สาธารณรัฐฟินแลนด์

สาธารณรัฐฟินแลนด์

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 16,334 view


สาธารณรัฐฟินแลนด์
Republic of Finland

 

ข้อมูลทั่วไป

 

ที่ตั้ง                                                     ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปยุโรป ทิศเหนือติดนอร์เวย์  

ทิศตะวันตกติดสวีเดน  ทิศตะวันออกติดรัสเซีย 

ทิศใต้จรดทะเลบอลติก

พื้นที่                                                  ๓๓๘,๑๔๕ ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง                                     กรุงเฮลซิงกิ (Helsinki)

ประชากร                                             ๕.๔ ล้านคน (ปี ๒๕๕๕)

ภูมิอากาศ                                    หนาวเย็น อุณหภูมิระหว่าง ๑๐ – ๑๓ องศาเซลเซียส โดยเวลาที่มีแสงอาทิตย์ค่อนข้างสั้น ตั้งแต่ ๑ – ๑๐ ชั่วโมงต่อวัน

ภาษาราชการ                                        ๒ ภาษา คือ ภาษาฟินนิช และภาษาสวีดิช

ศาสนา                                                 คริสต์นิกายลูเธอร์แรน ร้อยละ ๗๖.๔  นิกายกรีกออร์ธอร์ด็อกซ์

ร้อยละ ๑.๑ นิกายอื่น ๆ ร้อยละ ๑.๕ และไม่นับถือศาสนาร้อยละ ๒๑

หน่วยเงินตรา                               ยูโร (Euro)        

                                                อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ยูโร เท่ากับประมาณ ๔๒.๔๘ บาท

(ณ วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ               ๒๔๗.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๕)

รายได้ประชาชาติต่อหัว                     ๔๕,๗๒๑ ดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๕)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ                     ร้อยละ  -๐.๘ (ปี ๒๕๕๕)

ระบอบการปกครอง                              ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเป็นประมุข ดำรงตำแหน่งวาระละ ๖ ปี และ

ไม่สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันมากกว่า ๒ วาระ และมีนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและเสียงข้างมากในสภา ซึ่งไม่จำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ฝ่ายนิติบัญญัติใช้ระบบสภาเดียว มีสมาชิกจำนวน ๒๐๐ คน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ดำรงตำแหน่งวาระละ ๔ ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้แก่ นายซาอูลี นีนีสเตอะ (Sauli Niinistö) (ดำรงตำแหน่งวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๕) และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้แก่ นายยูร์กิ กาไตเนน (Jyrki Katainen ) (ดำรงตำแหน่งวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๔)

 

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

๑.   ความสัมพันธ์ทั่วไป

      ๑.๑   การทูต

                 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย และเป็นประเทศที่สองต่อจากสหรัฐอเมริกาที่ได้รับรองการประกาศเอกราชของฟินแลนด์เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๖๐ โดยทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๖๒ ในปี ๒๕๒๓ ฟินแลนด์ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในไทยในระดับอุปทูต และในปี ๒๕๒๙ ได้ยกระดับเป็นเอกอัครราชทูต และเปิดสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำจังหวัดภูเก็ต (มีเขตอาณาครอบคลุมจังหวัดภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง) และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ (มีเขตอาณาครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง ลำพูน แพร่ และน่าน) เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นางกีร์สติ เวส์ฟาเลน (เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๖) ขณะที่ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ในปี ๒๕๔๘ โดยมีหัวหน้าสำนักงานเป็นระดับอุปทูต และยกระดับเป็นเอกอัครราชทูตเมื่อปี ๒๕๕๕ โดยมีนายรัชนันท์ ธนานันท์ เป็น เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิคนแรก (และคนปัจจุบัน)

      ๑.๒   การเมือง

                 ฟินแลนด์ประสงค์ที่จะกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เนื่องจากฟินแลนด์มีแนวนโยบายต่างประเทศที่ต้องการแสวงหาตลาดเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในภูมิภาคยุโรป โดยให้ความสำคัญต่อศักยภาพและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                 ปัจจุบัน ไทยและฟินแลนด์มีการประชุม Political Consultation เป็นกลไกเพื่อพัฒนาและติดตามความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยได้มีการจัดประชุมครั้งแรกเมื่อ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ กรุงเทพฯ ระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทยและฟินแลนด์

                 ล่าสุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับนายยูร์กิ กาไตเนน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ ที่นครหลวงเวียงจันทน์ในช่วงการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM) ครั้งที่ ๙ เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ซึ่งฝ่ายฟินแลนด์แสดงความสนใจที่จะเพิ่มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ (อุตสาหกรรม cleantech) เทคโนโลยีสะอาด ธุรกิจบริการด้าน ICT ขณะที่ฝ่ายไทยสนใจร่วมมือกับฟินแลนด์ในอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมสีเขียว การบริการด้านสาธารณสุข ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น

 

๑.๓   เศรษฐกิจ

              ๑.๓.๑   การค้า

                              ฟินแลนด์เป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ ๕๒ ของไทย และเป็นคู่ค้าลำดับที่ ๑๒ ของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยในปี ๒๕๕๕ มีมูลค่าการค้ารวม ๖๘๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงจากปี ๒๕๕๔ ร้อยละ ๑๑.๖๘) ไทยส่งออก ๓๙๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า ๒๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า ๑๐๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ไทยส่งออกไปฟินแลนด์ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องยนต์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัวและเครื่องเรือน เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและ

แปรรูป เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์รักษาผิว  สินค้าที่ไทยนำเข้าจากฟินแลนด์ ได้แก่ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ยานพาหนะอื่น ๆ เครื่องมือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์

    ๑.๓.๒   การลงทุน

                   จากสถิติ BOI ปี ๒๕๕๕ ฟินแลนด์ลงทุนในไทย ๙ โครงการ มูลค่าประมาณ ๔๙๕ ล้านยูโร ในกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูปสำหรับงานอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ และสิ่งประดิษฐ์จากหินหรือไม้

สาขาที่ฟินแลนด์มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพที่จะลงทุนในไทย อาทิ การออกแบบ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พลังงาน โดยเฉพาะนิวเคลียร์และชีวภาพ การศึกษา ป่าไม้  ในขณะที่

นวดแผนไทย สปา และร้านอาหารไทย เป็นสาขาการลงทุนที่ไทยมีโอกาสในตลาดฟินแลนด์ (ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในฟินแลนด์จำนวน ๓๐ ร้าน)

     ๑.๓.๓   การท่องเที่ยว

                   ในปี ๒๕๕๕ มีนักท่องเที่ยวฟินแลนด์เดินทางมาไทย จำนวน ๑๔๘,๖๔๙ คน บางส่วนมาอาศัยอยู่ในไทยระยะกลางถึงระยะยาว จึงมีสมาคมคนฟินแลนด์ หรือ ชาวฟินน์ในกรุงเทพฯ (Krungthepin Suomalaiset) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๔๗ มีเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวฟินแลนด์ในการดำเนินชีวิตในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีสมาคมฟินแลนด์ในพัทยา และโรงเรียนฟินน์ในพัทยาอีกด้วย

อนึ่ง สายการบินฟินน์แอร์มีเส้นทางบินจากกรุงเฮลซิงกิ-กรุงเทพฯ วันละ ๑ เที่ยวบิน และในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวจะมีการเพิ่มเที่ยวบิน

     

๒.   ความตกลงกับไทย

๒.๑    ความตกลงว่าด้วยสิ่งทอ (ลงนามเมื่อปี ๒๕๒๒)

๒.๒   อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๘)

 

๒.๓   ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๑ธันวาคม ๒๕๒๘)

๒.๔   ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๓๑)

๒.๕   ความตกลงว่าด้วยการติดตั้งและใช้เครื่องวิทยุรับ-ส่ง ในสถานเอกอัครราชทูตของทั้งสองประเทศ (ลงนามเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๑)

๒.๖   สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๓๑)

๒.๗   ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๗)

๒.๘   ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราเป็นเวลา ๙๐ วัน ให้แก่ผู้ที่ถือหนังสือเดินทาง

ทุกประเภท (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ ซึ่งต่อมา ฟินแลนด์ได้ขอยกเลิกความตกลงฯ เมื่อวันที่
๑ มกราคม ๒๕๓๙ แต่ได้ยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการของไทย ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นการให้ฝ่ายเดียวแทน)

๒.๙   บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินเพื่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๗)

 

๓.   การเยือนที่สำคัญ

     ๓.๑   ฝ่ายไทย

               นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

                - วันที่ ๒๒ – ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๑ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนฟินแลนด์

                - วันที่ ๑๔ – ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนฟินแลนด์ ตามคำเชิญของนายมัตติ วานฮาเนน (Matti Vanhanen) นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์

                - วันที่ ๑๐ – ๑๑ กันยายน ๒๕๔๙ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายกันตธีร์
ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนฟินแลนด์ เพื่อเข้าร่วมประชุมผู้นำ  ASEM ครั้งที่ ๖

 

     ๓.๒   ฝ่ายฟินแลนด์

             ประธานาธิบดี / นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

                - เดือนมีนาคม ๒๕๒๗ นายปาโว แววรูเนน (Paavo Väyrynen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศ เยือนไทย

                - วันที่ ๒๐ – ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๐ นายไตสโต กาเลวิ ซอร์ซา (Taisto Kalevi Sorsa)
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย

                 - วันที่ ๗ – ๙ มกราคม ๒๕๓๔ นายเปอร์ตติ ปาสซิโอ (Pertti Passio) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศ เยือนไทย อย่างเป็นทางการ

                - วันที่ ๒๑ – ๒๔ มกราคม ๒๕๓๘ นายมาร์ตติ อาห์ติซาริ (Martti Ahtisaari) ประธานาธิบดี เยือนไทย อย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกรัฐบาล

                - วันที่ ๑ – ๒ มีนาคม ๒๕๓๙ นายปาโว ลิปโปเนน (Paavo Lipponen) นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย
นางตาเรีย การินา ฮาโลเนน (Tarja Kaarina Halonen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย
เพื่อเข้าร่วมประชุมผู้นำ ASEM ครั้งที่ ๑

                - วันที่ ๑๕ – ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๕ นางตาเรีย ฮาโลเนน (Tarja Halonen) ประธานาธิบดี เยือนไทย
ในฐานะแขกของรัฐบาล

                - วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๗ นายมัตติ วานฮาเนน (Matti Vanhanen) นายกรัฐมนตรี แวะเยือนไทย
ก่อนเดินทางไปร่วมการประชุมผู้นำ ASEM ครั้งที่ ๕ ที่เวียดนาม

                - วันที่ ๑๖ – ๑๗ มกราคม ๒๕๔๘ นายมัตติ วานฮาเนน (Matti Vanhanen) นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีกลุ่มประเทศนอร์ดิก (สวีเดนและนอร์เวย์) เยือนไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล เพื่อประเมินสถานการณ์เหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ

                - วันที่ ๒ – ๘ เมษายน ๒๕๔๘ นายมาร์ตติ อาห์ติซาริ (Martti Ahtisaari) อดีตประธานาธิบดี
และประธานคณะกรรมการตรวจสอบกรณีเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิของฟินแลนด์ เยือนไทย เพื่อประเมินสถานการณ์และรวบรวมข้อมูล/ข้อเท็จจริงเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ

                - วันที่ ๑๖ และวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ นางตาเรีย ฮาโลเนน (Tarja Halonen) ประธานาธิบดี และคู่สมรส พร้อมคณะ แวะเยือนไทย ระหว่างการเยือนอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามอย่างเป็นทางการ

                - วันที่ ๑๕ และวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ นายมัตติ วานฮาเนน (Matti Vanhanen) นายกรัฐมนตรี แวะผ่านไทย ระหว่างการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

 

--------------------

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ