นโยบายต่างประเทศ

- ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทั้งอดีตประธานาธิบดี Kirchner และประธานาธิบดี Fernandez de Kirchner ให้ความสำคัญต่อการเมืองภายในมากกว่าความสัมพันธฺระหว่างประเทศ และเลือกดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบโดดเดี่ยว (isolation) ดังจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ที่ตรึงเครียดระหว่างอาร์เจนตินากับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบเกือบทั้งหมด ได้แก่ ข้อพิพาทเรื่องโรงงานกระดาษกับอุรุกวัย ข้อขัดแย้งด้านพลังงานกับชิลี ปัญหากับบราซิลสืบเนื่องจากมาตรการปกป้องการค้าของอาร์เจนตินา รวมทั้ง ความเหินห่างกับสหรัฐฯ และยุโรป และยังคงอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะมัลวินาส หรือฟอล์คแลนด์


- อาร์เจนตินาเป็นประเทศหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับประเทศพัฒนาแล้วในกรอบ G 20 และ WTO เพื่อให้สหรัฐฯ และ EU ยกเลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตรทั้งหมด

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอาร์เจนตินา

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง


เป็นไปอย่างราบรื่นแม้จะไม่ใกล้ชิดนัก ไทยและอาร์เจนตินาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมาแล้ว 54 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2498 (ค.ศ.1955) โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย มีการเยือนระดับสูงที่สำคัญ เช่น การเสด็จฯ เยือนอาร์เจนตินาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในปี 2539 และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในปี 2543 และ 2548 ในส่วนของอาร์เจนตินา ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา 2 คน เคยเดินทางเยือนไทย คือ นาย Arturo Frondizi ปี 2504 และนาย Carlos Saul Menem ปี 2540

กลไกการหารือทวิภาคีระหว่างไทยกับอาร์เจนตินา
ได้แก่ การประชุม JC (ยังไม่เคยมีการประชุม) การประชุม Bilateral Economic Consultation (BEC ประชุมแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2547 และ2551) และการประชุม Political Consultation (หารือครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2551 ที่กรุงเทพฯ)

จำนวนคนไทยในอาร์เจนตินา
มีจำนวน 81 คน (นักเรียนไทย 26 คน และคนไทย 46 คน และนักโทษหญิงข้อหายาเสพติด 9 คน) ปี 2551 มีชาวอาร์เจนตินาเดินทางมายังไทย เป็นจำนวน 7,211 คน นับเป็นอันดับ 3 (รองจากเม็กซิโก และบราซิล) ของชาวลาตินอเมริกาที่เดินทางมาไทย

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
อาร์เจนตินาเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา (รองจากบราซิลและเม็กซิโก) ไทยนำเข้ากากพืชน้ำมัน (ออยล์เค้ก) และถั่วเหลืองจากอาร์เจนตินาเป็นอันดับ 1 และ 2 จากการนำเข้าทั่วโลก ในปี 2551 การค้าระหว่างไทยกับอาร์เจนตินามีมูลค่า 971.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 13.59 คิดเป็น 0.27 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับโลก โดยไทยขาดดุลการค้า 211.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อนึ่ง ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 การค้าทวิภาคีมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 11.54 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยการส่งออกของไทยลดลงร้อยละ 5.43 อันสืบเนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่ยังถือว่าการค้าทวิภาคีไทย – อาร์เจนตินาชะลอตัวในอัตราที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าอื่นๆ ในลาตินอเมริกาและทั่วโลก

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย
พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (รวมถึงกากพืชน้ำมัน) สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูปผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์

ด้านการลงทุน
บริษัท Sadesa ของอาร์เจนตินาได้เข้ามาลงทุนในไทยในกิจการฟอกหนัง ที่ จ. อยุธยา กว่า 10 ปี และได้ขยายโรงงานอีก 2 แห่งที่ อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี และแหลมฉบัง จ. ชลบุรี โดยเป็นการลงทุนเดียวของอาร์เจนตินาในไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังไม่มีการลงทุนของไทยในอาร์เจนตินา อย่างไรก็ตาม สาขาที่ไทยเชี่ยวชาญและอาร์เจนตินาก็ให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ ได้แก่ ธุรกิจการโรงแรมและท่องเที่ยว อนึ่ง ผู้แทนการค้าไทยและ ผช. รมว.กต. (ดร. วัชระ พรรณเชษฐ์และ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ได้นำนักธุรกิจไทยไปเยือนอาร์เจนตินาภายใต้โครงการ road show เมื่อวันที 31 ต.ค. – 2 พ.ย. 2552 เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการขยายตลาดในอาร์เจนตินาในหลายสาขา ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ สินค้าประมง อาหารสัตว์ อัญมณี เครื่องจักรกล และโลจิสติกส์

ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม


ปี 2548 เป็นปีแห่งการครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อาร์เจนตินา กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอาร์เจนตินาประจำประเทศไทยได้จัดกิจกรรมเพื่อฉลองวาระพิเศษดังกล่าว ได้แก่ การจัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึก โดยพิมพ์ภาพรำกลองยาว และการเต้นรำแทงโก้ ซึ่งเป็นศิลปะประจำชาติของทั้งสองประเทศบนตราไปรณียากรดังกล่าว รวมทั้งได้จัดโครงการ Football Clinic โดยการเชิญนายอูบาลโด มาทิลโด ฟิยอล (Mr. Ubaldo Matildo Fillol) ซึ่งเป็นอดีตผู้รักษาประตูทีมชาติอาร์เจนตินา ชุดที่ชนะเลิศในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2530 มาเป็นผู้ฝึกสอนทักษะทางด้านกีฬาฟุตบอลให้แก่นักเรียนในโรงเรียนกีฬาของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งนักเรียนในโครงการยุวทูตความดีของกระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้พระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเป็นเวลา 1 เดือน นอกจากนี้ ยังได้จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกวาระครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย ในปี 2549 มีชาวอาร์เจนตินาเดินทางมาประเทศไทย 4,373 คน

ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีและเวทีระหว่างประเทศ


ไทยและอาร์เจนตินามีพื้นฐานและโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พัฒนามาจากภาคเกษตรกรรม และเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ ของโลก จึงมีจุดยืนร่วมกันในการเรียกร้องให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเปิดตลาดสินค้าเกษตรจากประเทศกำลังพัฒนาและลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรของตนลง นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีความร่วมมือที่ใกล้ชิด ในกรอบ G20, WTO และ UN ในส่วนของความร่วมมือระหว่างภูมิภาค ไทยและอาร์เจนตินาต่างมีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และลาตินอเมริกา โดยเฉพาะในเวที

ความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia- Latin America Cooperation – FEALAC) ซึ่งอาร์เจนตินากำลังเป็นประธานร่วมฝ่ายลาตินอเมริกา (ญี่ปุ่นเป็นประธานฝ่ายเอเชีย) และในกรอบความร่วมมือ ASEAN – MERCOSUR

ความตกลงทวิภาคี


- ไทยและอาร์เจนตินาได้ลงนามความตกลงระหว่างกันแล้ว 12 ฉบับ ครอบคลุมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า วิทยาศาสตร์และวิชาการ การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน วัฒนธรรม พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ การปราบปรามยาเสพติด และการยกเว้นการตรวจลงตรา และล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2552 ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในโอกาสการเยือนอาร์เจนตินาของผู้แทนการค้าไทยและผช. รมว.กต. โดยรมว.กต. อาร์เจนตินาได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีด้วยความตกลงที่อยู่ระหว่างการจัดทำอีก 4 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงด้านกีฬา บันทึกความเข้าใจด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือการเกษตร และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการทูต

ความตกลงที่สำคัญกับไทย


ความตกลงที่ลงนามแล้ว1) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (ลงนามเมื่อ 20 ตุลาคม 2524) 2) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าอาร์เจนตินา (ลงนามเมื่อ 7 มิถุนายน 2534) 3) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อ 16 พฤษภาคม 2539) 4) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ลงนามเมื่อ 7 มิถุนายน 2539) 5) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (ลงนามเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2540) 6) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านปราบปรามยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (ลงนามเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2540) 7) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2543) 8) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม การศึกษาและวิทยาศาสตร์ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติ La Plata (ลงนามเมื่อ 28 ธันวาคม 2543) 9) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับ ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา (ลงนามเมื่อ 14 สิงหาคม 2549) 10) ความตกลงด้านวัฒนธรรม (ลงนามเมื่อ 14 สิงหาคม 2549) 11) MOU on Political Consultation and Other Matters of Common Interest (ลงนามเมื่อ 19 กันยายน 2549)12) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (ลงนามเมื่อ 2 พ.ย. 2552)

---------------

ปรับปรุงล่าสุด สิงหาคม 2553


กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 02 6435000 ต่อ 3013, 3014, 3016 หรือ 0-2643-5114 Fax. 0-2643-5115

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-15-document.doc