ถ้อยแถลงข่าวร่วม ของการหารือทวิภาคีระหว่าง นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย กับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๒๒ (พ.ศ. ๒๕๖๕)

ถ้อยแถลงข่าวร่วม ของการหารือทวิภาคีระหว่าง นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย กับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๒๒ (พ.ศ. ๒๕๖๕)

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 พ.ย. 2565

| 8,326 view

ถ้อยแถลงข่าวร่วม

ของการหารือทวิภาคีระหว่าง
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
กับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๒๒ (พ.ศ. ๒๕๖๕)

 

***************

๑. ฯพณฯ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้เยือนราชอาณาจักรไทย ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๒๒ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ในฐานะแขกพิเศษการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (เอเปค) ในช่วงระหว่างการเยือนนั้น

ฯพณฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และ
ฯพณฯ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้พบหารือทวิภาคี
ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๒๒ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ณ ทำเนียบรัฐบาล

๒. ผู้นำทั้งสองได้แสดงความพึงพอใจต่อความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างสองประเทศที่มีมามากกว่า ๓ ศตวรรษ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นผ่านแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ ไทย - ฝรั่งเศส ค.ศ. ๒๐๒๒ - ๒๐๒๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕ - ๒๕๖๗) เพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๔ (พ.ศ. ๒๕๖๗) และได้ตัดสินใจดำเนินการในประเด็นที่ให้ความสำคัญในลำดับต้นภายใต้แผนการฯ (Roadmap) ให้เกิดขึ้น ดังนี้

 

การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง

๓. ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบที่จะผลักดันกลไกการเจรจา ๒+๒ (กระทรวงการต่างประเทศ + กระทรวงกลาโหม) ให้เป็นรูปธรรม ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ในโอกาสแรก

๔. ไทยและฝรั่งเศสได้ตกลงจะจัดการหารือระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมทั้งหาวิธีการที่เหมาะสมในการอำนวยความสะดวกการเยือนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนผ่านการลงนามในความตกลงการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างไทยกับฝรั่งเศสโดยเร็วภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖)

 

การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และการส่งเสริมวาระแห่งชาติของไทยในประเด็น BCG

๕. ทั้งสองฝ่ายได้พยายามมุ่งมั่นที่จะเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภายใต้กรอบการเจรจาทางเศรษฐกิจระดับสูง (HLED) และด้วยการสนับสนุนของสภาธุรกิจฝรั่งเศส - ไทย (FTBF) ในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ คมนาคมขนส่ง/โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เมืองอัจฉริยะและสร้างสรรค์ อาหารเพื่ออนาคต และการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน รวมถึงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

๖. ผู้นำทั้งสองได้ชื่นชมความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการดาวเทียมธีออส-๒ ซึ่งไทยเป็นเจ้าของและฝรั่งเศสผลิต เพื่อดำเนินการด้านเกษตรอัจฉริยะ ในการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งวันที่คาดการณ์ว่าจะมีการปล่อยดาวเทียมธีออส-๒ โดย Arianespace Vega C คือ ช่วงต้นปี ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖)

 

การเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน

๗. ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบที่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นโดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการเดินทางอย่างปลอดภัย และกีฬา และอื่น ๆและโดยการกระชับความร่วมมือในการฝึกอบรมวิชาชีพและการศึกษา รวมถึงผ่านการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทยและภาษาไทยในฝรั่งเศส ไทยได้ยินดีในการที่ฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ค.ศ. ๒๐๒๔ (พ.ศ. ๒๕๖๗) ณ กรุงปารีส

๘. ผู้นำทั้งสองได้หารือกันในกิจกรรมที่จะจัดขึ้นภายใต้ “ปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖)” และการลงนามในแถลงการณ์แสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม ในปี ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖)

๙. ไทยและฝรั่งเศสได้เห็นชอบในการจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการสำหรับการครบรอบ ๓๔๐ ปี การติดต่อครั้งแรกระหว่างสยามและฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ (พ.ศ. ๒๕๖๘) และการครบรอบ ๑๗๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๒๐๒๖ (พ.ศ. ๒๕๖๙)

 

การส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นระดับโลก

๑๐. ผู้นำทั้งสองได้ให้คำมั่นที่จะกระชับความร่วมมือ ทั้งในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในการนี้ ฝรั่งเศสยินดีต่อการลงนามในแถลงการณ์แสดงเจตจำนงเข้าร่วมข้อริเริ่ม Preventing Zoonotic Disease Emergence (PREZODE) และการสนับสนุนกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People ของฝ่ายไทย

 

ประเด็นระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ

๑๑. ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกโดยคำนึงถึงมุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก (AOIP) และยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิกของฝรั่งเศสและของสหภาพยุโรป ไทยและฝรั่งเศสประสงค์ที่จะเห็นการเพิ่มพูนความร่วมมือภายใต้กรอบการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอาเซียน - ฝรั่งเศส เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวหลังภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้น บนพื้นฐาน
ของวิสัยทัศน์และผลประโยชน์ร่วมกัน

๑๒. สถานการณ์ในเมียนมาที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องเป็นประเด็นที่ห่วงกังวลสำหรับไทยและฝรั่งเศส ผู้นำทั้งสองแสดงความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อความพยายามของอาเซียนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามฉันทามติ ๕ ข้อ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในเมียนมา

๑๓. ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันว่า ได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประชาคมระหว่างประเทศที่จะร่วมกันจัดการกับความท้าทายจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามแบบดั้งเดิมหรือรูปแบบใหม่ ต่อประเด็นยูเครน ไทยและฝรั่งเศสได้ระลึกถึงข้อมติสมัชชาสหประชาชาติที่ ES-11/1 เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๒ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ซึ่งเน้นย้ำการยึดมั่นต่อหลักการอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐ ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งสองฝ่ายได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลีกเลี่ยงการยกระดับความขัดแย้ง รวมทั้งหาหนทางและวิธีการอย่างจริงจังในการแก้ไขวิกฤตอย่างสันติผ่านการทูตและการเจรจา ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำการสนับสนุนแถลงการณ์ของผู้นำประเทศสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ๕ ประเทศ (P5) ว่าด้วยการป้องกันสงครามนิวเคลียร์และการหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๒ (พ.ศ. ๒๕๖๕) และการเคารพอย่างเต็มที่ต่อพันธกรณีภายใต้แถลงการณ์ดังกล่าว

 

เอเปค

๑๔. วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาของไทยและฝรั่งเศสได้ถูกนำมาหารือภายใต้การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในแนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน
สู่สมดุล” โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ได้ถูกนำมาหารือ โดยเชื่อมโยงกับจุดเน้นของยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศสที่มีต่อภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ในการกระจายความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทาน การเชื่อมต่อทางดิจิทัล ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประเด็น 
ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้นำทั้งสองได้หารือถึงหนทางและวิธีการเพื่อร่วมมือในการทำให้วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จ ประธานาธิบดีมาครงเน้นย้ำความสอดคล้องกันระหว่างวัตถุประสงค์ของเอเปคกับประเด็นที่ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์รูปธรรม ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก

 

***************