สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ส.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 30,140 view


สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน
Republic of Azerbaijan

ข้อมูลทั่วไป

ประวัติศาสตร์พอสังเขป
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชาวอาเซอร์ไบจานสืบเชื้อสายมาจากชนชาติ Seljuk Turks และชาว เปอร์เซียนโบราณ และสันนิษฐานว่าชื่อประเทศในปัจจุบันมาจากภาษาเปอร์เซียนโบราณที่แปลว่า “ดินแดนแห่งไฟ” เนื่องจากดินแดนแถบนี้มีทรัพยากรน้ำมันอุดมสมบูรณ์และมีสถานะเป็นศูนย์กลางของลัทธิโซโรแอสเตอร์ (Zoroaster) ซึ่งเป็นกลุ่มชนโบราณที่บูชาไฟ


ดินแดนของอาเซอร์ไบจานถูกครอบครองโดยชนเผ่าเติร์กตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 จึงทำให้ได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมแบบมุสลิม ศาสนา และภาษาโดยกลุ่มชนดังกล่าวกว่าหลายศตรวรรษ ต่อมาได้ถูกยึดครองโดยชาวมองโกลตั้งแต่ศตวรรษที่ 13-15 และชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ในศตวรรษที่ 16 ส่งผลให้อาเซอร์ไบจานรับเอาศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์เป็นนิกายประจำชาติ หลังจากนั้น อาเซอร์ไบจานได้ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของหลายชนชาติ อาทิ รัสเซีย เปอร์เซีย และออตโตมัน ด้วยเหตุที่เป็นดินแดนที่มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปกับเอเชียกลาง รวมทั้งอยู่ติดกับทะเลสาบแคสเปียนซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำมันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในที่สุดรัสเซียได้ลงนามในสนธิสัญญา Turkmenchay กับเปอร์เซีย ในปี ค.ศ. 1828 เพื่อแบ่งดินแดนของอาเซอร์ไบจานออกจากอาณาจักรเปอร์เซีย และได้ใช้เริ่มสำรวจและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันในอาเซอร์ไบจานนับแต่นั้น ซึ่งก่อให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นในบริเวณดังกล่าวในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
อาเซอร์ไบจานได้ประกาศเอกราชครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1918 หลังจากที่จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายลง 1 ปี แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1920 กองทัพแดงของ Bolshevik ได้เข้ารุกรานและมีชัยชนะเหนืออาเซอร์ไบจานรวมทั้งดินแดนอื่นๆ ในส่วนที่เรียกว่า Transcaucasia (ได้แก่ จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน) ส่งผลให้ในปี ค.ศ. 1922 อาเซอร์ไบจานได้ถูกผนวกเข้ากับสหภาพโซเวียตในฐานะส่วนหนึ่งของ Transcaucasia Soviet Federated Socialist Republic (SFSR) ร่วมกับจอร์เจียและอาร์เมเนีย และได้กลายเป็นสาธารณรัฐหนึ่งในสหภาพโซเวียต (Azerbaijan Soviet Socialist Republic) เมื่อ Transcaucasia SFSR ล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1936 หลังจากนั้น นับแต่ทศวรรษ 1980 อาเซอร์ไบจานประสบกับความวุ่นวายภายในประเทศ รวมทั้งได้เกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงกับกองทัพสหภาพโซเวียต ซึ่งส่งผลให้ชาวอาเซอร์ไบจานที่เรียกร้องเอกราชในกรุงบากูเสียชีวิตลงจำนวน 190 คนในปี ค.ศ. 1990 และต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1991 อาเซอร์ไบจานก็ได้ประกาศเอกราช

ที่ตั้ง อยู่ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างอาร์เมเนียและเติร์กเมนิสถาน ทางตะวันออกของแนวเทือกเขา Transcaucasus ระหว่างเทือกเขา Greater Caucasus และทะเลสาบแคสเปียน ทิศเหนือติดกับรัสเซีย ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับจอร์เจีย ทิศตะวันตกจรดพรมแดนอาร์เมเนีย ทิศใต้ติดกับอิหร่าน ทิศตะวันออกติดกับทะเลสาบ Caspian ภูมิประเทศ ประกอบด้วยเทือกเขาและที่ราบลุ่ม ทางภาคเหนือเป็นเทือกเขา The Greater Caucasus ซึ่งมียอดเขา Mount Bazardyuzyu เป็นภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศ (4,466 เมตร) ส่วนเทือกเขา The Lesser Caucasus เป็นพรมแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลางของประเทศ จึงเป็นบริเวณที่ราบลุ่มที่สำคัญคือ ลุ่มน้ำ Aras-Kura และที่ราบบริเวณชายฝั่งทะเลสาบ Caspian ที่ราบลุ่มเหล่านี้มีพื้นที่กว่า 4,278
เฮคตาร์ (ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1,600 เฮคตาร์ และที่เหลือใช้เลี้ยงสัตว์)
มีพื้นที่ป่ากว่า 1 ล้านเฮคตาร์

พื้นที่ 86,600 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 1 ใน 6 ของประเทศไทย)

เมืองหลวง กรุงบากู (Baku) และเป็นเมืองท่าสำคัญ ประชากรจำนวน 1.8 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีเมือง Sumgayit ซึ่งเป็นเมืองท่าริมชายฝั่งทะเลสาบแคสเปียน และเป็นศูนย์อุตสาหกรรมสำคัญอันดับสองรองจากกรุงบากู และ Ganca เมืองอุตสาหกรรมทางตะวันตก

ประชากร 9.417 ล้านคน (ปี 2556 ประมาณการ)
ประกอบด้วยชาวอาเซอรี ร้อยละ 90.6 ชาวดาเกซสถาน ร้อยละ 2.2 ชาวรัสเซีย ร้อยละ 1.8 ชาวอาร์เมเนียน ร้อยละ 1.5 และอื่น ๆ ร้อยละ 3.3

ภูมิอากาศ อากาศหนาวในเขตเทือกเขาคอร์เคซัสทางภาคเหนือของอาเซอร์ไบจาน ส่วนบริเวณที่ราบ Kura อากาศเย็นสบาย และมีอากาศแบบเขตร้อนบริเวณที่ราบต่ำ Lenkoran ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของชายฝั่งแคสเปียน (ประมาณ 27 องศาเซลเซียส ในเดือนกรกฎาคม และ 1 องศาเซลเซียส ในเดือนมกราคม)

ภาษาราชการ ภาษาอาเซอรี และมีการใช้ภาษารัสเซียนและอาร์เมเนียนบ้าง และใช้ภาษาอังกฤษเฉพาะในเมืองหลวงและเมืองสำคัญบางแห่ง

ศาสนา อิสลาม (ชีอะห์) ร้อยละ 93.4 คริสต์นิกายรัสเซียนออโธดอกซ์ ร้อยละ 2.5 คริสต์นิกายอาร์เมเนียนออโธด็อกซ์ ร้อยละ 2.3 อื่น ๆ ร้อยละ 1.8

หน่วยเงินตรา มานัท (Manat)(1 มานัท ประมาณ 32.25 บาท สถานะ ณ วันที่ 9 มิ.ย. 2558)

 

การเมืองการปกครอง

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ รัฐธรรมนูญรับรองโดยประชาชนเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1995

สถาบันการเมือง
• ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว (Unicameral) คือ “ Milli Mejlis” หรือ สภาแห่งชาติ
(National Assembly) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 125 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้ง
โดยตรง (ผลจากการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม
ค.ศ. 2002) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 ผลคือมีพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้รับที่นั่งในสภา ดังนี้ พรรค Yeni - 56 ที่นั่ง พรรค Azadliq coalition - 6 ที่นั่ง พรรค CSP - 2 ที่นั่ง พรรค Motherland - 2 ที่นั่ง พรรคอื่น ๆ 6 พรรค ได้รับที่นั่งพรรคละ 1 ที่นั่ง, ผู้สมัครอิสระ - 40 ที่นั่ง ผู้สมัครที่ไม่บอกสังกัดทางการเมืองของตน 3 ที่นั่ง
ทั้งนี้ การเลือกตั้งจะมีครั้งต่อไปปี 2010

• ฝ่ายบริหาร
- ประธานาธิบดี เป็นประมุขของประเทศ (Chief of State) มาจากการ
เลือกตั้งโดยประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยการเลือกตั้งครั้งมีขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 2003 ผลปรากฏว่า นาย Ilham Aliyev ได้รับเลือกตั้งเป็นปธน.อาเซอร์ไบจาน ต่อจากบิดา ประธานาธิบดี Heydar Aliyev ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ท่ามกลางการกล่าวหาว่า รับตำแหน่งอย่างไม่โปรงใส่ ทั้งจากฝ่ายค้านและองค์การระหว่างประเทศ
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 2008 ผลปรากฏว่า นาย Ilham Aliyev ได้รับเลือกตั้งเป็นปธน.อาเซอร์ไบจานอีกหนึ่งสมัยด้วยผลโหวต 87.34% ทิ้งห่างคู่แข่งคนอื่นๆ
- นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยประธานาธิบดี เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) โดยได้รับความเห็นชอบจากสภา

• ฝ่ายตุลาการ
มีศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และศาลเศรษฐกิจ โดยผู้พิพากษาได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดี

ประธานาธิบดี นาย Ilham Aliyev (ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2546)

นายกรัฐมนตรี นาย Artur Rasizade (ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2546)

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ นาย Elmar Mammadyarov (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547)

ภาพรวมของสถานการณ์การเมืองอาเซอร์ไบจานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990
อาเซอร์ไบจานประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1991 โดยนายAyaz Mutalibov ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอาเซอร์ไบจานดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรก แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ที่ชาวอาเซอร์ไบจานจำนวนมากถูกสังหารในดินแดนนากอร์โน-คาราบัค (ดินแดนของอาเซอร์ไบจานซึ่งมีชาวอาร์เมเนียจำนวนมากอาศัยอยู่) ต่อมาในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1992 นาย Abulfez Elchibey ผู้นำพรรค Popular Front Party (PFP) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แต่ก็ไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งในดินแดนนากอร์โน-คาราบัค และไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจรวมทั้งแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง จึงก่อให้เกิดความไม่ พอใจในหมู่ประชาชนจนเกิดการจลาจลสู้รบขึ้นในประเทศ ทำให้ประธานาธิบดี Elchibey ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่เมือง Nakchivan และต่อมารัฐสภาได้แต่งตั้งให้นาย Heydar Aliyev ประธานรัฐสภาในขณะนั้น เป็นผู้รักษาการประธานาธิบดี ซึ่งต่อมานาย Aliyev ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค New Azerbaijan Party ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1993 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอาเซอร์ไบจานเรื่อยมา สถานการณ์ทางการเมืองของอาเซอร์ไบจานกล่าวได้ว่า อำนาจในการปกครองประเทศเกือบทั้งหมดอยู่ในการควบคุมของประธานาธิบดี Heydar Aliyev ซึ่งควบคุมคะแนนเสียงข้างมากในสภาและสมาชิกของพรรคฯ ได้รับตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาล อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัญหาที่สั่นคลอนเสถียรภาพของ รัฐบาลหลายประการ อาทิ ปัญหาทางการเมืองภายในกับฝ่ายค้านที่พยายามจะแย่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
ในการเลือกตั้งสมัยต่อไป ปัญหาภายในพรรครัฐบาล ข้อกล่าวหาว่ายักยอกเงินกองทุนที่จะนำไปช่วยเหลือผู้อพยพจากการสู้รบกับอาร์เมเนียคาราบัค ปัญหาเรื่องความขัดแย้งเหนือดินแดนนากอร์โน-คาราบัค การเดินขบวนประท้วงในกรุงบากูเพื่อสนับสนุนฝ่ายค้านและต่อต้านการผูกขาดอำนาจในการบริหารประเทศของ ประธานาธิบดี Aliyev การฉ้อราษฎร์บังหลวง การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้สื่อของรัฐในการหาเสียงเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลเอง เป็นต้น


สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน
• การเลือกตั้งทั่วไป
มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 ผลคือมีพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้รับที่นั่งในสภา ดังนี้ พรรค Yeni - 56 ที่นั่ง พรรค Azadliq coalition - 6 ที่นั่ง พรรค CSP - 2 ที่นั่ง พรรค Motherland - 2 ที่นั่ง พรรคอื่น ๆ 6 พรรค ได้รับที่นั่งพรรคละ 1 ที่นั่ง, ผู้สมัครอิสระ - 40 ที่นั่ง ผู้สมัครที่ไม่บอกสังกัดทางการเมืองของตน 3 ที่นั่ง ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าจะมีขึ้นในปี 2010

• การเลือกตั้งประธานาธิบดี
สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2003 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นาย Ilham Heydar oglu Aliyev นายกรัฐมนตรีและบุตรชายของอดีตประธานาธิบดี Heydar Aliyev ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น โดยได้รับเสียงสนับสนุนร้อยละ 76.84 ในขณะที่นาย Isa Bambar ผู้สมัครคู่แข่ง ได้รับเสียงสนับสนุนเป็นอันดับที่สอง คือ ร้อยละ 10.74 จากจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 8 ราย โดยสาเหตุที่นาย Ilham Aliyev ได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนมาก เนื่องมาจากนาย Heydar Aliyev ซึ่งกำลังป่วยด้วยโรคหัวใจและอยู่ระหว่างรับการรักษาที่สหรัฐฯ ได้ถอนตัวจากการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้ เพื่อถ่ายโอนคะแนนนิยมให้แก่บุตรชาย ทั้งนี้ นาย Ilham Aliyev อายุ 41 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานพรรค Yeni Azerbaijan นอกจากนี้ นาย Ilham ยังดำรงตำแหน่งรองประธานหมายเลข 1 ของบริษัทน้ำมันของรัฐ และประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ
อย่างไรก็ดี ได้เกิดเหตุการณ์ประท้วงผลการเลือกตั้งดังกล่าวอย่างรุนแรง ประชาชน 60 คน ได้รับความเดือดร้อน เจ้าหน้าที่ของรัฐ 112 ราย ได้รับบาดเจ็บ และผู้สื่อข่าวหลายรายถูกทำร้าย รัฐบาลอาเซอร์ไบจานจึงได้ดำเนินการจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 625 ราย
สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด มีขึ้นเมื่อวันที่ 9  ตุลาคม 2556 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นาย Ilham Aliyev ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งโดยได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 84.54% โดย นาย Ilham Aliyev และได้เข้ารับหน้าที่ในวันที่ 19 ตุลาคม 2556

• การอสัญกรรมของประธานาธิบดี Heydar Aliyev
นาย Haidar Aliyev อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2003 ด้วยอายุ 80 ปี ภายหลังการเดินทางเข้ารับการรักษาอาการหัวใจล้มเหลวและโรคไตที่ Cleveland Clinic Foundation ในสหรัฐฯ นับตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 2003

• สถานการณ์ในดินแดนนาร์กาโน-คาราบัค
นากอร์โน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) ในอดีตเป็นดินแดนปกครองตนเองของสหภาพโซเวียต ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอาร์เมเนีย นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1923 สหภาพโซเวียตได้มอบดินแดนนี้ให้แก่อาร์เซอร์ไบจาน ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม และให้ชาวอาเซอรีเข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าว โดยให้ใช้ภาษาอาร์เมเนียเป็นภาษาหลัก นับตั้งแต่ผู้นำท้องถิ่นของชาวอาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัค ประกาศเอกราชจากอาเซอร์ไบจาน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1988 จนถึงปัจจุบัน การประกาศเอกราชดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากนานาชาติและอาเซอร์ไบจานถือว่านากอร์โน-คาราบัค เป็นดินแดนกบฏที่ได้รับการสนับสนุนจากอาร์เมเนีย ความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้นพร้อมๆ กับนโยบายปฏิรูป “Perestroika” ของสหภาพโซเวียตในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1988 เมื่อสภาท้องถิ่นของเมือง Stepanakert เมืองหลวงของนากอร์โน-คาราบัค มีมติให้นากอร์โน-คาราบัคประกาศเอกราชจากอาร์เซอร์ไบจานเพื่อไปรวมตัวกับอาร์เมเนีย รัฐบาลอาเซอร์ไบจาน จึงได้ส่งกองกำลังเข้าไปควบคุมสถานการณ์ในดินแดนดังกล่าวไว้ เหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยมาจนอาเซอร์ไบจานสามารถเข้ายึดพื้นที่เกือบทั้งหมดของคาราบัคและเมืองหลวง Stepanakert ระหว่างปีค.ศ. 1991-1992 ต่อมารัฐบาลอาร์เมเนียได้ส่งกำลังเข้ารุกรานอาเซอร์ไบจานเพื่อช่วยเหลือกองกำลังคาราบัคระหว่างปีค.ศ.1993-1994 จนในที่สุดกองกำลังคาราบัคสามารถยึดครองดินแดนส่วนหนึ่งเท่ากับประมาณ 20 % ของสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน และขับไล่ชาวอาเซอรีประมาณ 600,000 คน ออกจากพื้นที่ สงครามต่อสู้แย่งดินแดนดังกล่าวมีผลทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 25,000 คน และมีผู้อพยพจากภัยสงครามอีกเป็นจำนวนมาก ในที่สุดสงครามระหว่างเชื้อชาติที่ดำเนินมา 6 ปี ได้ยุติลงชั่วคราวในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1994 เมื่ออาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนียได้ร่วมกันจัดทำข้อตกลงหยุดยิงโดยความช่วยเหลือของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายก็ยังมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวอย่างแท้จริง ยังคงมีการยิงสู้รบระหว่างกันเป็นระยะๆ ล่าสุดในการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดี Aliyev แห่งอาร์เซอร์ไบจานกับประธานาธิบดี Robert Kocharyan แห่งอาร์เมเนีย ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มเครือรัฐเอกราชที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.1998 ผู้นำทั้งสองได้ร่วมกันประกาศเจตนารมย์ที่จะยุติความขัดแย้งเหนือดินแดนนากอร์โน-คาราบัค โดยทั้งสองฝ่ายเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงยุติการยิงที่ทำขึ้นในปีค.ศ. 1994 และให้ดำเนินกระบวนการเพื่อสันติภาพภายใต้กรอบของกลุ่ม Minsk ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะกิจขององค์การความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป (OSCE) ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาฝรั่งเศส และรัสเซีย จากความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงภายในภูมิภาค คือทำให้ชาวอาเซอรีกว่าร้อยละ 10 ของประชากรของอาเซอร์ไบจานต้องกลายเป็นผู้อพยพ อาศัยอยู่ตามค่ายอพยพต่างๆ และก่อให้เกิดปัญหาสังคมขึ้นภายในประเทศอีกด้วย นอกจากนั้น การที่อาเซอร์ไบจานกับตุรกีดำเนินการปิดกั้นทางเศรษฐกิจต่อนากอร์โน-คาราบัค และอาร์เมเนีย โดยการปิดชายแดนและเส้นทางรถไฟสายหลัก 3 สาย ซึ่งมีผลทำให้เศรษฐกิจของอาร์เมเนียตกต่ำลงอย่างมาก และยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันที่ต่างวิตกว่าเส้นทางท่อขนส่งน้ำมันจากทะเลสาปแคสเปียนอาจถูกผลกระทบจากการสู้รบที่อาจจะปะทุขึ้นได้อีก นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งดังกล่าวขึ้น สหประชาชาติก็ได้มีความพยายามในการที่จะระงับ กรณีพิพาทนี้ โดยให้องค์การ OSCE เข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งกระบวนการเจรจาสันติภาพ ซึ่งผู้นำอาร์เมเนียได้ปฏิเสธแผนของ OSCE ที่ขอให้อาร์เมเนียถอนกองกำลังออกจากบริเวณนอกเขตนากอร์โน-คาราบัค ที่เป็นพื้นที่ในกรรมสิทธิ์ของอาเซอร์จาน ในขณะเดียวกัน องค์การ OSCE ยังได้เรียกร้องให้นากอร์โน-คาราบัคได้รับอำนาจปกครองตนเองอย่างเต็มที่ ภายใต้อาณาเขตของอาเซอร์ไบจาน ซึ่งประธานาธิบดี Kocharyan ของอาร์เมเนีย ได้ออกมาปฏิเสธที่จะยอมรับข้อตกลงใดๆ ที่จะทำให้ดินแดนนากอร์โน-คาราบัค ต้องกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของอาร์เซอร์ไบจานอีกครั้ง ตลอดเวลา 10 ปี ของสงครามระหว่างเชื้อชาติ อาเซอร์ไบจานตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบและได้กล่าวหาว่ารัสเซียเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ประเทศอาร์เมเนีย ซึ่งคอยช่วยเหลือชาวอาร์เมเนียในดินแดนนากอร์โน-คาราบัค และการที่อาเซอร์ไบจานทำการปิดกั้นทางเศรษฐกิจต่ออาร์เมเนียและนากอร์โน-คาราบัค ทำให้สหรัฐอเมริกาตอบโต้ด้วยการจำกัดการให้ความช่วยเหลือแก่อาร์เซอร์ไบจานภายใต้มาตรา 907 ของ Freedom Support Act
เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2002 ประธานาธิบดี Aliyev ได้พบกับประธานาธิบดี Kocharyan ของอาร์เมเนีย เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหานากอร์โน-คาราบัคโดยสันติ แต่ไม่ปรากฎผลคืบหน้าแต่อย่างใด
อนึ่ง นับตั้งแต่ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการจากอาเซอร์ไบจานในปี ค.ศ. 1991 นากอร์โน-คาราบัคได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 โดยนาย Bako Sahakyan ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

นโยบายต่างประเทศของอาเซอร์ไบจาน
1. ส่งเสริมการก่อตั้งสังคมประชาธิปไตยแบบพหุสังคม บนพื้นฐานของเศรษฐกิจแบบตลาดและการปกครองอย่างเป็นธรรม
2. ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ โดยมุ่งที่จะรักษาเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนของอาเซอร์ไบจาน
3. ขจัดภัยคุกคามความมั่นคง เอกราชทางการเมือง อธิปไตย และบูรณาการของอาเซอร์ไบจาน
4. แก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องดินแดนนากอร์โนคาราบัคซึ่งเป็นกับอาร์เมเนียโดยสันติวิธีภายใต้กรอบ OSCE Minsk Group และหลักการตามผลการประชุม OSCE Lisbon Summit
5. พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน
6. ส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค
7. ป้องกันการขนถ่ายอาวุธผิดกฎหมายในภูมิภาค
8. สนับสนุนการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกและการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคคอเคซัสตอนใต้
9. การลดอาวุธในทะเลสาบแคสเปียน
10. การบูรณาการสู่โครงสร้างความมั่นคงและความร่วมมือในภูมิภาคทรานแอตแลนติกและยุโรป ได้แก่ NATO, EU, WEO, CE
11. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงที่ตั้งสำคัญทางภูมิศาสตร์ของอาเซอร์ไบจานในฐานะสะพานของตะวันออกและตะวันตก
12. พัฒนาเส้นทาง Eurasian Transport Corridor ที่มีอาเซอร์ไบจานเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทาง

เศรษฐกิจการค้า

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
สินค้าส่งออกหลักของประเทศคือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่มาจากทะเลสาปแคสเปียน มีน้ำมันสำรองอันดับ 3 ของโลก
อาเซอร์ไบจานอยู่ระหว่างระยะการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจจากการมีระบบเศรษฐกิจที่รัฐเป็นผู้ควบคุมไปสู่การเปิดเสรีมากขึ้น แต่เดิมอาเซอร์ไบจานเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางด้านอุตสาหกรรมน้อยกว่าอาร์เมเนียและจอร์เจีย โดยมีส่วนคล้ายประเทศในเอเชียกลาง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอัตราการว่างงานสูง และมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ต่ำ สินค้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมัน ฝ้ายและก๊าซธรรมชาติ แต่โดยที่อาเซอร์ไบจานมีทรัพยากรน้ำมันอุดมสมบูรณ์ และตั้งอยู่บริเวณทะเลสาบแคสเปียนซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับสามของโลก จึงทำให้อาเซอร์ไบจานมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ส่งผลให้มีการลงทุนในธุรกิจด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอาเซอร์ไบจานอย่างต่อเนื่อง โดยอาเซอร์ไบจานได้มีสัญญาร่วมลงทุนด้านน้ำมันกับบริษัทน้ำมันต่างชาติหลายบริษัท อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ ตุรกี รวมทั้งได้มีการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผ่านอาเซอร์ไบจานโดยมีเส้นทางสำคัญคือ Baku-Tbilisi-Ceyhan นอกจากนี้ อาเซอร์ไบจานยังได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อกระตุ้นพัฒนาการทางด้านอุตสาหกรรมอีกด้วย
ปัจจุบันอาเซอร์ไบจานประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง โดยภายใต้ความร่วมมือกับ IMF อาเซอร์ไบจานสามารถลดระดับเงินเฟ้อจากเดิมสูงถึง 1,800 % ในปี ค.ศ. 1994 เป็น ร้อยละ 8.3 ในปี 2549 และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ.2001 มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 34.5 ในปี 2549 รัฐบาลประสบความสำเร็จในการปฏิรูปที่ดินด้านการเกษตร และปฏิรูปรัฐวิสาหกิจขนาดกลาง อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ ความขัดแย้งภายในประเทศโดยมีการสู้รบในเขตนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งทำให้ชาวต่างประเทศไม่กล้าเข้ามาลงทุนมากนัก การปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่ระบบแบบตลาดยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ภาวะว่างงานที่สูง และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจน

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 77.91  พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2557 ประมาณการ)

รายได้ประชาชาติต่อหัว (PPP) 17,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2557)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 4.5 % (ปี 2557 ประมาณการ)

มูลค่าการส่งออก 30.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2557 ประมาณการ)

สินค้าส่งออก น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 90, เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ ฝ้าย อาหาร (ปี 2557)

ประเทศที่ส่งออก ตุรกี อิตาลี รัสเซีย อิหร่าน (ปี 2557)

มูลค่าการนําเข้า 10.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2557)

สินค้านําเข้า เครื่องจักรและอุปกรณ์,ยานพาหนะ, ผลิตภัณฑ์น้ำมัน, อาหาร, โลหะ, เคมีภัณฑ์ (ปี 2557)

ประเทศนําเข้าสินค้า  ตุรกี เยอรมนี ยูเครน สหราชอาณาจักร (ปี 2557)

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
สถาปนาความสัมพันธ์ 7 กรกฎาคม 2535
สำนักงานผู้แทนทางการทูต - สอท.ณ กรุงอังการา / สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำอาเซอร์ไบจาน
มูลค่าการค้ารวม 1,258.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2557) โดยไทยส่งออก 23.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้า1,234.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยขาดดุลการค้าอยู่ 1,210.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2556 1161.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
สินค้าส่งออกสำคัญ -
 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์เซรามิก ข้าว ตู้เย็น
สินค้านำเข้า ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้
นักท่องเที่ยวมาไทย  1,696 คน (ปี 2557)

1.2 การเมือง
หลังจากสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลงในช่วงปลายปีค.ศ. 1991 โดยสาธารณรัฐต่างๆ ซึ่งเคยรวมเป็นสหภาพโซเวียต ได้แยกตัวออกเป็นอิสระและประกาศตัวเป็นเอกราชรวม 12 ประเทศ ได้แก่ สหพันธรัฐรัสเซีย ยูเครน เบลารุส มอลโดวา คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กิสถาน จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน ซึ่งไทยได้ให้การรับรองเอกราชของประเทศเหล่านี้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1991 ต่อมาประเทศเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช(Commonwealth of Independent States-CIS)
ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอาเซอร์ไบจานเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1992 โดยทั้งสองฝ่ายยังมิได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในเมืองหลวงของกันและกัน ฝ่ายไทยจึงมอบหมายให้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา มีเขตอาณาครอบคลุมอาเซอร์ไบจาน ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์และความใกล้ชิดทางเชื้อชาติและศาสนาระหว่างอาเซอร์ไบจานกับตุรกี
การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันยังมีไม่มากนัก ทั้งนี้ อาเซอร์ไบจานเคยขอรับความสนับสนุนจากไทยกรณีความขัดแย้งเหนือดินแดนนากอร์โน-คาราบัค ระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนีย แต่โดยที่ไทยมีนโยบายในการต่อต้านการทำสงครามและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี จึงสนับสนุนให้อาเซอร์ไบจานใช้เวทีระหว่างประเทศในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

1.3 เศรษฐกิจ
มูลค่าการค้าระหว่างกันในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. ค.ศ.2006 เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลเนื่องจากนำเข้าน้ำมันดิบจากอาเซอร์ไบจานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ไทยอาจพิจารณาจัดตั้ง Joint Economic Commission กับอาเซอร์ไบจาน เพื่อส่งเสริมการปฎิสัมพันธ์ของภาครัฐและภาคเอกชน และขยายลู่ทางการค้า ของไทย นอกจากนี้ ไทยประสงค์ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น ความร่วมมือด้านพลังงาน การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

2. การเยือนที่สำคัญ
2.1 ฝ่ายไทย
- คณะผู้แทนไทยเดินทางไปสำรวจตลาดและศึกษาลู่ทางการค้าและการลงทุนในประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อปี 2543
- เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา เดินทางไปยื่นพระราชสาส์นและได้เข้าพบหารือกับบุคคลสำคัญของภาครัฐและภาคเอกชนของอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2544
- อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน และผู้แทนจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เดินทางไปร่วมงาน International Caspian Oil & Gas 2004 ณ กรุงบากู ระหว่างวันที่ 1-4 มิถุนายน 2547

2.2 ฝ่ายอาเซอร์ไบจาน
- คณะผู้แทนภาคเอกชนจากอาเซอร์ไบจานเยือนประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. 2001
- นาย Elman Arashi เอกอัครราชทูตอาเซอร์ไบจานประจำซาอุดิอาระเบีย เดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และแวะผ่านไทยโดยพำนักที่ประเทศไทยระหว่างวันที่ 7-10 ตุลาคม 2546 ในระหว่างนั้น นาย Arashi ได้พบหารือกับที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการฯ (นายประชา คุณะเกษม) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546

2.3 การพบหารือทวิภาคีในระหว่างการประชุมพหุภาคี
- ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบกับนาย Vilayat Guliyev รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2002 ในระหว่างการประชุม UNGA สมัยที่ 57 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก

ทั้งสองฝ่ายยังไม่เคยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในระดับผู้นำ ทั้งนี้ ประธานาธิบดี Aliyev ได้ตอบรับที่จะเยือนไทย และได้เชิญนรม.เยือนอาเซอร์ไบจานด้วย ล่าสุด รมว.กต. เยือนอาเซอร์ไบจานเพื่อเข้าร่วมประชุมระดับรมต.ของ OIC ระหว่างวันที่ 19-21 มิ.ย. ค.ศ.2006 โดยเข้าเยี่ยมคารวะปธน.และพบหารือกับรมว.กต.อาเซอร์ไบจาน พร้อมเป็นปธ.ในพิธีเปิดสถานกงสุล (กิตติมศักดิ์) ไทยประจำอาเซอร์ไบจาน โดยมีนาย Suad Fataliyev ซึ่งมีความสนิทสนมกับประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ และลงนามในพิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-อาเซอร์ไบจาน

ปรับปรุงล่าสุด มิถุนายน 2558


กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2203 5000 ต่อ 13193 หรือ 0 2643 5142-3 Fax. 0 2643 5141 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ