เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้พบและรับฟังการบรรยายสรุปโดยผู้แทนจาก Marine Recycling Cluster (MRC)

เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้พบและรับฟังการบรรยายสรุปโดยผู้แทนจาก Marine Recycling Cluster (MRC)

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 มี.ค. 2566

| 4,961 view
เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๖ นางสาววิมลพัชระ รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล พร้อมด้วยนายมนต์ศักดิ์ แจ้งอริยวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา และนางสาวกนกนภัส สุขสง เจ้าหน้าที่ค้นคว้าวิจัย บริหารจัดการและประสานงาน Thailand and Nordic Countries Innovation Unit (TNIU) ประจำประเทศนอร์เวย์ ได้พบและรับฟังการบรรยายสรุปโดยผู้แทนจาก Marine Recycling Cluster (MRC) บริษัทเอกชน ๓ แห่ง ได้แก่ SALT, Tiepoint และ LoVeMar สมาชิกของ MRC ซึ่งมีธุรกิจ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเกี่ยวกับการจัดการขยะทะเล
 
SALT ทําหน้าที่ศึกษาวิจัย ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการทางทะเล การพัฒนาชายฝั่ง จัดทำแผนที่ปริมาณขยะ การขนส่งขยะทะเล ระบุแหล่งที่มาและสาเหตุของขยะทะเล เพื่อศึกษา เก็บข้อมูล และกำหนดมาตรการป้องกันปัญหาสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายหลัก คือ การเป็นกระบอกเสียงให้แก่ธรรมชาติ เพราะธรรมชาติไม่สามารถเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ และเน้นความจำเป็นของการจัดการปัญหาขยะทะเลที่มีประสิทธิภาพ โดยควบคู่กับการสร้างงานและรายได้
 
Tiepoint ให้บริการโดรนเพื่อจัดทําแผนที่ โดยเฉพาะแก่หน่วยงานของรัฐและองค์กรขนาดใหญ่ เป็นผู้จัดทําแผนที่ขยะทะเล ให้ข้อมูลจำนวนขยะทะเลบนชายฝั่งและในทะเล โดยใช้ Artificial Intelligence (AI) เพื่อตรวจจับ และจําแนกประเภทของขยะทะเล จัดทําแผนที่ผืนป่า รายงานสภาพของป่าและคํานวณโควต้า CO2 นอกจากนี้ จัดทำข้อมูลป่าชายเลนและการปลูกป่าเพิ่มเติม การคำนวณปริมาณการเติบโตของป่าประจำปี
 
LoVeMAR ให้คำแนะนำและจัดหาอุปกรณ์เพื่อทําความสะอาดชายฝั่ง ผิวน้ำและแม่น้ำ โดยพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีประสิทธิภาพสูง สําหรับระบบกวาด (marine debris sweeper) เพื่อเก็บขยะทะเลที่ลอยอยู่ในน้ำ และสายพานลําเลียงแบบลอยตัว (floating conveyor) เพื่อเก็บขยะทะเลบนชายหาด
 
Mr. Terje Kristensen จากบริษัท Tiepoint สนใจจะร่วมมือกับประเทศไทยในการทําแผนที่ป่าชายเลน (mapping of mangrove forest areas) ดังเช่นมีความร่วมมือในเรื่องนี้กับอินโดนีเซีย และ Mr. Terje Olav Hansen จากบริษัท LoVeMar สนใจจะร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อถ่ายทอดความรู้ ร่วมลงทุนในอุปกรณ์ marine debris sweeper และ floating conveyor โดยจากการทดสอบอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถดักจับขยะทะเลได้ถึงร้อยละ ๙๙.๘ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ จะประสานงานกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อผลักดันให้มีความร่วมมือเป็นรูปธรรมต่อไป
 
บริษัทเอกชน Marine Recyling Cluster (MRC) ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณผ่านโครงการต่าง ๆ จาก Innovation Norway และ Norwegian Retailers’ Environment Fund โดยกองทุนดังกล่าว จะได้รับเงิน ๑ โครนนอร์เวย์จากถุงพลาสติกทุกใบที่จำหน่ายในนอร์เวย์ ผู้ค้าปลีกและผู้ค้าส่งชาวนอร์เวย์ทุกคนที่ซื้อหรือจำหน่ายถุงพลาสติก สามารถเป็นสมาชิกและมีส่วนร่วมในการดำเนินการของกองทุนเพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เห็นความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนนอร์เวย์เพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเล ซึ่งเป็นรูปแบบความร่วมมือที่ดีมาก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ