กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) เป็นเจ้าภาพจัดงาน TICA Connect ครั้งที่ ๘ ภายใต้หัวข้อ “การขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน”

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) เป็นเจ้าภาพจัดงาน TICA Connect ครั้งที่ ๘ ภายใต้หัวข้อ “การขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน”

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ส.ค. 2566

| 4,321 view

เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๖ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency: TICA) เป็นเจ้าภาพจัดงาน TICA Connect ครั้งที่ ๘ ภายใต้หัวข้อ “การขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน” ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และตลอดทั้งวันมีผู้เข้าร่วมงานรวมกว่า ๕๐๐ คน จากคณะทูตานุทูตต่างประเทศในไทย ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศประจำประเทศไทย นักเรียน นักศึกษาไทยและต่างชาติ รวมถึงผู้ที่ได้รับทุนจาก TICA และสื่อมวลชน

การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ไทยเสริมสร้างเครือข่ายและความเป็นหุ้นส่วนกับคู่ร่วมมือประเทศอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังเป็นการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของ TICA ที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับคู่ร่วมมือในด้านโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG) โดยปลัดกระทรวงฯ ย้ำในคำกล่าวเปิดงานว่า การขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ผ่านการมีส่วนร่วมจากนานาประเทศและทุกภาคส่วน เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (2030 Agenda for Sustainable Development) นอกจากนี้ ยังได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางร่วมกัน โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

ในโอกาสนี้ ดร. สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Linking Forward to Leave No One Behind” โดยเน้นย้ำให้ประชาคมโลกร่วมมือกันแก้ไขประเด็นความท้าทาย อาทิ ผลกระทบของโควิด-๑๙ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมเสนอแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) การแก้ปัญหาเร่งด่วน อาทิ ความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพเพื่อเสริมสร้างรากฐานในการยุติความยากจน (๒) การแก้ปัญหาระบบการเงินโลก รวมถึงการปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และ (๓) การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและเสริมสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ

ในวันเดียวกัน มีการเสวนาหัวข้อ “Enhancing International Development Cooperation for Sustainable Future: Working Together to Promote SDG 13 and SDG 17” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานคู่ร่วมมือต่าง ๆ อาทิ TICA AFD GIZ JICA KOICA และ USAID และสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อีกทั้งได้มีการเสวนาในหัวข้อ “เปิดประสบการณ์นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปเผยแพร่ในต่างประเทศผ่านโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จากหน่วยงานดำเนินโครงการความร่วมมือที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาในต่างประเทศ โดยมีวิทยากรที่ปฏิบัติงานโครงการในต่างประเทศ อาทิ ภูฏาน กัมพูชา และ สปป. ลาว ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความสำเร็จและความท้าทายในการดำเนินงาน ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้ กรมความร่วมมือฯ ได้เปิดตัวคู่มือการประยุกต์ใช้ SEP ในต่างประเทศ ในเว็บไซต์ของกรมความร่วมมือฯ ด้วย

นอกจากนี้ มีการชูตัวอย่างผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อประชาชน (Public Private Partnership for People: PPPP) โดยนางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้มอบเข็มเกียรติคุณและประกาศนียบัตรแก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อแสดงความตระหนักถึงการดำเนินงานที่สำเร็จอย่างมากของบริษัทฯ ในโครงการ “พัฒนาจากกาแฟเทพเสด็จสู่ร้านกาแฟอินทนิล” ความร่วมมือนี้ต่อยอดจากความร่วมมือระหว่าง TICA และ JICA ที่ร่วมพัฒนาเมล็ดกาแฟที่ปลูกโดยสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด นำไปสู่การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “กาแฟเทพเสด็จ” อินทนิลดริปคอฟฟี่ (Drip Coffee) และมีการวางจำหน่ายในร้านกาแฟอินทนิล ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟดอยสะเก็ดมีรายได้มากขึ้น ขณะที่นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้ข้อสังเกตว่า รูปแบบความร่วมมือ PPPP จะเป็นต้นแบบที่ขยายผลไปยังผลิตภัณฑ์ของชุมชนและภาคเอกชนอื่นเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไปได้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ