รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 79 (UNGA79)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 79 (UNGA79)

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 ก.ย. 2567

| 3,499 view

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 79 (UNGA79) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินนโยบายรัฐบาลแบบมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยยึดแนวนโยบายเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกล่าวถึงความสำคัญของการปฏิรูปสหประชาชาติเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในโลกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างเสริมความเข้มแข็งของกระบวนการเพื่อสันติภาพและความมั่นคง ให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคทั่วโลก ทั้งยังยกตัวอย่างสถานการณ์ในเมียนมาที่ไทยให้ความสำคัญในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ไกล้ชิด ถึงการส่งเสริมให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในเมียนมาที่ควรเกิดขึ้นจากภายในเมียนมาเอง ขณะที่ไทยพร้อมสนับสนุนความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยไทยพร้อมสร้างสะพานเชื่อมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างโลกเหนือกับโลกใต้ ผ่านความหวังที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD และ BRICS ซึ่งสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนและทุกประเทศทั่วโลก เพื่อลดผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงมนุษย์ ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ได้ย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน ผ่านการผลักดันความยุติธรรมและความเท่าเทียมในสังคม โดยกล่าวถึงการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 ของไทย

รัฐมนตรีฯ เน้นถึงการสร้างอนาคตร่วมกันของโลก โดยให้ทุกคนจะได้รับการปกป้องและมีความเจริญรุ่งเรือง ผ่านความมุ่งมั่นทางการเมืองเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลกไปด้วยกัน ก่อนจะแสดงความพร้อมของไทยในการเป็นสะพานเชื่อม ส่งเสริมการเจรจาและความเชื่อใจระหว่างประเทศ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ