วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ค. 2568
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 ก.ค. 2568
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 นายจุลวัจน์ นรินทรางกูร ณ อยุธยา อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่งมอบโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ไทย - โมร็อกโก ให้แก่มหาวิทยาลัย Cadi Ayyad และ สหกรณ์ Tiwizi (ชุมชนเป้าหมายโครงการฯ) โดยมีนาย Mohamed HAFIDI รองประธานสภามหาวิทยาลัย Cadi Ayyad เป็นประธานการรับมอบและนายฟาบีโอ จินดา เอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต นาย Hassan Edderjoun ประธานสหกรณ์ Tiwizi พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมเป็นสักขีพยาน
โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรท้องถิ่นในโมร็อกโก โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทน (โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์) ที่สามารถสร้างรายได้จากการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตท้องถิ่นและสอดคล้องกับวิถีของชาวบ้านในชนบทแถบมาร์ราเกชที่นิยมทำผลไม้ตากแห้ง อาทิ อินทผลัม แอปริคอท และพรุน
การมอบโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมและผลงานของมหาวิทยาลัยศิลปากรถือเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือใต้ –ใต้
โครงการฯ ดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ปี 2560 โดยประธานสภามหาวิทยาลัย Cadi Ayyad แสดงความสนใจโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย ภายหลังจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยรับทราบเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร จากที่ประชุมเชิงวิชาการพลังงานทดแทนในการอบแห้งผลผลิตทางการเกษตร ณ ญี่ปุ่น เมื่อปี 2559 และได้เสนอคำขอความร่วมมือจากฝ่ายไทย อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณใกล้กับเมืองมาร์ราเกช (พื้นที่ดำเนินโครงการฯ) เมื่อปี 2566 ทำให้การดำเนินโครงการฯ หยุดชะงัก แต่ด้วยความมุ่งมั่นในความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ทำให้การดำเนินโครงการฯ สำเร็จและสามารถส่งมอบโรงอบแห้งฯ ให้กับชุมชนเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรมสะท้อนถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างไทย - โมร็อกโกเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **