ผู้สมัครไทยตำแหน่งเลขาธิการ AALCO ให้คำมั่นผลักดัน AALCO เป็นองค์การที่แข็งขันและมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ

ผู้สมัครไทยตำแหน่งเลขาธิการ AALCO ให้คำมั่นผลักดัน AALCO เป็นองค์การที่แข็งขันและมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ต.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 2,501 view

กระทรวงการต่างประเทศจัดงานรณรงค์หาเสียงขอรับการสนับสนุนสำหรับ ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้สมัครของไทยในการเลือกตั้งเลขาธิการองค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian-African Legal Consultative Organization – AALCO) โดยมีนายธนา เวสโกสิทธิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ และมีคณะทูตและผู้แทนรัฐสมาชิก AALCO ประจำ ปทท. เข้าร่วม

ดร. กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้สมัครของไทยในตำแหน่งเลขาธิการ AALCO แสดงวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการผลักดันให้ AALCO เป็นองค์การระหว่างประเทศที่เข้มแข็งและมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ในงานรณรงค์หาเสียงขอรับการสนับสนุนจากรัฐสมาชิก AALCO ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๓ ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมี นายธนา เวสโกสิทธิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพ และมีเอกอัครราชทูต อุปทูต และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตในกรุงเทพฯ รวมถึงกงสุลกิตติมศักดิ์จากประเทศสมาชิก AALCO เข้าร่วม

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในช่วงวิกฤติโควิด-๑๙ และการใช้กฎหมายระหว่างประเทศเป็นกรอบในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมสันติสุขและระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย โดยเห็นว่า AALCO ในฐานะที่เป็นองค์การระหว่างประเทศสำหรับผู้เชี่ยวชาญกฎหมายในเอเชียและแอฟริกาสามารถมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากฎหมายและปกป้องระบบพหุภาคีนิยม (multilateralism) ที่กำลังถูกคุกคาม

นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เล่าถึงประสบการณ์ในการเป็นรองประธานการประชุมประจำปีของ AALCO สมัยที่ ๕๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และบทบาทอย่างแข็งขันของไทยใน AALCO ตั้งแต่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ รวมถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของ AALCO สมัยที่ ๘ และสมัยที่ ๒๖ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ และ ๒๕๓๐ ณ กรุงเทพฯ รวมถึงเน้นย้ำว่า AALCO เป็นเวทีเดียวที่นักกฎหมายจากเอเชียและแอฟริกาจะได้พบปะหารือกันทุกปี ซึ่งทำให้ AALCO สามารถเป็นผู้นำในการหารือประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ทันสมัยและตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ เช่น โควิด-๑๙ และความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นต้น

ดร. กมลินทร์ พินิจภูวดล ในฐานะผู้สมัครของไทยฯ ได้เน้นย้ำ ๕ ประเด็นสำคัญในวิสัยทัศน์ ได้แก่ (๑) การทำให้ AALCO เป็นองค์การที่แข็งขันและมีบทบาท (๒) การปฏิรูปการทำงานใน AALCO ให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงานมากขึ้น (๓) การสนับสนุนการให้โอกาสแก่นักกฎหมายระหว่างประเทศรุ่นใหม่ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดแนวปฏิบัติระหว่างประเทศในอนาคต และส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ (๔) การเพิ่มการมีส่วนร่วมของรัฐสมาชิกในกิจกรรมของ AALCO และ (๕) การสร้างความเข้าใจในความแตกต่างของวัฒนธรรมและระบบกฎหมายของรัฐสมาชิกด้วยการส่งเสริมความร่วมมือและการปรับประสานความสอดคล้องของกฎหมายของรัฐสมาชิก

AALCO เป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ปัจจุบันมีรัฐสมาชิก ๔๘ ประเทศจากทวีปเอเชียและแอฟริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นกฎหมายที่รัฐสมาชิกมีความสนใจร่วมกัน คาดว่าการเลือกตั้งเลขาธิการ AALCO คนใหม่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ และหาก ดร. กมลินทร์ฯ ได้รับเลือกตั้งในครั้งนี้ก็จะเป็นนักกฎหมายไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ

2DBA9E0A-C4EB-48FA-8AD4-6627CD2FB4F7Created with sketchtool.
2DBA9E0A-C4EB-48FA-8AD4-6627CD2FB4F7Created with sketchtool.
2DBA9E0A-C4EB-48FA-8AD4-6627CD2FB4F7Created with sketchtool.