วันที่นำเข้าข้อมูล 30 มิ.ย. 2568
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 มิ.ย. 2568
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงเปิดกิจกรรมคู่ขนานในหัวข้อ “การประกันสิทธิด้านสุขภาพในสถานการณ์ความขัดแย้ง (Ensuring the Right to Health in Conflict Situations)” ซึ่งจัดขึ้นในห้วงของการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 59 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา โดยมีนาย Atsuyuki Oike เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรญี่ปุ่นประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ร่วมกล่าวเปิดงาน และนางสาวอุศณา พีรานนท์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
รองปลัดฯ ได้ย้ำว่า สถานการณ์ความขัดแย้งก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรง อาทิ การบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิต และทางอ้อมต่อสุขภาพ อาทิ อายุขัยเฉลี่ยที่ลดลง อัตราการเสียชีวิตของมารดาที่เพิ่มขึ้น และภาวะทุพโภชนาการในเด็กที่มีมากขึ้น โดยได้เรียกร้องให้มีการใช้แนวทางที่นอกจากเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศแล้ว ซึ่งยังอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน เพื่อให้บุคคลที่อยู่สถานการณ์เปราะบางสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างต่อเนื่องแม้ในยามวิกฤต ทั้งยังได้ย้ำบทบาทของความร่วมมือระหว่างประเทศ และแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม รวมถึงการดำเนินการตามกรอบนโยบายในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชากรที่อาศัยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ผ่านการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการจัดหายารักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่าง ๆ
กิจกรรมคู่ขนานนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างไทย บราซิล ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และสเปน ร่วมกับองค์กร Médecins Sans Frontières (MSF) และองค์กร Save the Children โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร. Michael J. Ryan ผู้อำนวยการโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) นาย Tormod Cappelen Endresen เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรนอร์เวย์ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา นาง Claude Maon ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย องค์กร MSF และนาย Michel Anglade ผู้อำนวยการและผู้แทนสหประชาชาติขององค์กร Save the Children สำนักงานเจนีวา
ผู้ร่วมอภิปรายหลายรายอ้างถึงสถิติที่ว่า กว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลกปัจจุบันต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ซึ่งทำให้ระบบบริการสุขภาพต้องหยุดชะงัก บุคลากรทางการแพทย์ตกเป็นเป้าการโจมตี และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็น โดยผู้อภิปรายทุกคนย้ำถึงความสำคัญของการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ความรับผิดต่อการละเมิดต่าง ๆ รวมถึงการเคารพหลักการการไม่จู่โจมหรือทำลายโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรทางการแพทย์
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **