สาธารณรัฐลิทัวเนีย

สาธารณรัฐลิทัวเนีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.พ. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 16,764 view


สาธารณรัฐลิทัวเนีย
Republic of Lithuania

 

สาธารณรัฐลิทัวเนีย
Republic of Lithuania
ข้อมูลทั่วไป
 
ที่ตั้ง   ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทวีปยุโรป ทิศเหนือลัตเวีย   
ทิศตะวันตกติดทะเลบอลติก รัสเซียและโปแลนด์
ทิศตะวันออกติดรัสเซียและเบรารุส ทิศใต้ติดเบรารุสและโปแลนด์
พื้นที่ ๖๕,๓๐๐ ตารางกิโลเมตร 
เมืองหลวง กรุงวิลนีอุส (Vilnius)
ประชากร   ๓.๕๖ ล้านคน (ปี ๒๕๕๕)
ภูมิอากาศ หนาวเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ ๕.๒ องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ -๕.๒ องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนกรกฎาคมที่ ๑๖.๔ องศาเซลเซียส
ภาษาราชการ ภาษาลิทัวเนียน
ศาสนา คริสต์คาทอลิกร้อยละ ๗๗.๒ คริสต์กรีกออร์ธอร์ด็อกซ์ร้อยละ ๔.๑
รัสเซียนออร์ธอร์ด็อกซ์ร้อยละ ๐.๘ นิกายลูเธอร์แรนร้อยละ ๐.๖  
ศาสนาและนิกายอื่นๆ ร้อยละ ๑.๖  ไม่นับถือศาสนาร้อยละ ๖.๑
และไม่ประสงค์แจ้งความเชื่อใดๆ ร้อยละ ๙.๖
หน่วยเงินตรา ยูโร (Euro)
อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ยูโร เท่ากับประมาณ ๔๕.๓๒ บาท
(ณ วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖) 
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ๔๒.๓๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๕)
รายได้ประชาชาติต่อหัว ๑๔,๑๘๓ ดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๕) 
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ  ๔ (ปี ๒๕๕๕)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ ๕ ปี รัฐสภาใช้ระบบสภาเดียว (Unicameral) เรียกว่า Seimas มีจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด ๑๔๑ คน (๗๑ คน มากจากการเลือกตั้งโดยตรง อีก ๗๐ คน มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน) มีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ ๔ ปี พรรคการเมืองจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ ๔ จากการลงคะแนนเสียงทั่วประเทศ จึงจะมีสิทธิเข้าร่วมในรัฐสภา ยกเว้นพรรคที่มาจากชนกลุ่มน้อย ทั้งนี้ ประธานสภาเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย 
๑.   ความสัมพันธ์ทั่วไป
      ๑.๑   การทูต
ประเทศไทยได้ประกาศรับรองเอกราชสาธารณรัฐลิทัวเนีย พร้อมกับประเทศบอลติก อื่น ๆ (ลัตเวียและเอสโตเนีย) เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๔ และเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาลงมติเห็นชอบให้ดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับลิทัวเนีย (พร้อมกับลัตเวียและเอสโตเนีย) ซึ่งต่อมาวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๓๖ ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐลิทัวเนียอย่างเป็นทางการ และมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน มีเขตอาณาครอบคลุมลิทัวเนียและไอซ์แลนด์ด้วย ปัจจุบัน รัฐบาลลิทัวเนียแต่งตั้งให้นาง Sigutė Jakštonytė เป็นเอกอัครราชทูตลิทัวเนียประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงวิลนีอุส (Vilnius) สาธารณรัฐลิทัวเนีย
      ๑.๒   การเมือง
ลิทัวเนียประสงค์ที่จะทำให้ประเทศตนเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเวทีโลก และพยายามกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออก ในขณะที่พยายามสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองโดยการเป็นประเทศที่มีบทบาทในสหภาพยุโรป แม้เป็นประเทศเล็ก ซึ่งสอดคล้องกับโอกาสที่ได้รับตำแหน่งเป็นประธานสหภาพยุโรป
ปัจจุบัน ไทยและลิทัวเนียมีการประชุม Political Consultation เป็นกลไลเพื่อพัฒนาและติดตาม
ความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยได้มีการจัดประชุมครั้งแรกเมื่อ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลิทัวเนียและปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทย
๑.๓   เศรษฐกิจ
   ๑.๓.๑   การค้า
ปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับลิทัวเนียยังมีปริมาณค่อนข้างจำกัดปริมาณการค้าไทย-ลิทัวเนียในช่วงปี ๒๕๕๕ มีมูลค่า ๑๑๑.๗๙  ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออก ๑๐๐.๗๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้า ๑๑.๐๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไทยได้ดุล ๘๙.๗๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปลิทัวเนีย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า เส้นใยประดิษฐ์ เนื้อปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  สินค้านำเข้าจากลิทัวเนีย ได้แก่ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน ถ่านหิน พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์  เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม้ซุง ไม้แปรรูป นมและผลิตภัณฑ์นม เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์  
     ๑.๓.๒   การท่องเที่ยว
จากจำนวนประชากรลิทัวเนีย ๒.๙ ล้านคน มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทย จำนวน 
  มีจำนวน ๗,๐๓๖ คน (ปี๒๕๕๕) สำหรับในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม ๒๕๕๖ มีนักท่องเที่ยวลิทัวเนียเดินทางมาไทย จำนวน ๕,๖๐๘ คน
 
 
๒.   การเยือนที่สำคัญ
๒.๑   ฝ่ายไทย
 
- เดือนกันยายน ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒) คณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ (Familiarization Mission) เดินทางเยือนประเทศกลุ่มบอลติก (ลิทัวเนีย เอสโตเนีย และลัตเวีย) เพื่อสำรวจลู่ทางการพัฒนาความสัมพันธ์
- วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ (ค.ศ. ๑๙๙๘) เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน (มีเขตอาณาครอบคลุมลิทัวเนียและไอซ์แลนด์) เข้าร่วมพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีลิทัวเนีย (นาย Valdas Adamkus)
ที่กรุง Vilnius
- วันที่ ๓-๔ พฤษภาคม ๒๕๔๒ (ค.ศ. ๑๙๙๙) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร) พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลิทัวเนีย (นาย Rolnas Bernotas) ในระหว่างการประชุม Landmine Conference ที่โมแซมบิก
- วันที่ ๙-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๓ (ค.ศ. ๒๐๐๐) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) จัดงาน Baltic Countries Road Show 2000 ที่เอสโตเนีย ลัตเวียและลิทัวเนีย (กรุงวิลนีอุส วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๓ (ค.ศ. ๒๐๐๐)
- วันที่ ๑๕-๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ (ค.ศ.๒๐๐๓) เดินทางเยือนลิทัวเนียเพื่อเข้าร่วมงานฉลองวันชาติลิทัวเนีย และได้พบหารือกับบุคคลสำคัญภาครัฐและเอกชนลิทัวเนีย
- วันที่ ๑-๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ (ค.ศ.๒๐๐๓) นายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย (Thailand Trade Representative -TTR) พร้อมคณะภาคเอกชนเดินทางไปเยือนลิทัวเนียตามคำเชิญของนาย Petras Cesna รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจลิทัวเนีย (ผู้แทนการค้าไทยแวะเยือนเดนมาร์ก และเยือนลิทัวเนีย โรมาเนียและบัลแกเรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน – ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖)
- วันที่ ๒๐-๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ (ค.ศ.๒๐๑๑) คณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ นำโดยนายประวิทย์ ชัยมงคล รองปลัดฯ (Familiarization Mission) เดินทางเยือนประเทศกลุ่มบอลติก (ลิทัวเนีย เอสโตเนีย และลัตเวีย) เพื่อสำรวจลู่ทางการพัฒนาความสัมพันธ์
- วันที่ ๓๐ มิถุนายน -๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ (ค.ศ. ๒๐๑๑) นายสุรพงษ์ ชัยนาม ทปษ. รมต. กต. นายปิยวัชร นิยมฤกษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน (มีเขตอาณาครอบคลุมลิทัวเนียและไอซ์แลนด์) เดินทางเยือนลิทัวเนีย เพื่อเข้าร่วมการประชุม Community of Democracy ครั้งที่ ๖
- วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ (ค.ศ.2011) นายธีรกุล นิยม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายปิยวัชร นิยมฤกษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน (มีเขตอาณาครอบคลุมลิทัวเนียและไอซ์แลนด์) เดินทางเยือนลิทัวเนีย เพื่อเข้าร่วมการประชุม ระดับรัฐมนตรี OSCE ครั้งที่ ๑๘
๒.๒   ฝ่ายลิทัวเนีย
ประธานาธิบดี / นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ 
- วันที่ ๑๐-๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ (ค.ศ.๒๐๐๓) นาย Petras Cesna รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจลิทัวเนีย พร้อมด้วยคณะภาคเอกชน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของผู้แทนการค้าไทย
(นายกันตธีร์ ศุภมงคล) ในระหว่างการเยือน รัฐมนตรี Cesna ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเข้าพบหารือกับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและ นายวัฒนาเมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- วันที่ ๕-๗ เมษายน ๒๕๔๗ (ค.ศ.๒๐๐๔) นาย Antanas Valionis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลิทัวเนีย และภริยา พร้อมด้วยคณะภาคเอกชน เยือนไทย อย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ตามคำเชิญของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในระหว่างการเยือน รัฐมนตรี Valionis ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเข้าพบหารือกับ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนการค้าไทย (นายกันตธีร์
ศุภมงคล)
- วันที่ ๑๖-๒๕ เมษายน ๒๕๔๘ (ค.ศ.๒๐๐๕) นาย Gintaras Buzinskas รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลิทัวเนีย พร้อมด้วยคณะ เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม UN Congress on Crime Prevention and Criminal Justice 
- วันที่ ๑-๒ มีนาคม ๒๕๔๙ นาย Valdas Adamkus ประธานาธิบดีลิทัวเนียและ นาง Alma Adamkiene ภริยา เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขก ของรัฐบาล (Official Visit) ในระหว่างการเยือน ประธานาธิบดีฯ และภริยา ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือข้อราชการ
ระดับอื่นๆ
- วันที่ ๗-๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๕ (ค.ศ.๒๐๐๒) นาย Ginutis Dainius VOVERIS เอกอัครราชทูตลิทัวเนียประจำประเทศไทย ซึ่งมีถิ่นพำนัก ณ กรุง Vilnius ลิทัวเนีย เดินทางมาเยือนไทยเพื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง (วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๕) ในระหว่างการเยือนไทย เอกอัครราชทูต VOVERIS ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมทั้งประธานรัฐสภา (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (นายเตช บุนนาค)
- วันที่ ๑๔-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ (ค.ศ.๒๐๐๔) นาย Ginutis Dainius Voveris เอกอัครราชทูตลิทัวเนียประจำประเทศไทย ซึ่งมีถิ่นพำนัก ณ กรุงวิลนีอุส สาธารณรัฐลิทัวเนีย เดินทางเยือนไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-ลิทัวเนีย ต่อเนื่องจากการเยือนของนาย Antanas Valionis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ ๕-๗ เมษายน ๒๕๔๗
- วันที่ ๖-๑๑ กันยายน ๒๕๕๔ (ค.ศ.๒๐๑๑) โครงการนำคณะนักธุรกิจระดับสูงลิทัวเนียเยือนไทย ในกิจกรรมย่อยโครงสร้างความสัมพันธ์ในระดับเจ้าหน้าที่ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศบอลติก นำโดยนายRimvydas Vastakas รมช กระทรวงคมนาคม,นาย Arturas Zuokas นายกเทศมนตรีกรุงวิลนีอุส และ
นาย Rolandas Valiunas กงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ประจำลิทัวเนีย
- วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นาย Evaldas Ignatavicius ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลิทัวเนีย ได้เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) และเข้าร่วมการประชุม Political Consultation ไทย-ลิทัวเนีย ครั้งที่ ๑ กับ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
(นายธีรกุล นิยม)
--------------------
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ