สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook กระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,300 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น.

ผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook กระทรวงการต่างประเทศ

 

. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในงานวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี ๒๕๖๔

  • เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงผ่านวีดิทัศน์ในงานวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี ๒๕๖๔ ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ร่วมกับคณะผู้แทนถาวรศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้ว่า ประเทศไทยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy หรือ SEP) เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง ควบคู่กับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เพื่อให้การพัฒนาประเทศดำเนินไปอย่างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ประเทศไทยพร้อมจะขยายความร่วมมือในบริบทของ “SEP for SDGs Partnership” และ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ไปยังประเทศต่าง ๆ ที่สนใจ

 

๒. การหารือยุทธศาสตร์ไทย - สหรัฐฯ ครั้งที่ ๗

  • เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย เข้าร่วมการหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ (Thailand-US Strategic Dialogue) ครั้งที่ ๗ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับนาย Atul Keshap รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาวุโส ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
  • ที่ประชุมฯ หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การเสริมสร้างและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ เอเปค อาเซียน ACMECS และหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-US Partnership) นอกจากนี้ ได้มีการหารือความเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นและยาวนาน และแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงของมนุษย์ และการต่อต้านการค้ามนุษย์

 

๓. การประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๕

  • เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย เข้าร่วมการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน (Strategic Dialogue) ครั้งที่ ๕ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับนายอู๋ เจียงฮ่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน
  • หัวข้อหลักของการประชุม ได้แก่ (๑) การดำเนินความร่วมมือเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ความร่วมมือด้านวัคซีนและสาธารณสุข ซึ่งฝ่ายจีนพร้อมสนับสนุนการจัดซื้อวัคซีนจากจีนในอนาคต รวมถึงวัคซีน Sinopharm และสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนในภูมิภาค (๒) การเร่งรัดการจัดประชุมกลไกทวิภาคีเพื่อกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ความเชื่อมโยง เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (๓) การส่งเสริมการค้าและอำนวยความสะดวกด้านการค้า โดยไทยหยิบยกปัญหาข้อติดขัดเรื่องด่านนำเข้าสินค้าในช่วงโควิด-๑๙ และการเปิดด่านเพิ่ม (๔) การฟื้นฟูการเดินทางในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยเฉพาะการผลักดันให้นักศึกษาไทยเดินทางกลับจีนเพื่อไปศึกษาต่อ และให้สายการบินของไทยสามารถกลับไปทำการบินพาณิชย์ในจีน และ (๕) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การลดความยากจน การเกษตรสมัยใหม่ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
  • ที่ประชุมยังได้หารือประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศ รวมถึงความร่วมมือในกรอบอาเซียน-จีน และกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อเสริมสร้างความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในภูมิภาค
  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - จีน สมัยพิเศษ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้างครั้งที่ ๖ ที่นครฉงชิ่งด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ ๗ - ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

 

๔. การให้ความช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล

  • สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้จัดเที่ยวบินนำคนไทยที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย รวม ๒๖๓ คน ซึ่งรวมถึงแรงงานจากนิคมเกษตรกรรมโอฮาด จำนวน ๑๘ คน ที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยสายการบินเอล แอล (El Al) เที่ยวบิน LY081 และเดินทางถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๒.๓๐ น.
  • เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐ น. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้จัดพิธีไว้อาลัยและส่งร่างของนายวีรวัฒน์ การุญบริรักษ์ และนายสิขรินทร์ สงำรัมย์ แรงงานไทยจากนิคมเกษตรกรรมโอฮาด ที่เสียชีวิตจากการโจมตีเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ณ ท่าอากาศยานเบนกูเรียน โดยมีนางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลและท่าอากาศยานเบนกูเรียนเข้าร่วม ก่อนจะนำร่างของผู้เสียชีวิตทั้งสองรายกลับสู่ประเทศไทยพร้อมเที่ยวบินดังกล่าว และส่งกลับไปยังภูมิลำเนาที่จังหวัดเพชรบูรณ์และบุรีรัมย์ในวันเดียวกัน
  • เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต และฝ่ายแรงงาน เดินทางไปเยี่ยมนายอัตรชัย ธรรมแก้ว แรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และได้รับการผ่าตัดครั้งที่ ๒ ผลเป็นที่น่าพอใจ และออกจากหอผู้ป่วยวิกฤตแล้ว เอกอัครราชทูตฯ ขอบคุณทีมแพทย์พยาบาลของโรงพยาบาล Soroka ที่ได้ทุ่มเทรักษานายอัตรชัยฯ จนพ้นขีดอันตรายและมีอาการดีขึ้นตามลำดับ
  • เอกอัครราชทูตฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมแรงงานไทยจำนวนประมาณ ๔๐ คน ในนิคมเกษตรกรรมโอฮาด ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการโจมตี เพื่อให้กำลังใจ และเน้นย้ำข้อควรปฏิบัติในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ ได้เข้าพบหารือกับนายกเทศมนตรีเมืองเอชโคล เกี่ยวกับมาตรการดูแลและคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงานภาคเกษตรของไทย โดยเฉพาะระบบเตือนภัยและการติดตั้งบังเกอร์หลบภัยให้เพียงพอและทั่วถึง รวมถึงการทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของแรงงานไทยเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติในยามสถานการณ์ไม่ปกติต่อไป

 

. สถานการณ์ชายแดนไทย - เมียนมา และการช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่และผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา

  • จากสถานะเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ มีผู้หนีภัยการสู้รบและความไม่สงบจากเมียนมาพำนักอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยฝั่งไทย ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา จำนวนทั้งสิ้น ๑,๐๓๙ คน โดยกองทัพไทยมีหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าว รวมทั้งดูแลผู้หนีภัยฯ ทั้งนี้ มีการแจกจ่ายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสิ่งของที่บริจาคโดยกลุ่มต่าง ๆ และกาชาดในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
  • นอกเหนือจากการจัดระเบียบพื้นที่ กองทัพไทยยังดำเนินการจัดระเบียบด้านสุขาภิบาล รวมถึงการพ่นฉีดยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และได้จัดหน่วยทหารเสนารักษ์เพื่อให้บริการตรวจรักษาสุขภาพเบื้องต้นแก่ผู้หนีภัยฯ โดยหากพบกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม ผู้หนีภัยฯ จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่
  • ผู้หนีภัยฯ ได้รับการชี้แจงเกี่ยวกับพัฒนาการการสู้รบในฝั่งเมียนมาโดยเจ้าหน้าที่กองทัพไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้หนีภัยฯ จะใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจด้วยตนเองว่า จะกลับไปยังภูมิลำเนาเมื่อใด ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยังมีแนวโน้มว่าไม่ปลอดภัย ฝ่ายไทยจะไม่อนุญาตให้ผู้หนีภัยฯ เดินทางกลับ
  • ส่วนราษฎรไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา ซึ่งได้อพยพเข้ามาพักในพื้นที่รวบรวมพลเรือน ยังคงเหลืออยู่จำนวน ๒๑๗ คน โดยอยู่ในความดูแลของหน่วยงานในพื้นที่

 

๖. มาตรการผ่อนปรนให้บุคคลจากกลุ่มประเทศนอกสหภาพยุโรปที่มีความปลอดภัย (EU White List)สามารถเดินทางเข้าเขตสหภาพยุโรป (EU)

  • ประเทศนอกสหภาพยุโรปที่สหภาพยุโรปจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความปลอดภัย (EU White List) กล่าวคือ เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน ๗๕ คน ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน ในช่วง ๑๔ วันที่ผ่านมา ได้แก่ ออสเตรเลีย อิสราเอล นิวซีแลนด์ รวันดา สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไทย
  • ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ คณะมนตรี EU ได้มีมติเห็นชอบต่อคำแนะนำ (recommendations) ให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเปิดให้บุคคลจากประเทศใน EU White List สามารถเดินทางเข้าได้ โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์
  • ดังนั้น ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถพิจารณาอนุญาตให้บุคคลที่เดินทางมาจากไทยเข้าเขต สหภาพยุโรปได้ โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์การเดินทาง และไม่ว่าจะฉีดวัคซีนมาแล้วหรือไม่ โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ไทยยังอยู่ใน EU White List
  • อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ประสงค์เดินทางไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ควรตรวจสอบมาตรการจำกัดการเดินทางของแต่ละประเทศอีกครั้ง เนื่องจากอำนาจในการอนุญาตให้เข้าเมืองขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ มติของสหภาพยุโรปเป็นเพียงข้อแนะนำเท่านั้น ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถกำหนดมาตรการ เงื่อนไข รวมถึงเอกสารที่ขอรับจะแตกต่างกันไป
  • สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการยุโรป https://ec.europa.eu/ โดยค้นหาหัวข้อ “Travel during the coronavirus pandemic” และเว็บไซต์ทางการของประเทศที่ต้องการเดินทางไป

 

. ความคืบหน้าล่าสุดของการทวงคืนโบราณวัตถุกลับสู่ประเทศไทย (ทับหลังปราสาทหนองหงส์ . บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น . สระแก้ว)

  • เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ สำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ (Homeland Security Investigation – HSI) ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้จัดพิธีส่งมอบทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้นคืนให้แก่รัฐบาลไทย ที่นครลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยฝ่ายไทย มีนายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เข้าร่วมพิธี พร้อมด้วยกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส กงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก และ กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก โดยกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยเป็นผู้รับมอบและลงนามในเอกสารที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯ มีนาย David A. Prince ผู้แทนระดับสูงจาก HSI ประจำนครลอสแอนเจลิส เข้าร่วม พร้อมรักษาการอัยการสูงสุดเขตภาคเหนือของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย
  • สำหรับการขนส่งทับหลังกลับไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้ช่วยกำกับดูแลการบรรจุทับหลังฯ โดยบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญการขนส่งโบราณวัตถุ ตลอดจนติดตามการขนย้ายทับหลังทั้งสองรายการไปยังท่าอากาศยานนครลอสแอนเจลิส จนจบสิ้นกระบวนการทางเอกสารและพิธีการศุลกากร โดยทับหลังฯ มีกำหนดถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔
  • กรมศิลปากรจะจัดพิธีรับมอบและตรวจสอบทับหลังฯ ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ และจะนำทับหลังฯ มาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นระยะเวลาประมาณ ๓ เดือน ก่อนที่จะเก็บรักษาในสถานที่ที่เหมาะสมต่อไป
  • กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ (Department of Homeland Security-HSI) โดยเฉพาะนาย David Keller เจ้าหน้าที่พิเศษ HSI ผู้รับผิดชอบคดีทับหลังฯ สำนักงานอัยการกลางสหรัฐฯ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กรมศุลกากร และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในกระบวนการที่เกี่ยวข้อง

 

๘. การมอบอุปกรณ์การแพทย์ให้เนปาลเพื่อรับมือโควิด-๑๙

  • เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายดุสิต เมนะพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีมอบเครื่องผลิตออกซิเจน (oxygen concentrators) สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-๑๙ จำนวน ๔๖ เครื่อง ให้แก่เนปาล โดยมีเอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทยเป็นผู้รับมอบ โดยสิ่งของบริจาคทั้งหมดจะจัดส่งไปทางเครื่องบินในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔
  • การมอบสิ่งของบริจาคครั้งนี้เป็นการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนของไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ และองค์กรพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล วัดไทยลุมพินี เนปาล และมูลนิธิเสถียรธรรมสถาน รวมทั้งมูลนิธิวีระภุชงค์ ร่วมกันบริจาค
  • ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายโวสิต วรทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ ได้ส่งมอบเครื่องผลิตออกซิเจน จำนวน ๑๗ เครื่อง ซึ่งได้รับบริจาคจากประชาชนชาวไทยผ่านวัดไทยลุมพินี โดยผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขและประชากรเป็นผู้รับมอบด้วย
  • การบริจาคเครื่องผลิตออกซิเจนดังกล่าว สะท้อนถึงไมตรีจิตระหว่างสองประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของไทยแก่เนปาล ซึ่งเป็นมิตรประเทศที่มีความใกล้ชิดทางด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และกำลังขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์

 

๙. ประชาสัมพันธ์

. รายการ Spokesman Live!!!

  • วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ขอเชิญติดตาม รายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. Spokesman Live!!! ซึ่งจะสัมภาษณ์ออท. ศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส หัวข้อ "บทบาทของเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส กับการทูตไทยในยุค New Normal" สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

 

. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

  • ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์ นายธฤต จรุงวัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูต/เลขาธิการมูลนิธิไทย หัวข้อ “การทูตสาธารณะของไทย” สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”
  • และในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ รายการ “MFA Update” FM 88 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์ นายนิธิรุจน์ โผนประเสริฐ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย หัวข้อ "Trade and Investment Opportunities of Southern India" สามารถติดตามรับฟังได้ทาง Facebook “FM 88 Radio Thailand English”

 

. การลงทะเบียนสื่อมวลชนสำหรับการบรรยายสรุปก่อนการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting) ปี ๒๕๖๔

  • ขอเชิญชวนสื่อมวลชนที่สนใจร่วมรับฟังการบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชน  (ภาษาอังกฤษ) ก่อนการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๗.๐๐ น. (เวลาไทย) ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเอเปค ประจำปี ๒๕๖๔ ซึ่งประเทศนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังได้ทางอีเมล์ ภายในวันจันทร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม โดยสื่อมวลชนที่ลงทะเบียนแล้วจะได้รับสิทธิเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการบรรยายสรุปการแถลงข่าว และการประชุมในกรอบเอเปคที่นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพตลอดทั้งปี ๒๕๖๔ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการติดตามประเด็นและพัฒนาการที่น่าสนใจก่อนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในช่วงปลายปีนี้และตลอดปี ๒๕๖๕
  • ติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ apec2021nz.org/media หรือสอบถามเพิ่มเติมที่อีเมล์ [email protected]

* * * * *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ppt_ประกอบการแถลงข่าว_27_พ.ค_64_1.pdf