สาธารณรัฐบัลแกเรีย

สาธารณรัฐบัลแกเรีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 27,084 view


บัลแกเรีย
Republic of Bulgaria

ข้อมูลทั่วไป

 

ที่ตั้ง  อยู่ทางทิศตะวันออกของคาบสมุทรบอลข่าน ทิศเหนือติดกับ โรมาเนีย ทิศตะวันออกติดกับทะเลดำ ทิศตะวันตกติดกับเซอร์เบียและมาซิโดเนีย ทิศใต้ติดกับกรีซและตุรกี

พื้นที่    111,002 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงโซเฟีย (Sofia)

ประชากร 6.9 ล้านคน (ปี 2557)

ภูมิอากาศ แบบภาคพื้นทวีปในตอนบนของประเทศ และแบบเมดิเตอร์เรเนียนในตอนล่างของประเทศ

ภาษาราชการ บัลแกเรียน

ศาสนา บัลแกเรียน ออร์โธดอกซ์ ร้อยละ 82.6 มุสลิม ร้อยละ 12.2 คาทอลิก ร้อยละ 1.2 อื่น ๆ ร้อยละ 4

หน่วยเงินตรา เลวา (Lev) อัตราแลกเปลี่ยน 1 เลวา เท่ากับประมาณ 19.42 บาท (ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2558)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 123.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2557 ประมาณการ)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 17,100 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2557ประมาณการ)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 1.4 (ปี 2557 ประมาณการ)

ระบอบการปกครอง สาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี ปัจจุบัน คือ นายรอเซน เพลฟเนเลียฟ (Rosen Plevneliev) เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 2555 และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ปัจจุบันคือ นายบอยโค บอริซอฟ (Boyko Borisov) เข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่สองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557

 

1. การเมืองการปกครอง

        1.1   จักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1 ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1224 จากการรวมตัวของชนชาติสลาฟและ   ชนชาติบัลการ์ (ชนชาติยูเครนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทรบอลข่าน) และสลายตัวลงเมื่อปี 1561หลังจากที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ต่อมา ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมันเป็นเวลา 5 ศตวรรษ จากปี 1939 จนถึงปี 2421 จึงได้รับการยอมรับในฐานะประเทศเอกราชในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปกครองโดยราชวงศ์ซัคสโกเบิร์กก็อธสกี้ (Sax-Coberge Gotha) โดยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับจักรวรรดิรัสเซีย บัลแกเรียเข้าร่วมในสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง กับฝ่ายอักษะ และเมื่อเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายสัมพันธมิตรได้กำหนดให้บัลแกเรียอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต บัลแกเรียจึงอยู่ใต้การปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

        1.2      ภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต บัลแกเรียได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2534 รัฐสภาบัลแกเรียได้รับรองรัฐธรรมนูญของประเทศ บัลแกเรียมีระบบสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภา 240 คน จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปทุก 4 ปี ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดำรงตำแหน่งวาระละ 5ปี และอาจอยู่ต่อได้อีกหนึ่งวาระ

2. เศรษฐกิจ

         2.1    บัลแกเรียประสบวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2539 -2540  โดยมีสาเหตุจากการควบคุมภาคการเงินที่ไร้ประสิทธิภาพ เกิดหนี้ที่ไม่ก่อรายได้มากจนเกิดวิกฤติในภาคธนาคาร เงินเลวา (Lev) ลดค่าลงจากเดิม นำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลสังคมนิยม รัฐบาลต่อมาของบัลแกเรียใช้นโยบายปฏิรูประบบเศรษฐกิจแบบเสรี ต่อมา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 รัฐบาลบัลแกเรียได้ขอรับความช่วยเหลือ  ด้านเศรษฐกิจจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) และนำระบบคณะกรรมการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Board) เข้ามาใช้ รวมทั้ง กำหนดให้มีการปฏิรูปการคลัง การควบคุมปริมาณเงิน และการลดการปล่อยสินเชื่อ การปฏิรูปเศรษฐกิจมหภาคของบัลแกเรียเป็นไปในเชิงบวก และเศรษฐกิจมีแนวโน้มพัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีการดำเนินการตามแผนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และคณะกรรมการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเคร่งครัด เป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานลดลงเป็นลำดับ สถานะทางเศรษฐกิจของบัลแกเรียจึงมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

           2.2      ถึงแม้ว่าในปี 2554 บัลแกเรียประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของบัลแกเรียจะกลับมาฟื้นตัวและพัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับดังเช่นก่อนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.3 ระหว่างปี 2547 ถึง 2551 นอกจากนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ มีความก้าวหน้ามาก อาทิ ภาคพลังงาน ภาคการเดินรถไฟ ภาคการบริหารจัดเก็บภาษี และภาคการแปรรูปธนาคารของรัฐ ส่งผลให้บัลแกเรียมีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาที่สำคัญที่สุดของบัลแกเรียคือเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง กระบวนการยุติธรรมที่อ่อนแอ และขบวนการอาชญากรรมจัดตั้ง ซึ่งรัฐบาลบัลแกเรียจะต้องแก้ไขตามพันธกรณีที่ให้ไว้กับสหภาพยุโรป

           2.3      บัลแกเรียเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปที่ยากจนที่สุด โดยในปี 2551 บัลแกเรียพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศถึง 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงตั้งเป้าให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราร้อยละ 6-8 ลดอัตราการว่างงานให้ต่ำกว่าร้อยละ 10 ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ลดการผูกขาด เพิ่มการแปรรูปกิจการรัฐบาลให้เป็นเอกชน คงระบบคณะกรรมการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนจนกว่าบัลแกเรียจะเข้าเป็นสมาชิกเขตยูโร (Eurozone) ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจในแนวเดียวกันกับสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (European Monetary Union - EMU) เพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ปรับปรุงศักยภาพทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ปรับปรุงการคลังให้มีความโปร่งใส จำกัดการใช้จ่ายภาครัฐอยู่ที่ร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และจำกัดหนี้ภาครัฐให้อยู่ในระดับต่ำ

          2.4     การประท้วงครั้งใหญ่เมื่อต้นปี 2556 มีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยอัตราว่างงานเมื่อเดือน ม.ค. 2556 อยู่ที่ร้อยละ 12.4 (สูงกว่าเมื่อปี 2552 ถึงหนึ่งเท่าตัว) และมาตรการสำคัญของรัฐบาลรักษาการคือ การพยายามสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

         2.5    ประเทศคู่ค้าสำคัญของบัลแกเรียนอกสหภาพยุโรป ได้แก่ ตุรกี จีน รัสเซีย เซอร์เบียมาซิโดเนีย และ อาหรับเอมิเรสต์

3. นโยบายต่างประเทศ

          3.1     บัลแกเรียให้ความสำคัญลำดับต้นต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ให้ไว้กับสหภาพยุโรป ภายหลังจากที่บัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 พร้อมกับโรมาเนีย คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้ขอให้บัลแกเรียเร่งรัดดำเนินการการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงและอาชญากรรมจัดตั้ง การปฏิรูประบบภาษี ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายของบัลแกเรีย

         3.2      บัลแกเรียให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพในคาบสมุทรบอลข่าน โดยมองว่า ตนเองเป็นปัจจัยรักษาความมั่นคงทางการเมืองในอนุภูมิภาคนี้ และเป็นประเทศทางผ่านสินค้าในภูมิภาค โดยจากกรุงโซเฟีย มีทางรถยนต์เชื่อมกรุงเบลเกรดและนครอิสตันบูล และเป็นเส้นทางจากยุโรปเหนือไปกรุงเอเธนส์ โดยผ่านกรุงสโกเปียในมาซิโดเนีย และมีทางรถไฟเชื่อมไปยังกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน มอสโก และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในรัสเซีย นอกจากนี้ บัลแกเรียสนับสนุนการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ที่ดีกับรัสเซียและประเทศอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย รวมถึงให้ความสำคัญต่อนโยบายร่วมด้านพลังงานของสหภาพยุโรป เนื่องจากต้องการเป็นศูนย์กลางเครือข่ายท่อส่งน้ำมันและก๊าซในภูมิภาคบอลข่าน

        3.3     บัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization - NATO) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2547 พร้อมกับลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย และโรมาเนีย โดยได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชน และที่ผ่านมาบัลแกเรียได้มีส่วนร่วมในการส่งทหารเข้าร่วมกองกำลังองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือในอิรักและอัฟกานิสถาน

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

          1.1     การทูต

                        ไทยและบัลแกเรียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2517 เดิมไทยได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบลเกรด ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซเฟีย อีกตำแหน่งหนึ่ง ส่วนบัลแกเรียได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในกรุงเทพฯ และมีเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยจนถึงกลางปี 2533 ต่อมา บัลแกเรียได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงการต่างประเทศเป็นผลให้มีการปิดสถานเอกอัครราชทูต 20 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียและแอฟริกา สำหรับในไทยยังคงสถานเอกอัครราชทูตฯ ไว้แต่ลดระดับผู้แทนเป็นอุปทูต จนกระทั่งเมื่อ ปี 2550 บัลแกเรียได้ยกระดับผู้แทนประจำสถานเอกอัครราชทูตบัลแกเรียในไทยเป็นระดับเอกอัครราชทูตภายหลังว่างเว้นเป็นเวลา18 ปี อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนเมษายน 2554 บัลแกเรียได้ปิดสถานเอกอัคราชทูตฯ ไว้ชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และได้มอบหมายให้ นายสมบัติ เลาหพงษ์ชนะ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์บัลแกเรียประจำประเทศไทยเป็นผู้ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

                         ไทยยังไม่มีสถานเอกอัครราชทูตในบัลแกเรีย แต่ได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ มีเขตอาณาครอบคลุมบัลแกเรีย ปัจจุบัน นายคมกริช วรคามิน ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ และแต่งตั้งนายวิคเตอร์ เมลาเมด (Mr. Victor Melamed) ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำบัลแกเรีย

         1.2     การเมือง

                       ไทยกับบัลแกเรียมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น แต่มีการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์กันไม่มากนัก โดยมีกลไกความร่วมมือที่สำคัญ คือ การแลกเปลี่ยนการเยือน และหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้กรอบพิธีสารความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับกระทรวงการต่างประเทศของบัลแกเรีย

                        ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ได้หารือกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบัลแกเรีย นายนิโคไล มลาเดนอฟ ระหว่างการประชุม AEMM ครั้งที่ 19 วันที่ 27 เมษายน 2555 ณ ประเทศบรูไน โดยได้หารือเรื่องการกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีและประเด็นระดับภูมิภาค เช่น พัฒนาการในเมียนมาร์ และกล่าวถึงการจัดการพบหารือระดับสูงระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (Political Consultation) ซึ่งจัดครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทยในปี 2552 โดยฝ่ายบัลแกเรียประสงค์จะเป็นเจ้าภาพการจัดครั้งต่อไป

                       ระหว่างการประชุมผู้นำเอเชีย – ยุโรป ครั้งที่ 9 ณ เวียงจันทน์ นายกรัฐมนตรีได้หารือ corridor meeting กับ ประธานาธิบดีบัลเกเรีย นายรอเซน เพลฟเนเลียฟ โดยทั้งสองฝ่ายได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้า โดยเห็นพ้องกับการเชื่อมโยงเอเชียและยุโรปเข้าด้วยกัน ด้วยการคมนาคมขนส่งระบบราง และในโอกาสนี้ บัลแกเรียได้ขอรับการสนับสนุนจากไทยในการลงสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก และได้มอบหนังสือเชิญนายกรัฐมนตรีเยือนบัลแกเรียจากนายบอยโก บอริสสอฟ นายกรัฐมนตรีบัลแกเรีย

                       ไทยกับบัลแกเรียได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-บัลแกเรียระหว่างกัน โดยกลุ่มมิตรภาพฯ ของฝ่ายไทยจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2540 ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 7 คน (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4 คน และสมาชิกวุฒิสภา 3 คน) และอยู่ระหว่างจัดการเลือกตั้งประธานกลุ่ม สำหรับกลุ่มมิตรภาพฯ ของฝ่ายบัลแกเรียประกอบด้วยสมาชิก 4 คน โดย นายบอริสลาฟ กีตอฟ (Borislav Kitov) เป็นประธานกลุ่ม โดยกลุ่มมิตรภาพฯ ของฝ่ายได้ทาบทามการเยือนบัลแกเรียในช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2556

                       ไทยกับบัลแกเรียอยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐบัลแกเรียว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตหนังสือเดินทางราชการ หรือหนังสือเดินทางพิเศษ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่างความตกลงฯ และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ลงนามได้เมื่อปี 2548 แต่ต่อมาฝ่ายบัลแกเรียขอเสนอให้เพิ่มเติมข้อความ “Within a period of six (6) months from the date of their first entry” ในความตกลงฯ โดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อบังคับของสหภาพยุโรป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอแก้ไขของฝ่ายบัลแกเรีย ก่อนนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดทำและลงนามในความตกลงฯ ต่อไป

            1.3      เศรษฐกิจ

                      1.3.1 การค้า

                               ในปี 2557 การค้าระหว่างไทยกับบัลแกเรียมีมูลค่า 86.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 30.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 56.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ไทยขาดดุลฯ 26.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการค้าระหว่างกันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา (ยกเว้นในปี 2542) สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปบัลแกเรีย ได้แก่ ยางพารา วงจรพิมพ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญของไทยจากบัลแกเรีย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องดนตรีและของเล่น ข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปุ๋ย

       1.3.2  การลงทุน

                             ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏมีข้อมูลการลงทุนของบัลแกเรียในไทยและการลงทุนของไทยในบัลแกเรีย อย่างไรก็ดี การแปรรูปกิจการของรัฐของบัลแกเรียเป็นโอกาสที่นักธุรกิจไทยสามารถเข้าไปลงทุนหรือร่วมลงทุนในบัลแกเรียได้ โดยเฉพาะกิจการภาคบริการที่เอกชนไทยมีความชำนาญ  และประสบการณ์ อาทิ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากบัลแกเรียเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนี้ การเริ่มเข้าไปลงทุนในบัลแกเรียควรเป็นลักษณะการร่วมลงทุนกับผู้ที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการดำเนินธุรกิจในแถบนั้น เพื่อศึกษาถึงวัฒนธรรมทางธุรกิจก่อน

                     1.3.3 การท่องเที่ยว

                             บัลแกเรียยังเป็นตลาดท่องเที่ยวที่มีขนาดเล็กของไทย โดยในปี 2557 มีจำนวนนักท่องเที่ยวบัลแกเรียเดินทางมาไทย  9,012 คน (ปี 2556 จำนวน  7,177 คน)  ทั้งนี้ สายการบิน Balkan Bulgarian Airlines เคยให้บริการเส้นทางระหว่างบัลแกเรียกับไทย แต่ได้หยุดให้บริการไปเมื่อปี 2543 เนื่องจากมีปริมาณผู้โดยสารไม่เพียงพอ ปัจจุบัน ชาวบัลแกเรียที่เดินทางเข้าไทยใช้เส้นทางผ่านนครอิสตันบูล ในขณะที่ชาวไทยที่เดินทางเข้าบัลแกเรียใช้เส้นทางผ่านนครแฟรงก์เฟิร์ต

2. ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย

          ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว

2.1   ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2529)

2.2  ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมบัลแกเรีย (ลงนามเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539)

2.3  พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (ลงนามเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2540)

2.4   อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2543

2.5   ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการศึกษา (ลงนามเมื่อเดือนมีนาคม 2556)

2.6   ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน  (ลงนามเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546)

2.7   ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมบัลแกเรีย (ลงนามเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2546)

            ความตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา

2.8   ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐบัลแกเรียว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการ หรือหนังสือเดินทางพิเศษ

2.9   พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ

3. การเยือนที่สำคัญ

          3.1     ฝ่ายไทย

                     รัฐบาล

                        - วันที่ 11-13 มิถุนายน 2543 นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนบัลแกเรีย

                        - วันที่ 16-18 มิถุนายน 2543 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนบัลแกเรีย

                        - วันที่ 1-3 กันยายน 2552 นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เยือนบัลแกเรียในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศบัลแกเรีย

                        - วันที่ 7-9 เมษายน ๒๕๕๔ นายสุรพงษ์ ชัยนาม ทปษ.รมว.กต. เดินทางเยือนบัลแกเรีย โดยได้เข้าพบกับนาย Knostantin Dimitrov รมช.กต.บัลแกเรีย และหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันและบทบาทอาเซียนในกรอบความมั่นคง

           ๓.๒     ฝ่ายบัลแกเรีย

                        - วันที่ 2-5 ธันวาคม 2527 นายลูโบเมียร์ โพพอฟ (Lubomir Popov) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย

                        - วันที่ 12-14  สิงหาคม 2540 นายบอยโก เมียร์เชฟ (Boyko Mirchev) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยเพื่อร่วมลงนามในพิธีสารว่าด้วยการปรึกษาหารือและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ

                       - วันที่ 11-12 กันยายน 2546 นายกีออร์กี้ ปาร์วานอฟ (Georgi Parvanov) ประธานาธิบดีบัลแกเรีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

                       - วันที่ 17-19 ธันวาคม 2552 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศบัลแกเรีย นาย Milen Lyutskanov เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ


สถานะ ณ วันที่  16 มิถุนายน 2558

กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2203 5000 ต่อ 13141 หรือ 0 2643 5142 Fax. 0 2643 5141 E-mail : [email protected]

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-20130402-111915-375025.pdf