สาธารณรัฐโปแลนด์

สาธารณรัฐโปแลนด์

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ต.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 39,675 view


สาธารณรัฐโปแลนด์
Republic of Poland

ข้อมูลทั่วไป


ที่ตั้ง ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป มีพรมแดนติด 7 ประเทศ ได้แก่ ทิศเหนือจรดรัสเซีย (ตำบล Kaliningrad) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกจรดลิธัวเนีย เบลารุสและยูเครน ทิศใต้จรดเช็กและสโลวะเกีย ทิศตะวันตกจรดเยอรมนี และทิศเหนือจรดทะเลบอลติก
ภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบเกือบทั้งประเทศ นอกจากบริเวณชายแดนทางใต้เป็นภูเขา Tatra ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขา Carpathian และภูเขา Sudety ซึ่งมียอดเขาสูงที่สุดคือยอด Rysy สูงจากระดับน้ำทะเล 8,200 ฟุต
พื้นที่ 312,685 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของทวีปยุโรป (มีพื้นที่ประมาณ 3 ใน 5 ของไทย)
เมืองหลวง กรุงวอร์ซอ (ประชากร 1,635,000 คน)
ประชากร 38.3 ล้านคน เป็นชาวโปลร้อยละ 98 อีกร้อยละ 2 มีเชื้อสายเยอรมัน เบลารุส ยูเครน ลิทัวเนียและอื่นๆ
ภูมิอากาศ ฤดูหนาว เดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ย -1 ถึง -5 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน เดือนกรกฎาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 16.5-19 องศาเซลเซียส
ภาษาราชการ ภาษาโปลิช (เป็นภาษาในตระกูลสลาฟ)
ศาสนา ร้อยละ 96 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก นอกนั้นเป็นโปลิซออร์ธอด๊อกซ์ โปรเตสแตนท์ ลัทธิยูดา และมีมุสลิมเพียงเล็กน้อย

 

การเมืองการปกครอง


ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายบรอนิสลาฟ คอมอรอฟสกี (Bronislaw Komorowski) ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระ 5 ปี ดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ ทั้งนี้ นายอันเจ ดูดา (Andrzej Duda) ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2558 จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 6 สิงหาคม 2558

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นางอีวา โคปัช (Ewa Kopacz)
นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจในการบริหารสูงสุด นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี และได้รับการรับรองจากสภาล่าง ส่วนคณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีโดยการเสนอชื่อจากนายกรัฐมนตรี และได้รับการรับรองจากสภาล่าง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ นายเจอกอส เช็ตเตนา (Grzegorz Schetyna)

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งเป็นระบบสองสภา (Bicameral Parliament) คือ สภาสูง (Senate) มี 100 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรงในระดับจังหวัด มีวาระ 4 ปี และสภาล่าง (Sejm) จำนวน 460 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งระบบผู้แทนแบบสัดส่วน (proportional representation) ซึ่งรวม 2 ที่นั่งจากการเลือกสรรตัวแทนของชนกลุ่มน้อยด้วย มีวาระ 4 ปีเช่นกัน

วันชาติ 3 พฤษภาคมของทุกปี (Constitution Day)

วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 14 พฤศจิกายน 2515

เศรษฐกิจการค้า


หน่วยเงินตรา สว้อตตี้ (Zloty)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 552.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2557)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 24,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2557)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.2 (ประมาณการปี 2557)
สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักร อุปกรณ์ขนส่ง สินค้าแปรรูป เคมีภัณฑ์ แร่ธาตุ เชื้อเพลิง น้ำมัน และวัสดุอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
สินค้าส่งออกสำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง สินค้าแปรรูป อาหาร และสัตว์มีชีวิต

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐโปแลนด์


1. ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับโปแลนด์
1.1 การทูต
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปแลนด์มีมายาวนานกว่า 100 ปี ตั้งแต่ครั้งที่พระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประพาสยุโรป เมื่อปี 2440 และได้เสด็จฯ ประพาสโปแลนด์ ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย การปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศต้องห่างเหินไปในช่วงสงครามเย็นเนื่องจากความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งแบ่งเป็น 2 ขั้วอำนาจชัดเจน จวบจนกระทั่งที่ไทยและโปแลนด์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2515 ตั้งแต่นั้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเป็นไปด้วยความราบรื่น ทั้งสองต่างมีค่านิยมและแนวอุดมการณ์ทางการเมืองด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนร่วมกัน ทั้งนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ คนปัจจุบัน คือ นายมนัสวี ศรีโสดาพล และเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ประจำประเทศไทย คือ นายเซนอน คุคชัค (Mr. Zenon Kuchciak)
ปัจจุบัน มีคนไทยอาศัยอยู่ในโปแลนด์ประมาณ 290 คน โดยส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร พนักงานสปาและนวดไทย พนักงานบริษัท อาจารย์ นักศึกษา แม่ครัว และคนไทยที่แต่งงานกับคนโปแลนด์

กงสุลกิตติมศักดิ์โปแลนด์ในไทย สถานกงสุล ณ จังหวัดภูเก็ต


1.2 การเมือง
การเยือนไทยล่าสุดในระดับรัฐบาลของฝ่ายโปแลนด์ ได้แก่ นายอเล็กซานเดอร์ ฟาสเนียฟสกี (Aleksader Kwasniewski) ประธานาธิบดีโปแลนด์ในขณะนั้น เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 และนายริชาร์ด ชเนพฟ์ (Ryszard Schnepf) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ในขณะนั้น เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 สำหรับการเยือนโปแลนด์ในระดับรัฐบาลของฝ่ายไทย ได้แก่ นายปรีชา เลาหพงษ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น เยือนโปแลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2548 และนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น เยือนโปแลนด์ เพื่อเป็นประธานในการเปิดงาน Thailand Exhibition 2008 ณ กรุงวอร์ซอ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ในระดับรัฐสภา ฝ่ายไทยได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย
ไทยและโปแลนด์ต่างเป็นประเทศที่มีบทบาทแข็งขันในภูมิภาคและในประชาคมระหว่างประเทศ และต่างเป็นพันธมิตรที่สนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ ไทยและโปแลนด์ไม่มีความขัดแย้งระหว่างกัน โดยมีพื้นฐานค่านิยมที่ตรงกัน คือ ยึดมั่นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและมีความ อดกลั้นต่อวัฒนธรรมและสังคมที่แตกต่าง (social and cultural tolerance) ในระดับพหุภาคี ไทยกับโปแลนด์มีความร่วมมือที่สร้างสรรค์ภายใต้กรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asian Europe Meeting - ASEM) และ ASEAN – EU
1.3 ความมั่นคง
ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายอเล็กซานเดอร์ ฟาสเนียฟสกี (Aleksader Kwasniewski) ประธานาธิบดีโปแลนด์ในขณะนั้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือด้านการทหารและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือด้านการข่าวเพื่อปราบปรามการก่อการร้ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน ฝ่ายโปแลนด์ได้พยายามผลักดันการเสนอขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับฝ่ายไทย โดยพยายามหยิบยกขึ้นหารือกับผู้แทนไทยในระดับต่าง ๆ ของหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยใน การเยือนไทยของนายมาร์ซิน อิดซิค (Marcin Idzik) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโปแลนด์เพื่อเข้าร่วมงาน Defence and Security 2012 ที่กรุงเทพฯ ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นหารือกับฝ่ายไทยด้วย
1.4 เศรษฐกิจ
1.4.1 การค้า
โปแลนด์เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในยุโรปตะวันออก (ไม่รวมรัสเซีย) ในปี 2557 มีมูลค่าการค้ารวม 696.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 440.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้าจากโปแลนด์ 256.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า 184.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากโปแลนด์ ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์
1.4.2 การลงทุน
ในชั้นนี้ ยังไม่ปรากฏการลงทุนของโปแลนด์ในประเทศไทย มีแต่เพียงการลงทุนของไทยในโปแลนด์ โดยบริษัท Thai Union Group ร่วมทุนกับบริษัท LG ตั้งบริษัท Lucky Union Foods Euro Sp.Z.o.o.ผลิตปูอัดแช่แข็ง (Surimi) บริษัท DHA Siamwalla Ltd. ผลิตแฟ้มก้านยกด้วยเครื่องอัตโนมัติ นอกจากนี้ สปาไทยได้รับความนิยมเป็น อย่างดีในโปแลนด์
1.4.3 ความร่วมมือทางวิชาการ
ไทยกับโปแลนด์ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2539 และได้จัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทย-โปแลนด์ ครั้งที่ 1 ที่กรุงวอร์ซอเมื่อปี 2547 และขณะนี้อยู่ระหว่างการหาช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการจัดการประชุมครั้งที่ 2 ซึ่งฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ มีโครงการสอนภาษาไทย ที่สถาบันภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาดัมมิสเคียวิซ (Adam Mickiewicz University) ตั้งแต่ปี 2543 ถือได้ว่าเป็นการเรียน การสอนภาษาไทยเป็นแห่งแรกในโปแลนด์ โดยมีอาจารย์จากไทยเป็นผู้สอน
1.5 สังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชาวโปแลนด์เริ่มเปิดประเทศรับวัฒนธรรมใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เริ่มรู้จักไทยในฐานะเป็นประเทศในเอเชียที่ไม่เคยเป็นอาณานิคม มีแหล่งท่องเที่ยวงดงามมีวัฒนธรรมและคนไทยมีจิตใจดีงามและมีจิตสำนึกในเรื่องประชาธิปไตยเช่นเดียวกับโปแลนด์ ชาวโปแลนด์ที่ได้เดินทางมาไทยล้วนแสดงความประทับใจในพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ความทันสมัยของประเทศ ชื่นชมและประทับใจในวัฒนธรรม ประเพณีและอัธยาศัยไมตรีของคนไทย รวมทั้งความสำเร็จในการฟื้นตัวจากวิกฤตทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

ในปี 2557 มีชาวโปแลนด์มาไทยจำนวน 71,735 คน 
ส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวแถบชายฝั่งทะเลภาคใต้ของไทย และกรุงเทพฯ นอกจากนี้ อาหารไทยยังเป็นที่รู้จักกันดีและเป็นที่ชื่นชอบของชาวโปแลนด์ ปัจจุบันมีร้านอาหารไทย 15 แห่ง อยู่ในโปแลนด์ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงวอร์ซอและดำเนินกิจการโดยชาวโปแลนด์

2. ความตกลงที่สำคัญกับไทย
2.1 ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อปี 2519)
2.2 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าไทย – โปแลนด์ (ลงนามเมื่อปี 2520)
2.3 ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อปี 2521)
2.4 ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อปี 2535)
2.5 ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุ
2.6 พิธีสารความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (ลงนามเมื่อปี 2536)
2.7 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ลงนามเมื่อปี 2539)
2.8 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือควบคุมยาเสพติด (ลงนามเมื่อปี 2539)
2.9 ความตกลงว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ลงนามเมื่อปี 2540)
2.10 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางอาญา (ลงนามเมื่อปี 2547)
2.11 สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา (ลงนามเมื่อปี 2552)

3. การเยือนที่สำคัญ
3.1 ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 13 – 17 กุมภาพันธ์ 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนโปแลนด์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ 16 – 23 มิถุนายน 2549 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนโปแลนด์ เพื่อทรงเป็นองค์ปาฐกในการสัมมนา The 5th International Symposium on Chromatography of Natural Products
- วันที่ 12 – 22 มิถุนายน 2551 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนโปแลนด์ เพื่อเข้าร่วมการประชุม The 6th International Symposium on Chromatography of Natural Products ณ เมืองลับบลิน (Lublin)
- วันที่ 7 -18 พฤษภาคม 2552 เสด็จเยือนโปแลนด์ เพื่อทรงพระราชทานการบรรยาย
ที่มหาวิทยาลัยยาเกียลโลเนียน (Jagiellonian University) เมืองคราคูฟ (Krakow) และร่วมการสัมมนาด้านวิทยาศาสตร์ที่ Medical University เมืองกดานสค์ (Gdansk)

รัฐบาล
- วันที่ 17 – 20 มิถุนายน 2536 นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศ เยือนโปแลนด์อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 15 – 17 มีนาคม 2537 นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี เยือนโปแลนด์
- วันที่ 26 -27 มิถุนายน 2543 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
เยือนโปแลนด์ เพื่อเข้าร่วมการประชุม Towards a Community of Democracies ณ กรุงวอร์ซอ
- วันที่ 29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2548 นายปรีชา เลาหพงษ์ชนะ รัฐมนตรีช่วย
ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนโปแลนด์
- วันที่ 7-10 พฤษภาคม 2551 นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
เยือนโปแลนด์ เพื่อเปิดงาน Thailand Exhibition 2008 ณ กรุงวอร์ซอ
- วันที่ 28-30 พฤษภาคม 2552 นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
พาณิชย์ เยือนโปแลนด์ เพื่อเปิดงาน Thailand Exhibition 2009 ณ กรุงวอร์ซอ
- วันที่ 10-14 มิถุนายน 2552 นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา และคณะ
เยือนโปแลนด์
- วันที่ 2-4 กรกฎาคม 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม Hi-level Democracy Meeting ที่เมืองคราคูฟ (Krakow)

3.2 ฝ่ายโปแลนด์
รัฐบาล
- เดือนเมษายน 2536 นายเฮนริค กอริสเชสกี (Henryk Goryszewski) รองนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ เยือนไทย
- วันที่ 20 – 22 มีนาคม 2539 นายวลอจีเมียจ ชีมอเซวิซ (Wlodzimierz Cimoszewicz) นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 16 -20 เมษายน 2540 นายดาริอุซ โรซาติ (Dariusz Rosati) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศโปแนด์ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 9 -10 มิถุนายน 2541 นายมาเชค โคโลฟสกี (Maciej Kojlowski) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 27 – 28 กุมภาพันธ์ 2547 นายอเล็กซานเดอร์ ฟาสเนียฟสกี (Aleksander Kwasniewski) ประธานาธิบดีโปแลนด์ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
- วันที่ 26 – 28 กุมภาพันธ์ 2551 นายริชาร์ด ชเนพฟ์ (Ryszard Schnepf) รัฐมนตรีช่วยว่าการ
กระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 4 – 7 มีนาคม 2555 นายมาร์ซิน อิดซิค (Marcin Idzik) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง กลาโหมโปแลนด์ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมงาน Defence and Security 2012 ที่กรุงเทพฯ
- วันที่ 10 - 12 พฤษภาคม 2555 นายราโดสลาฟ ซิคอร์สกี (Radoslaw Sikorski) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศโปแลนด์เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงต่างประเทศ


ปรับปรุงเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557




กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5142 Fax. 0 2643 5141 E-mail : [email protected]

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-209-document.doc