ราชรัฐโมนาโก

ราชรัฐโมนาโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 เม.ย. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 38,406 view


ราชรัฐโมนาโก
Principality of Monaco

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ภาคพื้นทวีปยุโรปตะวันตก ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และล้อมรอบโดยเขต Alpes–Maritimes ของฝรั่งเศส

พื้นที่ 1.95 ตารางกิโลเมตร (มีขนาดเล็กเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากนครรัฐวาติกัน) ความยาวเส้นเขตแดน 4.4 กิโลเมตร

ประชากร 36,136 คน (ปี 2555) เป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก ประกอบด้วยเชื้อชาติต่างๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส (47%) โมนาโก (16%) อิตาเลียน (16%) และอื่นๆ (21%)

ภาษาราชการ ฝรั่งเศส โดยภาษาอิตาเลียน และอังกฤษใช้อย่างแพร่หลาย

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาธอลิก (90%) และโปรเตสแตนท์

เมืองหลวง Monaco-Ville

สกุลเงิน ยูโร (Euro)

วันชาติ 19 พฤศจิกายน

ระบบการปกครอง ราชาธิปไตย โดยมีเจ้าผู้ครองราชรัฐเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2505

ประมุข เจ้าชายอัลแบร์ที่สอง (Albert II) แห่งราชวงศ์กริมาลดี (Grimaldi) ขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 ภายหลังการเสด็จสวรรคตของเจ้าชายเรนิเยร์ ที่ 3 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548 โดยทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 32 แห่งราชวงศ์กริมาลดี

อำนาจบริหาร มนตรีแห่งรัฐ (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) มีนาย Michel Roger เป็นหัวหน้ารัฐบาล เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2548
- คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย ที่ปรึกษารัฐบาล (เทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการ) จำนวน 5 คน ได้แก่
1) ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ (นาย Jose BADIA)
2) ที่ปรึกษาด้านการเงินและเศรษฐกิจ (นาย Jean CASTELLINI)
3) ที่ปรึกษาด้านกิจการภายในราชรัฐ (นาย Paul MASSERON)
4) ที่ปรึกษาด้านกิจการสังคมและสาธารณสุข (นาย Stéphane VALERI)
5) ที่ปรึกษาด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและผังเมือง (นาง Marie-Pierre GRAMAGLIA)

อำนาจนิติบัญญัติ มีสภาเดียว เรียกว่า คณะกรรมการแห่งชาติ (The National Council)  คณะกรรรมการประกอบด้วยสมาชิก 18 คน ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และอยู่ในวาระ 5 ปี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุเกิน 21 ปี และมีสัญชาติโมนาโกมากกว่า 5 ปี ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีสัญชาติโมนาโก และอายุเกิน 25 ปี ประมุขแห่งรัฐและคณะกรรมการแห่งชาติมีอำนาจนิติบัญญัติ มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายและงบประมาณ มีการประชุมทั่วไป 2 ครั้งต่อปี และในกรณีพิเศษหากประมุขของรัฐ หรือสมาชิก 2 ใน 3 ของคณะกรรมการแห่งชาติเรียกร้องให้มีการประชุม โดยนื้อหาการประชุมจะเปิดเผยต่อสาธารณชนและได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร “Journal de Monaco” ซึ่งเป็นวารสารทางการของโมนาโก

อำนาจตุลาการ ประกอบด้วยศาลชั้นต้น (Court of First Instance) ศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) ศาลอุทธรณ์สูงสุด (Higher Court of Appeal) และศาลอาชญากรรม (Criminal Court)

เขตเทศบาล มาตรา 78 แห่งรัฐธรรมนูญระบุว่าเขตแดนของราชรัฐมีหนึ่งเขตเทศบาล คณะกรรมการเขตเทศบาลมีสมาชิก 15 คน มาจากการเลือกตั้ง โดยมีวาระ 4 ปี นายกเทศมนตรีและผู้ช่วยนายกเทศมนตรีได้รับการเลือกโดยคณะกรรมการเขตเทศบาล และมีการประชุมทุกๆ 3 เดือน เขตการบริหารของราชรัฐโมนาโกแบ่งออกเป็น 5 เขต ได้แก่ Monaco-Ville, The Condamine, Monte Carlo, Fontvieille และ Moneghetti

 

การเมืองการปกครอง

ราชรัฐโมนาโกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2404 และได้แยกตัวเป็นอิสระเมื่อปี 2461 โดยสองประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาทางมิตรภาพ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2461 สนธิสัญญาดังกล่าวกำหนดภารกิจของฝรั่งเศสที่จะมีหน้าที่ป้องกันเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของราชรัฐฯ โดยราชรัฐฯ จะต้องใช้สิทธิด้านอธิปไตยอย่างสอดคล้องกับผลประโยชน์ของฝรั่งเศส และควรจะหารือกับฝรั่งเศสก่อนที่ราชรัฐฯ จะดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2488 และปี 2494 ได้มีการลงนามในข้อตกลงซึ่งมีส่วนแก้ไขจากข้อตกลงฉบับเดิม เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ต่อมา รัฐบาลโมนาโกได้ขอให้มีการแก้ไขสารัตถะของสนธิสัญญาทางไมตรีอารักขาฉบับลงนาม ปี 2461 เพื่อให้โมนาโกมีอิสระมากขึ้นในการบริหารประเทศ และมีการลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีฯ ฉบับใหม่ (ซึ่งเรียกว่าสนธิสัญญาทางไมตรีและความร่วมมือ) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2545 ระหว่างนาย Dominique de Villepin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส (ในขณะนั้น) กับนาย Patrick Leclercq มนตรีแห่งรัฐของราชรัฐโมนาโก (ในขณะนั้น) โดยสนธิสัญญาทางไมตรีและความร่วมมือดังกล่าวมีบทบัญญัติที่สำคัญ ดังนี้
1. ฝรั่งเศสจะให้การปกป้องเสรีภาพและอธิปไตยของราชรัฐโมนาโก และให้การประกันบูรณภาพแห่งดินแดนของโมนาโก ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับของฝรั่งเศส
2. โมนาโกมีพันธะที่จะดำเนินการต่างๆ ในอธิปไตยของตนเอง ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ที่สำคัญของฝรั่งเศสในด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ และกำหนดให้มีการหารือร่วมกันตามความเหมาะสม
3. ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โมนาโกจะหารือกับฝรั่งเศสตามความเหมาะสมในประเด็นที่สำคัญ โดยให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของฝรั่งเศส และในขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสจะหารือกับโมนาโกโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของโมนาโกเช่นกัน
4. ฝรั่งเศสกับโมนาโกได้ตกลงที่จะปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นความสัมพันธ์ทางการทูต โดยแต่ละประเทศจะจัดตั้งสำนักงานตัวแทนบนดินแดนของแต่ละประเทศ
5. ฝรั่งเศสพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกแก่โมนาโกในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกในองค์การ/สถาบันระหว่างประเทศ ตามคำขอของโมนาโก
6. ในกรณีที่ประเทศใดไม่มีสถานกงสุลของโมนาโกตั้งอยู่ และภายใต้ข้อสงวนของบทบัญญัติของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการทูตและการกงสุล คนชาติโมนาโกสามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล หรือสำนักตัวแทนของฝรั่งเศสในประเทศนั้นได้ หากประสงค์
อนึ่ง รัฐสภาฝรั่งเศสได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญาทางไมตรีและความร่วมมือและได้มีการประกาศผลบังคับใช้ของสนธิสัญญาทางไมตรีฯ ฉบับนี้ในราชกิจจานุเบกษาของฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2548 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548

การต่างประเทศ
1. ราชรัฐโมนาโกเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติลำดับที่ 183 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 และเป็นสมาชิกสภายุโรป (Council of Europe) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2547
นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ อาทิ UNESCO, องค์การอนามัยโลก (WHO), BIE (Bureau International des Expositions), องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC), ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA), สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU), องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) และยังลงนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE)
2. โมนาโกมิได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป แต่การที่โมนาโกมีข้อตกลงจัดตั้งสหภาพการค้ากับฝรั่งเศส ทำให้โมนาโกได้รับสิทธิประโยชน์เยี่ยงประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ทั้งนี้ โมนาโกเป็นประเทศหนึ่งในยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโร
3. เจ้าชายอัลแบร์ที่สองทรงกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของโมนาโกในประชาคมโลกในฐานะ “ผู้ถือสาร” (Porteur de messages) ที่จะช่วยสนับสนุนกระบวนการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ มากกว่าที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาโลกในลักษณะ adventurous เมื่อคำนึงถึงว่าโมนาโกเป็นประเทศขนาดเล็ก
4. เจ้าชายอัลแบร์ที่สองทรงสนพระทัยในประเด็นสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาความยากจน และการพัฒนาสิทธิเด็ก ซึ่งทรงมีเจตนารมณ์ที่จะสืบสานเจตนารมณ์ของเจ้าหญิงเกรซ พระราชมารดา ในการพัฒนากฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็ก

บทบาทของโมนาโกในองค์การสหประชาชาติ
1. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
นอกจากจะจัดตั้งกองทุน Official Development Assistance (ODA) ขึ้นแล้ว โมนาโกยังได้ร่วมบริจาคในกองทุนอื่นภายใต้องค์กรระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมสำหรับการพัฒนาต่างๆ อาทิ การพัฒนาประเทศในทวีปแอฟริกาและภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนี้ ภาครัฐและองค์กรอิสระของโมนาโกยังมีบทบาทในการพัฒนางานด้านสุขภาพ การศึกษา และการต่อสู้กับความยากจนในประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศสอีกด้วย

2. ความปลอดภัย
เจ้าชายอัลแบร์ที่สองได้ทรงเชิญชวนประเทศต่างๆ ให้จัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อต่อสู้กับปัญหาการก่อการร้าย

3. สิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองเด็กและเยาวชน
โมนาโกเห็นว่าการก่อตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (HRC) และคณะกรรมาธิการการสร้างสันติภาพ (Peacebuilding Commission) เป็นจุดที่สำคัญขององค์การสหประชาชาติ เนื่องจากการคุ้มครอง มนุษยชาติจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นหน้าที่ของประชาคมโลก หากรัฐหรือองค์กรระดับภูมิภาคไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ การคุ้มครองสิทธิของเยาวชนเป็นหนึ่งในประเด็นที่โมนาโกให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยโมนาโกเห็นว่าการละเมิดสิทธิของเยาวชนไม่ควรถูกจำกัดอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลภายใน ประเทศเท่านั้น แต่ควรอยู่ภายใต้อำนาจหน่วยงานระหว่างประเทศ

4. สิ่งแวดล้อม
โมนาโกเห็นว่าโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ไม่สามารถตอบรับพัฒนาการในด้านสิ่งแวดล้อมของปัจจุบันได้อย่างพอเพียง ดังนั้น จึงควรก่อตั้งองค์กรที่มีอำนาจด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United Nations Environmental Organization) นอกจากนี้ เจ้าชายอัลแบร์ที่สองได้ทรงแถลงต่อที่ประชุมว่า โมนาโกจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าร่วมพิธีสารเกียวโตต่อไป

 

เศรษฐกิจการค้า

สภาพเศรษฐกิจโดยรวม
1. เป็นประเทศที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีรายได้ (income tax) และภาษีมรดก แต่มีการจัดเก็บภาษีด้านอื่นๆ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ และมีการจัดเก็บภาษีธุรกิจ (business tax) ในอัตราต่ำ รัฐเป็นผู้ผูกขาดสินค้าและบริการบางประเภท เช่น ยาสูบ บริการโทรศัพท์ และไปรษณีย์
2. กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 4 สาขาหลัก ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมเบา โดยเน้นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ (2) การท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจการโรงแรม (3) ธุรกิจการเงินและการธนาคาร และ (4) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
3. มีนโยบายพัฒนาประเทศให้เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะไบโอเทคโนโลยี และการค้นคว้า/วิจัยทางการแพทย์ นอกเหนือจากการเสริมสร้างศักยภาพด้านการเงินและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศให้เข้มแข็งและก้าวหน้ายิ่งขึ้น
4. ฝรั่งเศสได้เคยกล่าวหาว่า ทางการโมนาโกมีนโยบายผ่อนปรนต่อการฟอกเงินจากต่างชาติ ซึ่งโมนาโกได้ขอให้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และ Financial Action Group ประเมินผลการปราบปราม และขจัดปัญหาการฟอกเงินของทางการโมนาโก โดยทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวได้ประกาศยอมรับว่า โมนาโกไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ในเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับการขจัดปัญหาการฟอกเงิน ทั้งนี้ เจ้าชายอัลแบร์ที่สอง ได้ทรงยืนยันด้วยว่า พระองค์จะทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดเพื่อทำให้โมนาโกพ้นจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน

ข้อมูลเศรษฐกิจโดยสังเขป
ผลผลิตประชาชาติ 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2555)

รายได้เฉลี่ยต่อหัว 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ (2555)

อัตราเงินเฟ้อ 1.5% (2555)

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่ไม่ใช่โลหะ ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ เครื่อจักรไฟฟ้า

สินค้านำเข้าที่สำคัญ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการเกษตร

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชรัฐโมนาโก

เจ้าชายอัลแบร์ที่สองทรงมีความสนพระทัยที่จะเจริญสัมพันธไมตรีกับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะกับไทยเป็นพิเศษ โดยได้เสด็จเยือนไทยเป็นประเทศแรก ระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2539 ภายหลังจากที่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารแห่งราชรัฐโมนาโก ซึ่งได้ทรงมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งได้ทรงอนุญาตให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยเข้าเฝ้าด้วย การเสด็จเยือนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตั้งพระทัยของเจ้าชายอัลแบร์ที่สองที่ทรงมุ่งมั่นในการเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรไทย

ด้านการทูต
ในระหว่างการเยือนโมนาโกของนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 ได้มีการหารือกับนาย Jean-Paul Proust มนตรีแห่งรัฐ ราชรัฐโมนาโก เกี่ยวกับการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับโมนาโก ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้แล้วเสร็จก่อนการเสด็จเยือนไทยของเจ้าชายอัลแบร์ที่สอง เพื่อทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ในเดือนมิถุนายน 2549

ไทยและโมนาโกได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2549 โดยให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส มีเขตอาณาครอบคลุมโมนาโก และให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงโมนาโกอีกตำแหน่งหนึ่ง

ไทยและโมนาโกได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์เป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์ในทั้งสองประเทศ กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ราชรัฐโมนาโกประจำประเทศไทย คือ นายศรีภูมิ ศุขเนตร และกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยประจำโมนาโก คือนาย ฌอง โคลด มูรู (Jean-Claude Mourou)

ในโอกาสครบรอบ 1 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างกัน สองฝ่ายได้จัดงานเฉลิมฉลองขึ้นในวันที่ 18 กันยายน 2550 ณ โรงแรม Hotel de Paris, Monte Carlo โดยกิจกรรมประกอบด้วยการจัดสัมมนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและส่งเสริมศักยภาพ ตลอดจนโอกาสในขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ การจัดพบปะระหว่างนักธุรกิจที่สนใจของโมนาโกกับผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจไทยในฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองการเสด็จพระราชดำเนินประพาสราชรัฐโมนาโกของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครบ 100 ปี โดยมีการแสดงนิทรรศการภาพถ่าย การจัดงานเลี้ยงรับรอง และการแสดงวัฒนธรรมไทย ด้วยความร่วมมือของสำนักงานการท่องเที่ยวไทย ณ กรุงปารีส

ด้านเศรษฐกิจ
การค้า
ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับโมนาโกยังมีปริมาณไม่มากนัก ในปี 2555 มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 5.49 ล้าน USD ไทยส่งออก 3.54 ล้าน USD และนำเข้า 1.95 ล้าน USD โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 1.59 ล้าน USD

สินค้าที่ไทยนำเข้าจากโมนาโก ได้แก่ เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก สินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกไปโมนาโก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์เซรามิกและสิ่งทอ

การลงทุน
ไม่ปรากฏมีภาคธุรกิจของโมนาโกขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI

การท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวโมนาโกที่เดินทางมาประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มากนัก ประมาณปีละ 170 คน สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปโมนาโกไม่มีสถิติบันทึกไว้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวไทยจะไม่เดินทางเข้าไปในโมนาโกโดยตรง แต่จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในยุโรปประเทศอื่นก่อน

การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย
ระดับพระราชวงศ์
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนราชรัฐโมนาโก ระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2539 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลโมนาโก ซึ่งนับเป็นการเยือนระดับพระราชวงศ์ของไทยเป็นครั้งแรก

ภาครัฐบาล
- นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนโมนาโกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548
- นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ รองประธานุฒิสภา คนที่ 1 และคณะรวมทั้งสิ้น 23 คน เยือนโมนาโกระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2549 ซึ่งฝ่ายโมนาโกได้จัดให้คณะทั้งหมดได้เข้าเยี่ยมคารวะบุคคลสำคัญสูงสุดของโมนาโกทั้งจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ได้แก่ นาย Jean-Paul Proust นายกรัฐมนตรี และนาย Stéphane Valérie ประธานสภาแห่งชาติ

ฝ่ายโมนาโก
ระดับพระราชวงศ์
- เจ้าชายอัลแบร์ที่สอง (ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารในขณะนั้น) เสด็จเยือนไทย ระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2539 เพื่อแสวงหาลู่ทางในการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการค้า อุตสาหกรรม การธนาคาร และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับราชรัฐโมนาโก
- เจ้าหญิง Stéphanie (พระขนิษฐาของเจ้าชายอัลแบร์ที่สอง) เสด็จเยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 1-13 พฤศจิกายน 2548
- เจ้าหญิง Caroline de Hanovre มกุฏราชกุมารีแห่งราชรัฐโมนาโก (พระภคินีของเจ้าชายอัลแบร์ที่สอง) และเจ้าชาย Ernst-August de Hanovre พระสวามี เสด็จเยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 5 -17 มกราคม 2549
- เจ้าชายอัลแบร์ที่สอง เสด็จเยือนไทยระหว่างวันที่ 11-14 มิถุนายน 2549 เพื่อ ทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ระดับอื่นๆ
- นาง Stéphanie Salat บุตรสาวของนาย Jean-Paul Proust มนตรีแห่งรัฐ ราชรัฐโมนาโก เยือนไทยเป็นการส่วนตัว ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2548 – -           8 มกราคม 2549

จำนวนคนไทยในโมนาโก
มีชาวเอเชียทำงานอยู่ในโมนาโกจำนวนประมาณ 465 คน โดยเป็นบุคคลสัญชาติไทย จำนวน 17 คน (มีถิ่นพำนักที่โมนาโก 15 คน ส่วนอีก 2 คนพำนักอยู่ในเขตประเทศฝรั่งเศส และเดินทางข้ามแดนเข้าไปทำงานในโมนาโก)

มีร้านอาหารไทยในโมนาโก 1 ร้าน และร้านอาหารไทย / เวียดนาม 1 ร้าน

ข้อมูลอิ่นๆ ที่น่าสนใจ
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส
Ambassade Royale de Thaïlande
8, rue Greuze 75116 Paris
Tel: 33 (0) 1 56 26 50 50
Fax: 33 (0) 1 56 26 04 45
E-mail: [email protected]
Website: www.thaiembassy.fr (กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุง)

สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ โมนาโก
Consulat Honoraire de Thailande a Monaco
2, Avenue de la Madone
MC 98000 Monaco
Tel: 00 377 93 30 94 94
Fax: 00 377 93 30 95 95
Consul Honoraire: Dr. Jean-Claude MOUROU

สถานกงสุลกิตติมศักดิ์โมนาโกประจำประเทศไทย
Tel: 02 662 3023-6

------------------------------------
26 ธ.ค. 2556

กองยุโรป 2 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5000 Fax. 0 2643 5132

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ