พิธีเปิดโครงการของไทย ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างที่ได้รับการอนุมัติในปี ๒๕๖๔ ในระหว่างสัปดาห์ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี ๒๕๖๕

พิธีเปิดโครงการของไทย ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างที่ได้รับการอนุมัติในปี ๒๕๖๔ ในระหว่างสัปดาห์ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 มี.ค. 2565

| 3,468 view

เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๕ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย จัดพิธีเปิดโครงการของไทย (Launching Ceremony) ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง เนื่องในโอกาสสัปดาห์ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี ๒๕๖๕ ผ่านระบบการประชุมทางไกล และมีการถ่ายทอดสดทาง Facebook live ของกระทรวงฯ

โครงการของไทยดังกล่าวเป็นโครงการที่ได้รับการประกาศให้ได้รับทุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) ครั้งที่ ๖ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ ที่นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีจำนวนทั้งหมด ๑๓ โครงการ จาก ๕ หน่วยงาน ดังนี้
(๑) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน ๗ โครงการ
(๒) กระทรวงมหาดไทย จำนวน ๑ โครงการ
(๓) กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน ๑ โครงการ
(๔) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน ๓ โครงการ
(๕) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ๑ โครงการ
โดยทั้งหมดเป็นโครงการเพื่อการพัฒนาที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทยและประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสไทยในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ได้กล่าวเปิดพิธีเปิดโครงการฯ และมีนางจุฬามณี ชาติสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวถ้อยแถลง และมีผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานไทยทั้ง ๕ หน่วยงาน กล่าวแนะนำโครงการของหน่วยงานตนเองที่ได้รับทุนดังกล่าว หลังจากนั้น ทุกคนได้ร่วมกันทำพิธีเปิดโครงการฯ

ฝ่ายไทยชื่นชมพัฒนาการของ MLC ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และยืนยันเจตนารมณ์ที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือในกรอบ MLC ให้มีความก้าวหน้าอย่างสอดประสานและเกื้อกูลกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่ไทยจะรับตำแหน่งประธานร่วม MLC ร่วมกับจีน ต่อจากเมียนมาในช่วงปลายปี ๒๕๖๕

อนึ่ง MLC พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยในปี ๒๕๕๕ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาในอนุภูมิภาคฯ และประกอบด้วยประเทศสมาชิก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพ เมียนมา ประเทศไทย และสาธารรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ MLC ครั้งที่ ๑ จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ และจัดต่อมาเป็นประจำทุกปี และการประชุมผู้นำ MLC ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ และจัดต่อมาเป็นประจำทุก ๒ ปี

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ