สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๐๐ น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ธ.ค. 2565

| 8,149 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์  
วันศุกร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๐๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ


๑. แนะนำโฆษก กต. คนใหม่

  • นางกาญจนา ภัทรโชค อธ.กรมสารนิเทศ แนะนำตัวในฐานะโฆษก กต.คนใหม่ มุ่งเน้นการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสื่อมวลชนและสาธารณชน ขณะเดียวกันก็
    เรียนรู้/รับทราบจากทุกฝ่าย


๒. การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ (๑๓ - ๑๕ ธ.ค. ๒๕๖๕)

น.ส. อุศณา พีรานนท์ อธ.กรมอาเซียน

  • เมื่อวันที่ ๑๔ ธ.ค. นรม. เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – สหภาพยุโรป พร้อมด้วย รนรม./รมว.กต. ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำอาเซียนได้พบปะผู้บริหารของอียูและผู้นำอียูทั้ง ๒๗ ประเทศในคราวเดียวกัน
  • เมื่อวันที่ ๑๓ ธ.ค. ๒๕๖๕ นรม. / รนรม./รมว.กต. ยังได้พบปะภาคเอกชนชั้นนำของอียู ในช่วงอาหารกลางวัน โดยฝ่ายไทยได้ย้ำถึงนโยบายเศรษฐกิจไทยที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระสำคัญในช่วงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคที่ผ่านมาของไทย
    ที่สมาชิกเอเปคได้ให้การรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG” แล้ว และยังเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับนโยบาย Green Deal ของอียู นอกจากนี้ ยังเป็นประเด็นสำคัญในการค้ากับอียู ฝ่ายไทยเชิญชวนให้อียูมาลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและไฮโดรเจนเขียวในไทยและอาเซียน และส่งเสริมความร่วมมือเรื่อง LNG เพื่อลดความผันผวนของราคา LNG ในตลาดโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งอาเซียนและอียู ในช่วงที่กำลังฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-๑๙
  • ประเด็นสำคัญที่ได้หารือกับฝ่ายอียู ได้แก่
    • (๑) ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ ไทยได้เชิญชวนให้อียูเข้ามาลงทุนในอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่อียูสามารถใช้ประโยชน์ การส่งเสริมความเชื่อมโยง โดยได้มีการลงนาม
      ความตกลงทางเดินอากาศรอบด้านระหว่างอาเซียน-อียู
    • (๒) ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค ทั้งสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งได้มีการย้ำถึงเจตนารมณ์ของอาเซียนในการขับเคลื่อนฉันทามติ ๕ ข้อ และสถานการณ์ในยูเครน โดยเฉพาะการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การยุติความรุนแรง และหลักการของตามกฎบัตรสหประชาชาติ และ
    • (๓) ประเด็นท้าทายในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจก และการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งล้วนเป็นหัวใจของการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่อียูจะใช้เป็นตัวกลางสำหรับความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้
    • ไทยผลักดันให้อียูอำนวยความสะดวกแก่สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากไทย รวมทั้งย้ำถึงการดำเนินการของไทยและอาเซียนเพื่อยกระดับมาตรฐานในด้าน
      ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้อาเซียนเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลก
  • ไทยและอียูได้ลงนามกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย-สหภาพยุโรป (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ซึ่งใช้เวลาเจรจา ๑๘ ปี เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือที่ชัดเจนและมีแบบแผนมากขึ้นในทุกด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเพิ่มกรอบการหารือเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของกันและกัน ตลอดจนการดำเนินความร่วมมือและกิจกรรมเสริมสร้าง
    ขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ โดยไทยมีเป้าหมายที่จะให้ความร่วมมือภายใต้ PCA ช่วยยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมสากล และนำไปสู่การเปิดการเจรจาจัดทำ FTA กับอียูต่อไป

น.ส. สมฤดี พู่พรอเนก รอธ.กรมยุโรป

  • รนรม./รมว.กต. ได้เข้าร่วมการหารือทวิภาคีระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู สมัยพิเศษ ของ นรม. กับฝ่ายยุโรป ได้แก่
    (๑) ผู้นำของ EU (ปธ. คณะมนตรียุโรป) (๒) นรม. เช็ก (๓) นรม. เนเธอร์แลนด์ (๔) นรม. ฟินแลนด์ (๕) นรม. กรีซ และ (๖) นรม. ฮังการี
  • ตัวอย่างผลลัพธ์การหารือที่สามารถนำไปพัฒนาให้เป็นรูปธรรม อาทิ
    • (๑) การผลักดันการฟื้นการเจรจา FTA กับการส่งเสริมการค้าสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกับอียู
    • (๒) ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำกับเนเธอร์แลนด์
    • (๓) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การทหารและเทคโนโลยีด้านอวกาศกับเช็ก
    • (๔) การจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางการทูตกับกรีซ
    • (๕) การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยและความร่วมมือด้านพลังงานกับฮังการี
    • (๖) การดูแลสวัสดิภาพของแรงงานไทยที่ทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์
  • นอกจากนี้ รนรม./รมว.กต. ได้หารือทวิภาคีกับผู้แทนระดับสูงของ EU ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง ซึ่งสองฝ่ายยินดีกับพัฒนาการความสัมพันธ์ที่ดี
    โดยเฉพาะได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างกัน หรือที่เรียกว่า PCA ระหว่างการประสุดยอดฯ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับทิศทางของความสัมพันธ์ และได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ เช่น ในยูเครนและเมียนมา โดยฝ่ายไทยย้ำการเปิดพื้นที่เจรจาทางการทูต
    ความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนและการหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้ง

นางกาญจนา ภัทรโชค อธ.กรมสารนิเทศ/โฆษก กต.

  • อียูถือเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ของไทยและอาเซียน ความสัมพันธ์อาเซียน-อียู มีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับในสถานการณ์โลกปัจจุบัน อียูสนใจอาเซียนมากขึ้นในฐานะตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า ๖๗๐ ล้านคน ในขณะเดียวกัน ถึงแม้อียูจะมีประชากรไม่มาก แต่เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ในแง่เม็ดเงิน และมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสูงมาก จึงเชื่อว่าการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือต่อไป

 

๓. ภารกิจการให้การสนับสนุนการพัฒนาในราชอาณาจักรภูฏานของไทย

  • ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธ.กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ พร้อมคณะได้เดินทางไปยังประเทศภูฏาน เพื่อปฏิบัติภารกิจติดตาม
    การสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อการพัฒนาภูฏาน โดยมีกิจกรรมที่สำคัญได้แก่
    • การส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการผ่าตัดและตรวจรักษาโรคหู จมูก และคอ จำนวน ๘ รายการ รวมมูลค่า ๑๔ ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาล Jigme Dorji Wangchuk National Referral Hospital ที่กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งเป็นการสนับสนุนของรัฐบาลไทยภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์ หู จมูก และคอในภูฏาน เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์ด้านหู จมูก และคอในภูฏาน
    • นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมสถานที่สำคัญ อาทิ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบในตำบล Uesu Gewog (อีซุ เกว็อค) ซึ่งมี นายพลากฤษณ์ การะหงส์ อาสาสมัครเพื่อนไทย ปฏิบัติงานที่จังหวัด Haa (ฮา) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน Haa Dairy Group ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากนม และเป็นศูนย์ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมของชาวบ้านในจังหวัดฮา การพบหารือผู้ว่าราชการจังหวัดฮาเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทยกับภูฏานในการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนในจังหวัดฮา ผ่านการพัฒนาการผลิตสินค้า OGOP และการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี ภายใต้โครงการ OGOP Model ll ถือเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาของไทยให้กับมิตรประเทศ

๔. ข่าวประชาสัมพันธ์

  • ขอเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมงานแถลงข่าวการลงนามความตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ไทย-สหภาพยุโรป โดยมีอธิบดีกรมยุโรป และ ออท. สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เป็นผู้แถลงข่าวร่วม ในวันจันทร์ที่ ๑๙ ธ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องบัวแก้ว กต.

* * * * *

รับชมย้อนหลัง>>> https://fb.watch/hrSbGO7hQJ/

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบการแถลงข่าว_15_ธค_2565_17.35.pptx