โรมาเนีย

โรมาเนีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 มี.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 24,152 view


โรมาเนีย
Romania

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป บนคาบสมุทรบอลข่าน
ด้านเหนือและตะวันออกติดกับมอลโดวาและยูเครน
ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ติดกับฮังการี
ด้านใต้ติดกับบัลแกเรีย
ด้านตะวันตกเฉียงใต้ติดกับเซอร์เบีย
ด้านตะวันออกเฉียงใต้ติดกับทะเลดำ

พื้นที่ 238,391 ตารางกิโลเมตร (ราว 1 ใน 2 ของไทย)

เมืองหลวง กรุงบูคาเรสต์ (Bucharest)

ประชากร 21.7 ล้านคน ประกอบด้วยโรมาเนีย (ร้อยละ 89.5) ฮังการี (ร้อยละ 6.6) โรมา (ร้อยละ 2.5) เยอรมัน (ร้อยละ 0.3) ยูเครน (ร้อยละ 0.3)

ภูมิอากาศ อากาศอบอุ่นและมีแสงแดดมากในฤดูร้อน อากาศเย็นและแห้งในฤดูใบไม้ร่วง อากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว อากาศเย็นในช่วงเช้าและค่ำของฤดูใบไม้ผลิ และอบอุ่นในช่วงกลางวันของฤดูใบไม้ผลิ

ภาษาราชการ โรมาเนียน

ศาสนา นิกายออร์โธดอกซ์ (ร้อยละ 86.8) โปรเตสแตนท์ (ร้อยละ7.5) นิกายโรมันคาทอลิก (ร้อยละ 4.7) และอื่นๆ (ร้อยละ1)

หน่วยเงินตรา รอน (RON) (1 รอน ประมาณ 8.47 บาท สถานะ ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2558)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 386.5  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2557)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 19,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2557)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -0.29 (ประมาณการปี 2557)

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยเป็นระบบสภาคู่ประกอบด้วยวุฒิสภา 137 คน และสภาผู้แทนราษฎร 334 คน มีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเป็นประมุข มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ปัจจุบัน คือ นายคลาวส์ โยฮันนิส (Klaus Iohannis) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2557 และนายวิกตอร์ ปอนตา (Victor Ponta) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2555

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานของโรมาเนีย

การส่งออก 72.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2557)

สินค้าส่งออก สิ่งทอ รองเท้า ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ แร่ธาตุ น้ำมัน เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์การเกษตร 

ประเทศคู่ค้า เยอรมนี, อิตาลี, ฝรั่งเศส, ตุรกี, ฮังการี

การนำเข้า 63.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2557)

สินค้านำเข้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ น้ำมันและแร่ธาตุ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ โลหะ ผลิตภัณฑ์การเกษตร 

ประเทศคู่ค้า เยอรมนี, อิตาลี, ฮังการี,
จีน, ฝรั่งเศส, ออสเตรีย


เศรษฐกิจของโรมาเนีย
โรมาเนียประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยกว่า 3 ปี ก่อนที่จะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ในปี 2543 จากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของตลาดสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา โรมาเนียประสบปัญหาหลัก 4 ประการ คือ (1) การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สินทั้งของภาครัฐและเอกชน (2) ปัญหาค่าเงินตกต่ำ (3) ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และ (4) ปัญหาระบบธนาคาร ซึ่งรัฐบาลโรมาเนียได้พยายามดำเนินมาตรการจำเป็นต่างๆ เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ และระบบราชการ รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดความชัดเจนด้านกฎหมาย ปัญหาด้านศุลกากร และปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระดมทุนจากต่างประเทศ

ในปี 2545 เศรษฐกิจของโรมาเนียเริ่มมีสภาวะดีขึ้น โดยภาคธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมให้ได้รับการพัฒนาได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง การสร้างทางรถไฟและท่าเรือ และโครงการด้านการพลังงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ยังมีภาคธุรกิจอื่นๆ ที่มีแนวโน้มในศักยภาพ อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ ประกันภัย การท่องเที่ยว เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหาร ในการปฏิรูประบบโครงสร้าง รัฐบาลมีโครงการจำหน่ายรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคาร Banca Coerciala Romana (BCR) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และบริษัทน้ำมันแห่งชาติ PETROM และยังมีโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน เหมืองแร่ และอาวุธ รัฐบาลโรมาเนียจึงต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ มาชำระหนี้สิน โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้อนุมัติเงินกู้ระยะ 2 ปี จำนวน 367 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่โรมาเนีย โรมาเนียได้ดำเนินการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เพื่อให้พร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้โรมาเนียได้รับเงินช่วยเหลือทางการเกษตรหลายร้อยล้านยูโร ความช่วยเหลือในการพัฒนาระบบขนส่งและสาธารณูปโภค รวมทั้ง เงินลงทุนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เนื่องจากค่าจ้างแรงงานและค่าใช้จ่ายซึ่งถูกกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป

 

นโยบายต่างประเทศ

โรมาเนียได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ดังนั้น นโยบายด้านการต่างประเทศจะยึดถือตามสหภาพยุโรปเป็นหลัก นอกจากนี้ โรมาเนียให้ความสำคัญกับการดำรงสมาชิกภาพในนาโต ซึ่งโรมาเนียได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2547 ทั้งนี้ เป้าหมายการดำเนินนโยบายต่างประเทศภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดปัจจุบัน คือ การเพิ่มบทบาทของโรมาเนียในองค์กรระหว่างประเทศ สหภาพยุโรป และนาโต การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนในระดับทวิภาคีกับประเทศทั้งในและนอกสหภาพยุโรป เช่น จีน เพื่อขยายตลาดไปสู่ประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรป การดูแลความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย  และการปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับยูเครน มอลโดวา และจอร์เจีย ซึ่งโรมาเนียได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนที่จะสนับสนุนประเทศเหล่านี้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและนาโต

สำหรับนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของโรมาเนียในปี 2554 คือการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม ประเทศ Schengen ซึ่ง ฝรั่งเศส และเยอรมนี ยังคงไม่เห็นด้วย เนื่องจากฝรั่งเศสและเยอรมนีเห็นว่าโรมาเนียยังไม่มีความคืบหน้าการดำเนินการปฎิรูปภายใต้เงื่อนไขของสหภาพยุโรปในเรื่องปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวยิบซีและการปฏิรูประบบศาลยุติธรรม ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการยุโรปรายงานว่ารัฐบาลโรมาเนียยังไม่สามารถแก้ปัญหาในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมและการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ

 

สถานการณ์สำคัญ

การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
โรมาเนียได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ทั้งนี้ โรมาเนียได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมทบของสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 และเริ่มการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2543 IMF ได้ชื่นชมความพยายามของโรมาเนียในการปฏิรูปเพื่อเตรียมเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นว่า ยังมีบางสาขาที่โรมาเนียจะต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปต่อไป ได้แก่ การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง อาชญากรรมจัดตั้ง การปฏิรูประบบภาษีสรรพากร ตลอดจนระบบควบคุมการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปจะมีกลไกตรวจสอบการดำเนินการปฏิรูปในสาขาเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเป็นระยะต่อไปจนกว่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เช่น ในด้านการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง โรมาเนียและบัลแกเรียจะต้องรายงานความคืบหน้าทุก 6 เดือน (รายงานฉบับแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2550) เพื่อทำการวัดผลการดำเนินงาน และคาดว่า ประเทศสมาชิกอื่นๆ จะใช้มาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายในขั้นต่อไป รายงานดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะมนตรียุโรปและสภายุโรป ซึ่งทั้งสองสถาบันไม่น่าจะมีข้อขัดข้อง ส่วนในด้านกฎหมาย ยังมีประเทศสมาชิกที่ต้องให้สัตยาบันสนธิสัญญาการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อีก 3 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี และเดนมาร์ก ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการภายในเร็วๆ นี้

การสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การ NATO
โรมาเนียเป็นประเทศแรกในภูมิภาคยุโรปตะวันออกที่เข้าร่วมโครงการ Partnership for Peace โดยได้ลงนามใน Framework Document ซึ่งเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการปฎิรูปตามโครงการ Partnership for Peace เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2537 นอกจากนี้ โรมาเนียยังได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามโครงการ Partnership for Peace อาทิ การเป็นเจ้าภาพจัดการซ้อมรบทางเรือบริเวณทะเลดำ การส่งทหารเข้าร่วมการซ้อมรบอย่างสม่ำเสมอ และการส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมในกองกำลังผสมเพื่อรักษาสันติภาพในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา อังโกลา และแอลเบเนีย

โรมาเนียได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ระหว่างการประชุมผู้นำประเทศสมาชิกนาโตที่กรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนเมษายน 2542 โดยเป็นประเทศกลุ่มที่สองของยุโรปตะวันออกซึ่งประกอบด้วยบัลแกเรีย โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย เอสโตเนีย และแลตเวีย และลิธัวเนีย หลังจากที่ได้รับโปแลนด์ ฮังการี และเช็กเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มแรกเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 2542 และในการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศสมาชิกนาโต ที่กรุงปราก ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2545 นาโตได้พิจารณารับโรมาเนียพร้อมกับประเทศกลุ่มที่สองอื่น ๆ เข้าเป็นสมาชิก NATO

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโรมาเนีย

ความสัมพันธ์ทั่วไป

การทูต

ไทยกับโรมาเนียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2516 โดยโรมาเนียได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพ ฯ เมื่อปี 2519  และไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2523 ซึ่งนับตั้งแต่โรมาเนียได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองเป็นไปด้วยความราบรื่นมาโดยตลอด ปัจจุบัน นายคมกริช วรคามิน ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ และนายกรูเอีย จาโคตา (Mr. Gruia Jacota) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตโรมาเนียประจำประเทศไทย

การเมือง

มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น และเริ่มมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและปฏิสัมพันธ์ภายหลังจากที่โรมาเนียเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์เป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2534 อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันยังไม่มีปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างไทยกับโรมาเนียมากเท่าใดนัก

ความร่วมมือในระดับรัฐสภา

ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ในขณะนั้น (2535 - 2538)  ได้มีดำริให้จัดตั้ง กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-โรมาเนีย (Thailand-Romania Parliament Friendship Group) ภายหลังจากที่สถานเอกอัครราชทูตโรมาเนียประจำประเทศไทยได้มีหนังสือแจ้งให้ทราบว่า รัฐสภาโรมาเนียได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-โรมาเนีย (The Friendship Parliamentary Group with Kingdom of Thailand) ขึ้นแล้ว ปัจจุบัน พลเอกเกษมศักดิ์ ปลูกสวัสดิ์ สมาชิกวุฒิสภา ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มฯของฝ่ายไทย และนาย Dragos-Adrian Iftime สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรค PD-L เป็นประธานกลุ่มฯ ฝ่ายโรมาเนีย (กลุ่มมิตรภาพฯ โรมาเนีย-ไทย มีสมาชิกจำนวน 8 คน)

เศรษฐกิจ

การค้า-การลงทุน

ในปี 2557 คิดเป็นมูลค่าการค้ารวม 696.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 440.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 256.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  (ไทยได้ดุล 184.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด สินค้าที่ไทยส่งออก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป วงจรพิมพ์ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้าสินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์  วงจรไฟฟ้า

สำหรับภาคเอกชน ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามพิธีสารความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศโรมาเนีย และต่อมาได้จัดตั้งสภาธุรกิจไทย-โรมาเนีย (Thailand-Romania Business Council) ภายใต้กรอบพิธีสารขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 ทั้งนี้ สภาธุรกิจไทย-โรมาเนียมีการนำคณะนักธุรกิจไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้า TIBCO ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของโรมาเนียเป็นประจำทุกปี และมีแผนที่จะตั้งศูนย์กระจายสินค้าขึ้นในโรมาเนีย

การท่องเที่ยว

ในปี 2557 มีนักท่องเที่ยวชาวโรมาเนียเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 19,502 คน  อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างไทยกับโรมาเนีย และนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาไทยต้องต่อเที่ยวบินที่กรุงเวียนนาหรือนครอิสตันบูล  

ความร่วมมือทางวิชาการ

กระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทยและโรมาเนีย เมื่อปี 2540 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวัฒนธรรม ตลอดจน วัสดุอุปกรณ์ทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ สนับสนุนความร่วมมือของสถานศึกษาทุกระดับ การให้ทุนการศึกษาและฝึกอบรมแก่ประเทศคู่ภาคี การรับรองประกาศนียบัตรและอนุปริญญาที่ให้ในประเทศทั้งสอง และการรับบุคคล/ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล เข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐทุกระดับโดยเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ไทยกับโรมาเนียยังมีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกับมหาวิทยาลัย Lucian Blaga ของโรมาเนียด้วย

การเกษตร

ไทยกับโรมาเนียได้ลงนามความตกลงความร่วมมือด้านการเกษตรไทย-โรมาเนีย เมื่อปี 2549 โดยมีโครงการความร่วมมือด้านเกษตรที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบการเลี้ยงโคในไทย: จัดให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ของไทยดูงานที่ฟาร์มเอกชนของโรมาเนีย ทั้งนี้ โรมาเนียจะให้น้ำเชื้อโคแช่แข็งแก่ฝ่ายไทยเพื่อใช้ประโยชน์ในการวิจัยหรือพัฒนาสายพันธุ์โคของไทย โครงการความร่วมมือในการพัฒนาสายพันธุ์องุ่นและการผลิตไวน์ในไทย: จัดให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรของไทยดูงานที่โรมาเนีย รวมทั้งให้พันธุ์องุ่นที่เหมาะสมในการผลิตไวน์แก่ฝ่ายไทย และโครงการพัฒนาการเลี้ยงปลา Sturgeon ในไทยและเลี้ยงปลานิลในโรมาเนีย: จัดให้เจ้าหน้าที่กรมประมงของไทยดูงานที่โรมาเนีย และให้ไข่ปลา Sturgeon แก่ไทยจำนวน 1 กิโลกรัม (ประมาณ 30,000 ฟอง) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทดลองเพาะพันธุ์ในไทยในโครงการหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ ในขณะเดียวกัน ไทยจะมอบไข่ปลานิลจำนวน 4 กิโลกรัม (ภายใน 4 ปี) แก่ฝ่ายโรมาเนีย สำหรับโครงการความร่วมมือด้านเกษตรในอนาคตนั้น ฝ่ายโรมาเนียเสนอให้มีโครงการความร่วมมือในการวิจัยเพาะพันธุ์ข้าวไทยในโรมาเนียและในการพัฒนาการแปรรูปอาหารทะเล

ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย

ความตกลงที่ได้ลงนามแล้ว

- ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2522)

- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2536)

- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2536)

- พิธีสารความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (ลงนามเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2536)

- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม (ลงนามเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2538)

- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมของโรมาเนีย (ลงนามเมื่อพฤศจิกายน 2538) และต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 ได้มีข้อตกลงจัดตั้งสภาธุรกิจไทย – โรมาเนีย (Thailand-Romania Business Council)

- อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2539)

- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า และพิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540)

- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ลงนามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม2540)

- บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ลงนามเมื่อมิถุนายน 2540)

- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ลงนามเมื่อกรกฎาคม 2542)

- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง (ลงนามเมื่อพฤษภาคม 2546)

- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (ลงนามเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549)

 ความตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา 

- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี

- สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ

- สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา

- ความตกลงด้านการขนส่งทางทะเล (อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายโรมาเนีย)

การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

  • พระราชวงศ์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

- วันที่ 14 - 17 มีนาคม 2537 เสด็จฯ เยือนโรมาเนีย อย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์

- วันที่ 11 - 16 พฤษภาคม 2543 เสด็จเยือนโรมาเนีย อย่างเป็นทางการ

  • รัฐบาล

- วันที่ 26 - 27 มิถุนายน 2539 นายอำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนโรมาเนีย อย่างเป็นทางการ

- วันที่ 11 - 12 พฤษภาคม 2542 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนโรมาเนีย

- วันที่ 17 - 19 มิถุนายน 2548 ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนโรมาเนีย ตามคำเชิญของเจ้าชาย Radu (His Highness Prince Radu of Hohenzollern-Veringen) ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลโรมาเนียด้านการรวมตัว ความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืน (เจ้าชาย Radu เป็นราชบุตรเขยของอดีตกษัตริย์ Mihai สมรสกับ HRH the Princess Magarita of Romania)

- วันที่ 14-18 มิถุนายน 2552 นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เยือนโรมาเนียอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 5-7 กันยายน 2552 นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เยือนโรมาเนียอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 19-26 มิถุนายน 2553 พลเอกเกษมศักดิ์ ปลูกสวัสดิ์ ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-โรมาเนีย เดินทางเยือนโรมาเนีย

ฝ่ายโรมาเนีย

- วันที่ 26 - 27 กันยายน 2543 นาย Emil Constantinescu ประธานาธิบดีโรมาเนียเยือนไทย อย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล

- วันที่ 25 - 26 มิถุนายน 2544 นาย Dan Ioan Popescu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรโรมาเนีย เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าไทย-โรมาเนีย ครั้งที่ 10 ที่กรุงเทพฯ

- วันที่ 20 - 21 มิถุนายน 2545 นาย Mihnea Motoc รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโรมาเนีย เยือนไทย ในฐานะประธาน OSCE เพื่อเข้าร่วมการประชุม OSCE - Thailand Conference on Human Dimension of Security ที่กรุงเทพฯ

- วันที่ 8 - 13 มีนาคม 2547 เจ้าชาย Radu (His Highness Prince Radu of Hohenzollern-Veringen) ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลโรมาเนียด้านการรวมตัว ความร่วมมือ และการพัฒนาที่ยั่งยืน เยือนไทย

- วันที่ 6 – 8 มีนาคม 2553 นาย Doru Costea ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศโรมาเนียเยือนไทย โดยเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศ


จำนวนคนไทยในโรมาเนีย 300 คน


สถานะ ณ วันที่  16 พฤษภาคม 2558

กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5142-3 Fax. 0 2643 5141 E-mail : [email protected]

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ