สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 มี.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 100,675 view


สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
Federal Republic of Germany
Bundesrepublik Deutschland

ข้อมูลทั่วไป

สำหรับข้อมูลการขอตรวจลงตรา (วีซา) เข้าเยอรมนี กรุณาศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีฯ ที่นี่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0 2287 9067 หรือ 0 2287 9069

สารคดีฉลองวาระครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเยอรมนี ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 7 ตอนที่ 8 ตอนที่ 9 ตอนที่ 10

ที่ตั้ง: ตอนกลางของทวีปยุโรป ทิศเหนือจรดเดนมาร์ก ทะเลบอลติก และทะเลเหนือ ทิศใต้จรดสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย ทิศตะวันออกจรดสาธารณรัฐเช็กและโปแลนด์ ทิศตะวันตกจรดเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส

พื้นที่: 357,021 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง: กรุงเบอร์ลิน (ย้ายจากกรุงบอนน์เมื่อปี 2533)

ประชากร: 80.5 ล้านคน (ปี 2556)

ภูมิอากาศ: ภูมิอากาศในเยอรมนีมีหลายแบบ โดยบริเวณชายฝั่งจะมีอากาศอบอุ่นในฤดูร้อนและหนาวเย็นปานกลางในฤดูหนาว ในขณะที่บริเวณภาคพื้นทวีปมีอากาศร้อนในฤดูร้อนและหนาวเย็นในฤดูหนาว

ภาษาราชการ: เยอรมัน

ศาสนา: คริสต์นิกายคาทอลิก ร้อยละ 31 คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ร้อยละ 31 อิสลาม ร้อยละ 4 และนับถือศาสนาอื่นหรือไม่มีศาสนา ร้อยละ 34

สกุลเงิน: ยูโร (Euro)

วันชาติ: 3 ตุลาคม (วันเอกภาพเยอรมนี - Day of German Unity) รวมประเทศเมื่อปี 2533

 

การเมืองการปกครอง

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข (Bundespräsident) และนายกรัฐมนตรี (Bundeskanzler) เป็นหัวหน้ารัฐบาล

ประธานาธิบดี: นายโยอาคิม เกาค์ (Dr. h.c. Joachim Gauck) ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสหพันธ์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555 และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 วาระการดำรงตำเเหน่ง 5 ปี

นายกรัฐมนตรี: ดร. อังเกลา เเมร์เคล (Dr. Angela Merkel) พรรค CDU ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี (เยอรมนีจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 กันยายน 2556)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ:

นายฟรังค์-วัลเตอร์ ชไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier)


เขตการปกครอง เยอรมนีประกอบไปด้วย 16 รัฐ (Länder) แบ่งเป็น 13 มลรัฐ (Flächenländer) ได้แก่ รัฐเสรีบาวาเรีย รัฐเสรีแซกโซนี รัฐเสรีทูรินเจีย รัฐเฮสส์ รัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์ก รัฐนอร์ธไรน์-เวสต์ฟาเลีย รัฐไรน์แลนด์-พาลาทิเนต รัฐซาร์ลันด์ รัฐบรันเดนบูร์ก รัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์ รัฐเมคเลนบูร์ก-เวสเทิร์น พอเมอราเนีย รัฐโลว์เออร์แซกโซนี และรัฐแซกโซนี-อันฮัลต์ และ 3 นครรัฐ (Stadtstaaten) ได้แก่ กรุงเบอร์ลิน เมืองฮัมบูร์ก และรัฐเบรเมิน แต่ละรัฐมีการปกครองและรัฐบาลของตนเอง
 

ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) ปัจจุบันมีสมาชิก 620 คน และสภามลรัฐ (Bundesrat) ปัจจุบันมีสมาชิก 69 คน


ระบบการเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎรใช้การเลือกตั้งแบบ 2 ระบบ คือ ระบบแบ่งเขต และระบบสัดส่วน โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่ได้รับเลือกตั้งจากระบบแบ่งแขต 299 คน จาก 299 เขตเลือกตั้ง หลังจากนั้น ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 5 หรือมีสมาชิกสภาผู้แทนฯ ระบบแบ่งเขตอย่างน้อย 3 คนจะได้รับการเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างน้อย 299 คน เพื่อให้สัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนฯ ในแต่ละรัฐเป็นไปตามสัดส่วนของคะแนนเสียงของแต่ละพรรค ส่วนสมาชิกสภามลรัฐจะได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลของแต่ละรัฐโดยมีจำนวนแตกต่างกันตามสัดส่วนของประชากร แต่สมาชิกของแต่ละรัฐจะต้องออกเสียงไปในทิศทางเดียวกัน

พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรค Christiche Demokratische Union (CDU – พรรคอนุรักษ์นิยม) พรรค Christlich-Soziale Union in Bavaria (CSU – พรรคพี่น้องของ CDU ในรัฐบาวาเรีย) พรรค Freie Demokratische Partei (FDP – พรรคเสรีนิยมมีนโยบายเป็นมิตรต่อภาคธุรกิจ) พรรค Bündnis 90/die Grünen (เน้นนโยบายเชิงสันติภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม) พรรค Sozialdemokratische Partei Deutschlands (SPD – พรรคซ้าย-กลาง) และพรรค Die Linke (ฝ่ายซ้าย)

นโยบายด้านการต่างประเทศ
- นโยบายด้านการต่างประเทศของเยอรมนีเป็นนโยบายแห่งสันติ (peace policy) เยอรมนีสนับสนุนการลดอาวุธ (disarmament) โดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์ และไม่ยอมรับการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ประสบการณ์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้เยอรมนีมักหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารในประเทศอื่น ๆ หากไม่มีความจำเป็น นอกจากนี้ เยอรมนีกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิรูปกองทัพ และได้ระงับระบบการเกณฑ์ทหารตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 อย่างไรก็ตาม เยอรมนีมีกองกำลังทหารจำนวน 6,800 นาย และกำลังตำรวจ 270 นายเข้าร่วมในปฏิบัติการสันติภาพของสหประชาชาติ โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน

- ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในกรอบสหภาพยุโรป และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะฝรั่งเศส และประเทศยุโรปตะวันออก สำหรับประเทศนอกภูมิภาคยุโรป เยอรมนีให้ความสำคัญกับความเป็นหุ้นส่วนกับสหรัฐอเมริกา (transatlantic partnership) และจะเริ่มให้ความสำคัญกับภูมิภาคลาตินอเมริกา รวมทั้งจะให้ความช่วยเหลือแก่ภูมิภาคแอฟริกา

- หัวใจสำคัญของนโยบาย ตปท. ของเยอรมนี คือ การได้รับเลือกเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จึงให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ UN ในปฏิบัติการต่างๆ โดยในปี 2009 เยอรมนีเป็นประเทศผู้ให้เงินสนับสนุนแก่ UN มากเป็นอันดับ 3

- เยอรมนีสนับสนุนการปฏิรูปการปกครองในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประเด็นการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน สถานการณ์ในซีเรีย และการพัฒนาทางนิวเคลียร์ในอิหร่าน อย่างไรก็ดี เยอรมนีให้ความสำคัญกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมากกว่าปฏิบัติการทางทหาร เยอรมนีเป็น 1 ใน 5 ประเทศ (ร่วมกับ รัสเซีย จีน อินเดีย และบราซิล) ที่งดออกเสียงในข้อมติ UNSC ที่ 1973 เกี่ยวกับการดำเนินการทางทหารเพื่อปกป้องพลเรือนในลิเบีย และการประกาศเขตห้ามบิน

- ประเด็นระดับโลกที่เยอรมนีให้ความสำคัญ ได้แก่ การคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง การฟื้นฟูอัฟกานิสถาน ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางพลังงาน โดยเยอรมนีได้ริเริ่มการจัดตั้ง International Renewable Energy Agency (IRENA) เพื่อส่งเสริมการขยายการใช้พลังงานทดแทนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ เยอรมนียังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวัฒนธรรมและการศึกษา เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงเยอรมนีกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

 

เศรษฐกิจการค้า

ภาพรวม

เยอรมนีมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่ให้ความสำคัญกับมิติด้านสังคม เยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก โดยในปี 2554 เยอรมนีมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น) มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นผู้ส่งออกใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก (รองจากจีนและสหรัฐอเมริกา) เยอรมนีเป็นฐานการผลิตของสินค้าเชิงอุตสาหกรรมหนักจากบริษัทขนาดกลางที่มักมีราคาแพง แต่มีมาตรฐานเชิงคุณภาพสูง อาทิ รถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ ในปี 2554 เยอรมนีได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันโดย International Institute for Management Development (IMD) เป็นอันดับที่ 10 ของโลก

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 3,399 พันล้าน USD (2556)

 

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจริง ร้อยละ 0.5 (ไทย ร้อยละ 2.9) (2556)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.2 (ไทย ร้อยละ 2.2 โดยคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค) (2555)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 6.0 – 2.54 ล้านคน (ก.พ. 2556)

มูลค่าการส่งออก 1.097 ล้านล้านยูโร (2555)

มูลค่าการนำเข้า 0.909 ล้านล้านยูโร (2555)

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

 

1.ความสัมพันธ์ทางการทูต

- ไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัฐอิสระของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายาวนาน โดยเมื่อปี 2401ไทยได้ทำสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือกับ 3 รัฐอิสระของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation between the Kingdom of Siam and the Hanseatic Republics) ซึ่งได้แก่ ลือเบค (Lübeck) เบรเมน (Bremen) และฮัมบูร์ก (Hamburg) และเมื่อปี 2551 ถือเป็นการครบรอบ 150 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการค้า

- ต่อมา ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเยอรมนี เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2405 โดยการทำสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือระหว่างกัน (Treaty of Amity, Commerce and Navigation with Prussia, in the name of the German Customs and Commercial Union) โดยไทยได้ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต (ปี 2426-2498) โดยในระยะแรกมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน และจัดตั้งสำนักงาน ณ กรุงเบอร์ลิน ขึ้นในปี 2430 และต่อมา เมื่อปี 2498 ได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต โดยได้จัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ มีเขตอาณาครอบคลุมเยอรมนีตะวันตก และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเบอร์ลิน มีเขตอาณาครอบคลุมเยอรมนีตะวันออก

- ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2542 ไทยได้ยกระดับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเบอร์ลิน ขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เนื่องจากมีการย้ายที่ทำการของรัฐสภาและรัฐบาลสหพันธ์จากกรุงบอนน์ไปยังกรุงเบอร์ลิน สำหรับที่ทำการเดิมที่กรุงบอนน์ได้จัดตั้งเป็นสำนักงานสถานเอกอัครราชทูตสาขากรุงบอนน์ขึ้น แต่ได้ปิดทำการไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2544 และได้มีการเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2545

- ไทยมีสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 3 แห่ง คือ ที่นครมิวนิก เมืองฮัมบูร์ก และเมืองดึสเซลดอร์ฟ และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ 1 แห่งที่เมืองชตุทท์การ์ท ในขณะที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในไทย 3 แห่ง คือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต และเมืองพัทยา

- ปัจจุบัน มีคนไทยอาศัยอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา โดยสถิติของทางการสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในปี 2552 มีจำนวนคนไทยพำนักในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีทั้งสิ้น 55,324 คน อย่างไรก็ดี คนไทยที่อาศัยอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจำนวนมากเป็นหญิงไทยที่สมรสกับชาวเยอรมันและได้รับสัญชาติเยอรมัน ดังนั้นจำนวนคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจึงมีประมาณกว่า 100,000 คน

2.ความสัมพันธ์ทางการเมือง
- ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเยอรมนีดำเนินไปด้วยความราบรื่น ไทยและเยอรมนีมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ เยอรมนีเห็นไทยเป็นหุ้นส่วนสำคัญในภูมิภาค โดยให้ความสนใจติดตามบทบาทและการดำเนินการของไทยในกรณีพม่า และสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อีกทั้งยังสนใจและชื่นชมบทบาทนำของไทยในอาเซียน รวมทั้งผลักดันความสัมพันธ์ทวิภาคีกับไทยทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับไทยและความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับอาเซียน โดยเฉพาะการจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างไทยกับประชาคมยุโรป (Framework Agreement on Comprehensive Partnership and Cooperation between Thailand and the European Community and its Member States – PCA) และความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement – FTA)

- เยอรมนีชื่นชมและตระหนักถึงความสำคัญของไทยในฐานะที่มีบทบาทนำและเป็นแบบอย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย การรักษาสิทธิมนุษยชน เสรีภาพของสื่อมวลชน ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และความสำเร็จทางเศรษฐกิจโดยรวม

3.ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
3.1 การค้า 

                         เยอรมนีเป็นคู่ค้าลำดับที่ 15 ของไทย โดยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยจากสหภาพยุโรป       ในปี 2556 ไทยและเยอรมนีมีมูลค่าการค้ารวม 10,182 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 4,068  ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 6,113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเสียเปรียบดุลการค้ามูลค่า 2,044 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเยอรมนี ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ  เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก๊อก วาล์วและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทยจากเยอรมนี ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์               ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์  รถยนต์นั่ง ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม แผงวงจรไฟฟ้า


3.2 การลงทุน

                          ปริมาณเงินลงทุนสุทธิจากเยอรมนีมายังประเทศไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2556      มีมูลค่า 7,661  ล้านบาท เป็นการลงทุนที่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  (Board of Investment - BOI) ทั้งสิ้น 17 โครงการ มูลค่า 729 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร รองลงมา ได้แก่ สาขาอุปกรณ์ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคและบริการ

                           กรณีข้อพิพาททางการค้าการลงทุนที่สำคัญระหว่างประเทศไทยกับเยอรมนี คือ ข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทวาลเทอร์ เบา (Walter Bau AG) ซึ่งผู้พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทวาลเทอร์ เบา ได้ฟ้องร้องต่อศาลนครนิวยอร์กและศาลกรุงเบอร์ลิน ขอบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ไทยชำระค่าเสียหายแก่บริษัทวาลเทอร์ เบา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 รวมไปถึงการขอให้ศาลกรุงเบอร์ลินอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ไว้เป็นของกลางในเยอรมนีระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม – 9 สิงหาคม 2554 โดยอ้างว่า
เป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 ศาลฎีกาสูงสุดของเยอรมนีได้ตัดสินยกคำพิพากษาของศาลสูงเบอร์ลินและให้พิจารณาคำร้องของบริษัท Walter Bau ใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทย เพราะทำให้ฝ่ายไทยสามารถกลับเข้าสู่กระบวรการพิจารณาได้อีกครั้ง


3.3 การท่องเที่ยว

                           ในปี 2556 มีนักท่องเที่ยวเยอรมันเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 744,363 คน
(เป็นอันดับที่ 3 ในยุโรป รองจากรัสเซีย  และสหราชอาณาจักร) นักท่องเที่ยวเยอรมันจัดเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพราะพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันสูง ปัจจุบัน สายการบินไทยทำการบินตรงจากกรุงเทพฯ สู่นครแฟรงก์เฟิร์ตวันละ 2 เที่ยวบิน และจากกรุงเทพฯ สู่นครมิวนิกทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน            ส่วนสายการบิน Lufthansa  ทำการบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปนครแฟรงก์เฟิร์ตวันละ 1 เที่ยว


4.ความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนา
- ที่ผ่านมา เยอรมนีให้ความร่วมมือแก่ไทยในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และการฝึกอบรมทางวิชาชีพ/การพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเยอรมนีแก่ไทย โดยมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือ คือ โรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมัน ซึ่งได้พัฒนามาเป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ

- เยอรมนีได้ยุติความร่วมมือทวิภาคีแบบผู้ให้-ผู้รับกับไทย ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง และจะมุ่งส่งเสริมความร่วมมือความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันเพื่อพัฒนาประเทศที่สาม ซึ่งนโยบายดังกล่าวของเยอรมนีสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่ต้องการปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหรือประเทศผู้ให้รายใหม่ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ไทยกับเยอรมนีได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคี เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือกับประเทศที่สาม โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาทิ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยเฉพาะในด้านการเพิ่มศักยภาพและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

5.แนวโน้มความสัมพันธ์
- กระทรวงการต่างประเทศได้กำหนดให้ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีใน 3 สาขาหลัก คือ โครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่ง พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการศึกษาและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสาขาที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีความชำนาญและสนใจ ให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของไทยต่อสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

6.ความตกลงทวิภาคีที่สำคัญ
- สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน (ลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2504 และลงนามครั้งล่าสุดหลังจากเจรจาใหม่ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2545 โดยมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2547)
- ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2505)
- อนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และจากทุน (ลงนามเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2510)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (ลงนามเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2513)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม (ลงนามเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2526 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 2527)
- สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2536)
- ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางทะเล (ลงนามเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2544)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจ (ลงนามเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2546)
- ความตกลงว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่น (แลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างกันเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2546)
- ความตกลงด้านการเงิน เพื่อเป็นกรอบความตกลงสำหรับการให้กู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร Kreditanstalt fuer Wiederaufbau (KfW) ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกับธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ลงนามเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2548)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคีระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อให้ความร่วมมือแก่ประเทศที่สาม (ลงนามเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2551) 
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในสาขาการบริหารจัดการภัยพิบัติ (ลงนามเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2555)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (ลงนามเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2555)



กองยุโรป 3 กรมยุโรป พฤษภาคม 2555 โทร. 0 2203 5000 ต่อ 13146 หรือ 0 2643 5142-3 Fax. 0 2643 5141 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ