ค่ายอบรม ศาสตร์พระราชา ก่อเกื้อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ค่ายอบรม ศาสตร์พระราชา ก่อเกื้อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,471 view

มูลนิธิยุวทูตความดี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ค่ายอบรม ศาสตร์พระราชา ก่อเกื้อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนภูพานฯ ระหว่างวันที่ 5 – 9 พฤษภาคม  2561  โดยมี ผอ.จันทร์ทิพา ภู่ตระกูล ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวทูตความดี  กล่าวเปิดค่ายอบรมฯ และนายโรจน์วัฒน์  อินทร์ทุ่ง
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ กล่าวให้โอวาท ซึ่งมีเยาวชนยุวทูตฯ เข้าร่วม 139 คน ครู 32 คน รวม 171 คน จาก 52 โรงเรียน ใน 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ศรีสะเกษ หนองคาย อุบลราชธานี นครพนม อุดรธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สกลนคร  ภาคกลาง : นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย อุทัยธานี  ภาคเหนือ : เชียงราย  ภาคตะวันออก : จันทบุรี

จุดมุ่งหมายของค่ายอบรม คือ เสริมสร้างให้เยาวชนยุวทูตเข้าใจและเข้าถึง ศาสตร์พระราชา จากการศึกษาหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นแรงบันดาลใจที่จะน้อมนำหลักคิดและพระราชกรณียกิจของพระองค์ไปศึกษาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง สังคม และประเทศชาติ ด้วยความเข้าใจและเข้าถึงความพอเพียงตามคำพ่อสอน โดยนำไปสู่การปฏิบัติด้วยความจริงจัง ต่อเนื่อง

เยาวชนได้ศึกษาการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ หลักเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้การเกษตรผสมผสาน การเพาะพันธุ์สัตว์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเข้าร่วมในกิจกรรมปลูกข้าวแบบครบวงจร ซึ่งยุวทูตฯ ได้ลงมือปลูกข้าวแบบนาโยน เพื่อช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์และยาปราบศัตรูพืช

งานประมง   เรียนรู้การเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน โดยการเลี้ยงปลานิลแดงร่วมกับการเลี้ยงเป็ดบาลาลี และการเลี้ยงไก่สามสายเลือด และการเลี้ยงปลาในบ่อแบบต่างๆ นอกจากนั้นยุวทูตฯ ยังได้เรียนรู้วิธีการ แปลงเพศปลานิล จากตัวเมียให้กลายเป็นตัวผู้ เพื่อให้ได้น้ำหนักที่มากกว่า ซึ่งเป็นเทคนิคสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

งานปศุสัตว์  ยุวทูตฯ ได้เรียนรู้ สัตว์ 3 ดำมหัศจรรย์  คือ โคเนื้อภูพาน (โคทาจิมะ) สุกรภูพาน และไก่ดำภูพาน ซึ่งให้ปัจจุบันได้มีการพัฒนางานปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นอีก 2 ดำ คือ แพะพันธุ์แบล็ค เบงกอล และกระต่ายดำภูพาน นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งพันธุ์สัตว์ที่ดีของศูนย์ฯ ที่มีการเลี้ยงกวางเพื่อนำเอาเขาไปทำเป็นยาชูกำลัง หรือยาบำรุงร่างกาย เนื่องจากในเขากวางมีสารชะลอความแก่ เป็นต้น

การเพาะเห็ด  ยุวทูตฯ ได้เรียนรู้การเพาะเห็ดชนิดต่างๆ ด้วยขี้เลื่อยไม้ยางพารา และยังได้นำก้อนเชื้อเห็ดไปเพาะพันธุ์ต่อที่บ้าน เพื่อนำไปขยายผลต่อยอดการสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและขยายผลให้แก่เพื่อนที่โรงเรียน

การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและจากพืชสมุนไพร คณะเยาวชนยุวทูตฯ ได้ลงมือปฏิบัติ  ทำขนมจากข้าวและธัญพืช พร้อมกับการทำไอศกรีมจากข้าวกล้อง และการทำยาหม่องจากพืชสมุนไพร

การศึกษาเกษตรทฤษฎีใหม่ ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การปลูกผัก ปลอดสารพิษ การปลูกพืชแซมในสวนไม้ผล การเลี้ยงสัตว์ปีกในสวนไม้ผล โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง เพื่อให้เกิดความพออยู่พอกิน สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว รวมทั้งเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้พึ่งพาตนเองในการดำรงชีพ

คณะยุวทูตฯ ยังได้เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ซึ่งเป็นป่าปลูก ที่อาศัยหลักการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฏจักรธรรมชาติ อันเป็นทฤษฎีการฟื้นฟูป่าที่เรียบง่ายและประหยัด ตลอดจนเป็นการส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ตามธรรมชาติให้กับสู่ป่ายุคดั้งเดิม ยุวทูตฯ ได้เรียนรู้และอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น เห็ด กล้วยไม้ และการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เช่น นกยูง ไก่ฟ้า และหมูป่า

อนึ่ง ยุวทูตฯ ยังได้เรียนรู้บทบาท ภารกิจของกระทรวง พร้อมกับเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติ และวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศที่จะไปเยือน กับข้าราชการจิตอาสาซึ่งเป็นข้าราชการแรกเข้าของกระทรวง ผ่านกิจกรรมสัมพันธ์ ทำให้มีความรอบรู้ที่กว้างไกล พร้อมก้าวสู่โลกกว้างและส่งผลให้นักเรียนยุวทูตมีความชื่นชอบและชื่นชมกระทรวง ด้วยความใฝ่ฝันอยากเป็นนักการทูตในอนาคต

ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ได้คัดเลือกนักเรียน 30 คน และครู  7 คน ไปพัฒนาโลกทัศน์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ระดับเยาวชน ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ