การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และการส่งเสริมการเดินทางที่ปลอดภัยไร้รอยต่อ เพื่อความเชื่อมโยงของเอเปคในทุกมิติ

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และการส่งเสริมการเดินทางที่ปลอดภัยไร้รอยต่อ เพื่อความเชื่อมโยงของเอเปคในทุกมิติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 พ.ค. 2565

| 1,691 view

หนึ่งในหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ คือการฟื้นฟูและส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างสะดวก ปลอดภัย ไร้รอยต่อ ซึ่งที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเด็นดังกล่าว และจะผลักดันให้เกิดการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นผลลัพธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยได้จัดการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ หรือ APEC Safe Passage Taskforce ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ซึ่งคณะทำงานนี้จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของไทยเพื่อขับเคลื่อนการทำงานในปีนี้โดยเฉพาะ โดยมีนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคไทย เป็นประธาน

ที่ประชุมได้สานต่อการหารือจากการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ ๑ ที่จัดขึ้นในห้วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ (อ่านผลการประชุมฯ https://www.apec2022.go.th/th/apec-safe-passage-taskforce-th/) โดยได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน และติดตามพัฒนาการของข้อเสนอโครงการที่สำคัญ โดยเป็นข้อเสนอของไทย ๓ โครงการ คือ (๑) โครงการจัดทำฐานข้อมูลเอเปค เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการเดินทางข้ามแดนของเอเปค  (๒) โครงการจัดทำระบบตรวจสอบใบรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกัน เพื่อให้การตรวจสอบเอกสารด้านสุขภาพประกอบการเดินทางในยุคโควิด-๑๙ ทำได้ง่ายและรวดเร็ว โดยทั้งสองโครงการอยู่ในกระบวนการรับรองระยะสุดท้าย เพื่อให้ไทยสามารถดำเนินโครงการและผลักดันให้เริ่มเปิดใช้งานได้จริงภายในไตรมาสที่สามของปีนี้  (๓) โครงการขยายกลุ่มผู้ใช้บัตรเดินทางนักธุรกิจเอเปค (ABTC) ให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSMEs และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนในหลักการและอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง และ (๔) ข้อเสนอโครงการจัดทำหลักการเพื่อส่งเสริมใช้งานร่วมกันของใบรับรองการฉีดวัคซีนในเอเปคที่เสนอโดยออสเตรเลีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเขตเศรษฐกินส่วนใหญ่เช่นกัน นอกจากนี้
ที่ประชุมยังได้รับทราบร่างข้อเสนอใหม่จากรัสเซีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้การเดินทางในเอเปคที่กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และไร้รอยต่อ มากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังจะช่วยให้เอเปครับมือกับความผันผวนในอนาคตได้อย่างมั่นคง

การส่งเสริมมาตรการการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยไร้รอยต่อเป็นประโยชน์โดยตรงต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและภาคบริการของไทย และเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรม ในปัจจุบันหลายเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคได้ทยอยเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่หมดไป ภารกิจนี้จึงยิ่งทวีความสำคัญและไทยจะยังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก