สาธารณรัฐซานมาริโน

สาธารณรัฐซานมาริโน

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.พ. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 12,157 view


สาธารณรัฐซานมาริโน
Republic of San Marino

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อทางการ The Republic Of San Marino

ที่ตั้ง
สาธารณรัฐซานมาริโนตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของประเทศอิตาลี เป็นประเทศซึ่งไม่มีทางออกทะเล พรมแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ติดกับแคว้น Emilia-Romanga และด้านตะวันออกเฉียงใต้อยู่ติดกับแคว้น Marche-Montefeltro 

ซานมาริโนมีพื้นที่ประมาณ 61 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา (Mount Titano) สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปไม่ร้อนหรือหนาวเย็นเกินไป อากาศดีและท้องฟ้าใสตลอดปี

ภูมิอากาศ เป็นแบบเมดิเตอร์เรเนียน ฤดูหนาวไม่หนาวเย็นเกินไป (cool winter) และฤดูร้อนไม่ร้อนจัด (warm summer) โดยมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง ลบ 6 ถึง 20 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนในระดับกลาง ประมาณ 762 มม. (13 นิ้ว) ต่อปี

เมืองหลวง กรุงซานมาริโน

ประชากร 32,404 คน (พ.ศ. 2555)

เชื้อชาติ ส่วนใหญ่มีเชื้อชาติซามมาริเนเซ่ (Sammarinese) และมีเชื้อชาติอิตาเลี่ยนอยู่บ้าง

ศาสนา คริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก

ภาษา อิตาเลียน

วันชาติ 3 กันยายน

สกุลเงิน มีเงินเหรียญของตนเอง แต่นิยมใช้เงินยูโร
 

การเมืองการปกครอง

สาธารณรัฐซานมาริโน เป็นสาธารณรัฐที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง ตั้งขึ้นในประมาณช่วงปี พ.ศ. 844 โดยช่างสกัดหินชาวคริสเตียนชื่อ Marinus the Dalmation ผู้หลบหนีอิทธิพลของจักรพรรดิโรมันชื่อ Diocletian ซึ่งต่อต้านคริสตศาสนา โดยหลบหนีมาจากเกาะ Arbe มาตั้งชุมชนชาวคริสต์ขนาดเล็กขึ้นที่ยอดเขา Titano บนเทือกเขา Apennines ต่อมา Marinus the Dalmation ได้เป็นนักบุญ (saint) และเพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้ก่อตั้งชุมชน บริเวณดังกล่าวจึงได้รับการขนานนามว่า Community of San Marino และเปลี่ยนเป็น Land of San Marino และ Republic of San Marino ตามลำดับ

ดินแดนของซานมาริโน ประกอบด้วยพื้นที่เฉพาะบริเวณยอดเขา Titano มาจนถึงปี พ.ศ. 1517 จากนั้นซานมาริโนได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสันตปาปา เพื่อต่อต้าน Sigismondo Pandolfo Malatesta, Lord of Rimini เมื่อได้รับชัยชนะ Pope Pius II Piccolomini จึงได้ยกเมือง Fiorentino, Montegiardino และ Serravalle ให้กับซานมาริโน ต่อมาในปีเดียวกัน เมือง Faetano ได้ขอเข้ามาอยู่ร่วมกับซานมาริโนด้วยอีกแห่งหนึ่ง อาณาเขตซานมาริโนจึงขยายเพิ่มขึ้นและคงจำนวนพื้นที่ดังกล่าวมาจนปัจจุบัน

ดินแดนซานมาริโนถูกกองกำลังต่างชาติเข้ายึดครอง 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2046 Cesare Borgia หรือที่รู้จักกันในนาม Valentino เข้ายึดครองดินแดน แต่ซานมาริโนเป็นอิสระได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี เมื่อ Valentino เสียชีวิตลง ต่อมา Cardinal Alberoni นำกองกำลังเข้ายึดครองซานมาริโน แต่ถูกชาวเมืองต่อต้านด้วยมาตรการไม่ให้การเชื่อฟัง และได้รับความช่วยเหลือจากสันตปาปาจนได้รับเอกราชกลับคืนมาในที่สุด

โครงสร้างการปกครองแต่เดิมนั้น มีสภาที่เรียกว่า The Arengo ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจากแต่ละครอบครัว ต่อมาสภา Arengo ได้ส่งมอบอำนาจให้กับรัฐสภาในรูปแบบปัจจุบันที่เรียกว่า The Great and General Council ส่วนฝ่ายบริหารใช้ระบบผู้ครองนครร่วม (Co-chiefs of State หรือ Captains Regent) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 1786

สาธารณรัฐซานมาริโนมีรัฐสภาแบบสภาเดียวซึ่งเรียกว่า Great and General Council ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 60 คนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง สมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี รัฐสภา ทำหน้าที่ออกกฎหมายและพิจารณางบประมาณ และยังมีหน้าที่เลือกสมาชิกของตนครั้งละ 2 คน (ซึ่งมักมาจากพรรคการเมืองคนละพรรคเพื่อให้คอยตรวจสอบกันและกันได้ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ครองนครร่วมกัน (Co-chiefs of State หรือ Captains Regent) โดยมีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 6 เดือน หลังจากครบวาระแล้ว ประชาชนจะมีเวลา 3 วันในการร้องเรียน หากไม่พอใจในการบริหารของ Captains Regent

ตำแหน่ง Captains Regent ถือเป็นประมุขประเทศ (Head of State) ของซานมาริโน สำหรับตำแหน่ง Head of Government มาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
นอกจากนั้น ฝ่ายบริหารของซานมาริโน ยังมี Congress of State (เทียบเท่าคณะรัฐมนตรี) อันประกอบผู้ดำรงตำแหน่ง Secretary 3 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีเช่นกัน คือ 1) Secretary of State for Foreign and Political Affairs รับผิดชอบด้านการเมืองและการต่างประเทศ 2) Secretary of State for Internal Affairs and Civil Defense รับผิดชอบด้านกิจการภายในและการป้องกันฝ่ายพลเรือน 3) Secretary of State for Finance, Budget and Programming, Information and Relations with the State Philatelic and Numismatic Office รับผิดชอบด้านการเงิน การคลัง สารนิเทศ การไปรษณียากรและการธนารักษ์

Congress of State ยังมีรัฐมนตรี 7 คน ช่วยดูแลรับผิดชอบงานด้านต่างๆ ได้แก่
1) ด้านการศึกษา วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยและยุติธรรม
2) ด้านเขตแดนสิ่งแวดล้อมและการเกษตร
3) ด้านสาธารณสุขและการประกันสังคม
4) ด้านการค้าและความสัมพันธ์กับสภาเขต
5) ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร การท่องเที่ยวและการกีฬา
6) ด้านแรงงาน
7) ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม

ระบบศาล ได้รับอิทธิพลจากอิตาลี โดยมีผู้พิพากษาส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมี Council of Twelve (Consiglio dei XII) ซึ่งเลือกตั้งโดย The Great and General Council ให้ทำหน้าที่ทางด้านตุลาการ และเป็นศาลอุทธรณ์

การปกครอง
แบ่งออกเป็น 9 เขต ( castello หรือ township) คือ Acquaviva, Borgo Maggiore, Chiesanuova, Domagnano, Faetano, Fiorentino, Monte Giardino, Serravalle, San Marino Citta แต่ละเขตจะมีสภา (Council) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนในเขตนั้นๆ ทุกๆ 5 ปี ทำหน้าที่บริหาร โดยมี Township captain เป็นประธานสภา

ประมุขของรัฐ ประมุขร่วม ได้แก่ นาง Antonella Mularoni และนาย Denis Amici (เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556)

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ซานมาริโนทำสนธิสัญญาทางไมตรีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอิตาลีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2405 ซึ่งมีการปรับปรุงและขยายความร่วมมืออีกหลายครั้ง ปัจจุบันซานมาริโนได้รับความช่วยเหลือด้านงบประมาณจากอิตาลีทุกปี โดยซานมาริโนยอมสละสิทธิ์บางประการ อาทิ การปลูกยาสูบและการตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ในปี พ.ศ. 2541 มีการเจรจาระหว่างอิตาลีกับซานมาริโนเกี่ยวกับการใช้เงินยูโร และต่อมาสหภาพยุโรปได้มอบหมายให้อิตาลีดำเนินการเจรจาทำความตกลงกับซานมาริโน เพื่อให้ซานมาริโนสามารถผลิตเหรียญกษาปณ์สกุลเงินยูโรขึ้นใช้แทนเงินสกุลลีเรได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป (แต่ไม่อนุญาตให้พิมพ์ธนบัตรเงินยูโร)

ซานมาริโนเริ่มเพิ่มบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น ปัจจุบันซานมาริโนมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ กว่า 70 ประเทศ และมีสิทธิมีเสียงในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น โดยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และเป็นสมาชิกทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติหลายองค์การ รวมทั้งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สหภาพไปรษณีย์สากล (UPU) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) องค์การการท่องเที่ยวโลก (WToO) คณะกรรมาธิการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) International Court of Justice (ICJ), International Monetary Fund (IMF), World Health Organization (WHO), International Institution for the Unification of Private Law (UNIDROIT), นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศอื่นๆ อาทิ องค์การความร่วมมือเพื่อความมั่นคงแห่งยุโรป (OSCE) สภายุโรป (Council of Europe-CE) รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมของบางองค์กร เช่น NAM (guest), IOM (observer)

เศรษฐกิจการค้า

สาธารณรัฐซานมาริโนไม่มีทรัพยากรแร่ธาตุ พื้นที่ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 74 ของพื้นที่ทั้งหมด) เป็นพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก
ผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ประกอบด้วย ข้าวเจ้า ข้าวบาเลย์ ข้าวโพด องุ่น น้ำมันมะกอก และพืชผักสวนครัว
พื้นที่ร้อยละ 22 ใช้ในการปศุสัตว์ ซึ่งประกอบด้วยวัว หมู แกะ และม้า พื้นที่ร้อยละ 4 ที่เหลือเป็นป่า ที่อยู่อาศัย และอื่นๆ

ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (ซึ่งรวมถึงการขายดวงตราไปรษณียากร เหรียญที่ระลึกและสินค้าปลอดภาษี) ซึ่งทำรายได้มากกว่าร้อยละ 50 ของ GDP โดยซานมาริโนมีนักท่องเที่ยวประมาณปีละ 3.5 ล้านคน
อุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ ได้แก่ การธนาคาร และ สิ่งทอ ผลผลิตสำคัญจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ปูนซิเมนต์ เฟอร์นิเจอร์ ไวน์ หนังสัตว์ ยางสังเคราะห์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ศิลปะวัตถุที่ทำจากหิน ไม้ สินค้าสถิติการค้าของซานมาริโนมักรวมกับของอิตาลี

สินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ เซรามิก กระเบื้อง เสื้อผ้า ไวน์

สินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค

ตลาดส่งออกที่สำคัญ อิตาลี

ตลาดนำเข้าที่สำคัญ อิตาลี ยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ จีน

ข้อมูลเศรษฐกิจโดยสังเขป (ปี พ.ศ. 2555)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 1.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชากรต่อหัว 64,480 ดอลลาร์สหรัฐ

 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -2.6

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.5

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐซานมาริโน

ไทยและสาธารณรัฐซานมาริโนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 14กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 โดยในระยะแรกมีการแต่งตั้งผู้แทนทางการทูตในระดับกงสุลใหญ่ ได้แก่ อัครราชทูต ณ กรุงโรม ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ของไทยประจำสาธารณรัฐซานมาริโน และต่อมาได้ยกระดับเป็นเอกอัครราชทูต เมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยมอบหมายสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐซานมาริโน ส่วนซานมาริโนยังไม่มีสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซานมาริโนโดยทั่วไปยังมีไม่มากนัก เนื่องจากซานมาริโนเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กและมีประชากรน้อยมาก นอกจากนี้ ไทยยังไม่มีผลประโยชน์มากนักในซานมาริโน  ทั้งทางยุทธศาสตร์ การเมืองหรือเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสาธารณรัฐซานมาริโนยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม ทั้งนี้ ปัจจุบันซานมาริโนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 104 ของไทย โดยในปี พ.ศ. 2555 ไทยและซานมาริโนมีมูลค่าการค้ารวม 0. 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 0.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 0.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ไทยเสียดุลการค้า 0.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าเข้าจากซานมาริโน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ทำจากยาง ผลิตภัณฑ์โลหะ แผงวงจรไฟฟ้า และไทยส่งออกสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง

การท่องเที่ยว

ในปี พ.ศ. 2555 มีนักท่องเที่ยวซานมาริโนเดินทางมาไทยทั้งหมด 163 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบัน ฝ่ายไทยได้พิจารณาให้ผู้ถือหนังสือเดินทางซานมาริโนสามารถขอ VOA (visa on arrival) และพำนักอยู่ในไทยเพื่อการท่องเที่ยว ได้ไม่เกิน 15 วัน ในขณะที่บุคคลต่างชาติที่จะเดินทางเข้าซานมาริโนจะต้องเดินทางผ่านดินแดนของอิตาลี และขอรับการตรวจลงตราของอิตาลีก่อน จึงจะสามารถเดินทางเข้าซานมาริโนโดยทางรถยนต์ (ไม่มีสนามบินและท่าเรือ) โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตราอีก
 

สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีในประเทศไทย
The Embassy of Italy
Tel. 0 2285 4090-3
Fax. 0 2285 4793
Call Center: 1900 222 344 (for visa information)
Email: อีเมลสถานทูตอิตาลีสำหรับรายละเอียดเรื่องสาธารณรัฐซานมาริโนและอื่น
เว็บไซต์สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ซึ่งดูแลสาธารณรัฐซานมาริโนด้วย

3 มกราคม 2557

กองยุโรป 2 กรมยุโรป 02 643 5000 Fax. 02 643 5132 Email: [email protected]

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-219-document.doc