จอร์เจีย

จอร์เจีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มี.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 37,454 view


จอร์เจีย
Georgia

ข้อมูลทั่วไป

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ประวัติศาสตร์ของจอร์เจียมียาวนานกว่า 2,500 ปี และภาษาจอร์เจียก็เป็นหนึ่งในภาษา เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังมีการใช้อยู่ กรุงทบิลิซิ (เมืองหลวง) ซึ่งมีอายุกว่า 1,500 ปี ตั้งอยู่ในหุบเขา (valley) ที่งดงามซึ่งถูกแบ่งโดยแม่น้ำ Mtkvari พื้นที่ส่วนใหญ่ของจอร์เจียถูกยึดครองโดยเปอร์เซีย ตุรกี อาหรับและมองโกล ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึง 18 ซึ่งเป็นเวลา 11 ศตวรรษที่จอร์เจียถูกปกครองโดยเผ่าต่างๆ ทั้งนี้ ในระหว่างศตวรรษที่ 11 ถึง 12 จอร์เจียได้รับการคุ้มครองจากรัสเซีย ซึ่ง ในที่สุดรัสเซียก็ได้ผนวกจอร์เจียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และเนรเทศราชวงศ์จอร์เจียในปี ค.ศ. 1801 (พ.ศ. 2344) อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนจอร์เจียจำนวนหนึ่งที่ต่อต้านการปกครองของรัสเซียเมื่อระบบกษัตริย์ (Tsarist) ของรัสเซียถูกโค่นลง สาธารณรัฐจอร์เจียก็ได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) และภายในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1921 (พ.ศ. 2464) กองทัพแดง (Red Army) ของสหภาพโซเวียตก็ได้เข้ายึดครองจอร์เจียอีกครั้งหนึ่ง ทำให้จอร์เจียเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียต ในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) Supreme Council ของสาธารณรัฐจอร์เจียก็ได้ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต
จอร์เจียประสบปัญหาความขัดแย้งด้านเชื้อชาติตั้งแต่ประกาศเอกราช และเพิ่งเริ่มมีเสถียรภาพในปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) อย่างไรก็ตาม ปัญหาคนพลัดถิ่นภายใน (internally displaced persons--IDPs) กว่า 230,000 คน ก็ยังคงเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการการเมืองท้องถิ่น ปัญหาความขัดแย้งใน Abkhazia และ South Ossetia ซึ่งต้องการแยกตัวออกจากจอร์เจียยังคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ยังคงต้องอาศัยกองกำลังสันติภาพของรัสเซีย และองค์การระหว่างประเทศในการรักษาสันติภาพ ซึ่งต้องมีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน การเจรจาระหว่างจอร์เจียกับ South Ossetia มีความคืบหน้าพอสมควร ในขณะที่การเจรจาระหว่างจอร์เจียกับ Abkhazia ยังคงหาผลสรุปไม่ได้
รัฐบาลจอร์เจียยึดมั่นในแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับนโยบายของ IMF และ World Bank และให้ความสำคัญกับการบูรณะเส้นทางสายไหม ในฐานะที่เป็น Eurasian corridor โดยจะใช้ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจอร์เจียเป็นสะพานเชื่อมการค้าระหว่างยุโรป และเอเชีย

ที่ตั้ง
ทางตอนใต้ของเทือกเขา Transcaucasus
ทิศเหนือ จรดพรมแดนรัสเซีย
ทิศตะวันออก จรดพรมแดนอาเซอร์ไบจาน
ทิศใต้จรดพรมแดนอาร์เมเนีย และตุรกี
ทิศตะวันตก ติดชายฝั่งทะเลดำ

พื้นที่
69,700 ตารางกิโลเมตร หรือ 26,911 ตารางไมล์ (ประมาณร้อยละ 14 ของไทย) ความหนาแน่นของประชากร 206 คน ต่อตารางไมล์

เมืองหลวง
กรุงทบิลิซี (Tbilisi) มีประชากรประมาณ 1.3 ล้านคน

ประชากร
4.9 ล้านคน  (ปี 2557) แบ่งเป็น ชาวจอร์เจีย ร้อยละ 83.8 ชาวอาเซอรี ร้อยละ 6.5 ชาวอาร์เมเนียน ร้อยละ 5.7 ชาวรัสเซีย ร้อยละ 1.5 และอื่นๆ

ภูมิอากาศ
อบอุ่นสบาย ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลดำมีภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน

ภาษาราชการ
ภาษาจอร์เจียน เป็นภาษาราชการ(ร้อยละ 71)
ภาษารัสเซียน (ร้อยละ 9)
ภาษาอาร์เมเนียน (ร้อยละ 7)
ภาษาอาเซอรี (ร้อยละ 6)
ภาษาอับคาซเป็นภาษาราชการในอับคาเซีย

ศาสนา
คริสต์ นิกายออโธด็อกซ์ (ร้อยละ 83.9)
มุสลิม (ร้อยละ 9.9)
Armenian-Gregorian (ร้อยละ 3.9)
คริสต์ นิกายคาธอลิค (ร้อยละ 0.8)
อื่น ๆ (ร้อยละ 0.8)

หน่วยเงินตรา lari (1 lari ประมาณ 15.1 บาท สถานะ ณ วันที่ 15 มิ.ย. 58)

การเมืองการปกครอง

ระบอบการปกครอง
ประธานาธิบดีเป็นประมุขและทำหน้าที่ในการบริหารและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยผ่านการเห็นชอบ 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา
สถาบันนิติบัญญัติ - ระบบสภาเดียว (Unicameral Supreme Council) มีสมาชิก 235 คน เลือกตั้งจากการแบ่งเขตประชากรต่อพื้นที่ โดยแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 150 เขต เขตละ 1 คน และจากการเสนอของพรรคการเมืองอีก 85 คน ดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี

 

ประมุขและหัวหน้ารัฐบาล ประธานาธิบดีกีโอร์กี มาร์กเวียลาชวิลี (Giorgi Margvelashivili) (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 17 พฤศจิกายน 2556 ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนร้อยละ 62)

นายกรัฐมนตรี นายอิราคลี การิบาชวิลี (Irakli Garibashvili) (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 พฤศจิกายน 2556)

รัฐมนตรีต่างประเทศ นางทามาร์ เบรูชาชวิลี (Tamar Beruchashvili) (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน 2557)


นโยบายต่างประเทศจอร์เจีย
แม้ว่าจอร์เจียจะเป็นประเทศเล็ก ๆ ในภูมิภาคคอเคซัส แต่ในบริบทของการช่วงชิงอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจ อาทิ รัสเซีย สหรัฐฯ รวมถึงสหภาพยุโรป จอร์เจียมีบทบาทสำคัญด้วยที่ตั้งที่ใกล้กับอิรัก อิหร่าน และตุรกี และยังตั้งอยู่บนเส้นทางขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ Baku-Tbilisi-Ceyhan นอกจากนี้ ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนภายในจอร์เจีย (ดินแดง Abkhazia, South Ossetia และ Adjara) ยังทำให้จอร์เจียสามารถเป็นเครื่องมือในการต่อรองระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่น ๆ ได้

 

เศรษฐกิจการค้า

สถานะเศรษฐกิจจอร์เจีย
เศรษฐกิจจอร์เจียมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นในระยะหลังมานี้ โดยเฉพาะหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดี Saakashvili ในปี 2546 เนื่องจากรัฐบาลมีเป้าหมายที่แน่วแน่ในการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายและเครื่องมือสำคัญ ได้แก่ การใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ การปฏิรูปภาษี (ตั้งแต่เดือนมกราคม 2548) ที่ลดอัตราภาษีลงเพื่อให้ประชาชนลดการหลบเลี่ยงภาษี กระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนเพิ่ม และยังพัฒนาบรรยากาศการลงทุนในหมู่นักลงทุนต่างชาตินอกจากนี้ รัฐบาลยังประสบความสำเร็จในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และในระยะหลังยังมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในโครงการท่อขนส่งน้ำมัน Baku-Tbilisi-Ceyhan ซึ่งจะทำให้จอร์เจียเป็นเส้นทางผ่านสำคัญสำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรป
อย่างไรก็ดี ความยากจน ธุรกิจผิดกฎหมาย ตลาดมืด และการฉ้อราษฎร์บังหลวง ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของจอร์เจีย ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Shevardnadze ทั้งนี้ มีการประเมินว่า มีการดำเนินธุรกิจโดยมิได้ผ่านการลงทะเบียนของรัฐในจอร์เจียอยู่ถึงร้อยละ 30-50


ข้อมูลทั่วไป

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 11.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2557 ประมาณการ)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 7,400ดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2557 ประมาณการ4)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.2 % (ปี 2557 ประมาณการ)

อุตสาหกรรม เหล็ก เครื่องบิน เครื่องจักรกล เครื่องไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ไม้ ไวน์

มูลค่าส่งออก 1.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2557 ประมาณการ)

สินค้าออกที่สำคัญ อัลลอย ทอง เหล็กและเหล็กเส้น ไวน์และน้ำแร่

ตลาดส่งออกที่สำคัญ รัสเซีย บัลแกเรีย เบลเยียม อิหร่าน สหรัฐ  แคนาดา จอร์เจีย เยอรมนี จีน เนเธอร์แลนด์

มูลค่านําเข้า 4.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2557 ประมาณการ)

สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาหาร ผลิตภัณฑ์ยาสูบ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เพชร

ตลาดนําเข้าที่สําคัญ รัสเซีย จีน เยอรมนี ยูเครน ตุรกี อิหร่าน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจอร์เจีย

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจอร์เจียเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1992 ฝ่ายไทยจึงมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกรับผิดชอบดูแลความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-จอร์เจีย


1.2 การค้า-การลงทุน
ไทยกับจอร์เจียเพิ่งเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันเมื่อปี 2538 โดยมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศยังมีมูลค่าไม่สูงมากนัก แต่มีแนวโน้มที่ดีในการขยายลู่ทางทางการค้าระหว่างกันต่อไป
ในปี 2557 มูลค่าการค้ารวมคิดเป็น 38.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 35.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 2.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า คิดเป็นมูลค่า 33.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
                      
สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากจอร์เจีย ได้แก่ ธัญพืชและธัญพืชสำเร็จรูป หลอดและท่อโลหะ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ ผลิตภัณฑ์ ยานพาหนะอื่น สัตว์สำหรับเพาะพันธุ์ สินค้าทุนอื่นๆ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องบิน เครื่องร่อน และอุปกรณ์การบิน

สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังจอร์เจีย ได้แก่ เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ยางพารา ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผักกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าว ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ กระดาษและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

 

ไม่ปรากฏการลงทุนของไทยในจอร์เจีย และการลงทุนของจอร์เจียในไทย


1.3 ความร่วมมือทางวิชาการ
คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และวิชาการจากจอร์เจีย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานของจอร์เจียได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือในด้านนี้ในสาขาต่างๆ กับไทย ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ ได้เดินทางไปเยือนและเจรจาความร่วมมือดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2536 แต่หลังจากนั้น ก็ไม่มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันแต่อย่างใด

2. ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
ปัจจุบันไทยและจอร์เจียมีความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 5 ฉบับ ได้แก่
1. ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Agreement for the Avoidance of Double Taxation and the Prevention of Fiscal Evasion with respect to Taxes on Income) ฝ่ายจอร์เจียได้เสนอร่างให้กับฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2540 

 

2. ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Agreement on the Promotion and Protection of Investments) ฝ่ายจอร์เจียได้เสนอร่างให้กับฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2539 
 

3. ความตกลงทางการค้า (Trade Agreement) ฝ่ายจอร์เจียได้เสนอร่างให้กับฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2539
 

4. ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางเรือ (Agreement on Maritime Transport) ฝ่ายจอร์เจียได้เสนอร่างให้กับฝ่ายไทย เมื่อปี 2539
 

5 ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ (Air Transport Agreement) ฝ่ายจอร์เจียได้เสนอร่างให้กับฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2540 


3. การเยือนที่สำคัญ
นับแต่สถาปนาความสัมพันธ์ ยังไม่มีการเยือนระหว่างกันที่สำคัญ เว้นแต่การเดินทางไปยื่นพระราชสาส์นของเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และการเยือนจอร์เจียของนายสวนิต คงสิริ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 3-5 มิถุนายน ค.ศ. 1999

นักท่องเที่ยวจอร์เจียมาไทย 901 คน (ปี 2556 มี 762 คน)

มิถุนายน 2558

กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5142-3 Fax. 0 2643 5141 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ