สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 8,665 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น.

ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live

 

๑. ภารกิจของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการเยือนนครฉงชิ่ง เมื่อวันที่ ๖-๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑.๑ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ 

  • ที่ประชุมได้ทบทวนพัฒนาการและความสำเร็จของความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ตลอด ๓๐ ปี ในทุกมิติ โดยเฉพาะการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์แพร่ระบาด ซึ่งขณะนี้ไทยฉีดวัคซีนเป็นอันดับ ๓ ของอาเซียน ที่ประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมทั้งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน ระหว่างปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕
  • อาเซียนชื่นชมจีนที่สนับสนุนอาเซียนในการรับมือโควิด-๑๙ โดยเฉพาะการสนับสนุนเงินจำนวน ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สมทบกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ และการสนับสนุนวัคซีนแก่ประเทศต่าง ๆ และที่อาเซียนและจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ ๑ ของกันและกันในปัจจุบัน
  • ไทยสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-จีนอย่างรอบด้าน และส่งเสริมความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบและสันติและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยเน้นย้ำว่าความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นหัวใจสำคัญสำหรับความสัมพันธ์อาเซียน-จีนในอนาคต โดยเสนอให้ร่วมมือกันด้านการขจัดความยากจน ความมั่นคงด้านอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสนอให้ใช้เศรษฐกิจเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และได้เสนอเอกสารโครงการความร่วมมืออาเซียน-จีน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ทั้งในกรอบทวิภาคี กรอบอาเซียน และกรอบพหุภาคี จำนวน ๓๐ โครงการ อาทิ การสัมมนาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนไทย-จีน และกิจกรรมลดมลภาวะพลาสติกจากผืนดินสู่ผืนน้ำ ซึ่งจะจัดในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  • ด้านเศรษฐกิจ ไทยผลักดัน (๑) การปฏิบัติตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน- จีน (ACFTA) และความตกลง RCEP ซึ่งหลายประเทศกำลังเร่งการภาคยานุวัติความตกลง RCEP และ (๒) ความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งแนวคิด “Connecting the Connectivities” และผ่านการสอดประสานระหว่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ๒๐๒๕ (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025-MPAC 2025) กับข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน และ (๓) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสร้างโอกาสให้กลุ่ม MSMEs start-ups และผู้ประกอบการท้องถิ่น
  • ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์และทะเลจีนใต้ ไทยเน้นย้ำการรักษาดุลยภาพทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการเผชิญหน้า ความตึงเครียด และส่งเสริมความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และย้ำท่าทีไทยต่อประเด็นทะเลจีนใต้ ที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล
  • ประเด็นเมียนมา
    • จีนสนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนต่อสถานการณ์ในเมียนมา พร้อมสนับสนุนให้เมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ ๕ ข้อ (Five-Point Consensus) จากการประชุมผู้นำอาเซียน เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๔ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
    • ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงรับประทานอาหารเช้า (Informal Working Breakfast) เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนฯ ได้แจ้งความคืบหน้าการเดินทางเยือนเมียนมา โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของประธานอาเซียน ซึ่งจำเป็นต้องสามารถทำงานร่วมกับเมียนมาได้ ทั้งนี้ กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๕ ยืนยันให้ผู้แทนพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องแม้จะมีการเปลี่ยนประธานอาเซียนตามวาระ

 

๑.๒ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ ๖ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

  • ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบ MLC ประกอบด้วยทย กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และจีน ได้เน้นความร่วมมือด้านสาธารณสุขและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-๑๙ ความร่วมมือระดับรัฐบาลท้องถิ่นและระดับประชาชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในลุ่มน้ำโขง
  • ที่ประชุมจะจัดทำแผนปฏิบัติการของกรอบ MLC ระยะ ๕ ปี ฉบับใหม่ และรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จำนวน ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) ข้อริเริ่มว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น (๒) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (๓) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์แผนดั้งเดิม
  • สำหรับไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้มีความร่วมมือ ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) ด้านสาธารณสุข และการเข้าถึงวัคซีน (๒) การฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เน้นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พลังงานและวัสดุ สุขภาพและการแพทย์ การท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นสาขาที่อนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง มีศักยภาพ (๓) ความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจชายแดนกับการพัฒนาระเบียงนวัตกรรม (innovation corridors) ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digital transformation) และ (๔) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งปันข้อมูลน้ำ และการแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ

 

๑.๓ การหารือทวิภาคีกับจีน ทั้งสองฝ่ายหารือส่งเสริมความร่วมมือ ๕ ด้าน ได้แก่

  • ด้านวัคซีน – ไทยได้ขอ และจีนสนับสนุนการจัดหาวัคซีนเพื่อให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ประชากร ร้อยละ ๗๐ ทั้ง Sinovac และ Sinopharm ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตลอดจนวัคซีน CanSino ตัวใหม่เมื่อจีนพัฒนาสำเร็จ
  • ความเชื่อมโยง - ทั้งสองฝ่ายย้ำเจตจำนงที่จะร่วมกันส่งเสริมความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง EEC และเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (GBA) และความเชื่อมโยงระหว่างโครงการรถไฟไทย - จีน กับรถไฟจีน - ลาว
  • การพัฒนาที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศของทั้ง ๒ ฝ่าย โดยจีนสนับสนุนความร่วมมือภายใต้เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของไทย
  • การฟื้นฟูการเดินทางในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ – ไทยขอให้จีนอนุญาตให้นักศึกษาไทยเดินทางกลับจีนเพื่อไปศึกษาต่อ และให้สายการบินของไทยสามารถกลับไปทำการบินเชิงพาณิชย์ในจีนได้ในโอกาสแรก
  • ความร่วมมือในภูมิภาคและอนุภูมิภาค - จีนพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๔ และทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้ความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับโดยเร็ว

 

๒. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC)

  • เมื่อวันที่ ๒-๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ โดยที่ประชุมได้ขับเคลื่อนประเด็นที่เอเปคให้ความสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่
  • การรับมือกับโควิด-๑๙ ผ่านความร่วมมือทางการค้าการลงทุน อาทิ การขจัดอุปสรรคทางการค้า การประสานนโยบายและกฎระเบียบ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีน ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและราคาย่อมเยา
  • การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น และปรับปรุงโครงสร้างเพื่อให้ MSMEs สตรี และสตาร์ทอัพ สามารถเติบโตและเข้าถึงตลาดโลก
  • การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยเฉพาะการค้าและการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
  • ไทยนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคและตอบโจทย์การบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ รวมถึงได้เสนอให้เอเปคพิจารณาจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เพื่อให้การทำงานมีบูรณาการและเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยไทยจะสานต่อประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมต่อไปในการเป็นเจ้าภาพเอเปค ปี ๒๕๖๕

 

๓. ผลการหารือระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

  • เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ นายตีแยรี มาตู (Thierry Mathou) ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสเข้ารับหน้าที่
  • ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศที่มีมายาวนานกว่า ๓๓๖ ปี และยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสนใจต่อประเทศไทยในการเป็นที่ตั้งศูนย์ภูมิภาคที่สำคัญขององค์การต่าง ๆ ของฝรั่งเศส ขณะที่เอกอัครราชทูตฯ ได้เน้นย้ำบทบาทที่สำคัญของไทยในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
  • ทั้งสองฝ่ายย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ผ่านการจัดทำโร้ดแมปไทย-ฝรั่งเศสที่ปฏิบัติได้จริง อาทิ ความร่วมมือด้านความมั่นคง การค้าและการลงทุน การศึกษา ความสัมพันธ์ระดับประชาชน และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
  • ทั้งสองฝ่ายยังหารือความร่วมมือในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในภูมิภาค

 

๔. กรณีมีการพาดพิงการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศว่า ไทยเอนเอียงเข้าข้างสหรัฐฯ

  • ตามที่มีการรายงานข่าวพาดพิงการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศว่า ไทยเอนเอียงเข้าข้างสหรัฐฯ จนทำให้จีนไม่พอใจไทยและส่งสัญญาณด้วยการชะลอการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนใหม่และไม่อนุญาตให้นักศึกษาไทยเดินทางกลับไปเรียนต่อในจีน กระทรวงการต่างประเทศ ขอชี้แจงว่า ไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างสมดุลกับทั้งสหรัฐฯ และจีน ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน มีการเยือนและหารือกันอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ไทย – จีนยังใกล้ชิด แน่นแฟ้น โดยมีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
  • สำหรับกรณีนักศึกษาไทยที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับไปเรียนต่อที่จีนได้นั้น ปัจจุบันรัฐบาลจีนยังไม่มีนโยบายให้นักศึกษาต่างชาติไม่ว่าจากประเทศใดเข้าจีน ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาจากไทย ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศตระหนักดีถึงความเดือดร้อนและเห็นใจนักศึกษาไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับไปศึกษาต่อในจีนอย่างยิ่ง และได้เร่งแก้ไขปัญหาในทุกระดับ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทยหารือกับหน่วยงานจีนเพื่อหาทางออก และได้หารือหยิบยกเรื่องนี้กับมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนในหลายโอกาส และล่าสุดในการหารือทวิภาคีที่นครฉงชิ่งเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔
  • เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้เคยแจ้งว่า เมื่อจีนผ่อนคลายมาตรการแล้ว นักศึกษาไทยควรเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับไปศึกษาต่อที่จีน
  • สำหรับประเด็นการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนใหม่ แทนอดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยที่ได้ลากิจกลับประเทศจีน ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ นั้น เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๔ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้มีหนังสือแจ้งการพ้นจากตำแหน่งของเอกอัครราชทูตท่านเดิมก่อนครบวาระประจำการเนื่องจากปัญหาสุขภาพ โดยให้ข้อมูลว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงเอกอัครราชทูตจีนในต่างประเทศนอกฤดูกาลและอย่างกะทันหัน ซึ่งทำให้ฝ่ายจีนต้องเริ่มกระบวนการสรรหาบุคคลที่เหมาะสมนอกวงรอบการพิจารณาปกติ ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ ฝ่ายจีนได้ยื่นหนังสือทาบทามขอความเห็นชอบการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนใหม่แล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอนของฝ่ายไทย
  • สำหรับกรณีมีการพาดพิงว่าทางการไทยอนุญาตให้สหรัฐฯ สร้างสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้างมากถึง ๙,๐๐๐ ล้านบาท และรูปแบบโครงสร้างอาคารเป็นความลับ อาจมีการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เป็นฐานติดตามความเคลื่อนไหวของจีน นั้น ฝ่ายสหรัฐฯ ได้ขอปรับปรุงและเริ่มก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่ เนื่องจากที่ทำการเดิมมีพื้นที่คับแคบ ไม่ตอบสนองนโยบาย Under One Roof Policy ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ประสงค์ให้บุคลากรทางกงสุลและหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ในเชียงใหม่ทั้งหมดปฏิบัติงานในที่เดียวกัน โดยมีกำหนดก่อสร้างเสร็จในปี ๒๕๖๖ ทั้งนี้ การตั้งสถานกงสุลต่างประเทศในไทยทุกแห่ง รวมทั้งการก่อสร้างที่ทำการอยู่ภายใต้กฎหมายไทย หลักปฏิบัติสากล และกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ปฏิบัติกับทุกประเทศเหมือนกัน

 

๕. การให้ความช่วยเหลือด้านโควิดจากสหรัฐฯ

  • ตั้งแต่ช่วงเริ่มการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-๑๙ ในประเทศไทยแล้วรวมเป็นมูลค่าประมาณ ๓๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือกับไทย ประกอบด้วย
             (๑) การบริจาคอุปกรณ์ป้องกันและรักษาโรคแก่บุคลากรการแพทย์ของไทยจำนวน ๑๗.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่พื้นที่พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดน และ
              (๒) การให้ความช่วยเหลือจำนวน ๑๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่าน Centers for Disease Control (CDC) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development – USAID) ซึ่งทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด โดยความช่วยเหลือดังกล่าวครอบคลุมการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อาทิ การให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวินิจฉัยโรค การพัฒนาระบบเฝ้าระวังสำหรับพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา จำนวน ๙ แห่ง การสนับสนุนการให้คำปรึกษาออนไลน์ และสนับสนุนเครื่องวัดระดับออกซิเจนให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ รวมถึงโครงการให้ความรู้ด้านสุขอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
  • เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ประเทศต่าง ๆ โดยสหรัฐฯ มีแผนจะแบ่งปันวัคซีนจำนวนอย่างน้อย ๘๐ ล้านโดสให้กับประเทศต่าง ๆ ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ โดยเบื้องต้นจะเริ่มแบ่งปันวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐฯ ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Pfizer, Moderna และ Johnson & Johnson จำนวนรวม ๒๕ ล้านโดส
  • ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะได้รับการจัดสรรวัคซีน จำนวนประมาณ ๗ ล้านโดสด้วย ในขณะนี้ ยังไม่มีการระบุรายละเอียดชนิดและจำนวนวัคซีนที่แต่ละประเทศจะได้รับ
  • กระทรวงการต่างประเทศได้ขอรับข้อมูลทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานงานกับฝ่ายสหรัฐฯ สำหรับการส่งมอบวัคซีนที่จัดสรรให้ไทยต่อไป และได้รายงานข้อมูลดังกล่าวแก่คณะกรรมาธิการต่างประเทศประจำรัฐสภาแล้ว 

 

๖. ท่าทีไทยต่อเมียนมา และสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา และการช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่และผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา

  • ตามที่ประชาคมอาเซียนได้ถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ปัญหาในเมียนมาแม้เวลาได้ล่วงเลยมากว่า ๑ เดือน หลังจากที่ผู้นำอาเซียนได้ประชุมกันที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔ และมีข้อตกลงในรูปแบบของฉันทามติ ๕ ข้อ นั้น
  • ไทยประสงค์ให้มีการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อ ที่ที่ประชุมผู้นำอาเซียนได้เห็นพ้องกันอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของอาเซียน และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งอาเซียนกำลังหารือรายละเอียดเรื่องนี้ นอกจากนี้ ไทยยังหวังว่าประชาคมโลกและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมา จะให้การสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนของอาเซียนดังกล่าวด้วย
  • ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้มีการแก้ปัญหาในเมียนมา แม้สถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมาจะเกิดขึ้นมากว่า ๔ เดือน ขอยืนยันว่า ไทยตระหนักดีถึงความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียง ไทยก็ตระหนักถึงความซับซ้อนของสถานการณ์ในเมียนมาเช่นกัน รวมทั้งได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิดและมีความไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของเมียนมา และเสียใจอย่างยิ่งกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความรุนแรง ที่ผ่านมา ไทยได้เรียกร้องผ่านช่องทางต่าง ๆ มาโดยตลอดให้มีการคลี่คลายสถานการณ์ ยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกันโดยสันติวิธีด้วยการพูดคุยกันผ่านช่องทางที่สร้างสรรค์ใด ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเมียนมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยให้ความสำคัญ และก็จะยังคงสนับสนุนและผลักดันให้มีความคืบหน้าในเรื่องเหล่านี้ต่อไป
  • อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของไทยหลายเรื่องอาจไม่ได้มีการประกาศให้สาธารณชนทราบ เนื่องจากเรายึดแนวทางการทูตแบบเงียบ ๆ ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นแนวทางการทูตของไทยมาโดยตลอด
  • ไทยให้ความสำคัญและความห่วงใยต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเมียนมา ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดของคนไทย โดยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผ่านสภากาชาดไทยไปยังสภากาชาดเมียนมา เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการแพทย์แก่ประชาชนเมียนมา นอกเหนือจากโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการในเมียนมามาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ซึ่งมุ่งเน้นประโยชน์ของประชาชนเมียนมาเป็นหลัก ทั้งนี้ ไทยยินดีที่จะมีบทบาทช่วยสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์เพิ่มเติมในฐานะมิตรที่ดีของทุกฝ่ายในเมียนมาและส่วนหนึ่งของครอบครัวอาเซียน
  • สำหรับประเด็นการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา อันเป็นเหตุให้มีประชาชนชาวเมียนมาจำนวนมากข้ามมาฝั่งไทย บริเวณชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อหลบหนีความไม่สงบ ไทยขอยืนยันว่า การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพบริเวณชายแดนไทย – เมียนมาเป็นเรื่องสำคัญและมีผลโดยตรงต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชายแดนทั้งสองฝั่ง ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาร่วมมือกันรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝั่งชายแดน ขณะเดียวกัน ไทยได้ให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบ/การสู้รบจากเมียนมาที่เดินทางข้ามมาฝั่งไทยตามหลักการมนุษยธรรมที่ไทยยึดถือมายาวนานด้วย

 

English version

I wish to respond to questions regarding the ongoing situation in Myanmar and along the Thai-Myanmar borders as follows:

  1. Thailand hopes to see concrete implementation of the Five-Point Consensus as agreed by the ASEAN Leaders’ Meeting on 24 April 2021 as soon as possible, especially the appointment of the ASEAN Special Envoy and the provision of humanitarian assistance to the Myanmar people. We hope that the international community and all parties concerned in Myanmar will support this ASEAN process.
  2. Thailand is aware of the expectations of the international community as well as the complexity of the situation in Myanmar. We have been following developments in Myanmar closely with much concern, especially incidents of violence in many parts of the country. Thailand is deeply saddened by the loss of lives due to those incidents of violence and reiterate our call for de-escalation, end to violence, release of all detainees and a peaceful solution through dialogue via any constructive channels.
  3. We will continue to work for progress as we care deeply about the well-being of the people of Myanmar, who are our neighbours. To this end, the Thai Government recently contributed 5 million baht through the Thai Red Cross Society to the Myanmar Red Cross Society to provide humanitarian assistance. Both countries have also been implementing development cooperation projects for the benefits of the Myanmar people. Thailand stands ready to do more to contribute constructively as a good friend of all parties in Myanmar and a member of the ASEAN family.
  4. Much of what Thailand has done may not have been made public as we believe that quiet and discreet diplomacy between neighbours would be more effective and in line with traditional Thai diplomacy.
  5. Thailand attaches high importance to maintaining peace and stability along the Thai-Myanmar border. We call on all parties in Myanmar to ensure peace and stability in the border areas for the benefit of the peoples. We will continue to provide humanitarian assistance to the Myanmar people who are fleeing from situations of unrest in accordance with Thailand's long-standing humanitarian tradition.
  • ในห้วง ๑ – ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้หนีภัยฯ ในพื้นที่ จ. แม่ฮ่องสอนและตาก ได้แสดงความประสงค์เดินทางกลับภูมิลำเนาฝั่งเมียนมา ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ แล้วเห็นว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ จึงได้อนุญาตให้ทยอยเดินทางกลับ ส่งผลให้จำนวนผู้หนีภัยฯ ทั้งหมดลดลงจากประมาณ ๕๒๐ คน (สถานะวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๔) เหลือเพียง ๕๘ คน (สถานะวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔) ใน “พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว” ใน จ.แม่ฮ่องสอน
  • ไทยยังคงติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ในเมียนมา และบริเวณแนวชายแดนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยมี ความพร้อม ที่จะรองรับและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยฯ ที่อาจเดินทางเข้ามาเพิ่มเติมตามแนวปฏิบัติ ที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

 

๗. การฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียน/นักศึกษาไทยที่จะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ และการฉีดวัคซีนให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย

  • กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เปิดรับลงทะเบียนฉีดวัคซีนให้นักเรียน/นักศึกษาที่อยู่ในประเทศไทย และจะเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยในชั้นต้น ได้เปิดรับการลงทะเบียนไปแล้ว และมีนักเรียน/นักศึกษาที่ลงทะเบียนและผ่านการคัดกรองกว่า ๔,๐๐๐ คน ทั้งนี้ ได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน/นักศึกษากลุ่มดังกล่าวไปแล้วระหว่างวันที่ ๒๙ พฤษภาคม - ๑ มิถุนายน และ ๔-๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ (ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.วิมุต และ รพ. พญาไท ๒) จำนวน ๑,๖๑๒ คน และมีนักเรียน/นักศึกษา ที่อยู่ระหว่างการรอยืนยันสถานที่ฉีด จำนวน ๒,๐๙๖ คน ขอให้นักเรียน/นักศึกษา ที่ลงทะเบียนแล้ว รอการแจ้งยืนยันสถานที่ฉีดผ่านทางอีเมลต่อไปและกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล จะพิจารณาเปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น/ความต้องการเพิ่มเติม
  • กรมสารนิเทศ ได้จัดให้มีการลงทะเบียนฉีดวัคซีนสำหรับสื่อมวลชนต่างประเทศในไทยที่ถือวีซ่าประเภท Media รวมถึงผู้ติดตาม และเจ้าหน้าที่คนไทยที่ทำงานในสังกัดสำนักข่าวต่างประเทศ โดยมีผู้ลงทะเบียนขอรับการฉีดวัคซีนแล้ว จำนวน ๓๕๙ คน (สถานะ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๔) กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดสรรวัคซีน และจะนัดหมายการฉีดวัคซีนให้แก่บุคคลกลุ่มนี้ต่อไป

 

๙. ประชาสัมพันธ์

๙.๑ รายการ Spokesman Live!!!

  • ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ขอเชิญติดตามรายการคุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! ซึ่งจะรีรันเทปสัมภาษณ์ รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “CPTPP: โอกาสและความท้าทายของไทย” สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

 

๙.๒ รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

  • วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย หัวข้อ “ไทยกับ CPTPP – ท่ามกลางสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง” สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”
  • นอกจากนี้ อธิบดีวิลาวรรณฯ เป็นเป็นผู้สมัครของไทยสำหรับตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission – ILC) วาระปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ อีกด้วย สามารถติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับ ILC และกฎหมายระหว่างประเทศที่น่าสนใจได้ที่ทวิตเตอร์ของอธิบดีวิลาวรรณฯ ในชื่อ “ThailandforILC”
  • และในวันศุกร์ที่ ๑๑ มิ.ย. ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ในหัวข้อ “Newly-established “Dongxing” checkpoint at Guangxi : an opportunity for Thai Fruits Export to China” สามารถติดตามรับฟังได้ทาง Facebook “FM 88 Radio Thailand English”

 

๙.๓ ทุนวิจัยและทุนปริญญาเอกด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับนักศึกษาไทย

  • ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue –ACSDSD) ซึ่งเป็น ๑ ใน ๗ ศูนย์อาเซียนที่ไทยริเริ่มก่อตั้งขึ้นในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปี ๒๕๖๒ ประกาศมอบทุนให้แก่นักศึกษาไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อศึกษาและวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียน ได้แก่ ทุนวิจัย ๑ ทุน เปิดรับสมัครถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ และทุนปริญญาเอก ๓ ทุน เปิดรับสมัครถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ https://www.cm.mahidol.ac.th/acsdsd/

 

* * * * *

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ppt_แถลงข่าวประจำสัปดาห์_10_มิ.ย._64.pdf