นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๘ ในช่วงสัปดาห์ผู้นำ (UNGA78 High-level week)

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๘ ในช่วงสัปดาห์ผู้นำ (UNGA78 High-level week)

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ก.ย. 2566

| 5,414 view

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๘ ใน ช่วงสัปดาห์ผู้นำ (UNGA78 High-level Week) ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๔ กันยายน ๒๕๖๖ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ภารกิจต่างประเทศแรกของนายกรัฐมนตรีนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ

(๑) เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทย (renewing confidence) เป็นการเปิดตัวนายกรัฐมนตรีในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่มีระดับผู้นำมาร่วมมากที่สุด ในฐานะผู้นำรัฐบาลใหม่ของไทยที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย สะท้อนถึงเสถียรภาพ ศักยภาพ และความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสานสัมพันธ์ขับเคลื่อนพลวัตความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยการนำเสนอนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน เทคโนโลยี และการพัฒนาที่ยั่งยืน

(๒) ย้ำความเชื่อมั่นและการสนับสนุนของไทยต่อระบอบพหุภาคีที่มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง และความมุ่งมั่นของไทยในการมีส่วนร่วมในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติที่มีบทบาทสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบ โดยมีส่วนร่วมกำหนดวาระสำคัญของโลกที่สมดุล และสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติในการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

(๓) ผลักดันความร่วมมือของประชาคมโลกในการเร่งขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) เพื่อรับมือกับวิกฤตช่องว่างการพัฒนา แก้ไขปัญหา ความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมความสมดุลในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่ง แวดล้อม เสริมสร้างความเป็นอยู่อย่างสันติ ความอยู่ดีกินดี สภาพแวดล้อมที่ดี และสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน (Accelerating the SDGs for peace, prosperity, and sustainability for all)

สำหรับภารกิจสำคัญในบริบทสหประชาชาติ นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงในนามของประเทศไทยในการอภิปรายทั่วไป (General Debate) การประชุมสุดยอดด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) การประชุม Climate Ambition Summit พบหารือกับเลขาธิการสหประชาชาติ อีกทั้งจะกล่าวเปิดกิจกรรมของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดในหัวข้อ Fostering Partnership for Our Common Future: Enhancing Multi-Stakeholder Partnerships to Accelerate the SDGs in ASEAN ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกเหนือจากภารกิจในกรอบสหประชาชาติ นายกรัฐมนตรีจะพบหารือทวิภาคีกับผู้นำระดับสูงของประเทศต่าง ๆ พบกับผู้แทนระดับสูงของภาคธุรกิจสหรัฐฯ มอบนโยบายให้แก่ทีมประเทศไทย และพบปะกับชุมชนไทยในสหรัฐฯ

สำหรับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมในกรอบสหประชาชาติและพบหารือทวิภาคีต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อการเตรียมการไปสู่การประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต (Preparatory Ministerial Meeting of the Summit of the Future) ซึ่งเป็นการเตรียมการไปสู่การประชุมครั้งสำคัญของสหประชาชาติ Summit of the Future ในปี ๒๕๖๗ การประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ (High-level Meeting on Pandemic Prevention, Preparedness, Response (PPPR)) และการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level meeting on Universal Health Coverage (UHC)) และการพบหารือทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ และประธานสมัชชาสหประชาชาติ

นอกจากนี้ ไทยจะใช้โอกาสการเข้าร่วม UNGA78 High-level Week เปิดตัวการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่ง สหประชาชาติ (Human Rights Council - HRC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕ - ๒๐๒๗ อีกด้วย

การประชุม UNGA78 ในห้วงปี ๒๕๖๖ – ๒๕๖๗ เป็นช่วงสำคัญของการกำหนดทิศทางและอนาคตของโลก โดยเฉพาะ (๑) การฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบอบพหุภาคีที่มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง (๒) การรับมือและก้าวข้ามวิกฤตด้านต่าง ๆที่ยังคงสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนและระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา (๓) เป็นโอกาสให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติร่วมผนึกกำลังในการขับเคลื่อนดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างเป็นรูปธรรมภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินมากว่าครึ่งทางแล้ว และ (๔) ร่วมกันวางแนวทางความร่วมมือสู่อนาคตที่ตอบโจทย์วาระใหม่ ๆ เช่น วาระใหม่เพื่อ สันติภาพ (New Agenda for Peace) ความตกลงโลกด้านดิจิทัล (Global Digital Compact) อวกาศส่วนนอก (Outer Space) และตัวชี้วัดการพัฒนาที่นอกเหนือ GDP (Beyond GDP)

อนึ่ง นายเดนนิส ฟรานซิส (Mr. Dennis Francis) ชาวตรินิแดดและโตเบโก ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๘ (PGA78) ได้ประกาศหัวข้อการอภิปรายทั่วไปสำหรับ UNGA78 ได้แก่ “Rebuilding trust and reigniting global solidarity: Accelerating action on the 2030 Agenda and its Sustainable Development Goals towards peace, prosperity and sustainability for all” ซึ่งเน้นเรื่องการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมโลกเพื่อเร่งการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สู่สันติภาพ ความมั่งคั่ง ความก้าวหน้าและความยั่งยืนสำหรับทุกคน