สาธารณรัฐมาซิโดเนีย

สาธารณรัฐมาซิโดเนีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 มี.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 19,764 view


สาธารณรัฐมาซิโดเนีย
Republic of Macedonia

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ทิศเหนือติดกับเซอร์เบีย ทิศตะวันออกติดกับบัลแกเรีย ทิศใต้ติดกับกรีซ ทิศตะวันตกติดกับแอลเบเนีย

พื้นที่ 25,713 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงสโกเปีย (Skopje)

ประชากร 2.06 ล้านคน (ปี 2554)

ภูมิอากาศ อบอุ่นและแห้งในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ค่อนข้างเย็นและมีหิมะตกมากในฤดูหนาว

ภาษา มาซิโดเนียน ร้อยละ 66.5 แอลเบเนียน ร้อยละ 25.1 เติร์ก ร้อยละ 3.5 โรมา ร้อยละ 1.9 เซอร์เบียน ร้อยละ 1.2 อื่นไ ร้อยละ 1.8

ศาสนา มาซิโดเนียน ออโธด๊อกซ์ ร้อยละ 64.7 มุสลิม ร้อยละ 33.3 คริสเตียนนิกายอื่นๆ ร้อยละ 0.37 อื่นๆ และไม่ระบุ ร้อยละ 1.8

หน่วยเงินตรา มาซิโดเนียน ดีนา (MKD) 1 ดีน่าร์ = 0.64 บาท (27 พ.ย.2555)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 10.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 5,016 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.3 (ปี 2554)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.4 (ปี 2554)

ระบอบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2534 โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงโดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Gjorge Ivanov (ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2552 ) นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี คณะรัฐมนตรีได้รับการเลือกจากเสียงข้างมากในสภา Sobranje ซึ่งเป็นสภาเดี่ยว นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นาย Nikola Gruevski

การเมืองการปกครอง

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
มาซิโดเนียเป็นชื่อเรียกดินแดนในประวัติศาสตร์ที่มีพื้นที่ครอบคลุมบางส่วนของยูโกสลาเวีย กรีซ และบัลแกเรีย ในระหว่างปี 2489-2492 เกิดสงครามกลางเมืองภายในกรีซ จึงทำให้นายพลตีโต แห่งยูโกสลาเวียประสบความสำเร็จในการเรียกร้องพื้นที่ส่วนหนึ่งของดินแดนมาซิโดเนียมาอยู่ภายใต้การปกครอง โดยเป็นสาธารณรัฐ 1 ใน 6 สาธารณรัฐของยูโกสลาเวีย

ในปี 2534 สาธารณรัฐสโลวีเนีย และสาธารณรัฐโครเอเชีย และบอสเนีย-เฮอร์โซโกวีนาได้เคลื่อนไหวแยกตัวเป็นเอกราชจากยูโกสลาเวีย ชาวมาซิโดเนียจึงได้จัดให้มีการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช และได้ประกาศเอกราชจากยูโกสลาเวียเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2534 ซึ่งเป็นการแยกตัวโดยปราศจากการใช้กำลังต่อต้านจากยูโกสลาเวีย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะยูโกสลาเวียกำลังสนับสนุนชาวเซิร์บในการสู้รบในบอสเนีย-เฮอร์โซโกวีนา ประกอบกับในมาซิโดเนียมาประชากรเชื้อสายเซิร์บจำนวนน้อย ยูโกสลาเวียจึงไม่ต้องการเปิดศึก 2 ด้าน

มาซิโดเนียประกาศเอกราชโดยใช้ชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐมาซิโดเนีย (Republic of Macedonia - ROM) ตามรัฐธรรมนูญ และต่อมาได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติภายใต้ชื่อ ROM แต่ได้รับการคัดค้านจากกรีซ โดยให้เหตุผลทางประวัติศาสตร์และดินแดนว่า การใช้ชื่อ Republic of Macedonia เป็นการส่อเจตนารมย์ที่จะอ้างสิทธิครอบคลุมไปถึงดินแดนมาซิโดเนียส่วนที่อยู่ในกรีซ ในที่สุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีข้อมติที่ 817 (1993) ให้ใช้ชื่อ Former Yugoslav Republic of Macedomia (FYROM) ในการอ้างถึงมาซิโดเนียในสหประชาชาติจนกว่าประเทศทั้งสองจะตกลงกันได้

สหประชาชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2536 ประกาศรับรองมาซิโดเนียเข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 181 นอกจากนี้ มาซิโดเนียยังได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศอีกหลายองค์การ เช่น FAO, IAEA, IBRD, ICAO, ILO, IMF, OSCE, UNCTAD, UNESCO, UNIDO, WHO เป็นต้น

สถานการณ์การเมืองในมาซิโดเนีย
มาซิโดเนียจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 นายกรัฐมนตรี ได้แก่ นาย Nikola Gruevski มาจากพรรค the Internal Macedonian Revolutionary Organisation-Democratic Party of Macedonian National Unity (VMRO-DPMNE) ได้รับที่นั่งในสภา 65 ที่นั่ง (จาก 120 ที่นั่ง) ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับ 4 พรรค ได้แก่ the Democratic Party of Albanians (DPA) the New Social Democratic Party (NSDP) the Democratic Renewal of Macedonia (DOM) และ the Party for a European Future (PEI)

นโนยบายด้านการต่างประเทศ


ความสัมพันธ์ระหว่างมาซิโดเนียกับ EU
นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญลำดับต้นต่อการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) มาซิโดเนียได้รับสถานะเป็น Candidate Country ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 ภายหลังจากที่มาซิโดเนียได้บรรลุเงื่อนไข อันได้แก่ การต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การยุติธรรม และการบริหารรัฐกิจ รวมถึงการจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม โดย EU ได้ประกาศว่า มาซิโดเนียได้มีความก้าวหน้าอย่างยิ่งในการบรรลุเงื่อนไขในกรอบนิติบัญญัติตามข้อตกลง Ohrid Framework Agreement และการบรรลุข้อตกลง Stabilization and Association Agreement ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่ามาซิโดเนียจะเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อเป็นสมาชิก EU ภายในปี 2551 และนาย Gruevski นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้มีเจตนารมย์ให้มาซิโดเนียเข้าเป็นสมาชิก EU อย่างสมบูรณ์ในราวปี 2556-2557 อย่างไรก็ดี ก็มีฝ่ายที่คัดค้านการได้รับสมาชิกภาพ EU ของมาซิโดเนีย โดย EU ได้ตั้งเงื่อนไขที่มาซิโดเนียต้องปฏิบัติให้บรรลุผลก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจา

เศรษฐกิจการค้า

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

มาซิโดเนียเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป โดยในปี 2534 มาซิโดเนียเป็นประเทศอดีตยูโกสลาเวียที่ยากจนที่สุด และในปี 2549 มาซิโดเนียมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศคิดเป็นมูลค่า 6.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำสุดในยุโรปตะวันออกรองจาก ทาจิคีร์สถาน สาธารณรัฐคีร์กิซ และมอลโดวา ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศคิดเป็นร้อยละ 0.01 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก เศรษฐกิจมาซิโดเนียพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูง โดยสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศคิดเป็นร้อยละ 99.2 เศรษฐกิจภายในประเทศพึ่งพาภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ส่วนภาคบริการเริ่มทวีความสำคัญเมื่อราวสองสามปีที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญของมาซิโดเนีย มาตรฐานความเป็นอยู่ที่ต่ำ และ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 36 (กันยายน 2549) ทั้งๆ ที่แรงงานมาซิโดเนียจัดเป็นแรงงานที่มีทักษะและมีฝีมือและแข่งขันได้ หากแต่ขาดโอกาสในตลาดแรงงาน ซึ่งทำให้แรงงานมีฝีมือมีความต้องการแสวงหาโอกาสในตลาดแรงงานต่างประเทศ

ในอดีตเมื่อปี 2533 มาซิโดเนียประสบปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) มีผลให้รัฐบาลใช้มาตรการการเงินและการคลังแบบรัดเข็มขัดอันเป็นเงื่อนไขของข้อตกลงให้กู้ยืมเงินจาก IMF ซึ่งให้เงินสนับสนุนมาซิโดเนียเมื่อปี 2540 ในกรอบโครงการ Poverty reduction and growth facility (PRGF) จำนวนเงิน 73.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อช่วยเหลือด้านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ อาทิ ภาคเกษตรกรรม และการลงทุน อย่างไรก็ดี ภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2544 และการเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2545 ส่งผลให้มาซิโดเนียต้องใช้จ่ายเงินคลังจำนวนมาก ทำให้ต้องมีการเจรจาต่อรองระหว่างมาซิโดเนีย กับ IMF ในเรื่องการให้กู้ยืมเงินดังกล่าว ต่อมาภายหลังการเลือกตั้ง IMF ได้ลงความเห็นให้เงินสนับสนุนภายใต้ stand-by Agreement วงเงิน 75.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2551 โดยมีเงื่อนไขว่า มาซิโดเนียจะต้องปฏิรูปโครงสร้างของตลาดแรงงาน และปฏิรูประบบการยุติธรรมให้เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้เมื่อเดือนมีนาคม 2550 World Bank ได้ให้เงินสนับสนุนจำนวน 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้โครงการ Country Partnership Strategy (CPS) เพื่อส่งเสริมการสร้างงานภายในประเทศ และปรับปรุงประสิทธิภาพของภาคบริหารรัฐกิจ

รัฐบาลมาซิโดเนียมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้มาซิโดเนียเป็นเป้าหมายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยระหว่างช่วงมกราคม – มีนาคม 2550 รัฐบาลมาซิโดเนียได้จัดแคมเปญเพื่อสื่อให้ต่างประเทศเห็นว่า มาซิโดเนียเป็น “New Heaven in Europe” นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ได้ออกกฎหมายที่อนุญาตการก่อสร้าง Technological Industrial Development Zones (TIDZs) โดยภายใต้โครงการนี้มีการดึงดูดนักลงทุนโดยการลดภาษีและลดขั้นตอนความยุ่งยากให้การประสานกับภาครัฐ

 

การค้าระหว่างประเทศ

ปัจจุบัน เศรษฐกิจมาซิโดเนียเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดและพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูง โดยในปี 2553 สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศคิดเป็นร้อยละ 95.9 เศรษฐกิจภายในประเทศพึ่งพาภาคบริการและอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า สำหรับภาคเกษตรกรรม เริ่มลดบทบาทความสำคัญลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจมหภาคมีโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงแต่การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้ไปในแนวอิงตลาด (Market Oriented) ยังเชื่องช้าและการลงทุนจากต่างประเทศยังถือว่ามีปริมาณน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

รัฐบาลมาซิโดเนียมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้มาซิโดเนียเป็นเป้าหมายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมาซิโดเนียเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เมื่อเดือนเมษายน 2546  และขณะนี้ มาซิโดเนียอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยมีสถานะเป็น Candidate Country ตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 ภายหลังจากที่ได้ลงนามในความตกลง Stabilization and Association Agreement กับสหภาพยุโรปเมื่อเดือนเมษายน 2544 ซึ่งมีผลให้มาซิโดเนียสามารถส่งสินค้าเข้าตลาดสหภาพยุโรป โดยไม่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ มาซิโดเนียขาดดุลทางการค้าตั้งแต่ปี 2537 โดยขาดดุลสูงสุดในปี 2549 คิดเป็นมูลค่า 1.362 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวร้อยละ 21.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ มูลค่าการค้าในปี 2549 คิดเป็น 6.163 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 99.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ เซอร์เบีย เยอรมนี และกรีซ ปัจจุบัน มาซิโดเนียมีความตกลงการค้าเสรีกับยูเครน ตุรกี และ the European Free Trade Association Countries (EFTA) ได้แก่ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ และในปี 2549 มาซิโดเนียได้เข้าเป็นสมาชิก the Central European Free Trade Agreement (CEFTA) ซึ่งประกอบด้วย มาซิโดเนีย โครเอเชีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มอลโดวา เซอร์เบีย มอนเตเนโกร แอลเบเนีย และโคโซโว 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐมาซิโดเนีย

 

ความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาซิโดเนีย เมื่อปี 2548 ภายใต้ชื่อ Republic of Macedonia (ROM) เนื่องจากมาซิโดเนียยืนยันว่า นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา มาซิโดเนียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับทุกประเทศในชื่อ ROM เท่านั้น

ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันยังมีไม่มากนัก มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและติดต่อระหว่างกันบ้าง โดยช่วงก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมช.กต. ในขณะนั้น เยือนกรีซและมาซิโดเนีย อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2543 และนาย Aleksandar Dimitrov รมว.กต. มาซิโดเนีย เดินทางมาเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงฯ ในปีเดียวกัน

การหารือระดับสูงระหว่างฝ่ายไทยและมาซิโดเนียเกิดขึ้นล่าสุดในช่วงการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council – HRC) ครั้งที่ 16 ที่นครเจนีวา ในช่วงเดือนกุมภพันธ์ 2554 ระหว่าง นาย กษิต ภิรมย์ รมว.กต. ในขณะนั้น กับนาย Antonio Milososki รมว.กต.มาซิโดเนีย ในขณะนั้น โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงลู่ทางการส่งเสริมความมือทางเศรษฐกิจและความคืบหน้าของการกำหนดเขตอาณาของทั้ง 2 ฝ่าย

ไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐมาซิโดเนีย และมีกำหนดจะยื่นพระราชสาสน์ตราตั้งต่อประธานาธิบดีมาซิโดเนียในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ส่วนฝ่ายมาซิโดเนียมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่งเป็นจุดติดต่อและดูแลความสัมพันธ์ไทย-มาซิโดเนีย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรอฝ่ายมาซิโดเนียจัดส่งสำเนาอักษรสาส์นตราตั้งเพื่อแต่งตั้งเอกอัครราชทูตมาซิโดเนียประจำจีน เป็นเอกอัครราชทูตมาซิโดเนียประจำประเทศไทย ต่อไป

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

ด้านการค้า มาซิโดเนียเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 187 ของไทย การค้าของไทยกับมาซิโดเนียในปี 2554 มีมูลค่ารวม 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า โดยส่งออกไปมาซิโดเนีย 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และนำเข้า 0.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสถิติการค้าปี 2555 (ม.ค. –มิ.ย.) การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีที่ผ่านมา สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังมาซิโดเนีย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตู้เย็น ตู้แช่แช็งและส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผ้าผืน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยา ผักกระป๋องและแปรรูป ส่วนสินค้านำเข้าจากมาซิโดเนีย ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ โดยมาซิโดเนียได้แจ้งความประสงค์ที่จะจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับรัฐบาลไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณา

ด้านการลงทุน มาซิโดเนียให้ความสนใจจะจัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทยและมาซิโดเนีย และความตกลงการค้าเสรีกับรัฐบาลไทย โดยความตกทั้งสองอยู่ระหว่างการเจรจา

ความสัมพันธ์ด้านการทูต

ไทยและมาซิโดเนีย ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2548 ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2538 มาซิโดเนียสถาปนาความสัมพันธ์ฯ กับประเทศต่างๆ ภายใต้ชื่อ Republic of Macedonia (ROM) มาโดยตลอด โดยประเทศในเอเชียที่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ฯ ภายใต้ชื่อ ROM มี อาทิ จีน สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย ลาว และกัมพูชา และประเทศที่สำคัญอื่นๆ มี อาทิ รัสเซีย เยอรมนี และล่าสุด สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในขณะนี้ หลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ได้ยอมรับการใช้ชื่อ ROM ของมาซิโดเนีย และในที่สุดกรีซคงจะต้องยอมรับการใช้ชื่อดังกล่าว และในการลงนามอนุสัญญาของสหประชาชาติ มาซิโดเนียจะเขียนด้วยลายมือกำกับเพิ่มเติมทุกครั้งจากชื่อที่สหประชาชาติพิมพ์ไว้คือ The Former Yugoslav Republic of Macedonia ว่าเป็นการ ลงนามสำหรับ Republic of Macedonia (.for the Republic of Macedonia) ซึ่งสหประชาชาติก็ยอมให้มาซิโดเนียกระทำการดังกล่าวได้

การท่องเที่ยว
ในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวมาซิโดเนียเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 281 คน

การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนกรีซและมาซิโดเนีย อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2543

ฝ่ายมาซิโดเนีย
นาย Aleksandar Dimitrov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาซิโดเนีย เดินทางมาเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายน 2543


กรมยุโรป
27 พฤศจิกายน 2555



กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5142-3 Fax. 0 2643 5141 E-mail : [email protected]

 

 

 

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ