ราชอาณาจักรนอร์เวย์

ราชอาณาจักรนอร์เวย์

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 45,150 view


ราชอาณาจักรนอร์เวย์
Kingdom of Norway

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ทิศเหนือติดกับมหาสมุทรอาร์กติก ทิศตะวันตกติดกับทะเลนอร์วีเจียน ทิศตะวันออกติดกับฟินแลนด์ สวีเดน และรัสเซีย ทิศใต้ติดกับทะเลเหนือ

พื้นที่ 385,199 ตารางกิโลเมตร

ประชากร 5.05 ล้านคน

ภาษา ภาษานอร์เวย์

ศาสนา คริสต์นิกาย Church of Norway ร้อยละ 82.7 คริสต์นิกายอื่นๆ
ร้อยละ 4.8 อิสลาม ร้อยละ 1.7 อื่นๆ ร้อยละ 10.8

เมืองหลวง กรุงออสโล (Oslo)

สกุลเงิน โครนนอร์เวย์ (Norwegian Kroner)

วันชาติ 17 พฤษภาคม (วันรัฐธรรมนูญ)

ระบบการเมือง ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

ประมุข สมเด็จพระราชาธิบดีเฮอรัลด์ที่ 5 (His Majesty King Harald V)

นายกรัฐมนตรี นางเออร์นา โซลเบิร์ก (Erna Solberg) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556)

รัฐมนตรีต่างประเทศ นายเบอร์เก เบรนเด (BØrge Brende)

สถาบันการเมือง
- นอร์เวย์มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข โดยมีบทบาทจำกัดอยู่เพียงด้านพิธีการและสัญลักษณ์ ส่วนรัฐสภาใช้ระบบสภาเดียว คือ สภาสตอร์ทติงเกท (Stortinget) มีจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 169 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจากประชาชนโดยตรง
มีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปี

- คณะรัฐมนตรีได้รับแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ โดยความเห็นชอบจากรัฐสภา

- ฝ่ายตุลาการ ผู้พิพากษาได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี แต่มีอำนาจในการพิจารณาคดีอย่างอิสระ

การเมืองการปกครอง

- การเลือกตั้งทั่วไปของนอร์เวย์ครั้งล่าสุด มีขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 โดยนายเจนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) นายกรัฐมนตรีสมัยที่แล้ว จากพรรค Labour พ่ายแพ้ผลการเลือกตั้ง และประกาศลาออกจากตำแหน่ง พร้อมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2556

- คณะรัฐบาลใหม่ของนอร์เวย์เป็นรัฐบาลแบบผสมประกอบด้วยพรรคการเมือง 4 พรรค ได้แก่ (1) พรรค Conservative Party (HØyre) (2) พรรค Progress (Fr.P) และมีพรรคแนวร่วมอนุรักษ์นิยมอีก 2 พรรคคือ (3) พรรค Christian Democrat (Kr.F) และ (4) พรรค Liberal Left (Venstre) โดยนาง Erna Solberg หัวหน้าพรรค Conservative ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556

- นโยบายที่รัฐบาลของนอร์เวย์ให้ความสำคัญมีทั้งหมด 8 ประเด็นด้วยกัน คือ (1) การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆของภาคอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ (2) ให้เสรีภาพในการดำรงชีวิตของประชาชนมากขึ้นโดยทางภาครัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซง (3) ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยมากขึ้น (4) พัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของภาคอุตสาหกรรม (5) ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจเพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้นของสังคมนอร์เวย์ (6) ส่งเสริมความเป็นรัฐสวัสดิการด้านต่างๆโดยเฉพาะการจ้างงาน (7) สร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และ (8) กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น  


นโยบายต่างประเทศ

- สนับสนุนการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้มีธรรมาภิบาล (good governance) และระบบการบริหารที่ดีขึ้น และให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ อาทิ สิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การขจัดความยากจน  สิทธิแรงงานและสิทธิในการทำงานที่มีคุณค่า การเจรจาลดอาวุธระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (โดยเน้นการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับการลดการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนา โครงการการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์)

- ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์มุ่งเหนือ (High North) โดยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านในกลุ่มนอร์ดิกและบอลติก  รวมถึงส่งเสริมบทบาทของนอร์เวย์ในสภาอาร์กติก (Arctic Council) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาร์กติกอีก 7 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก (รวมทั้งเกาะกรีนแลนด์และหมู่เกาะแฟโร) ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ รัสเซีย สวีเดนและสหรัฐอเมริกา

- นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเป็นพันธมิตรกับสหภาพยุโรป และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization – NATO) โดยเฉพาะการเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพในกรอบ NATO และ UN

- นอร์เวย์เข้าร่วมเป็นสมาชิก ASEM เมื่อปี 2555 และเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia –TAC) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 และอยู่ระหว่างจัดทำ Joint Declaration of ASEAN-Norway Cooperation  กับอาเซียน

- นอร์เวย์เป็นสมาชิกกลุ่ม  EFTA   โดยไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป  แต่มีการสนับสนุนทางการเงินผ่าน  European Economic Area (EEA) and Norway Grants ให้แก่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคม

- นอกจากนี้ นอร์เวย์และสวีเดนยังเป็นสถานที่มอบรางวัลโนเบล (Nobel prizes) โดยกำหนดจัดขึ้นที่กรุงออสโลและกรุงสตอกโฮล์ม ทุกๆ วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี โดยจะมีการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่กรุงออสโล

เศรษฐกิจการค้า

ภาวะทางเศรษฐกิจ

- นอร์เวย์เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติทางพื้นดิน ป่าไม้ และทะเลอย่างมาก โดยมีอุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมการประมง อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ป่าไม้ อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ อุตสาหกรรมแร่ธาตุ จำพวกอลูมิเนียม สังกะสี ตะกั่ว และทองแดง และอุตสาหกรรมการต่อเรือ และอุปกรณ์ด้านการเดินเรือทะเล นอกจากนี้ นอร์เวย์ยังมีอุตสาหกรรมการเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางตอนใต้ของทะเลเหนือ รัฐบาลนอร์เวย์จึงพยายามที่จะดำเนินนโยบายที่จะให้หลักประกันต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเพื่อผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

- นอร์เวย์เป็นรัฐสวัสดิการ มีนโยบายที่เน้นการนำรายได้ของรัฐมาสนับสนุนภาคบริการเพื่อเป็นหลักประกันทางสังคมแก่ประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ การบริการรักษาพยาบาล การศึกษา การจัดระบบบำเหน็จบำนาญ และการดูแลผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยลักษณะสำคัญของสังคมนอร์เวย์อีกประการหนึ่ง คือ การเน้นความเท่าเทียมกันในเรื่องเพศ ซึ่งทำให้สตรีชาวนอร์เวย์ได้รับสิทธิในการทำงานและสิทธิทางด้านสังคมอื่นๆ เช่นเดียวกับบุรุษ

- นอร์เวย์เป็นประเทศที่ร่ำรวยมากที่สุดในลำดับต้นๆ ของโลก (International Monetary Fund - IMF จัดให้เป็นลำดับ 3) โดยในปี 2555 มีรายได้ประชากรต่อคนต่อปี 99,461 ดอลลาร์สหรัฐ โดยรายได้หลักของประเทศมาจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ซึ่งนอร์เวย์มีปริมาณสำรองมากเป็นอันดับ 2 และ 7 ของโลกตามลำดับ และรัฐบาลเป็นถือหุ้นหลักในบริษัท Statoil

ดรรชนีทางเศรษฐกิจ (2556)
1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 501.10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
GDP ต่อหัว : 100,318 ดอลลาร์สหรัฐ
2. อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ : ร้อยละ 0.8
3. อัตราเงินเฟ้อ : ร้อยละ 2.1
4. ประเทศคู่ค้าสำคัญ : เยอรมนี สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก ฝรั่งเศส สหรัฐฯ จีน
5. สินค้าเข้าสำคัญ : เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยา อาหารและสัตว์เลี้ยง สินแร่และเศษโลหะ
6. สินค้าออกสำคัญ : น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ เครื่องจักรอุตสาหกรรมและอุปกรณ์การขนส่ง เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า นิเกิลและอะลูมิเนียม เหล็กและเหล็กกล้า ปลาและสัตว์น้ำ


 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรนอร์เวย์

ความสัมพันธ์ทางการทูต
- ประเทศไทยเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2448 หลังจากที่นอร์เวย์ได้ประกาศเอกราชและแยกตัวออกจากสวีเดนโดยสันติ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2448 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนอร์เวย์ใกล้ชิดมากขึ้นจากการเสด็จฯ เยือนนอร์เวย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเดือนมิถุนายน 2450 ซึ่งได้ทรงลงพระนามาภิไธยย่อ “จปร” ไว้บนก้อนหิน ณ บริเวณนอร์ดแคปป์ (Nordkapp) ต่อมา ได้มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานไทย ณ นอร์ดแคปป์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนนอร์เวย์ เพื่อทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เมื่อปี 2532

- เมื่อปี 2495 ได้มีการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตในระดับอัครราชทูต และได้ยกฐานะความสัมพันธ์ขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2503 จากนั้น นอร์เวย์ได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตมาประจำประเทศไทยตลอดมา ส่วนไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล เมื่อเดือนสิงหาคม 2530 และต่อมา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐลัตเวีย นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานกงสุล ณ เมืองเบอร์เกน ด้วย

- ไทยและนอร์เวย์ได้เฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2548 ในโอกาสดังกล่าว เจ้าชายโฮกุ้น มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ และเจ้าหญิงเมตเต-มาริต พระชายา ได้เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 23 - 26 พฤศจิกายน 2547

- นอกจากนี้ นอร์เวย์เคยมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการเชื่อมความสัมพันธ์ไทย –- จีน โดยเมื่อต้นปี 2514 นอร์เวย์ได้เริ่มทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดให้ผู้แทนฝ่ายไทยและฝ่ายจีนได้พบปะหารือกัน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2514 โดยนายอานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และนายเจียว กง หัว (Chiao Kuan-Hua) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้พบปะหารือกันที่นครนิวยอร์ก อันนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518

- นอร์เวย์ถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ต่างๆ ให้ไทย เช่น การเก็บกู้ทุ่นระเบิดบริเวณแนวชายแดน เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น และใช้ไทยเป็นจุดประสานงานหลักในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

- ปัจจุบัน นายธีรกุล นิยม ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล 

- สำหรับนอร์เวย์ สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทยและกัมพูชา เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรนอร์เวย์ประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน คือ นางคัทยา คริสทีนา โนร์ดการ์ด (Katja Christina Nordgaard) นอกจากนี้ ยังมีสถานกงสุลนอร์เวย์ประจำประเทศไทย จำนวน 2 แห่ง คือ
(1) สถานกงสุลนอร์เวย์ประจำเมืองพัทยา มีนายสติก วักท์ แอนเดอร์ซัน (Stig Vagt Andersen) ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ และ (2) สถานกงสุลนอร์เวย์ประจำจังหวัดภูเก็ต มีนางพรพรรณ สิทธิชัยวิจิตร ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ

- ปัจจุบัน คนไทยในนอร์เวย์มีจำนวนประมาณ 13,000 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีที่สมรสกับชาวนอร์เวย์ ส่วนหนึ่งได้สัญชาตินอร์เวย์แล้ว มีร้านอาหารไทย จำนวน  34 ร้าน มีวัดไทย จำนวน 2 วัด และมีสมาคมคนไทยที่สำคัญ เช่น สมาคมชาวพุทธไทย สมาคมคนไทยในเขตโรกาแลนด์ (Hordaland) และสมาคมชาวพุทธไทยทรอนด์แฮม (Trondheim) เป็นต้น

ความสัมพันธ์ด้านการค้า

- ไทยและนอร์เวย์มีกรอบการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้คณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ การเดินเรือ อุตสาหกรรม วิชาการและการค้า ไทย-นอร์เวย์ ซึ่งได้มีการประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง ระหว่างปี 2529 - 2542 ไทยและนอร์เวย์ยังได้ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบพหุภาคี คือ การเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association – EFTA) ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยทั้งสองฝ่ายได้เริ่มดำเนินการเจรจาตั้งแต่ปี 2548 และได้หยุดชะงักไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยเมื่อเดือนกันยายน 2549 โดยล่าสุด ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไทยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับ EFTA แล้ว และจะมีการเจรจารอบแรก ในช่วงต้นปี 2557


- ในปี 2556 ไทยและนอร์เวย์มีมูลค่าการค้ารวม 622.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 193.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้า 429.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุล 236.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

- สินค้าที่ไทยส่งออกไปนอร์เวย์ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม ข้าว เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผักกระป๋อง แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถจักรยานและส่วนประกอบ 

- สินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์  สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป น้ำมันดิบ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์


ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน
- นอร์เวย์ลงทุนในไทยในสาขาต่างๆ อาทิ การบริการจัดหาจัดซื้อชิ้นส่วน  และผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยในปี 2555 มีโครงการลงทุนของนอร์เวย์ที่ได้รับอนุมัติจาก BOI จำนวน 2 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

- บริษัท Statoil  ซึ่งเป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของรัฐบาลนอร์เวย์ ได้ขายหุ้นร้อยละ 40 ของ Oil Sand Project ในรัฐ Alberta ประเทศแคนาดา ให้แก่บริษัท ปตท.สผ. (PTT Exploration and Production– PTTEP) คิดเป็นมูลค่า 2.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงสุดของบริษัท ปตท.สผ.

- บริษัทข้ามชาติของนอร์เวย์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น Telenor (DTAC), Yara, Norske Skog และ Jotun เป็นต้น


ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
นอร์เวย์ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ไทยทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเล สื่อสารโทรคมนาคม การพัฒนาพลังงานน้ำ เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมการประมง โดยนอร์เวย์มีหน่วยงาน NORAD (Norwegian Agency for International Development) ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่ต่างประเทศ ความช่วยเหลือและความร่วมมือที่นอร์เวย์ให้แก่ไทย อาทิ โครงการพัฒนาบุคลากรด้านการบริหารกิจการปิโตรเลียม โดยสถาบัน Norwegian Petroleum Directorate (NPD) คัดเลือกเจ้าหน้าที่จากกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ารับการอบรมด้าน Petroleum Policy and Management โครงการจัดตั้งระบบสำรวจและพยากรณ์ทางสมุทรศาสตร์และสภาพแวดล้อมทางทะเล (Thai Seawatch Project) ภายใต้โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลนอร์เวย์ โดยมีบริษัท OCEANOR ของนอร์เวย์เป็นผู้ดำเนินการร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

การท่องเที่ยว

- ชาวนอร์เวย์เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2556 จำนวน 154,402 คน ซึ่งมีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรนอร์เวย์ซึ่งมีจำนวน 5 ล้านคน
- ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 การบินไทยได้เปิดเส้นทางบินตรง กรุงเทพฯ-ออสโล ใช้เวลาบินราว 10 ชั่วโมงครึ่ง

ความตกลงกับไทย

1. สนธิสัญญามิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (ลงนามเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2469 โดยไทยและนอร์เวย์ได้ลงนามในสนธิสัญญาฯ มาแล้วเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2411 สมัยที่นอร์เวย์เป็นประเทศเดียวกันกับสวีเดน ต่อมา เมื่อนอร์เวย์ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสวีเดนเมื่อปี 2448 ไทยและนอร์เวย์จึงได้ลงนามสนธิสัญญาฯ กันอีกครั้ง)

2. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2492)

3. อนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2507 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2507 ต่อมาได้มีการลงนามอนุสัญญาฯ ฉบับแก้ไข เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2546)

4. ความตกลงว่าด้วยสิ่งทอ (ลงนามเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2520)

5. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเดินเรือ อุตสาหกรรม วิชาการ และการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2528)

6. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราเป็นเวลา 90 วัน (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2536 ต่อมา นอร์เวย์ได้ขอยกเลิกความตกลงฯ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2539 โดยมีผลให้ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยต้องขอรับการตรวจลงตราเข้าประเทศนอร์เวย์ แต่ฝ่ายนอร์เวย์ได้ยกเว้นการลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการของไทย)

7. สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษและสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2542)

8. ความตกลงระหว่างกรมประมงกับสำนักงานความร่วมมือในการพัฒนาแห่งนอร์เวย์ เพื่อดำเนินโครงการ Post-Tsunami Assessment of the Living Marine Resources and Development of a Strategic Plan of Sustainable Marine Fish Farming (ลงนามเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547)

9. ความตกลงระหว่างกรมประมงกับสำนักงานความร่วมมือในการพัฒนาแห่งนอร์เวย์ ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลและการประเมินแหล่งทรัพยากรการประมงในทะเลอันดามันประเทสไทย (ลงนามเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550)

10. บันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติกับองค์การความช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (ลงนามเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2553)

11. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2553) 

12. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียเกี่ยวกับเครือข่ายสายการบินสแกนดิเนเวียและว่าด้วยการแต่งตั้งสายการบิน (ลงนามเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2553)


การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

- เดือนมิถุนายน 2450 เสด็จฯ เยือนนอร์เวย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 19 –- 21 กันยายน 2503 เสด็จฯ เยือนนอร์เวย์ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีแห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- เดือนมกราคม 2534 เสด็จฯ แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงร่วมในพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชาธิบดี โอลาฟ ที่ 5 แห่งนอร์เวย์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 17-27 มิถุนายน 2532 เสด็จฯ เยือนนอร์เวย์ เพื่อทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานไทย ณ เมืองนอร์ดแคปป์ (Nordkapp)
- วันที่ 29-30 สิงหาคม 2543 เสด็จฯ เยือนนอร์เวย์ เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 12-15 มีนาคม 2556 เสด็จฯ เยือนนอร์เวย์ เพื่อทรงศึกษาดูงานการวิจัยในแถบขั้วโลกเหนือและทรงนำเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วของไทยไปเก็บรักษาที่ Svalbard Global Seed Vault ซึ่งเป็นธนาคารเก็บพันธุ์พืชต่างๆ จากทั่วโลก และได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ 12-18 ตุลาคม 2531 เสด็จเยือนนอร์เวย์ เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 10-17 กรกฎาคม 2556 เสด็จเยือนนอร์เวย์ เพื่อทรงบรรยายทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยแบร์เกน รวมถึงทรงลงพระนามในความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และมหาวิทยาลัยแบร์เกน 

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์
- ปี 2538 เสด็จเยือนนอร์เวย์ เป็นการส่วนพระองค์ และทรงอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในชุดฉลองพระองค์ที่เสด็จฯ เยือน North Cape เมื่อปี 2450 ไปประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑสถานไทย ณ เมืองนอร์ดแคปป์ (Nordkapp)
- วันที่ 1-6 สิงหาคม 2545 เสด็จเยือนนอร์เวย์


พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
- วันที่ 3 –- 10 กรกฎาคม 2550 เสด็จเยือนนอร์เวย์ เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารอเนกประสงค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ณ วัดไทยนอร์เวย์
- วันที่ 25 กรกฎาคม –- 3 สิงหาคม 2553 เสด็จเยือนนอร์เวย์ เพื่อเป็นประธานพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เมืองเบรวิก

นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการฯ/รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ
- วันที่ 27 -– 29 กันยายน 2532 พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เยือนนอร์เวย์ อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 27-29 ตุลาคม 2529 ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ การเดินเรือ อุตสาหกรรม วิชาการและการค้า ครั้งที่ 1
- วันที่ 8-14 กันยายน 2533 นายอำนวย ยศสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนนอร์เวย์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ การเดินเรือ อุตสาหกรรม วิชาการและการค้า ครั้งที่ 3
- วันที่ 6-8 ตุลาคม 2537 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะนักธุรกิจไทย เดินทางเยือนนอร์เวย์ อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 19-21 พฤษภาคม 2542 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนนอร์เวย์ เพื่อเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีเครือข่าย ความมั่นคงของมนุษย์ ครั้งที่ 1 (Human Security Network - HSN) ที่เกาะ Lysoen
เมือง Bergen
- วันที่ 21-23 กันยายน 2543 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนนอร์เวย์ อย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์
- วันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน 2547 นายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย (TTR) พร้อมภาคเอกชน เยือนนอร์เวย์
- วันที่ 22-24 เมษายน 2548 นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เยือนนอร์เวย์

ฝ่ายนอร์เวย์
พระราชวงศ์
สมเด็จพระราชาธิบดีโอลาฟ ที่ 5

- วันที่ 15 - 23 มกราคม 2508 เสด็จฯ เยือนไทย อย่างเป็นทางการ
- เดือนมีนาคม 2513 เสด็จฯ เยือนไทย อย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยเจ้าชายเฮอรัลด์ มกุฎราชกุมาร และเจ้าหญิงซอนยา

สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ ที่ 5
- เดือนมีนาคม 2513 เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์ (เมื่อครั้งมีพระอิสริยยศเป็น เจ้าชายฮารัลด์ มกุฎราชกุมาร) พร้อมด้วยเจ้าหญิงซอนยา

สมเด็จพระราชินีซอนยา
 - วันที่ 12-14 ตุลาคม 2522 เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์ (เมื่อครั้งมีพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงซอนยา)

เจ้าชายโฮกุ้น
- วันที่ 23-26 พฤศจิกายน 2547 เสด็จฯ เยือนไทย อย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยเจ้าหญิงเมตเต-มาริต พระชายา และเจ้าชายสเวเรอ แมกนุส พระราชโอรส ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-นอร์เวย์ ในปี 2548
- วันที่ 11-14 มิถุนายน 2549 เสด็จฯ เยือนไทย พร้อมด้วยเจ้าหญิงเมตเต-มาริต พระชายา และเจ้าชายสเวเรอ แมกนุส พระราชโอรส ในฐานะผู้แทนสมเด็จพระราชา ธิบดีเฮอรัลด์ที่ 5 เพื่อร่วมงานฉลองสิริราช-สมบัติครบ 60 ปี
- วันที่ 17-18 มีนาคม 2557 มกุฎราชกุมารโฮกุ้นและมกุฎราชกุมารีเมตเต-มาริตแห่งนอร์เวย์ เสด็จฯ แวะพำนักและเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศไทย ก่อนเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

- วันที่ 6-8 ตุลาคม 2539 นางกรู ฮาเล็ม บรุนดท์แลนด์ (Gro Harlem Brundtland) นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยภาคเอกชน เยือนไทย อย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล
- วันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2541 นายเชลล์ มังเนอร์ บอนเดวิก (Kjell Magne Bondevik) นายกรัฐมนตรี เยือนไทย อย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล
- วันที่ 6-7 มกราคม 2543 นายคนุต วอล์เลอเบก (Knut Vollebaek) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2547 นายยาน เพเทอร์เซน (Jan Petersen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 6-8 มกราคม 2548 นายยาน เพเทอร์เซน (Jan Petersen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย เพื่อประเมินสถานการณ์เหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติจากคลื่นยักษ์สึนามิบริเวณจังหวัดภาคใต้ของไทย
- วันที่ 16-17 มกราคม 2548 นายเชลล์ มังเนอร์ บอนเดวิก (Kjell Magne Bondevik) นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีกลุ่มประเทศนอร์ดิก 2 ประเทศ (สวีเดนและฟินแลนด์) เยือนไทย อย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล เพื่อประเมินสถานการณ์เหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติคลื่นยักษ์สึนามิที่บริเวณจังหวัดภาคใต้ของไทย
- วันที่ 26 ธันวาคม 2548 นายยาน เพเทอร์เซน (Jan Patersen) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย เพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลนอร์เวย์ในงานรำลึกครบรอบ 1 ปี ของเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติคลื่นยักษ์สึนามิ
- วันที่ 27 สิงหาคม 2552 นายฮอกอน อารัลด์ กูลแบรนด์เซน (Haakon Arald Gulbrandsen) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ เยือนไทย
- วันที่ 25 เมษายน 2557 นาย Morten Høglund รมช.กต.นอร์เวย์ (State-Secretary) เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสัมมนา Norway-Asia Business Summit 2014 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ


8 ส.ค. 2557

กองยุโรป 2 กรมยุโรป โทร. 0-2643-5133-4 Fax. 0-2643-5132 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-20140808-110014-656491.doc