นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 21 – 24 มีนาคม 2556 และรัฐเอกราชปาปัวนิวกินีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 24 – 25 มีนาคม 2556

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 21 – 24 มีนาคม 2556 และรัฐเอกราชปาปัวนิวกินีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 24 – 25 มีนาคม 2556

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มี.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,082 view

                นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 21 – 24 มีนาคม 2556 ตามคำเชิญของนายจอห์น คีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และรัฐเอกราชปาปัวนิวกินีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 24 – 25 มีนาคม 2556  ตามคำเชิญของนายปีเตอร์ โอนีล นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี

 

                โดยการเยือนครั้งนี้ มีรัฐมนตรีและผู้แทนภาคเอกชนสำคัญร่วมเดินทาง อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายบุญทรง  เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพงษ์ศักดิ์  รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายสุรนันท์ เวชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายทศพร  เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารภาคเอกชนไทยจากสาขาต่างๆ ที่ไทยและประเทศทั้งสองมีศักยภาพและความสนใจร่วมกัน เช่น พลังงาน ธุกิจสีเขียว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก่อสร้าง การศึกษา อาหาร

                  การเยือนนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและนิวซีแลนด์ ครบรอบ 57 ปี (สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต พ.ศ. 2499) และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อในเสถียรภาพทางการเมืองและพลวัตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งบทบาทนำของไทยในอาเซียน ตลอดจนขยายความร่วมมือในด้านที่ไทยเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แรงงาน และการเกษตร โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี และมีประเด็นหารือครอบคลุม การขยายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ และการบริหารจัดการเกษตรและอาหาร การเจรจาการค้าภายใต้กรอบความตกลง TNZCEP การศึกษา การส่งเสริมแรงงานไทยนิวซีแลนด์ การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมภาพยนตร์  และประเด็นความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยจะเชิญนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 2 และร่วมกันผลักดันบทบาททั้งสองประเทศในเวทีระดับภูมิภาคภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ได้แก่ ASEAN EAS และ APEC  รวมทั้ง จะร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา และหนังสือแสดงเจตจำนงกรอบความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

 

             นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังจะได้นำคณะนักธุรกิจไทยเยี่ยมชมและดูงานการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Eco tourism) และเทคโนโลยีการเกษตร โดยจะได้เยี่ยมชมการบริหารจัดการฟาร์มโคนมและโรงงานของบริษัท Fonterra บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากนมที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์ด้วย

             ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัย Auckland University of Technology (AUT)  เมืองโอ๊คแลนด์ จะมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่มีบทบาทโดดเด่น และเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยที่มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย

             การเยือนนิวซีแลนด์ครั้งนี้ เป็นการเยือนครั้งแรกในรอบ 9 ปีของนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ได้มีการเยือนระหว่างกัน คือ เมื่อปี 2547  และปี 2548 (นางเฮเลน คลาร์ก ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ในขณะนั้น)  ปัจจุบัน ไทยและนิวซีแลนด์มีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 1,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 50,000 ล้านบาท) โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 432 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 13,000 ล้านบาท) ในด้านการลงทุน บริษัทจากนิวซีแลนด์ อาทิ บริษัท Fonterra และบริษัท Fisher & Paykel ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องครัว ได้เข้ามาลงทุนในไทย และบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ของไทยได้เข้าไปลงทุนด้านการสำรวจแหล่งพลังงานในนิวซีแลนด์ ในด้านการท่องเที่ยว แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวนิวซีแลนด์มาไทยกว่า 1 แสนคน และไทยไปนิวซีแลนด์ประมาณ 15,000 คน นอกจากนี้ นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่นักเรียนไทยนิยมเดินทางไปศึกษาต่อ โดยปัจจุบันมีนักเรียนไทยกว่า 7,000 คน

              จากนั้น วันที่ 24 – 25 มีนาคม 2556 นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางเยือนรัฐเอกราชปาปัวนิวกินี อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีไทย และเป็นการเปิดศักราชความสัมพันธ์ครั้งสำคัญกับประเทศในแถบหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ โดยวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเปิดตลาดใหม่ของสินค้าอุปโภคบริโภคไทย ซึ่งปาปัวนิวกินีมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และเป็นประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา 14 หมู่เกาะ แต่ยังขาดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นโอกาสของภาคเอกชนไทย อีกทั้ง นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้ สร้างความเชื่อมั่นถึงเสถียรภาพด้านการเมืองและพลวัตรของเศรษฐกิจไทย รวมถึงบทบาทนำของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน

              โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการสำคัญคือการเข้าเยี่ยมคารวะผู้สำเร็จราชการปาปัวนิวกินี และหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี ซึ่งจะมีประเด็นการหารือครอบคลุมแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี   การพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน พลังงาน และวิชาการ รวมทั้ง ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี อีกทั้ง จะร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความตกลง และบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ บันทึกความตกลงด้านความร่วมมือทางวิชาการ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือทวิภาคีระหว่างไทยและปาปัวนิวกินี และบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าไทยและปาปัวนิวกินี

              โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีมอบชุดทดสอบเบื้องต้นด้านความปลอดภัยของอาหารและการชันสูตรโรคให้แก่ปาปัวนิวกินี เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านสาธารณสุขในปาปัวนิวกินี และพิธีมอบหนังสือ สื่อทัศนูปกรณ์ และอุปกรณ์ตกแต่งที่แสดงความเป็นไทยภายใต้โครงการ Thai Corner ให้แก่มหาวิทยาลัยปาปัวนิวกินี เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนหลักสูตรเกี่ยวกับประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ชาวปาปัวนิวกินีรู้จักไทยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน (people connectivity) อีกด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติ (PNG / LNG) เพื่อศึกษาแหล่งพลังงานสำรองของประเทศ และลู่ทางในการเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานของไทยในปาปัวนิวกินี

              ไทยและปาปัวนิวกินี มีความสัมพันธ์ที่ราบรืนทั้งในกรอบทวิภาคีและกรอบเวทีระหว่างประเทศ ปาปัวนิวกินี ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจมากที่สุดในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ทอง ทองแดง นิเกิ้ล น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ วัตถุดิบประมง และป่าไม้ รายได้จากทรัพยากรธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด สำหรับการค้าและการลงทุนกับไทย ที่ผ่านมา ปาปัวนิวกินี ถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ในปี 2555 มูลค่าการค้ารวมไทย- ปาปัวนิวกินี อยู่ที่ 359.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า  ส่วนการลงทุน ปัจจุบันมีภาคเอกชนเข้าไปลงทุนในปาปัวนิวกินี ด้านอาหารแปรรูป การส่งออกข้าวและพลังงาน