รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเข้าร่วมคณะนายกรัฐมนตรีในการประชุมผู้นำ กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๒ (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๑ ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเข้าร่วมคณะนายกรัฐมนตรีในการประชุมผู้นำ กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๒ (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๑ ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ม.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,464 view

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดจะร่วมในคณะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๒  ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๑ ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

กัมพูชาและจีนจะเป็นประธานร่วมการประชุมในครั้งนี้ โดยที่ประชุมจะทบทวนการดำเนินงานและกิจกรรมของประเทศสมาชิกนับตั้งแต่การประชุมผู้นำฯ ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๙  และจะกำหนดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในอนาคต        

ที่ประชุมจะรับรองเอกสารผลลัพธ์ ๒ ฉบับ ได้แก่  (๑) แผนปฏิบัติการระยะ ๕ ปี กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง  (5 – Year Plan of Action 2018 – 2022) ซึ่งจะกำหนดแนวทางและกิจกรรมของกรอบความร่วมมือในระยะ ๕ ปีข้างหน้า ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๓ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ ได้พิจารณาและเห็นชอบในหลักการแล้ว และ (๒) ปฏิญญาพนมเปญ (Phnom Penh Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำที่จะมุ่งสนับสนุนกรอบความร่วมมือดังกล่าวให้บรรลุเป้าประสงค์ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขง รวมทั้งกำหนดแผนงานที่จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมตามแผนปฏิบัติการระยะ ๕ ปี 

ในการประชุมครั้งนี้ ไทยประสงค์จะ (๑) ผลักดันให้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้างเป็นกรอบความร่วมมือฯ ที่ทันสมัย (๒) ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกรอบแม่โขง – ล้านช้างกับแนวคิดหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative-BRI) รวมทั้งเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคเข้ากับ BRI เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของอนุภูมิภาค  (๓) การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบยั่งยืนผ่านการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เช่น นวัตกรรม อุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย ๔.๐ และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  และ (๔) สนับสนุนสาขาความร่วมมือภายใต้กรอบแม่โขง – ล้านช้าง โดยเฉพาะด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ อันจะนำมาซึ่งการเกษตรที่ยั่งยืนในประเทศลุ่มน้ำโขง

กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง มีประเทศสมาชิกทั้งหมด ๖ ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงบนพื้นฐานของความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม ความสมัครใจ และหลักฉันทามติ