ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเสนอหลัก “3C” : Complementarities (เกื้อกูล) – Connectivity (เชื่อมโยง) – Coordination (ประสานงาน)เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาคในอาเซียนในการประชุม “ASEAN High-level Forum on Sub-regional Cooperation for Sustainable Development and Inclusive Growth”

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเสนอหลัก “3C” : Complementarities (เกื้อกูล) – Connectivity (เชื่อมโยง) – Coordination (ประสานงาน)เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาคในอาเซียนในการประชุม “ASEAN High-level Forum on Sub-regional Cooperation for Sustainable Development and Inclusive Growth”

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,118 view

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม “ASEAN High-level Forum on Sub-regional Cooperation for Sustainable Development and Inclusive Growth” ซึ่งจัดขึ้นโดยเวียดนาม ในรูปแบบผสมผสาน (hybrid) โดยไทยในฐานะสมาชิกกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ได้รับเชิญให้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงที่ ๑  ของการประชุม ภายใต้หัวข้อ “Recovering together: Advacning sub-regional cooperation in ASEAN”

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศย้ำถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องร่วมผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาในอนุภูมิภาคให้สอดคล้องกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโลก (Mega-Trends) อาทิ การเปลี่ยนผ่าน  สู่ดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-๑๙ โดยเสนอหลัก “3C” ซึ่งประกอบด้วย (๑) “Complementarities” หรือ “ความเกื้อกูล” ระหว่างยุทธศาสตร์การพัฒนาในกรอบอนุภูมิภาคต่าง ๆ กับข้อริเริ่มด้านการพัฒนาในอาเซียน (๒) “Connectivity” หรือ “ความเชื่อมโยง” ระหว่างการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค และแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (Master Plan on ASEAN Connectivity (MPAC) 2025) โดยเน้นการพัฒนาทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และดิจิทัล และ (๓) “Coordination” หรือ “การประสานงาน” ส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างกรอบอนุภูมิภาคและอาเซียน รวมทั้งกับภาคีภายนอก และภาคเอกชน รวมทั้งเน้นย้ำถึงบทบาทของกรอบ ACMECS เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามหลัก “3C” และขับเคลื่อนประเด็นสำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การประชุมครั้งนี้ เป็นข้อริเริ่มของเวียดนามในฐานะประธาน Initiative for ASEAN Integration (IAI) Taskforce ปี ๒๕๖๔ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค ภาคีภายนอก องค์การระหว่างประเทศ ภาควิชาการ และภาคธุรกิจ เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายในอนุภูมิภาคในอาเซียน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญ อาทิ การส่งเสริมความสอดคล้องระหว่างยุทธศาสตร์การพัฒนาของอาเซียนกับกรอบอนุภูมิภาค ความร่วมมือกับภาคีภายนอกและภาคเอกชน และการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านสาธารณสุข ดิจิทัล ความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ