สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ

สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ม.ค. 2513

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 35,526 view


สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ
Republic of the Fiji Islands

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากออสเตรเลียไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2,880 กิโลเมตร
พื้นที่ ฟิจิประกอบไปด้วยเกาะทั้งหมด 332 เกาะ มีพื้นที่ทั้งหมด 18,376 ตารางกิโลเมตร มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 1,260,000 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงซูวา (Suva) ตั้งอยู่บนเกาะ Viti Levu มีประชากรประมาณ 167,000 คน เกาะใหญ่อีกแห่งคือ เลาโตกา (Lautoka) มีประชากรประมาณ 30,000 คน
ภูมิประเทศ เกาะหินภูเขาไฟ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและมีพื้นที่ราบเพียงเล็กน้อย มีแร่ธรรมชาติ เช่น ทอง เงิน ทองแดง แมงกานีส ในเกาะ Viti Levu มีบ่อน้ำพุร้อนและหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าไม้ และต้นมะพร้าวบริเวณชายฝั่ง บริเวณที่แห้งแล้งเป็นทุ่งหญ้า หรือใช้ในการทำไร่อ้อย
ภูมิอากาศ ภูมิอากาศเขตร้อน และอยู่ในเขตมรสุม
ประชากร 853,445(ปี 2549)
เชื้อชาติ ชาวพื้นเมืองฟิจิร้อยละ 54 และชาวฟิจิเชื้อสายอินเดีย ร้อยละ40
ศาสนา คริสต์ (นิกาย Methodist) ฮินดู มุสลิม
ภาษา อังกฤษ (ทางการ) ฟิเจียน และฮินดี
หน่วยเงินตรา ฟิจิดอลลาร์ (F$) (1 ฟิจิดอลลาร์เท่ากับประมาณ 0.5947 ดอลลาร์สหรัฐ)
วันชาติ 10 ตุลาคม 2513 (ค.ศ. 1970) ซึ่งเป็นวันที่ฟิจิได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร
GDP ประมาณ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)
GDP Per Capita ประมาณ 3,783 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)
Real GDP Growth ร้อยละ 3.6 (ปี 2549)
อุตสาหกรรม น้ำตาล ท่องเที่ยว เสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำบรรจุขวด
สินค้าส่งออก น้ำตาล เสื้อผ้าสำเร็จรูป ทอง ไม้ น้ำมันมะพร้าว ปลา น้ำเปล่าบรรจุขวด
ตลาดส่งออก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร
สินค้านำเข้า สินค้าอุตสาหกรรม เครื่องจักร
ตลาดนำเข้า ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์

การเมืองการปกครอง

หลังจากได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 2513 (ค.ศ. 1970) ฟิจิได้นำระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบผสม 2 ระบบมาปรยุกต์ใช้  โดย 1) มีระบบรัฐสภาแบบ Westminster  2 สภา ซึ่งประกอบด้วยวุฒิสภา (สมาชิก 32 คน) ที่มาจากการแต่งตั้ง และสภาผู้แทนราษฎร 71 คน โดยสมาชิก 25 คนมาจากการเลือกตั้งทั่วไป และ 46 คนมากจากการเลือกตั้งจากกลุ่มเชื้อชาติ (23 ที่นั่งสำหรับชนพื้นเมืองฟิจิ 19 ที่นั่งสำหรับเชื้อชาติอินเดีย 1 ที่นั่งสำหรับกลุ่มโรทูมัน (Rotuman) และ 3 ที่นั่งสำหรับเชื้อชาติอื่น) นอกจากนี้ ฟิจิยังได้นำระบบการปกครองแบสาธารณรัฐมาประยุกต์ใช้ โดยมีการแบ่งอำนาจการปกครองออกเป็น 3 ฝ่ายได้แก่ 1) ฝ่ายปกครอง          มีประธานาธิบดีซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก สภาหัวหน้าเผ่า (Great Council of Chiefs) มีวาระ 5 ปี เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด รวมทั้งเป็นประมุขของประเทศและเป็นผู้บัญชาการกองทัพฟิจิ 2) ฝ่ายบริหารซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลและมีอำนาจในการบริหารประเทศและกำหนดนโยบาย และ 3) ฝ่ายตุลาการซึ่งมีประธานศาลฎีกาเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ ฝ่ายตุลาการของฟิจิประกอบด้วยประกอบด้วยศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลสูง และศาลแขวง

การปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปี 2549

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2549 พลเรือจัตวา Vereqe (Frank) Bainimarama ผู้บัญชากองทัพฟิจิเข้ายึดอำนาจ การปกครองจากประธานาธิบดี Ratu Josefa Iloilo เพื่อที่จะถอดถอนนายกรัฐมนตรี Laisenia Qarase และคณะรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผลการคอรัปชั่น การทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ และความพยายามของรัฐบาลที่จะบังคับใช้พระราชบัญญัติ 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดิน และพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนักโทษกบฎที่พยายามทำการยึดอำนาจจากพลเรือจัตวา Commodore Bainimarama เมื่อ ค.ศ. 2000 ในการนี้ Commodore Bainimarama ได้ประกาศแต่งตั้งนาย Jona Senilagakali ผอ. โรงพยาบาททหารฟิจิและในอดีตเคยปฏิบัติราชการที่กองกำลังรักษาสันติภาพในไซไนและเลบานอนให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวพร้อมทั้งประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว แต่ยังไม่ได้ประกาศว่า จะจัดให้มีการเลื่อกตั้งทั่วไปเมื่อใด ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นกระทำรัฐประหารครั้งที่ 4 ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาของฟิจิ

                ในเดือนตุลาคม 2551 นาย Bainimarama ได้ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งเป็นปี 2557 จากเดิมที่มีการกำหนดการเลือกตั้งไว้ภายในปี 2552 ซึ่งประเทศต่าง ๆ จึงแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน โดยฟิจิถูกระงับสมาชิกภาพของประเทศในเครือ Commonwealth และ Pacific Islands Forum (PIF) ชั่วคราว เนื่องจากนายกรัฐมนตรีฟิจิ ไม่รักษาคำมั่นต่อการกลับสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยย้ำว่าจะไม่มีการเลือกตั้งทั่วไปจนกว่าจะถึงเดือนกันยายน 2557 และจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2555 เนื่องจาก รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อให้เกิดการแบ่งแยกเชื้อชาติ (Indigenous Fijian, Indian Fijian, Chinese Fijian) โดย นาย Bainimarama กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะประชาชนเชื้อชาติใดก็จะได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองฟิจิเท่าเทียมกัน

                ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ Ratu Epeli Nailatikau       

                นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นาย Frank Bainimarama

                รัฐมนตรีต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศคนปัจจุบัน คือ นาย Inoke Kubuabola

                การเลือกตั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อพฤษภาคม 2549 ครั้งต่อไปกำหนดให้มีขึ้นในปี 2557

สถานการณ์ทางการเมืองล่าสุด

                ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลฟิจิมีพัฒนาทางการเมืองที่ดีขึ้น โดยมีพัฒนาการที่สำคัญ ดังนี้

                1) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 นาย Bainimarama ได้ประกาศยกเลิก Public Emergency Regulations (PERs) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 มกราคม 2555  (ทั้งนี้ PERs ถูกบังคับใช้ตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันทำรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ในเดือนเมษายน 2552)

                2) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 นาย Bainimarama แจ้งว่า รัฐบาลฟิจิได้กำหนดแผนงานยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะเริ่มกระบวนการหารือเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นขั้นตอนแรก ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลา 12 เดือน (ปี 2555-2556) นานาประเทศ (โดยเฉพาะออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) เริ่มมีท่าทีในเชิงบวกต่อพัฒนาการด้านประชาธิปไตยในฟิจิ

                3) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 คณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญของฟิจิ (Constitutional Commission) ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แก่ประธานาธิบดีฟิจิ แต่สำเนาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเผยแพร่สู่สาธารณชนจำนวน 599 เล่มถูกกลุ่มตำรวจท้องถิ่นของฟิจิยึดและเผาทำลาย

                4) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 นาย Bainimarama ประกาศว่า รัฐบาลจะทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยคงเนื้อหาส่วนใหญ่จากร่างเดิมที่ถูกทำลายภายในวันที่ 12 เมษายน 2556 และล่าสุด รัฐบาลฟิจิได้เผยแพร่ร่าง     รัฐธรรมนญฉบับใหม่ในเว็บไซต์ของรัฐบาลแล้ว 

 

เศรษฐกิจการค้า

ฟิจิเคยเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดประเทศหนึ่งในแถบภูมิภาคแปซิฟิก อุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของฟิจิ คือ น้ำตาล เสื้อผ้าสำเร็จรูป ทองคำ และการท่องเที่ยว แต่เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก จึงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ของฟิจิจนถึงปัจจุบัน ทำให้เศรษฐกิจและการค้าฟิจิประสบภาวะถดถอย ยกเว้นเหมืองทองคำที่มีสภาวะที่ดีขึ้น

                ภายหลังการยึดอำนาจในปี 2549 รัฐบาลทหารนำนโยบายเศรษฐกิจใหม่มาใช้ โดยประกาศลดค่าเงินดอลลาร์ฟิจิลงร้อยละ 20 ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และสั่งการให้ทุกรัฐมนตรีลดค่าใช้จ่ายต่างๆ  เศรษฐกิจของฟิจิในปี 2556 มีแนวโน้มดีขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 4,600 ดอลลาร์สหรัฐ (ในปี 2555 4,445 ดอลลาร์สหรัฐ) ในขณะเดียวกัน ตั้งแต่เกิดรัฐประหารในปี 2549 รัฐบาลฟิจิยังคงขาดดุลทางการคลังอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 ขาดดุลเป็นมูลค่า 388 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  นอกจากนั้น ในปี 2556 ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงของฟิจิ (real GDP) ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีหลัง โดยเป็นผลจากการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเป็น 4.2 พันล้านดอลาร์สหรัฐ (ข้อมูล:  ADB 2556) 

 

การต่างประเทศ

รัฐบาลปัจจุบันเน้นนโยบาย “Look North Policy” ซึ่งเป็นนโยบายเชิงรุกที่จะกระชับ ความสัมพันธ์ทุกมิติระหว่างฟิจิกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง และประเทศสมาชิก Non-Aligned Movement (NAM) และเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดการพึ่งพาจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยที่ฟิจิจะเริ่มนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แทนการนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ตามที่เคยปฏิบัติมาในอดีต ทั้งนี้ รัฐบาลฟิจิได้กล่าวว่า ได้เริ่มเปิดการเจรจากับรัฐบาลประเทศดังกล่าวด้วยแล้ว และจะริเริ่มทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันในอนาคตด้วย

                หลังการทำรัฐประหารของพลเรือจัตวา Bainimarama เมื่อปี 2549 ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ออกมาประณามการกระทำดังกล่าวอยู่เนืองๆ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฟิจิกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ถดถอยลง       ฟิจิยังได้ขับผู้แทนทางการทูตของทั้งสองประเทศออกจากฟิจิ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงความสัมพันธ์ระหว่างฟิจิกับประเทศทั้งสองจนปัจจุบัน แต่ภายหลังจากที่ฟิจิมีพัฒนาการทางการเมืองที่มีแนวโน้มกลับสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น ฟิจิและออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีความพยายามที่จะเจรจาให้ความสัมพันธ์ของฟิจิกับสองประเทศกลับสู่ระดับปรกติต่อไป

                ล่าสุด ในระหว่างการประชุม PIF ครั้งที่ 43 และ PFD ครั้งที่ 24 ณ เกาะราโรตองกา หมู่เกาะคุก ระหว่างวันที่ 27 – 31 สิงหาคม 2555 ผู้นำประเทศสมาชิก PIF มีทัศนคติในเชิงบวกต่อพัฒนาการการเมืองในฟิจิ และยังคงแสดงจุดร่วมในการระงับสมาชิกภาพของฟิจิในกรอบ PIF ชั่วคราวต่อไป อย่างไรก็ดี ผู้นำประเทศสมาชิก PIF ยืนยันว่าจะยังคงให้ความช่วยเหลือแบบทวิภาคี และพยายามโน้มน้าวให้ฟิจิกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วต่อไป 

                ในกรอบเวทีระหว่างประเทศ ฟิจิเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ Pacific Community, The Commonwealth และ Pacific Islands Forum (PIF) แต่เนื่องจากรัฐบาลฟิจิยังไม่มีท่าทีกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยมีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็วจึงถูกระงับสมาชิกภาพของฟิจิใน PIF เมื่อเดือน พ.ค. 2552  และ The Commonwealth เมื่อเดือน ก.ย. 2552  นอกจากนี้ ฟิจิยังมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองกับปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอนและวานูอาตูผ่านกลุ่ม Melanesian Spearhead Group (MSG) และเป็นสมาชิกของกลุ่ม African-Caribbean-Pacific Group (ACP) ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก EU อีกด้วย ฟิจิเข้าเป็นสมาชิกของ The General Agreement on Tariffs and Trade (GATT) ในปี 2536 และเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ต่อเนื่องมาจาก GATT

                ฟิจิเพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานของกลุ่ม 77 และจีน (G77 and China)  วาระปี 2556 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 48 ปีที่ผู้แทนจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กของหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Small Island Developing Countries) ได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม 77 นับเป็นการส่งเสริมบทบาทของฟิจิในเวทีระหว่างประเทศและสะท้อนถึงความเชื่อมั่นและทัศนคติในเชิงบวกของนานาประเทศที่มีต่อฟิจิ 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

ไทยและฟิจิสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 (หลังจากได้รับเอกราชจาก  สหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2513) ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รามีเขตอาณาครอบคลุมฟิจิ เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐฟิจิคนปัจจุบัน คือ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงแคนเบอร์รา ส่วนฟิจิได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟิจิประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน คือ นายเมลิ ไบนิมารามา (Meli Bainimarama) (และเป็นพี่ชายของพลจัตวาแฟรงค์ ไบนิมารามา) โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

                สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนฟิจิอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 23 – 25 เมษายน 2539

                ปัจจุบัน ไทยเน้นการกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยการหาลู่ทางในการขยายความร่วมมือทางการค้าและบริการ โดยไทยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการภายใต้กรอบ Annual International Training Courses (AITC) ของ สพร. ซึ่งฟิจิได้ส่งบุคลากรเข้าร่วมเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2548 (ฟิจิเป็นประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่ส่งบุคลากรมาฝึกอบรมในประเทศไทยมากที่สุด โดยตั้งแต่ปี 2548 – 2554 มีบุคลากรจากฟิจิเข้ารับการฝึกอบรมในประเทศไทยแล้วจำนวน 36 คน) นอกจากนี้ไทยยังได้บริจาคเงิน ให้แก่รัฐบาลฟิจิเพื่อบรรเทาอุทกภัยจำนวน 2 ครั้ง คือ 1) ในเดือนเมษายน 2547 จำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ 2) เดือนมกราคม 2552 จำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ อนึ่ง ไทยได้ให้เงินช่วยเหลือฟิจิในการจัดประชุมนานาชาติ The Asia Pacific Inter-Governmental Consultations on Refugees, Displaced Persons and Migrants (APC) ครั้งที่ 9 ที่นครนาดี ฟิจิ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 เป็นจำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

                ในกรอบอาเซียน ฟิจิเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสงค์เป็นผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน โดยล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ฟิจิได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการอาเซียนเสนอขอแต่งตั้งนาย Seremaia Tui Cavuilati ออท.ฟิจิ ประจำประเทศอินโดนีเซียเป็น ออท.ฟิจิประจำอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบต่อการแต่งตั้งนาย Cavuilati แล้ว และเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 นาย Cavuilati ได้ยื่นสาส์นแต่งตั้งต่อเลขาธิการอาเซียน

การหารือทวิภาคี

                - ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนฟิจิระหว่างวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2547 และได้หารือข้อราชการกับรัฐมนตรีต่างประเทศฟิจิ ณ กรุงซูวา

                -  ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนาย Laisenia Qarase นายกรัฐมนตรีของฟิจิ ระหว่างการเข้าร่วมประชุม UNGA ครั้งที่ 60 เมื่อเดือนกันยายน 2548 นาย Qarase ได้แสดงความสนใจที่จะดูงานสาขาเกษตร โดยเฉพาะผักและอาหาร การพัฒนาการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ต่อมาในเดือนธันวาคม 2548 นาย Qarase ได้แจ้งผ่าน สถานเอกอัครราชทูตฟิจิ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า ฟิจิให้การสนับสนุนผู้สมัครไทยในตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations Secretary-General – UNSG)

                - นาย Suliasi Lutubula เอกอัครราชทูตฟิจิประจำประเทศมาเลเซียได้เข้าเยี่ยมคารวะนายจิระชัย ปั้นกระษิณ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยได้หารือเรื่อง 1) ความตกลงที่ยังคั่งค้าง 2) ความร่วมมือด้านการพัฒนา 3) สถานการณ์ ทางการเมืองฟิจิ 4) การเสนอชื่อกงสุลกิตติมศักดิ์ฟิจิประจำประเทศไทย 5) งานส่งเสริมการท่องเที่ยวฟิจิในไทย และ 6) การขอเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์อาเซียนของฟิจิ

                - นายเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี เอกอัครราชทูต ณ กรุงซูวา (ถิ่นพำนัก ณ กรุงแคนเบอร์รา) ได้เยี่ยมคารวะ Ratu Epeli Nailatikau ประธานาธิบดีฟิจิ และนาย Solo Mara ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฟิจิ ในช่วงที่เอกอัครราชทูตฯ เยือนฟิจิเพื่อยื่นพระราชสาส์นตราตั้ง ระหว่างวันที่ 4 - 7 กันยายน 2554 

                - นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงซูวา (ถิ่นพำนัก ณ กรุงแคนเบอร์รา) ได้เยี่ยมคารวะ Ratu Epeli Nailatikau ประธานาธิบดีฟิจิ และนาย Inoke Kubuabola รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิจิ       และนาย Ropate Ligairi ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐานของฟิจิ ในช่วงที่เอกอัครราชทูตฯ เยือนฟิจิเพื่อยื่นพระราชสาส์นตราตั้ง ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2555 

                - ล่าสุด Ratu Epeli Nailatikau ประธานาธิบดีฟิจิเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2556

                - ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยพบหารือกับพลเรือจัตวา Voreqe (Frank) Bainimarama นายกรัฐมนตรีของฟิจิตั้งแต่มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ท่าทีของไทยต่อฟิจิ

                รัฐบาลไทยแสดงความหวังว่าฟิจิจะดำเนินการตามขั้นตอนที่จะกลับสู่ระบบประชาธิปไตยโดยเร็ว โดยให้มีการเลือกตั้งทั่วโดยประชาชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ฟิจิ และอาจนำไปสู่การยกเลิกการคว่ำบาตรของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ได้ลดความสัมพันธ์ลง โดยเฉพาะด้านการเมือง หลังจากฟิจิได้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปโดยไม่มีกำหนด    ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนฟิจิให้กลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็ว และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวหากเป็นความประสงค์ของฝ่ายฟิจิ

 

*******************************************

                                                                                                                                                                                                          สถานะ ณ กรกฎาคม 2556
                            กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2203-5000 ต่อ 13028 โทรสาร. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ