ไทยผลักดันความร่วมมือกับ YRD ภายใต้ RCEP ในการประชุม Bangkok - Shanghai Economic Conference ครั้งที่ ๕

ไทยผลักดันความร่วมมือกับ YRD ภายใต้ RCEP ในการประชุม Bangkok - Shanghai Economic Conference ครั้งที่ ๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 ส.ค. 2565

| 8,831 view

เมื่อ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ นครเซี่ยงไฮ้ จัดการประชุม Bangkok - Shanghai Economic Conference (BSEC) ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ “RCEP: A Catalyst in Boosting Economy and Deepening Thailand - YRD Economic Partnership in a Post-COVID-19 Era” ที่โรงแรม Portman Ritz-Carlton นครเซี่ยงไฮ้ โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคธุรกิจ นักวิชาการ และสื่อมวลชนเข้าร่วมประมาณ 70 คน และมีผู้รับชมการถ่ายทอดสดทาง live-streaming กว่า ๕,๓๐๐ คน

การประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมระหว่างไทยกับเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) รวมถึงการสนับสนุนการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ อย่างเข้มแข็ง และการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เพื่อการดังกล่าว

ในคำกล่าวของนางสาวลดา ภู่มาศ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้เน้นความสำคัญของ RCEP ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย - YRD และไทย - จีน ผ่านการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การสนับสนุน MSMEs การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการลงทุนในสาขาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมถึงเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของไทยในการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ และเป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือหลักในกรอบ APEC ที่ไทยเป็นประธานในปีนี้ นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนดังกล่าวผ่านการเพิ่มความเชื่อมโยงการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจ และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ

ในส่วนของฝ่ายจีน นาง Zhu Yi รองอธิบดีคณะกรรมการพาณิชย์ นครเซี่ยงไฮ้ ได้ย้ำถึงการที่ RCEP ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการไทยและ YRD โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ YRD เป็นหัวหอกในการเปิดกว้างของจีน

นาย Xue Feng ประธานสำนักงานส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ นครเซี่ยงไฮ้ กล่าวถึงมาตรการในการสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติในนครเซี่ยงไฮ้และ YRD รวมถึงในบริบทของ RCEP และเห็นว่า RCEP เป็นหัวข้อการประชุมฯ ที่เหมาะสม และการมีผู้แทนและมุมมองที่หลากหลายในการประชุมนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับการประชุมฯ

นาย Chen Jiangfeng รองอธิบดีสำนักงานการต่างประเทศ มณฑลเจ้อเจียง ได้เน้นย้ำว่า RCEP จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทยกับเจ้อเจียง รวมถึงที่เขตนิคมอุตสาหกรรมไทย - จีน ที่จังหวัดระยองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้รับเชิญให้ร่วมกล่าวในการประชุมฯ ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ เกี่ยวกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจาก RCEP โดยได้เน้นถึงนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนใน EEC การสนับสนุนของ BOI ในการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนความสอดประสานในการดำเนินการตาม RCEP และความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน นอกจากนี้ นางดลพร อัชววรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้กล่าวเสริมเกี่ยวกับศักยภาพทางเศรษฐกิจในการลงทุนที่ประเทศไทยภายใต้ RCEP 

ในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ที่ประชุมได้เชิญวิทยากรมาร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ทางธุรกิจและประสบการณ์การลงทุนในไทยและ YRD โดยวิทยากรประกอบด้วยนายQian Jun ประธานบริหารด้านการเงินและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในจีน นาย Jiang Feng รองประธานบริษัท Hozon New Energy Automobile หรือ NETA นางสาวอาทินันท์ อินทรพิมพ์ กงสุลฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ฯ และนาย Mao Qiankun ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท WestMeta โดยมีนางดลพรฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ 

การประชุมนี้ได้มีส่วนช่วยเชื่อมโยงธุรกิจไทยและจีนเข้าด้วยกัน โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ริเริ่มและเปิดตัว “Virtual Thai Company Gallery” เป็นครั้งแรก ซึ่งรวบรวมข้อมูลบริษัทไทยที่มีศักยภาพสูงที่จะร่วมมือกับจีนและ YRD โดยสามารถเข้าชมข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.thaibizchina.com

สำหรับผู้ประสงค์จะรับชมการประชุม BSEC ครั้งที่ ๕ ย้อนหลัง สามารถรับชมได้ในช่วง ๖ เดือนข้างหน้า โดยสแกน QR Code ด้านล่าง

0

การประชุม BSEC ครั้งที่ ๕ ได้สานต่อการประชุม BSEC ครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี ๒๕๖๔ ในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับ YRD และมุ่งเน้นความร่วมมือในประเด็นและสาขาธุรกิจทางยุทธศาสตร์ ในการนี้ การที่ที่ประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการหารือเกี่ยวกับธุรกิจการเกษตรและยานยนต์ไฟฟ้าจึงตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยผลผลิตทางการเกษตรเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นจากไทยมา YRD อย่างต่อเนื่อง และยานยนต์ไฟฟ้าเป็นสาขาที่เป็นจุดแข็งของ YRD และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งกำลังมุ่งดำเนินนโยบาย “๓๐/๓๐” กล่าวคือ ไทยตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อยร้อยละ ๓๐ ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในไทยภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ