การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๐

การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๐

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ธ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,974 view
          เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนางสาวอรุณี พูลแก้ว รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๐ (30th APEC Ministerial Meeting) ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี
          สำหรับการประชุมเอเปคในปีนี้ ปาปัวนิวกินีในฐานะเจ้าภาพ ได้กำหนดให้มีการหารือในหัวข้อ “การสร้างโอกาสอย่างครอบคลุมเพื่อเปิดรับอนาคตทางดิจิทัล” ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลง ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
          - เน้นย้ำว่า ประเทศไทยสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบ WTO โดยมุ่งมั่นจะผลักดันให้บรรลุผลการเจรจาความตกลง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ รวมทั้งคาดหวังว่าจะสามารถเริ่มเจรจาความตกลง FTAAP ได้ในช่วงที่ไทยเป็นประธานเอเปคในปี ๒๕๖๕
          - แสดงวิสัยทัศน์ของไทยในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญสามประการ คือ 
            ประการแรก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการ EEC ของไทย และส่งเสริมความเชื่อมโยง ซึ่งไทยได้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงในกรอบ ACMECS และกรอบอื่น ๆ และสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามแผนแม่บทเอเปคด้านการเชื่อมโยงในปี ค.ศ. ๒๐๒๕
            ประการที่สอง การทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเกิดประโยชน์แก่สังคมทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันต้องหามาตรการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อการจ้างงานและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ซึ่งไทยได้ดำเนินการโดยปฏิรูปทางการศึกษา เช่น การปรับระบบอาชีวศึกษาทวิภาคีเพื่อให้แรงงานไทยมีทักษะสอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อนำให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” นอกจากนี้ ไทยได้ให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยไทยได้ร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ยกร่างกรอบเอเปคว่าด้วยความมั่นคงทางเศรษฐกิจดิจิทัลตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ และคาดหวังว่าจะสามารถได้ข้อสรุปในอนาคตอันใกล้
            ประการที่สาม ส่งเสริมให้มีความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อยู่ดีมีสุข โดยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio – Circular – Green) และยกตัวอย่าง “อีสาน ๔.๐ โมเดล” ที่ไทยได้เริ่มดำเนินการแล้ว นอกจากนี้ ไทยร่วมกับเวียดนามและเปรูผลักดันให้เอเปครับรองยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม เมื่อปี ๒๕๖๐ ณ นครดานังด้วย
          รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวถ้อยแถลงในเรื่องวิสัยทัศน์ทางการค้าของไทย โดยกล่าวถึง
          - การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และสนับสนุนการปรับปรุง WTO ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องการเห็นเอเปคดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน (หรือที่เรียกว่า “เป้าหมายโบกอร์”)
          - การสนับสนุนการเปิดเสรีการค้าทั้งในระดับพหุภาคี ภูมิภาค และทวิภาคี ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือระหว่างเขตสมาชิกเอเปคในการยกร่างข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นการค้ายุคใหม่ (Next Generation Trade and Investment Issues) ในประเด็นต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง FTAAP ที่มีความครอบคลุมและมาตรฐานสูง 
          - การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของเอเปค โดยเฉพาะการรับรองหลักการทั่วไปว่าด้วยมาตรการที่มิใช่ภาษีและแผนการทำงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง (MSMEs) และการบูรณาการให้ MSMEs เข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains) ซึ่งเอเปคเป็นเวทีสำคัญที่เป็นส่วนช่วยในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและมีบทบาทนำเพื่อให้บรรลุกระแสการค้าที่เสรีทั่วทั้งภูมิภาค และจัดตั้งกฎระเบียบและนโยบายสำหรับการสนับสนุนบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าดิจิทัลและการเจริญเติบโตสีเขียวที่มีความยั่งยืนต่อไป
          อนึ่ง ในช่วงการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีกับนางมาริส เพย์น (Hon. Marise Payne) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย ในประเด็นภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ออสเตรเลีย การเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี ๒๕๖๒ และกรอบความร่วมมือในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ACMECS BIMSTEC และ IORA
 

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

 

คำกล่าวโดยนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

และนางสาวอรุณี พูลแก้ว รองปลัดกระทรวงพาณิชย์

ที่การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๐

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ กรุงพอร์ตมอร์สบี ประเทศปาปัวนิวกินี

 

(คำกล่าวโดยนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ)

ท่านประธาน

                   ผมขอแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจและความซาบซึ้งต่อปาปัวนิวกินีสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่มีให้กับผมและคณะผู้แทนไทย และขอแสดงความยินดีต่อปาปัวนิวกินีสำหรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคครั้งนี้

                   ผมขอขอบคุณรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกสำหรับการบรรยายสรุปที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลก

                   ผมขอชื่มชมและขอบคุณ ดร. อลัน โบลาร์ด ผู้อำนวยการบริหารสำนักเลขาธิการเอเปคซึ่งกำลังพ้นจากตำแหน่งสำหรับความเป็นผู้นำและการชี้แนะสำนักเลขาธิการเอเปคตลอด ๖ ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผมขอต้อนรับมาดามรีเบกกา ฟาติมา สตา มาเรีย ซึ่งกำลังเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฯ แทนและขออวยพรให้ประสบความสำเร็จ

ท่านประธาน

                   หลังจากที่ผมได้ฟังการบรรยายสรุปของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคและองค์การการค้าโลกเกี่ยวกับความท้าทายในปัจจุบันในเศรษฐกิจโลก ผมนึกถึงสุภาษิตเอเชียโบราณที่กล่าวว่า “แทนที่จะด่าทอต่อความมืด เราควรจุดเทียนเพื่อให้แสงสว่าง”

                   ท่ามกลางลัทธิปกป้องการค้า ความตึงเครียดทางการค้า และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เขตเศรษฐกิจเอเปคจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการค้าพหุภาคีที่อยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบดังที่ปรากฏในองค์การการค้าโลก (WTO)  นอกจากนี้ พวกเราต้องยืนยันถึงข้อผูกพันของพวกเราที่จะส่งเสริมการค้าที่เสรี เป็นธรรม และเปิดกว้าง โดยเร่งดำเนินการต่อประเด็นคั่งค้างต่าง ๆ ภายใต้เป้าหมายโบกอร์ให้แล้วเสร็จและดำเนินการเพื่อให้เกิดความคืบหน้าไปสู่การบรรลุเขตการค้าเสรีเอเชีย – แปซิฟิก (FTAAP)

                   ในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการจัดตั้งข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งจะครอบคลุมสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคจำนวน ๑๑ เขตเศรษฐกิจ และในปีหน้า ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของประเทศไทย พวกเราจะให้ความสำคัญต่อการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP ให้แล้วเสร็จรวมถึงการจัดตั้งความตกลงดังกล่าวด้วย ซึ่งหากจัดตั้งแล้ว RCEP จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยประกอบด้วยจำนวนประชากรโลกมากกว่าครึ่งโลก เส้นทางเดินของ RCEP จะครอบคลุมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจากอินเดียในฝั่งตะวันตกไปสู่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในฝั่งตะวันออก จากจีนในฝั่งเหนือไปสู่ออสเตรเลียในฝั่งใต้ โดยมีเขตเศรษฐกิจอาเซียนอยู่ตรงกลาง RCEP จะส่งสัญญาณถึงการปรากฏขึ้นของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในฐานะศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ ๒๑ ในการนี้ ผมจึงอยากให้ชาวเอเปคร่วมกันครุ่นคิดว่า การปรากฏขึ้นของ CPTPP และ RCEP นั้น FTAAP จะสามารถจัดตั้งบนกลุ่มความร่วมมือและรากฐานเหล่านี้โดยไม่ต้องประดิษฐ์กลไกขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร ทั้งนี้ จะเป็นเกียรติสำหรับประเทศไทยอย่างยิ่ง หาก FTAAP สามารถเปิดตัวได้ในปี ค.ศ. ๒๐๒๒ เมื่อประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ ๓๐

ท่านประธาน

                   ในส่วนของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการเจริญเติบที่ครอบคลุมผ่านการปฏิรูปโครงสร้าง นั้น

                   ประเด็นแรก พวกเราเชื่อว่า โครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยรายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปคประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๘ ระบุว่า เศรษฐกิจเอเปคจะต้องใช้งบประมาณจำนวน ๑.๗๕ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๒๐-๒๐๒๕ เพื่อชดเชยกับมูลค่าของโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดอยู่ ด้วยเหตุนี้ พวกเราจำเป็นที่จะต้องหาทางออกด้านการเงินรูปแบบใหม่โดยการแสวงหาความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงภาคเอกชน รัฐบาลไทยจึงร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดตั้งหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าประมาณ ๕๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เรียกว่า โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC โดยครอบคลุมพื้นที่ ๓ จังหวัดทางภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และทั้ง ๓ จังหวัดใช้เวลาขับรถเพียงไม่กี่ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ โครงการดังกล่าวตั้งเป้าที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ซึ่งรวมถึงเส้นทางรถไฟ ท่าเรือเดินทะเล และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เช่น เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล

                   ในระดับอนุภูมิภาค ประเทศไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม  รวมกันคือ ๕ ประเทศซึ่งตั้งอยู่บนอาเซียนแผ่นดินใหญ่ ได้จัดทำแผนแม่บทเรื่องความเชื่อมโยงสำหรับปี ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๓ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS เพื่อต้องการส่งเสริมความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อภายในอนุภูมิภาค และกับภูมิภาคอื่น ๆ นอกเหนือจากเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยหวังว่าการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บท ACMEC จะช่วยให้เกิดการกระจายตัวเชิงบวก
ซึ่งช่วยให้เอเปคสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการภายใต้แผนแม่บทความเชื่อมโยงในเอเปค ภายใน
ปี ค.ศ. ๒๐๒๕

                   ประเด็นที่สอง ประเทศไทยเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้การเติบโตอย่างครอบคลุมเกิดขึ้นได้ นำมาซึ่งโอกาสมหาศาลให้กับเขตเศรษฐกิจและสังคมของพวกเรา อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นดาบสองคมซึ่งมาพร้อมความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้นระหว่างคนที่ได้ประโยชน์และคนที่ไม่ได้รับประโยชน์ ตลอดจนการสูญเสียงานในตลาดงานแบบเดิม นำไปสู่อัตราการว่างงานในเยาวชนที่สูงขึ้น ธนาคารโลกเตือนรัฐบาลไทยว่า ร้อยละ ๗๒ ของเด็กที่เรียนจบมหาวิทยาลัยในประเทศไทยอาจว่างงานภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งรวมถึงการศึกษา การฝึกอบรม และการเพิ่มทักษะ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเตรียมนำระบบการศึกษาแบบทวิภาคีมาใช้ตามนโยบายประเทศไทย ๔.๐ โดยสถาบันการศึกษาจะทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อฝึกอบรมคนทำงานของเราในอนาคต นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม เพื่อเตรียมคนของเราให้สามารถเข้าร่วมในเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยกำลังส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการในยุคดิจิทัลโดยการเตรียมความพร้อมให้กับคนรุ่นใหม่ด้วยทักษะด้านเทคนิคและผู้ประกอบการเพื่อช่วยให้คนกลุ่มเหล่านี้สามารถจัดตั้งบริษัทและธุรกิจเกิดใหม่ พวกเราเชื่อว่าเอเปคและสภา
ที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคจะสามารถมีส่วนสำคัญได้อย่างมากในด้านนี้โดยการขยายเครือข่ายของผู้ประกอบการ MSMEs และธุรกิจเกิดใหม่รุ่นใหม่เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในการค้าข้ามชายแดนได้

ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) เป็นประเด็นสำคัญยิ่งของเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น ร่างกรอบความปลอดภัยของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ไทยได้ดำเนินการร่วมกับเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคอื่นตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๑๕ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เรามีระบบนิเวศน์ทางดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป ในการนี้ พวกเราจึงคาดหวังว่าเอกสารที่สำคัญยิ่งนี้จะเสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว

                   ประเด็นที่สาม พวกเราเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมจะต้องหาจุดสมดุลระหว่าง
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม และสังคมที่สามารถอยู่ได้ ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงมุ่งหวังที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจของไทยให้เป็นเศรษฐกิจ BCG โดย B หมายถึงเศรษฐกิจชีวภาพ C หมายถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G หมายถึงเศรษฐกิจสีเขียว ในการนี้ ไทยได้มีข้อริเริ่มโมเดลอีสาน ๔.๐ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจชีวภาพ อีสานหมายถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ ซึ่งในปัจจุบันพวกเราใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการมุ่งสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มผลิตผล ส่งเสริมคุณภาพ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเกษตรที่มีนวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็คุ้มครองสิ่งแวดล้อม  แนวทางที่มีความก้าวหน้าดังกล่าวช่วยเพิ่มรายได้และผลประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นและ MSMEs ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน และทำให้ไทยยังมีความเป็น “สีเขียว” ต่อไป

                   เพื่อให้ภูมิภาคเอเปคยังคงความเป็นสีเขียว ไทย พร้อมด้วยเวียดนามและเปรู ได้ผลักดันให้มีการรับรองยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม (APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs) เมื่อปีที่แล้วที่นครดานัง ในปีนี้ ไทยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมกิจการ MSMEs ด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสาขานำร่องของยุทธศาสตร์ข้างต้น พวกเรายินดีต่อความพยายามเพิ่มเติมของเขตเศรษฐกิจสมาชิกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ ด้วยการสนับสนุนกิจกรรมสีเขียวแก่ MSMEs ตลอดห่วงโซ่อุปทานในสาขานำร่องอื่น ๆ ได้แก่ พลังงานชีวมวลและพลังงานหมุนเวียน ภาคการก่อสร้างและสิ่งก่อสร้างสีเขียว อุตสาหกรรมอาหาร และสิ่งทอ

                   สุดท้ายนี้  พวกเรายินดีที่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในถ้อยแถลงของรัฐมนตรีและได้รับการบรรจุในร่างเอกสารฉบับล่าสุด

                   ในการนี้ ผมขอเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวต่อไป

(คำกล่าวโดยนางสาวอรุณี พูลแก้ว รองปลัดกระทรวงพาณิชย์)

ไทยต้องการจะหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุน ดังนี้

ระบบการค้าพหุภาคี

ไทยยืนยันคำมั่นในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี โดยยึดถือกฎเกณฑ์ทางการค้าเป็นพื้นฐานสำคัญ ดังนั้น เพื่อให้ระบบการค้าพหุภาคีมีเสถียรภาพและคาดการณ์ได้ ไทยจึงสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกหารือร่วมกันในการหาแนวทางที่เหมาะสม สำหรับการปรับปรุงการดำเนินงานของ WTO ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความแตกต่างของระบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพของกลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO อย่างเต็มใจ

นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนแนวทางการผลักดันกลไกการแจ้ง notification ตามพันธกรณีให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในการนี้ ไทยหวังว่าระบบการค้าพหุภาคีจะได้รับความเชื่อมั่นอีกครั้ง รวมทั้งบทบาทสำคัญของ WTO ในการควบคุมกฎเกณฑ์และกฎระเบียบของการค้าระหว่างประเทศ

เป้าหมายโบกอร์

ตั้งแต่มีการออกปฏิญญาโบกอร์ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายโบกอร์โดยการลดอุปสรรคทางการค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า และพัฒนาความเชื่อมโยง รวมถึงกฎเกณฑ์ในระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ดังนั้น ไทยสนับสนุนการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายโบกอร์โดยมุ่งหวังให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีการเติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน

ไทยยังคงแสวงหานโยบายเปิดการค้าเสรีโดยสนับสนุนการเปิดเสรีการค้าในระดับพหุภาคี ภูมิภาค และทวิภาคี รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเข้าสู่ตลาดและกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายโบกอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน เสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และเข้าสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก

ไทยเล็งเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการจัดทำข้อเสนอโครงการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนแผนการดำเนินการฯ นี้ โดยได้มีการดำเนินการตามโครงการที่ได้รับความเห็นชอบ ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาลิมาว่าด้วยเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก

นอกจากนี้ ไทยมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคในการดำเนินงานสำหรับร่างข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นการค้าการลงทุนยุคใหม่ เช่น การส่งเสริมความโปร่งใส สิ่งแวดล้อม นโยบายการแข่งขัน และแรงงาน เป็นต้น ในการนี้ ไทยเชื่อว่าการรักษาความสมดุลและการสนับสนุนจากหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะช่วยผลักดันให้เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคตอบสนองต่อการเจรจาการค้ายุคใหม่

ไทยเห็นว่าการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกเป็น FTAs/RTAs ที่สมบูรณ์และมีมาตรฐานสูง เพื่อเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ดังนั้น ไทยจึงสนับสนุนการเจรจาระหว่างเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคเพื่อแสวงหากลไกของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกในการนำไปสู่การบรรลุการดำเนินการที่
ยังไม่แล้วเสร็จ

หลักการทั่วไปว่าด้วยมาตรการที่มิใช่ภาษีของเอเปค

มาตรการที่มิใช่ภาษีจะไม่ใช้เพื่อกีดกันทางการค้าเกินความจำเป็น โดยบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกับสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้า การปฏิบัติตามหลักการทั่วไปจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี โดยการส่งเสริมกระบวนการแจ้ง notification การหารือระหว่างภาครัฐด้วยกัน และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน

ดังนั้น ไทยยินดีกับการรับรองหลักการทั่วไปว่าด้วยมาตรการที่มิใช่ภาษีของเอเปค ซึ่งใช้เป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปของสมาชิกเขตเศรษฐกิจในการตระหนักถึงการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีมากขึ้น ในการลดอุปสรรคทางการค้าสินค้า และการอำนวยความสะดวกทางการค้า

หลักการทั่วไปว่าด้วยมาตรการที่มิใช่ภาษีเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นความรู้สำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุน โดยยึดหลักความโปร่งใส่ การหารือที่ครอบคลุม และการใช้วิธีการที่ไม่เลือกประติบัติ

การส่งเสริม MSMEs เพื่อนำไปสู่สากล

ไทยสนับสนุนการดำเนินการเพื่อพัฒนา MSMEs และการผลักดัน MSMEs เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลก เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของ MSMEs และการเข้าถึงตลาดระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยคำนึงถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการผลักดัน MSMEs ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม และส่งเสริมธุรกิจระหว่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์

สำหรับไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใน เช่น โลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัล รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎระเบียบ เช่น การปฏิรูปกฎเกณฑ์และกฎระเบียบเพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมสำหรับ MSMEs และการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

บทสรุป

สุดท้ายนี้ ไทยเห็นว่าเอเปคเป็นเวทีสำคัญในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และบทบาทนำของเอเปคในการทำให้การไหลเวียนทางการค้าในภูมิภาคให้บรรลุผล รวมทั้งการกำหนดกฎระเบียบและนโยบายที่เอื้อต่อการค้าดิจิทัลและนวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืนของการเจริญเติบโตสีเขียว โดยเปิดโอกาสสำหรับภาคธุรกิจทุกขนาดอย่างเท่าเทียม

ขอบคุณมาก

***********

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ