สาธารณรัฐตุรกี

สาธารณรัฐตุรกี

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.พ. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 35,028 view


สาธารณรัฐตุรกี
Republic of Turkey

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง
ส่วนหนึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป (ร้อยละ 3) อีกส่วนหนึ่งอยู่ในเอเชียตะวันตก ทิศเหนือติดทะเลดำ ทิศตะวันออกติดประเทศจอร์เจียและประเทศอาร์เมเนีย ทิศใต้ติดประเทศอิรัก ประเทศซีเรีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจดประเทศบัลแกเรียและประเทศกรีซ
พื้นที่ 
783,562 ตารางกิโลเมตร (รวมทะเลสาบและเกาะ)
ภูมิอากาศ
อากาศร้อนในภูมิภาคทะเลดำ อากาศแบบภาคพื้นทวีปในพื้นที่ตอนในและ แบบเมดิเตอร์เรเนียนตามชายฝั่งทะเลภาคใต้
ประชากร
75.62 ล้านคน (ปี 2556)
ภาษา 
ภาษาเตอร์กิช (ภาษาราชการ) ภาษาเคิร์ด ภาษาอาราบิค
ศาสนา
ร้อยละ 99 นับถือศาสนาอิสลาม ที่เหลือเป็นคริสเตียนและยิว
เมืองหลวง 
กรุงอังการา (Ankara)
สกุลเงิน 
เตอร์กิชลีร่า
วันชาติ 
29 ตุลาคม

การเมืองการปกครอง
ระบบการเมือง 
เป็นสาธารณรัฐ มีนโยบายที่แยกศาสนาออกจากการเมือง (secular state) มีการปกครองแบบรัฐสภา (republican parliamentary democracy) โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล
ประมุข
ประธานาธิบดีเป็นประมุข มาจากการเลือกตั้งของสภาแห่งชาติ (Grand National Assembly) มีวาระ 7 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายอับดุลลา กูล (Abdullah Gül) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 11 และเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนที่ 5 ของตุรกี (รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2550)
นายกรัฐมนตรี                                                                                                                                                                                                              
นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี โดยการเสนอชื่อของสภาแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdogan) ซึ่งเป็นหัวหน้า Justice and Development Party (AKP) (รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2546 เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อ)
รัฐมนตรีต่างประเทศ
นายอาห์เหม็ด ดาวูโตลู (Ahmet Davutoğlu) (รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552)
สถาบันทางการเมือง
สภาแห่งชาติ (Grand National Assembly) เป็นสภาเดียว มีสมาชิกจำนวน 550 คน จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติทุก 5 ปี การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2554

เศรษฐกิจการค้า (ปี 2555)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)
794.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ร้อยละ 3.0
รายได้เฉลี่ยต่อหัว
15,200 ดอลลาร์สหรัฐ 
ทรัพยากรสำคัญ      
ถ่านหิน โครเมียม ทองแดง โบรอน
อุตสาหกรรมหลัก   
สิ่งทอ อาหารแปรรูป ยานยนต์ อีเล็กทรอนิกส์ เหล็ก การก่อสร้าง กระดาษ การท่องเที่ยว
ประเทศคู่ค้าสำคัญ
เยอรมนี สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS)  แอฟริกา รัสเซีย
สินค้าส่งออกสำคัญ
ยานยนต์และอะไหล่ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรม เสื้อผ้าและสิ่งทอ เครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์ อุปกรณ์สื่อสาร 
สินค้านำเข้าสำคัญ 
น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ ยาง  


ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตุรกี

1.1 ความสัมพันธ์ทั่วไป

       ไทยและตุรกีมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาเป็นเวลาช้านาน โดยในบันทึก “ประวัติการค้าไทย” ของขุนวิจิตรมาตราได้กล่าวไว้ว่า สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ไทยส่งไม้ไปขายตุรกี เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศเคยติดต่อค้าขายกันมาเป็นเวลานานแล้ว และมีเหรียญตราสมัยรัชกาลที่ 3 จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวัง Topkapi ณ นครอิสตันบูล ด้วย

       ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างไทยกับตุรกีเริ่มต้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จ

พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จเยือนยุโรป และราชอาณาจักรออตโตมัน เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี

       ไทยและตุรกีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2501 ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยได้มีการร่วมฉลองครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อปี 2551 

       ฝ่ายตุรกีได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยในปี 2502 และฝ่ายไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ  กรุงอังการา และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ นครอิสตันบูล ในปี 2510 และต่อมาได้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครอิสตันบูลในปี 2538

       เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา คนปัจจุบัน คือ นายธฤต จรุงวัฒน์ (เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556) และกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำนครอิสตันบูล (Honorary Consul-General) คือ นาย Refik Gokcek (รับหน้าที่เดือนสิงหาคม 2547) ส่วนเอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศไทย คือ นาย Osman Bulent Tulun (เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2556)

 

1.2 การเมือง
       ปัจจุบันทั้งสองประเทศมีกลไกดำเนินความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี คือ (1) การประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Joint Committee on Economic and Technical  Cooperation: JC)  ตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 มีการประชุมร่วมกันไปแล้ว 3 ครั้ง (ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2543 ที่กรุงเทพฯ)  (2) การประชุมหารือ Political Consultation ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 ประชุมร่วมกันไปแล้ว 2 ครั้ง (ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ที่กรุงอังการา) และ (3) กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาของทั้งสองประเทศ

      ไทยและตุรกีมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างกันเป็นระยะ โดยในระดับนายกรัฐมนตรี ได้แก่ (1) นายกรัฐมนตรีตุรกี (นาย Recep Tayyip Erdoğan) เยือนไทยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548  (2) นายกรัฐมนตรี (พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร) เยือนตุรกีระหว่างวันที่ 10 – 11 พฤศจิกายน 2548  และ (3) นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร) เยือนตุรกีระหว่างวันที่ 5 – 6 กรกฎาคม 2556 ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ เยือนตุรกีระหว่างวันที่ 22 – 25 ธันวาคม 2553 และระดับรัฐสภา ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-ตุรกี เยือนตุรกี ระหว่างวันที่ 6 – 12 ธันวาคม 2547 

      ในกรอบพหุภาคี ตุรกีสนใจที่จะส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มอาเซียน โดยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia - TAC) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในองค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of the Islamic Conference - OIC) ซึ่งไทยเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ด้วย 

       นอกจากนี้ ไทยและตุรกียังมีการแลกเปลี่ยนสนับสนุนการสมัครเข้าดำรงตำแหน่งในองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ เสมอมา และมีความร่วมมือกันในกรอบพหุภาคี อาทิ กรอบการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia - CICA) ซึ่งตุรกีมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียกลาง และไทยสนใจที่จะให้ตุรกีเป็นสะพานเชื่อมสู่ประเทศในเอเชียกลาง ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และพลังงาน ล่าสุด ไทยในฐานะผู้ประสานงานของกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue - ACD) ได้ให้การสนับสนุนตุรกีเข้าเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 33 ของ ACD เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556


1.3 เศรษฐกิจ
      1.3.1 การค้า
                ตุรกีเป็นตลาดที่สำคัญตลาดหนึ่งของไทย โดยเฉพาะตลาดอาหารฮาลาลไปสู่สหภาพยุโรป โดยในปี 2555 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,329.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 1,085.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 243.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 841.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ด้าย ผลิตภัณฑ์ทำจากยาง เคมีภัณฑ์ ตู้เย็น ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ                                             
                สินค้านำเข้าจากตุรกี ได้แก่ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่และโลหะอื่น ๆ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องขึ้นรูปอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
ผลิตภัณฑ์ทำจากยาง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า                          

                ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายได้มีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทย-ตุรกี โดยการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ตุรกี และสภาธุรกิจตุรกี-ไทย เมื่อปี 2554 และสมาคมอุตสาหกรรมการก่อสร้างของทั้งสองประเทศยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการก่อสร้างระหว่างกัน เมื่อปี 2554 ทั้งนี้ ภาคเอกชนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เดินทางเยือนตุรกี เมื่อวันที่ 19-24 กันยายน 2554 ขณะที่ สภาธุรกิจตุรกี - ไทย ได้นำคณะนักธุรกิจตุรกีเดินทางเยือนไทย เมื่อวันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2555 และเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2556  

                นอกจากนี้ ตุรกียังมีความสนใจที่จะทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับไทย-ตุรกี ด้วย โดยสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการศึกษาผลกระทบของการทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกันให้แล้วเสร็จภายในปี 2557


     1.3.2 การลงทุน
               บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ลงทุนในธุรกิจผลิตอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์จากไก่ครบวงจรในตุรกี ตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยครองส่วนแบ่งการตลาดในตุรกี ร้อยละ 10 เป็นอันดับ 1 ในตลาดอาหารสัตว์ อันดับ 2 ในตลาดไข่ไก่ และอันดับ 4 ในตลาดเนื้อไก่ มีการจ้างงานกว่า 2,550 คน นอกจากนี้ สาขาธุรกิจและบริการอื่น ๆ ที่มีลู่ทางลงทุนในตุรกี ได้แก่ การท่องเที่ยว ร้านอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร เป็นต้น

               สำหรับการลงทุนของตุรกีในประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทของตุรกีลงทุนในไทยประมาณ 20 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจด้านสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากยางพารา อัญมณี และบริษัทตัวแทนการท่องเที่ยว ตุรกีเคยแสดงความสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมการก่อสร้างในไทย โดยหวังจะใช้ไทยเป็นประตูไปสู่อินโดจีน โดยเฉพาะในเวียดนามและลาว นอกจากนี้ ยังสนใจการต่อเรือ การรถไฟ ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ และธุรกิจให้คำปรึกษา (consultancy) ตลอดจนร่วมมือกับไทยในการค้าและการลงทุนด้านอื่น ๆ ในภูมิภาคอินโดจีนและเอเชีย-แปซิฟิก


1.4 การท่องเที่ยว

       นับตั้งแต่ปี 2542 สายการบินตุรกี (Turkish Airlines) ได้เปิดบริการเที่ยวบินตรงในเส้นทางกรุงเทพฯ - อิสตันบูล ปัจจุบันมีเที่ยวบินตรงทุกวัน รวม 11-15 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ขณะที่ปริมาณนักท่องเที่ยวจากตุรกีมาไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2550 ที่มีจำนวน 31,591 คน เพิ่มขึ้นเป็น 64,206 คน ในปี 2555 ขณะที่มีนักท่องเที่ยวไทยไปตุรกี 12,221 คน ในปีเดียวกัน

       ไทยและตุรกีมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ และนักท่องเที่ยวตุรกีได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา (ผ.30) จากไทยตั้งแต่ปี 2538  และล่าสุด ฝ่ายตุรกีได้ประกาศยกเว้นการตรวจลงตรา (30 วัน) สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยเพื่อเป็นการต่างตอบแทน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 เป็นต้นมา

 

1.5 ด้านวิชาการ

     ปัจจุบันมีโรงเรียนนานาชาติของตุรกีในไทย 4 แห่ง (1 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่และ 3 แห่งในกรุงเทพฯ) นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2548 รัฐบาลตุรกีได้มอบทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปริญญาตรี-โท-เอก และทุนวิจัย ประมาณ 20 ทุนต่อปี สำหรับนักเรียนและนักศึกษาไทยเป็นประจำทุกปี ปัจจุบัน มีนักเรียนไทยในตุรกีประมาณ 90 คน ทั้งนี้ ตุรกีเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับนักศึกษามุสลิมของไทยในการเดินทางไปศึกษาต่อ เนื่องจากเป็นประเทศมุสลิมที่แนวทางปฏิบัติและความเชื่อถือทางศาสนาเป็นสายกลาง และยึดหลักการแบ่งแยกศาสนาออกจากการเมือง จึงเป็นสังคมที่เปิดกว้างต่อความรู้และวิทยาการต่าง ๆ

    ล่าสุด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เปิดศูนย์ศึกษาตุรกีเป็นแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2556 โดยร่วมมือกับ Ankara University ของตุรกี         

 

1.6 ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม      

กรุงเทพมหานครและเทศบาลกรุงอังการาได้ลงนามความตกลงการสถาปนาความสัมพันธ์ ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างกรุงเทพมหานครกับกรุงอังการา ณ กรุงอังการาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555


2. ความตกลงและความร่วมมือระหว่างไทย - ตุรกี
    ความตกลงที่ลงนามแล้ว

    2.1 ความตกลงทางการค้าระหว่างไทย-ตุรกี (ลงนามเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2530)

    2.2 ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างไทย-ตุรกี (ลงนามเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2530)

    2.3 ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการ และหนังสือเดินทางพิเศษ (ลงนามเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2532)

    2.4 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี (ลงนามเมื่อวันที่
8 มิถุนายน 2532)

    2.5 แผนปฏิบัติการว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-ตุรกี (ลงนามเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548)

    2.6 ข้อตกลงระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและกระทรวงการต่างประเทศตุรกี
(ลงนามเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2542)

    2.7 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม (ลงนามเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2545)

    2.8 ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2545)

    2.9 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ลงนามเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548)

    2.10 ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน (ลงนามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2548)

    2.11 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม (ลงนามเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548)

    2.12 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ลงนามเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548)

    2.13  สนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐตุรกีว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ) (ลงนามเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556)

    2.14  แผนปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐตุรกี ฉบับที่ 1 (ปี 2556-2561) (ลงนามเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556)

    2.15 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการและการฝึกอบรมนักการทูตระหว่างสถาบันการต่างประเทศของไทยกับตุรกี (ปี 2556-2558) (ลงนามเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556)

    นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยและตุรกีได้ลงนามความตกลงสำหรับการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมกัน และบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย-ตุรกี ณ นครอิสตันบูล เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554

    สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และองค์การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของตุรกี (KOSGEB) ได้ลงนามกรอบความร่วมมือด้านการส่งเสริม SMEs ระหว่างกัน ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2555 โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดทำแผนงานความร่วมมือฯ รวมทั้งระบุเป้าหมาย สินค้าที่จะส่งเสริมร่วมกัน ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการต่อเรือ (2) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์และบริการสปา (3) อุตสาหกรรมสิ่งทอ และ (4) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง

    

3. การเยือนที่สำคัญ
    3.1 การเยือนของฝ่ายไทย
          พระราชวงศ์ 
          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
          - วันที่ 12 - 20 ธันวาคม 2535 เสด็จฯ เยือนตุรกีอย่างเป็นทางการ
          สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
          - เดือนกันยายน 2537 เสด็จเยือนตุรกี  
          - 13 - 17 สิงหาคม 2556 เสด็จเยือนสาธารณรัฐตุรกี เพื่อทรงเข้าร่วมการประชุมเคมีโลกครั้งที่ 44

          นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ              
          - วันที่ 7 - 11 มิถุนายน 2532 พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนตุรกี
          - วันที่ 1 - 5 มิถุนายน 2537 นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนตุรกี              
          - วันที่ 23 - 25 มิถุนายน 2548 ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนตุรกี
          - วันที่ 10 - 11 พฤศจิกายน 2548 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนตุรกี
          - วันที่ 22 - 25 ธันวาคม 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนตุรกี
          - วันที่ 5 - 6 กรกฎาคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนตุรกี

   3.2 ฝ่ายตุรกี
          ประธานาธิบดี / นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
          - วันที่ 29 มิถุนายน 2528 นายทูร์กุท เออซาล (Turgut Ozal) ประธานาธิบดี พร้อมภริยาแวะผ่านไทย ระหว่างการเดินทางไปเยือนจีน
          - วันที่ 27 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2533 ดร.อาลี โบแซร์ (Ali Bozer) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี เยือนไทย
          - วันที่ 16 - 17 พฤษภาคม 2534 นายเยิลเดอเริม อัคบูลุท (Yilidirim Akbulut) นายกรัฐมนตรีตุรกี และคณะ แวะผ่านไทย และได้เข้าเยี่ยมคารวะ
นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี
          - วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdogan) นายกรัฐมนตรีตุรกีเดินทางเยือนไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล (Working Visit) พร้อมเพื่อเยี่ยมชมบริเวณพื้นที่ประสบเหตุสึนามิ ในจังหวัดพังงาและภูเก็ต
          - วันที่ 3 ธันวาคม 2548 นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdogan) นายกรัฐมนตรีตุรกี เดินทางแวะผ่านไทยระหว่างเดินทางเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์      


หน่วยงานของไทยในตุรกี
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา (ตุรกี)
Royal Thai Embassy, Ankara
ที่ตั้ง: Koza Sokak No. 87, 06700 Gaziosmanpasa, Ankara, Turkey
Tel. (90 312) 437 4318 / 437 5248
Fax (90 312) 437 8459

 


3 ม.ค 2557


กองยุโรป 2 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5000 ต่อ 3208 Fax. 0 2643 5132 E-mail : [email protected]

 

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ