การเสวนาโต๊ะกลมระหว่างสื่อมวลชน ภาครัฐและเอกชน เรื่อง “การฟื้นฟูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG” ในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ ณ จังหวัดเชียงใหม่

การเสวนาโต๊ะกลมระหว่างสื่อมวลชน ภาครัฐและเอกชน เรื่อง “การฟื้นฟูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG” ในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ ณ จังหวัดเชียงใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ส.ค. 2565

| 9,812 view

เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสารนิเทศ ได้จัดการเสวนาโต๊ะกลมระหว่างสื่อมวลชนทั้งต่างประเทศ ในประเทศและท้องถิ่น กับผู้แทนภาครัฐและเอกชนรวมประมาณ ๕๐ คน ในหัวข้อ “การฟื้นฟูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG” โดยมีนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย ได้แบ่งปันข้อมูล สถานะและพัฒนาการของผลลัพธ์หลักของการประชุมเอเปคในช่วงการเป็นเจ้าภาพของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดัน “เป้าหมายกรุงเทพเรื่องเศรษฐกิจ BCG” ในบริบทของความท้าทายที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-๑๙ จากนั้น นายภูมิสน ประดาพล BSE Assistant Manager บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นำเสนอประโยชน์ในเชิงปฏิบัติของเศรษฐกิจ BCG จากตัวอย่างโครงการทรัพยากรหมุนเวียน เพื่อลดการเผาป่าและขยะทางการเกษตร และนายนครินทร์ ยาโน ผู้ก่อตั้ง ‘YANO’ วิสาหกิจท้องถิ่นด้านสิ่งทอ เล่าถึงประสบการณ์ของวิสาหกิจขนาดเล็กในการสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจแก่ท้องถิ่น เพื่อการค้าที่เป็นธรรมและการปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแรงบันดาลใจจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ในช่วงท้าย ดร. Akhmad Bayhaqi นักวิเคราะห์อาวุโส สำนักงานเลขาธิการเอเปค ได้เน้นย้ำความสำคัญของแนวปฏิบัติในห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ BCG และการทำให้ BCG อยู่ในกระแสหลักของการดำเนินธุรกิจในบริษัทขนาดใหญ่

ในช่วงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เวทีเสวนาโต๊ะกลมฯ ได้ย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของภาคเอกชนในการปฏิบัติภายหลังการรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ โดยจากมุมมองของภาคธุรกิจขนาดเล็กเห็นว่า การปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้ หากภาครัฐสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิธีการและแนวทางเพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถนำ BCG ไปปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้ จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด โดยมอง BCG เป็นการลงทุนสำหรับอนาคต เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ