ประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติเข้าเยี่ยมคารวะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำความสำคัญของการระดมทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และชื่นชมบทบาทไทยในการรับมือกับโควิด-๑๙

ประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติเข้าเยี่ยมคารวะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำความสำคัญของการระดมทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และชื่นชมบทบาทไทยในการรับมือกับโควิด-๑๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ค. 2565

| 1,430 view

เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕ นาย Collen Vixen Kelapile ประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council: ECOSOC) และเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรสาธารณรัฐบอตสวานาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เข้าเยี่ยมคารวะนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) สมัยที่ ๗๘

นาย Kelapile ย้ำความจำเป็นในการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายใต้บริบทของการฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-๑๙ โดยย้ำความสำคัญของการระดมทุนเพื่อการพัฒนา การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทบาทของ ECOSOC ในการส่งเสริมการพัฒนาในทั้ง ๓ มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความสำคัญของระบบพหุภาคีนิยมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ นาย Kelapile ชื่นชมไทยที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ในระดับท้องถิ่นได้ดี และประทับใจการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย รวมทั้งการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับหน่วยงานสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวถึงการดำเนินงานด้านการพัฒนาของไทยที่เน้นแนวทางการมีส่วนร่วมของรัฐบาลและทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึงอาสาสมัคร โดยไทยตระหนักถึงความสำคัญของการระดมทุนเพื่อการพัฒนา และมุ่งมั่นที่จะมีบทบาทนำในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการเงินสีเขียว และการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยกว่า ๙๐ บริษัทประกาศจะลงทุนในโครงการเพื่อขับเคลื่อน SDGs เป็นจำนวนเงินรวมกว่า ๑.๓ ล้านล้านบาทภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยรัฐบาลไทยมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ และมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นนโยบายเศรษฐกิจหลักเพื่อส่งเสริมการเติบโดที่สมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการประกาศคำมั่นของไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๖ (UNFCCC COP26) เป็นการแสดงบทบาทนำและความสำคัญที่ไทยให้กับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ