รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS และประเทศหุ้นส่วน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS และประเทศหุ้นส่วน

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 พ.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 พ.ค. 2568

| 996 view

เมื่อ 29 เมษายน 2568 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS และประเทศหุ้นส่วน (BRICS Partnership Session) ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS ณ นครรีโอเดจาเนโร บราซิล ตามคำเชิญของนายเมารู วีเยย์รา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบราซิล

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “บทบาทของโลกใต้ในการเสริมสร้างระบบพหุภาคี” (The Role of Global South in Reinforcing Multilateralism) โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในการส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบพหุภาคีเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ประโยชน์มากขึ้น รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองต่อความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ของโลกปัจจุบัน และการส่งเสริมความร่วมมือะหว่างประเทศสมาชิกกับประเทศหุ้นส่วนกลุ่ม BRICS ในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ การค้า การลงทุน การเงิน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาธารณสุข ไปจนถึงการกำกับดูแล AI (ธรรมาภิบาลสำหรับปัญญาประดิษฐ์)

ในโอกาสดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงว่า ไทยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือกับกลุ่ม BRICS โดยเฉพาะในด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา การศึกษา สาธารณสุข การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเชื่อมโยงภาคธุรกิจของไทยกับกลุ่ม BRICS และที่สำคัญ ไทยยังมีความประสงค์อย่างแรงกล้าและพร้อมที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ได้แก่ บราซิล จีน รัสเซีย และเอธิโอเปีย เพื่อย้ำเจตนารมณ์ของไทยในการยกระดับความร่วมมือกับ BRICS และหารือความร่วมมือทวิภาคีที่เป็นประโยชน์ต่อกันและกัน

ทั้งนี้ ไทยเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง เพิ่มโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสาธารณสุข โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่และโรคเขตร้อน การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ