สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น. ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น. ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 พ.ค. 2565

| 1,916 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

. ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐ สมัยพิเศษ และการเยือนสหรัฐฯ ของ นรม. (๑๒ - ๑๓ พ.ค. ๖๕)

  • นรม.ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ณ กรุงวอชิงตัน ในวาระครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - สหรัฐฯ ตามคำเชิญของนายโจ ไบเดน (Joe Biden) ปธน.สหรัฐฯ
  • นรม.และผู้นำอาเซียนได้พบหารือกับ ปธน.สหรัฐฯ นางคามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รอง ปธน.สหรัฐฯ นางแนนซี เพอโลซี (Nancy Pelosi) ปธ.สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผู้แทนพิเศษระดับสูงจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และนายจอห์น เคอร์รี่ (John Kerry) ผู้แทนพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนผู้นำภาคเอกชนของสหรัฐฯ ได้แก่ สภาธุรกิจสหรัฐฯ - อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) หอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce: USCC) และคณะนักธุรกิจ National Center for APEC (NCAPEC)
  • นรม.เน้นย้ำกับฝ่ายสหรัฐฯ ถึงความสำคัญของการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อการก้าวต่อไปสู่ยุค “ความปกติถัดไป” ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยได้ผลักดันความร่วมมือใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่
    (๑) การส่งเสริมให้สหรัฐฯ มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาค การทำงานร่วมกับอาเซียนและผู้เล่นสำคัญต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศของความร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งเสนอให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญประเด็นด้านมนุษยธรรมเพื่อเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนจากสภาวการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ต่าง ๆ
    (๒) การฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน เชิญชวนให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ร่วมลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในภูมิภาค อาทิ สาขายานยนต์ไฟฟ้า และ
    (๓) การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำ และการร่วมมือกันผลักดันแนวคิดใหม่ ๆ เช่น โมเดลเศรษฐกิจ BCG
    ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างสมดุล
  • ปธน.สหรัฐฯ รวมทั้งผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้เน้นย้ำการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อความเป็นแกนกลางของอาเซียน และการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ พร้อมทั้งประกาศข้อริเริ่มใหม่จำนวน ๑๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายความร่วมมือกับอาเซียนในด้าน
    การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษา ความร่วมมือทางทะเล และความมั่นคงด้านสาธารณสุข
  • ทั้งสองฝ่ายได้รับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน และปธน.สหรัฐฯ ยังได้ประกาศการเสนอชื่อนายโจฮานเนส อะเบเบ อับราฮัม (Johannes Abebe Abraham) ให้เป็น ออท.สหรัฐฯ ประจำอาเซียนด้วย
  • สำหรับภารกิจของ รอง นรม./รมว.กต. เมื่อวันที่ ๑๒ พ.ค. ๒๕๖๕ ได้พบหารือกับนายแอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รมว.กต.สหรัฐฯ เรื่องการส่งเสริม
    ความร่วมมือที่มีอยู่ในทุกมิติอย่างครอบคลุม ทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการรับมือกับโควิด-๑๙ การป้องกันและ
    ปราบปรามการค้ามนุษย์ และการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ชื่นชมความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ โดยทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านระหว่างวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยกับสหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๖ เป็นไปอย่างมีความเชื่อมโยงไร้รอยต่อ
  • นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความสำคัญของอาเซียนและการส่งเสริมความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา
  • เมื่อวันที่ ๑๓ พ.ค. ๒๕๖๕ รอง นรม./รมว.กต.ได้พบหารือกับนายจอห์น เคอร์รี่ (John Kerry) ผู้แทนพิเศษของ ปธน.สหรัฐฯ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    เพื่อหารือถึงแนวทางส่งเสริม
    ความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของไทยและนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันผลักดันในช่วงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕ และสามารถเชื่อมโยงต่อไปยังวาระการเป็นเจ้าภาพของสหรัฐฯ

. ผลการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ รอง นรม./รมว.กต. (๑๕ - ๑๙ พ.ค. ๖๕)

  • รอง นรม./รมว.กต. นำคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐจำนวน ๗๘ คน จาก ๒๘ หน่วยงาน และภาคธุรกิจ จำนวน ๕๗ คน จาก ๓๙ บริษัท เยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน
  • การเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทวิภาคีภายหลังการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ รวมถึงติดตามประเด็นที่สองประเทศแสดงเจตนารมณ์ผลักดันร่วมกันภายหลังการเยือนของ นรม. เมื่อวันที่ ๒๕ ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเมื่อเดินทางถึง รมว.การลงทุน ซาอุดีฯ ได้ให้การต้อนรับ รอง นรม./รมว.กต. ที่สนามบิน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ รมว.การลงทุนเดินทางมารับผู้แทนต่างชาติถึงสนามบิน
  • รอง นรม./รมว.กต. ได้พบหารือกับรัฐมนตรี ๓ กระทรวงของซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ รมว.การลงทุน รมว.กต. และ รมว.การท่องเที่ยว
  • ในการพบกับ รมว.การลงทุน ได้มีการหารือการจัดทำแผนขับเคลื่อน หรือ roadmap ส่งเสริมการลงทุน เชิญชวนซาอุดีฯ ลงทุนใน EEC ในอุตสาหกรรมสาขาใหม่ ดิจิทัล สุขภาพและสุขภาวะ และสมาร์ทโลจิสติก
  • ในการพบหารือกับ รมว.ท่องเที่ยวซาอุดีฯ ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความคืบหน้าความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ภายหลังการปรับความสัมพันธ์ โดยไทยมุ่งแบ่งปันประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศแก่ซาอุดีฯ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะ
    การแพทย์ และโรงแรม ขณะที่ซาอุดีฯ มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการโรงแรมในภูมิภาค
  • ในการหารือกับ รมว.กต.ซาอุดีฯ ทั้งสองยินดีความก้าวหน้าหลังการปรับความสัมพันธ์และหารือแผนการขับเคลื่อนและส่งเสริมความร่วมมือ (roadmap) และการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดีฯ – ไทย สนับสนุนการเยือนในระดับสูง ความร่วมมือด้านกงสุล และกรอบพหุภาคี รวมถึงการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์ยูเครนด้วย
  • รอง นรม./รมว.กต. ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน Saudi - Thai Investment Forum ซึ่งเป็นการพบปะครั้งแรกของเอกชนไทยและซาอุดีฯ จากหลายสาขา เพื่อเสริมการค้าและการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพของทั้งสองฝ่าย และชี้ว่าวิสัยทัศน์ ๒๐๓๐ ของซาอุดีฯ ซึ่งเป็นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่ครอบคลุมที่สุด สอดคล้องกับการขับเคลื่อนและการพัฒนาไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของไทย นอกจากนี้ มีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เพื่อให้ภาคเอกชนของสองฝ่ายมีโอกาสหารือถึงโอกาสและความร่วมมือระหว่างกัน โดยมีบริษัทซาอุดีฯ สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า ๑๑๐ บริษัท
  • นอกจากนี้ มีการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าซาอุดีฯ รวมทั้งระหว่างบริษัทเอกชนของไทย ได้แก่ Gulf of Energy, Indorama Ventures, Siam Cement Group, Minor Hotel กับกระทรวงการลงทุนซาอุดีฯ และบริษัทเอกชนซาอุดีฯ อีก ๔ ฉบับ โดย รอง นรม./รมว.กต.เป็นสักขีพยาน ร่วมกับ รมว.การลงทุนซาอุดีฯ
  • รอง นรม./รมว.กต. ได้เข้าร่วมพิธีเปิดงาน Thailand Halal Food Festival 2022 ที่ตลาด Hypermarket ชื่อ Lulu ณ กรุงริยาด ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยในซาอุดีฯ
  • รอง นรม./รมว.กต. และคณะศึกษาดูงานที่เมือง Al-Ula (อัลอูลา) ซึ่งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์แหล่งอารยธรรมว่า ๓ พันปีก่อนคริสตกาล รบ.ซาอุดีฯ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โดยประกาศ Al-Ula Vision ซึ่งสอดคล้องกับ Saudi Vision 2030 เพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างรีสอร์ท/เขตอนุรักษ์ธรรมชาติ
  • รอง นรม./รมว.กต. และคณะได้เดินทางไปนครเจดดาห์เพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำและกิจกรรม Business Matching จัดโดยสภาหอการค้าเจดดาห์และมักกะ โดยมีนักธุรกิจไทยเข้าร่วมกว่า ๓๘ บริษัท จาก ๑๔ สาขา และมีนักธุรกิจจากเจดดาห์และมักกะเข้าร่วมกิจกรรมถึง ๗๓ บริษัท เจดดาห์เป็นศูนย์กลางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของ
    ซาอุดีฯ โดยประเด็นที่กลุ่มธุรกิจไทยและซาอุดีฯ มีความสนใจร่วมกัน คือ การท่องเที่ยว บริการและสุขภาพ ธุรกิจการชะลอวัย ศูนย์ดูแลสุขภาพ พลังงานสะอาด วัสดุก่อสร้าง ห่วงโซ่อุปทาน และดิจิทัล
  • ในวันที่ ๑๘ พ.ค. ๒๕๖๕ คณะได้เยี่ยมชม King Abdullah Economic City นอกเมืองเจดดาห์ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญในภาคตะวันตกของซาอุดีฯ และเป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ตามนโยบาย Saudi Vision 2030 เพื่อสำรวจศักยภาพและลู่ทางที่จะลงทุนด้านการท่องเที่ยว การบริการ และการโรงแรม
  • ผลลัพธ์สำคัญของการเยือน คือ การสร้างโอกาสในการสนับสนุนความร่วมมือด้านต่าง ๆ อาทิ
    (๑) ด้านแรงงาน ซาอุดีฯ กำลังมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ตามแผนพัฒนาเมือง ทำให้มีความต้องการแรงงานไทยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คนในภาคธุรกิจก่อสร้างและงานบริการ
    (๒) ด้านการเกษตร ไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนปุ๋ยเคมีจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน รอง นรม./รมว.กต. ได้เสนอขอซื้อปุ๋ยเคมี
    โดย รมว.การลงทุนซาอุดีฯ ตอบว่าขณะนี้มีหลายประเทศที่ติดต่อขอซื้อปุ๋ย แต่ซาอุดีฯ จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับไทยก่อน ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดในโอกาสต่อไป

    (๓) ด้านอาหาร มีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารฮาลาลจากไทยกว่า ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ รายการ แสดงให้เห็นว่าคนซาอุดีฯ นิยมอาหารไทยค่อนข้างมาก
    ภาพลักษณ์การรับรองฮาลาลของไทยค่อนข้างเป็นที่ชื่นชอบ การปรับความสัมพันธ์อย่างรวดเร็วระหว่างไทยกับซาอุดีฯ นอกจากนี้ ซาอุดีฯ ยังมีความสนใจในทุเรียนไทยเป็นอย่างมาก

    (๔) ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจซาอุดีฯ สนใจไปศึกษาดูงานโรงงานที่ไทย
    (๕) ด้านวัสดุก่อสร้าง ซาอุดีฯ มีแผนการขยายเมืองจึงทำให้มีความต้องการสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างจำนวนมาก
    (๖) ด้านการบริการทางการแพทย์และสุขภาพ ภาคธุรกิจของซาอุดีฯ ประสงค์เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนความรู้กับไทย โดยรวมถึงการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มโรงพยาบาล ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพของไทย
    (๗) ด้านการตรวจลงตรา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่จะจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่า) หนังสือเดินทางทูตและราชการระหว่างกัน ขณะที่ฝ่ายซาอุฯ รับที่จะไปพิจารณาดำเนินการในเรื่องการให้ความช่วยเหลือคนไทย ๘๐๐ คนที่อยู่ในซาอุดีฯ จนเกินกำหนดวีซ่าด้วย
  • ภาคเอกชนไทยกล่าวว่าการไปเยือนซาอุดีฯ ครั้งนี้เกินความคาดหวังและประทับใจอย่างมาก ภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่ายมีความกระตือรือร้นและตั้งใจจะทำให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยในยุคหลังโควิด-๑๙

. ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (๙ - ๑๙ พ.ค. ๖๕)

  • การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ (SOM2) เสร็จสิ้นลงแล้ว เมื่อวันที่ ๑๙ พ.ค. ๒๕๖๕ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งแบบ physical และ online ประมาณ ๑,๒๐๐ คน จาก ๒๑ เขตเศรษฐกิจ ที่ประชุมได้สานต่อการขับเคลื่อนหัวข้อหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย (“Open. Connect. Balance.”) มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลัง
    โควิด-๑๙ เพื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และหาแนวทางรับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ที่สั่นคลอนความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และห่วงโซ่อุปทานของโลก โดยมีผลลัพธ์สำคัญ ๓ ด้าน ดังนี้

    (๑) เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ไทยตั้งเป้าหมายนำประเด็นความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) มาหารือใหม่ในบริบทยุคหลังโควิด-๑๙ ที่ประชุมฯ เห็นพ้องให้เอเปคจัดทำแผนงานเพื่อสานต่อการหารือเรื่อง FTAAP อย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมของสมาชิกเอเปคเพื่อเข้าร่วมความตกลงฯ ในอนาคต
    (๒) เชื่อมโยงในทุกมิติ ไทยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูการเดินทางในเอเปคอย่างสะดวกและปลอดภัยซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ที่ประชุม SOM2 เห็นพ้องให้เอเปคเดินหน้าตามข้อเสนอของไทยเพื่อทำให้การตรวจสอบเอกสารประกอบการเดินทางข้ามพรมแดนรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิคของใบรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกัน ตามเป้าหมายภายในเดือน ส.ค. ๒๕๖๕ รวมทั้งเห็นพ้องให้เอเปคมีหลักการร่วมกันเพื่อนำไปสู่การยอมรับใบรับรองการฉีดวัคซีนในภูมิภาคตามความสมัครใจ
    (๓) สร้างสมดุลในทุกด้าน ไทยได้เสนอจัดทำเอกสารระดับผู้นำภายใต้ชื่อ “เป้าหมายกรุงเทพเรื่องเศรษฐกิจ BCG” เพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางการขับเคลื่อน
    ความยั่งยืนในภูมิภาค ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานในร่างเอกสารฯ เพื่อพัฒนาและเสนอให้ที่ประชุมผู้นำเอเปคที่กรุงเทพฯ ในเดือน พ.ย. นี้รับรองต่อไป
  • การประชุม SOM2 เป็นก้าวสำคัญที่ไทยได้ขับเคลื่อนการเป็นเจ้าภาพเอเปคมาได้ครึ่งทางแล้ว ซึ่งไทยจะยังคงเดินหน้าสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมตามแผน เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุล ให้คนไทยและทุกคนในภูมิภาคต่อไป

. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update 

  • วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายรชา อารีพรรค ผอ.กองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “ไทยเป็นประธาน BIMSTEC ปี ๒๕๖๕” รับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
  • วันศุกร์ที่ ๒๐ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) ได้สัมภาษณ์นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ ออท. ณ กรุงไนโรบี หัวข้อ "Africa Day" รับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”

 ๕. รายการเวทีความคิด

  • วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๓๐ - ๒๐.๕๘ น. รายการ “เวทีความคิด” ช่วงสายตรงจาก กต. ได้สัมภาษณ์ อธ.สารนิเทศและโฆษก กต. ในหัวข้อ “ไทยในเวทีโลก ปี ๒๕๖๕ : ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ” รับฟังได้ทาง FM 96.5 หรือรับฟังย้อนหลังทาง youtube “MFA Thailand Channel”


* * * * *

 

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/d6U6yKPNMY/

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”: https://www.youtube.com/user/mfathailand

 

กองการสื่อมวลชน
กรมสารนิเทศ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบการแถลงข่าว_20_พค_65_as_delivered.pdf