นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,921 view

เมื่อวันที่ ๒๖ – ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งและตามคำเชิญของนายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะพลโท จูมมาลี ไซยะสอน ประธานประเทศ สปป.ลาว และหารือกับนางปานี ยาท่อตู้ ประธานสภาแห่งชาติ สปป.ลาว

นายทองสิงฯ นายกรัฐมนตรีสปป. ลาว แสดงความยินดีในการรับตำแหน่งของ นรม. และแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตกซึ่งประสบอุบัติเหตุตกเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ฯ นายกรัฐมนตรีของไทยได้ย้ำเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์และร่วมมือกับลาวอย่างใกล้ชิดในทุกๆ ด้าน  บนพื้นฐานของสังคมและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยร่วมผลักดันให้ทั้งสองประเทศเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างเท่าเทียม และส่งเสริมการใช้กลไกทวิภาคีต่าง ๆ ในการผลักดันความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด  โดยมีกระบวนการติดตามจนบรรลุผลสำเร็จร่วมกันโดยเร็ว  

ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับการแก้ไขอุปสรรคและขยายการค้าและการลงทุน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการลงทุนหรือทำธุรกิจในลาว รวมทั้งเห็นพ้องที่จะร่วมกันจัดตั้งกลไกหารือเพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบครบวงจรระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดมุกดาหารกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน – เซโน โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อการค้า อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว สองฝ่ายได้เห็นชอบให้จัดตั้งกลไกหรือคณะทำงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อดูแลอำนวยความสะดวกและช่วยแก้ไขปัญหาเมื่อมีอุปสรรคหรือเกิดกรณีพิพาท อันจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งฝ่ายลาวเกี่ยวกับการเร่งดำเนินการของหน่วยงานไทยในการจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลิตผลการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งลาว ตามแนวชายแดนและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ โดยจะให้มีการหารือในรายละเอียดกับฝ่ายลาวต่อไป

นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมในการอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของลาวมาระดมทุนในตลาดทุนของไทย และสนับสนุนด้านวิชาการแก่ลาวในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พร้อมกันนี้ ฝ่ายไทยแสดงความพร้อมที่จะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากลาวเพิ่มขึ้น และสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนเข้าไปลงทุนในลาว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวของสองฝ่ายเข้าด้วยกันในรูปแบบ joint package พร้อมทั้งร่วมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ ในภาคใต้ของลาว เช่น แขวงจำปาสักและพื้นที่อื่น ๆ ในภาคเหนือของลาวเชื่อมต่อกับไทย

ด้านพลังงาน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันถึงความสำคัญและผลประโยชน์ร่วมกันของการเชื่อมโยงด้านพลังงาน  นายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมของไทยที่จะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากลาวเพิ่มขึ้นและสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนไทยไปลงทุนใน สปป.ลาวในสาขาพลังงาน

ด้านแรงงาน ฝ่ายไทยได้เสนอให้นำเข้าแรงงานลาวตาม MOU มากขึ้น และขอให้ฝ่ายลาวส่งคณะเจ้าหน้าที่มาพิสูจน์สัญชาติแรงงานลาวที่ผิดกฎหมายที่ไทยเปิดให้มาจดทะเบียนในไทย รวมทั้งสนับสนุนการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวของทางการไทย และเสนอให้สองฝ่ายร่วมกันหารือเพื่อจัดทำบัตรผ่านแดนแบบ
smart card ซึ่งจะทำให้การเดินทางเพื่อทำงานบริเวณชายแดนรายวันและตามฤดูกาลมีความสะดวกยิ่งขึ้นและสามารถตรวจสอบได้

ในระดับประชาชน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมมือกับภาคเอกชน ภาควิชาการ และเยาวชนจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมระหว่างกันเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและความใกล้ชิดในระดับประชาชน โดยถือเป็นทศวรรษแห่งสายสัมพันธ์ไทย – ลาว (Decade of Thai – Lao Peoples’ Relations) นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อเฉลิมฉลองกิจกรรมฉลองครบรอบ ๖๕ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ในวาระโอกาสครบรอบ ๖๐ พรรษาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการครบรอบ ๔๐ ปี ของการสถาปนา สปป.ลาว ในปี ๒๕๕๘ ด้วย 

ในด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคงและแสดงความพร้อมที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนทั่วไปไทย - ลาว (General Border Committee : GBC) และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission : JBC) ไทย – ลาวอย่างต่อเนื่องต่อไป และกลไกทวิภาคีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ

สำหรับความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงและความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายลาวเร่งดำเนินการในการเพิ่มถนนหมายเลข ๘ และ ๑๒ ใน EWEC โดยเร็ว และได้ยืนยันจะสนับสนุนฝ่ายลาวในการก่อสร้างถนนจำนวน ๒ เส้นทางและสะพาน ๑ แห่ง เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางจากสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ ๔ (เชียงของ – ห้วยทราย) และเส้นทาง R3A ซึ่งเชื่อมต่อไปยังจีน รวมถึงการสนับสนุนฝ่ายลาวเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในนครหลวงเวียงจันทน์ และจะสนับสนุนการออกแบบโครงการก่อสร้างถนนหมายเลข ๑๑ ช่วงครกข้าวดอ – สานะคาม – บ้านวัง – บ้านน้ำสัง (ระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่ - เวียงจันทน์) และให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องใน ๓ สาขาหลักที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ การเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข และตามความต้องการของ สปป.ลาว เป็นหลัก  โดยในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ มีจำนวน ๒๓ โครงการ มูลค่าประมาณ ๑๒๒ ล้านบาท อาทิ โครงการพัฒนาด้านการเกษตร การพัฒนาโรงพยาบาล การก่อสร้าง/ปรับปรุงสถานศึกษา และการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาสาขาต่าง ๆ เป็นต้น

การเยือนครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามความตกลง ๓ ฉบับ ได้แก่

๑) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการพัฒนาโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว ระยะที่ ๒

๒) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ

๓) สัญญาให้ความช่วยเหลือทางการเงินโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา – บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง)

การหารือในวันนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้งสองประเทศที่จะสานต่อและผลักดันความร่วมมือรอบด้านในทุกระดับให้เป็นรูปธรรม บนพื้นฐานความสัมพันธ์อันดีและความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและแน่นแฟ้นต่อไป

 

ขอบคุณภาพจากสำนักนายกรัฐมนตรี

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ