พิธีส่งมอบอุปกรณ์ผลิตขาเทียมภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัล ระยะที่ ๒

พิธีส่งมอบอุปกรณ์ผลิตขาเทียมภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัล ระยะที่ ๒

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ส.ค. 2566

| 4,563 view

นางทิพย์วรรณ ศุภมิตรกิจจา เอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ ได้เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการส่งมอบอุปกรณ์ผลิตขาเทียม จำนวน ๑๙๓ รายการ รวมมูลค่า ๒,๖๓๙,๐๐๐ บาท หรือประมาณ ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์เซฟา ให้แก่มูลนิธิเพื่อทหารทุพพลภาพและพิการ (Foundation for Disabled and Mutilated Militaries – F.I.M.M.) เพื่อติดตั้งที่ศูนย์ผลิตขาเทียมแห่งใหม่ ณ เมืองบัมบิลอร์ เซเนกัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัล ระยะที่ ๒ โดยมี Colonel Makha Keïta, President of the Council of FIMM เป็นผู้แทนในการรับมอบอุปกรณ์ดังกล่าว และมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหาร Ouakam กรุงดาการ์ ผู้อำนวยการกองทัพ คณะกรรมการบริหาร F.I.M.M. ผู้อำนวยการหน่วยสุขภาพกองทัพ และผู้เชี่ยวชาญด้านขาเทียมของเซเนกัลเข้าร่วม ณ Cercle Messe des Officiers กรุงดาการ์

โครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัล ระยะที่ ๒ เป็นการขยายผลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาภายใต้โครงการจัดตั้งศูนย์ผลิตขาเทียมให้กับมูลนิธิเพื่อทหารทุพพลภาพและพิการที่โรงพยาบาลทหาร Ouakam กรุงดาการ์ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ ร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ดำเนินการเมื่อปี ๒๕๕๔ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเซเนกัล โดยฝ่ายไทยได้สนับสนุนอุปกรณ์และวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตขาเทียม การจัดการผึกอบรมด้านการผลิตขาเทียมให้แก่เจ้าหน้าที่เซเนกัลในไทย การส่งผู้เชี่ยวชาญไปเซเนกัลเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ การผลิตขาเทียม พร้อมทั้งควบคุมการใช้เครื่องมือและให้คำปรึกษาในการผลิตขาเทียม

ต่อมา เมื่อปี ๒๕๖๔ รัฐบาลไทยได้เห็นชอบต่อการขยายผลความร่วมมือในการผลิตขาเทียมแก่ฝ่ายเซเนกัล โดยดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัล ระยะที่ ๒ เพื่อปรับปรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพดีและทันสมัย โดยในปี ๒๕๖๕ ฝ่ายไทยได้จัดการฝึกอบรมรวม ๔ หลักสูตรแก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ที่ไทย ได้แก่ การทำขาเทียมเบื้องต้น การทำขาเทียมชั้นสูง การซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ และการทำแขนเทียม และให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตขา-แขนเทียมที่ทันสมัยของไทย เพื่อสามารถรองรับภารกิจในศูนย์ผลิตขาเทียมแห่งใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น อีกทั้งเพื่อยกระดับศูนย์ฯ ให้เป็นศูนย์ผลิตขาเทียมต้นแบบในเซเนกัลและภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก และสามารถจัดฝึกอบรมให้คนในพื้นที่และภูมิภาคต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ