สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ ๒๙ มี.ค. ๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ ๒๙ มี.ค. ๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 มี.ค. 2566

| 6,648 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๑ กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑.  การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ปี ๒๕๖๖ (ร่วมกับนายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล)

  • ๑.๑ ภาพรวมของการดำเนินงานและประสบการณ์เมื่อปี ๒๕๖๒
    • อธ. กรมสารนิเทศ : โดยที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา และมีการประกาศเกี่ยวกับ
      การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้ว จึงขอรับทราบความคืบหน้าในการเตรียมการที่เกี่ยวข้อง
    • รอธ. กรมการกงสุล : แจ้งข้อมูล ดังนี้
      • ความสำคัญของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร – เมี่อปี ๒๕๖๒ มีคนไทยในต่างประเทศ จำนวน ๑๑๙,๓๑๓ คน ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มากที่สุด ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย (๑.๖ หมื่นคน)/ สหรัฐฯ/ จีน/ สหราชอาณาจักร/ ญี่ปุ่น/ เยอรมนี/ มาเลเซีย/ สิงคโปร์/ เกาหลีใต้/ และฝรั่งเศส โดยคาดว่า อาจมีผู้ขอลงทะเบียนมากขึ้นในครั้งนี้
      • การเตรียมการเลือกตั้ง – กระทรวงการต่างประเทศร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.)/ กระทรวงมหาดไทย (มท.)/ และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) โดยมีการหารือระหว่างกันเมื่อวันที่ ๑๑ ม.ค. ๒๕๖๖ ครอบคลุมประเด็น อาทิ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง วัสดุอุปกรณ์ การพัฒนาระบบลงทะเบียนเลือกตั้ง
        นอกราชอาณาจักร และระบบการส่งบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยจะมีการจัดประชุม ๔ ฝ่ายครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๓๐ มี.ค. ๒๕๖๖ และการประชุมคณะกรรมการอำนวยการประจำศูนย์อำนวยการและประสานงานการเลือกตั้งในวันที่ ๓๑ มี.ค. ๒๕๖๖
      • การอบรมบุคลากรของ สอท./สกญ./สำนักงานเศรษฐกิจการค้าฯ โดยได้จัดฝึกอบรมออนไลน์ โดยมีการเชิญวิทยากรจากสำนักงาน กกต. มาให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อเสนอแนะจากประสบการณ์ปฏิบัติงานครั้งที่ผ่านมาได้นำไปสู่การปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากขึ้น (practicality) ทั้งนี้ กระทรวงฯ
        ได้จัดการฝึกอบรมเมื่อ ๑๖ ธ.ค. ๒๕๖๕ และจะจัดครั้งต่อไปในวันที่ ๓๑ มี.ค. ๒๕๖๖ ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้แนวปฏิบัติต่าง ๆ แล้ว
      • ในชั้นนี้ สำนักงาน กกต. ได้สนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงฯ ทยอยส่งไปยังหน่วยงานในต่างประเทศแล้ว อาทิ คูหาเลือกตั้ง หีบบัตรเลือกตั้ง วัสดุอุปกรณ์อื่น เช่น สายรัดหีบบัตร และแนวกั้นแถบพลาสติก
  • ๑.๒ การลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
    • รอธ. กรมการกงสุล : กระทรวงฯ เปิดลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรระหว่างวันที่ ๒๕ มี.ค. - ๙ เม.ย. ๒๕๖๖ โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนแล้ว ๒๔,๐๐๕ คน (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๘ มี.ค. ๒๕๖๖ เวลา ๑๘.๐๐ น.) มากที่สุด ๕ อันดับแรก ได้แก่ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเยอรมนี
    • อธ. กรมสารนิเทศ : ขอรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารประกอบการลงทะเบียน โดยเฉพาะบัตรประชาชนที่หมดอายุ จะใช้ได้หรือไม่?
    • รอธ. กรมการกงสุล : กระทรวงฯ คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน จึงกำหนดช่องทางการลงทะเบียน ๒ ประเภท ได้แก่
      • การลงทะเบียนด้วยตนเองทางเว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/popout โดยใช้บัตรประชาชนแบบ smart card (บัตรประชาชนแบบ Smart Card ที่หมดอายุสามารถใช้เพื่อการลงทะเบียนได้) และหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ)
      • การลงทะเบียนด้วยตนเองที่ สอท./สกญ./สำนักงานเศรษฐกิจฯ หรือจะส่งเอกสารทางไปรษณีย์/ โทรสาร หรือฝากผู้อื่นดำเนินการแทนได้โดยจะต้องมีการมอบอำนาจและนำสำเนาเอกสารแสดงตนที่ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง โดยจะต้องเป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้และแสดงเลขบัตรประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก (หมดอายุก็ยังใช้ได้)
  • ๑.๓ การกำหนดช่องทางต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ หรือรูปแบบการเลือกตั้ง
    • อธ. กรมสารนิเทศ : เพราะเหตุใดรูปแบบการเลือกตั้งมีหลายช่องทาง และแตกต่างกันในแต่ละประเทศ?
    • รอธ. กรมการกงสุล – สอท./สกญ. สามารถเลือกใช้รูปแบบการเลือกตั้งแบบคูหา แบบไปรษณีย์ หรือแบบอื่น ๆ เช่น mobile unit โดยพิจารณาจากบริบทและความเหมาะสมในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนของแต่ละประเทศ
  • ๑.๔ การพัฒนาระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (Overseas Voting Monitoring System: OVMS)
    • รอธ. กรมการกงสุล – ปัจจุบัน กระทรวงฯ ได้มีระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรโดยมีแผนการดำเนินงานที่กำหนดกรอบเวลา และแนวปฏิบัติของแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปโดยราบรื่นและเรียบร้อย
  • ๑.๕ การลงทะเบียนสำหรับผู้ที่เคยขอใช้สิทธิครั้งที่แล้ว
    • อธ. กรมสารนิเทศ : ขอสอบถามว่า ผู้ที่เคยลงทะเบียนแล้วจะต้องดำเนินการใหม่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่?
    • รอธ. กรมการกงสุล : จะต้องดำเนินการใหม่ โดยถือเป็นการปรับฐานข้อมูลการตั้งถิ่นฐานคนไทยในต่างประเทศให้มีความเป็นปัจจุบันด้วย
  • ๑.๖ การนับคะแนนเสียงในต่างประเทศ
    • รอธ. กรมการกงสุล : จากการหารือกับสำนักงาน กกต. ยังคงต้องกลับมานับคะแนนที่ประเทศไทย เมื่อคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ตลอดจนหลักความโปร่งใสแล้ว เห็นควรให้ส่งบัตรลงคะแนนเสียงกลับมานับในประเทศไทย
  • ๑.๗ ประเด็นอื่น ๆ
    • รอธ. กรมการกงสุล : มีความเชื่อมั่นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งครั้งนี้มาก เพราะถือเป็นโอกาสที่พี่น้องชาวไทยในต่างประเทศจะมีส่วนร่วมในการกำหนดผู้บริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ จึงมีความมั่นใจว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างเรียบร้อย
    • รอธ. กรมการกงสุล : ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้หลายช่องทาง ที่สำคัญที่สุดคือ เว็บไซต์/สื่อ social media ของ สอท./สกญ. และผ่านแอปพลิเคชัน Smart vote ของสำนักงาน กกต.
    • รอธ. กรมการกงสุล : ระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรระหว่างวันที่ ๒๔ เม.ย. - ๕ พ.ค. ๒๕๖๖ ซึ่งถือว่าก่อนวันเลือกตั้งภายในประเทศระยะหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการจัดส่งบัตรเลือกตั้งมานับคะแนนให้ทันเวลา

๒. การเยือนไทยของเลขาธิการอาเซียน

  • ดร. Kao Kim Hourn เลขาธิการอาเซียน มีกำหนดเยือนไทยในระหว่างวันที่ ๒๙ มี.ค. - ๑ เม.ย. ๒๕๖๖ โดยถือเป็นชาวกัมพูชาคนแรกและเลขาธิการอาเซียนคนที่ ๑๕ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี ระหว่างวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๖๖ - ๓๑ ธ.ค. ๒๕๗๐
  • การเยือนไทยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของเลขาธิการอาเซียนวาระนี้ โดยจะเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี และ รนรม./รมว.กต. ตลอดจนเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ ๒ (2nd Ministerial Dialogue on Accelerating Actions to Achieve the SDGs) และการประชุมระดมสมองระดับสูงว่าด้วยการขับเคลื่อนข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ ครั้งที่ ๗ (High-level Brainstorming Dialogue on Enhancing Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development: HLBD) ที่โรงแรม VIE Bangkok ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ ๓๑ มี.ค. ๒๕๖๖
  • ในโอกาสนี้ กระทรวงฯ ร่วมกับสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย และศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (International Studies Center: ISC) กำหนดจัดการบรรยายพิเศษ (Special Talk) เรี่อง “Why ASEAN Matters: Navigating our Shared Future” โดยเลขาธิการอาเซียน ในวันที่ ๓๐ มี.ค. ๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
  • กระทรวงฯ ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปร่วมชมการถ่ายทอดสดทาง Facebook live ของกระทรวงฯ โดยสื่อมวลชนที่ประสงค์จะมาเข้าร่วมด้วยตนเอง สามารถลงทะเบียนได้ตามช่องทางที่กำหนด
  • นอกจากนี้ เลขาธิการอาเซียนมีกำหนดเดินทางไปเยี่ยมชมสำนักงานของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) ในส่วนที่อยู่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์การแพทย์บางรัก กรุงเทพฯ ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ และศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue : ACSDSD) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนเมื่อปี ๒๕๖๒ ทั้งนี้ ไทยเป็นสมาชิกก่อตั้งของอาเซียน มีบทบาทที่แข็งขันมาโดยตลอด และมีบทบาทที่โดดเด่นในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

๓. การประชุม Asia-Pacific Forum for Sustainable Development ครั้งที่ ๑๐ และกิจกรรมคู่ขนาน

  • การประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development (APFSD) ครั้งที่ ๑๐ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๗-๓๐ มี.ค. ๒๕๖๖ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมจาก ๗ ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน ศรีลังกา มัลดีฟส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ติมอร์-เลสเต และเนปาล และมีผู้แทนในระดับอื่นเข้าร่วมด้วย
  • การประชุม APFSD ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งจำเป็นในการผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และจะมีการหารือระดับสูงภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ต่อไปในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๖ ที่นครนิวยอร์ก
  • บทบาทสำคัญของไทยในการประชุมฯ ดังนี้
    • การกล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุมฯ โดย รนรม./รมว.กต.
    • การหารือทวิภาคีระหว่าง รนรม./รมว.กต. กับนาย Li Junhua รองเลขาธิการด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ โดยทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยประเด็นความร่วมมือไทย-สหประชาชาติ เพื่อขับเคลื่อน
      การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และสนับสนุนให้คนไทยเข้าไปทำงานในกลไกต่าง ๆ ของสหประชาชาติมากขึ้น
    • พิธีเปิดตัวโครงการความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี (UN South-South Triangular Cooperation: SSTC)
      • เป็นหนึ่งในกิจกรรมคู่ขนานของการประชุม APFSD ครั้งที่ ๑๐ ซึ่งกระทรวงฯ โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency: TICA) และสำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Resident Coordinator Office: UNRCO) ร่วมกันจัดขึ้น ณ UNCC เพื่อนำเสนอโครงการที่เป็นผลจากความร่วมมือภายใต้กรอบ SSTC จำนวน ๓ โครงการ ครอบคลุมด้านเกษตรอินทรีย์ ด้านการทูตสาธารณสุข และด้านสาธารณสุข (การผดุงครรภ์)
      • มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมและรับชมพิธีเปิดตัวโครงการฯ อย่างคับคั่ง โดยมีการกล่าวถ้อยแถลงโดย อธ. กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ / ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย / อธ. กรมองค์การระหว่างประเทศ / และเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย รวมถึงมีผู้เข้าร่วมและนำเสนอโครงการจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO)
        และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Populations Fund: UNFPA)
    • ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน อธ. กรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยในการประชุม APFSD โดยกล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน
    • สำหรับผลลัพธ์ของการประชุม APFSD ในครั้งนี้ คือ บทสรุปประธาน (Chair’s summary) ซึ่งจะเป็นการรวบรวมข้อคิดเห็นของประเทศสมาชิกของคณะกรรมธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือเอสแคป (ESCAP) ที่มาร่วมการประชุมในประเด็นเกี่ยวกับภูมิภาค เพื่อนำเข้าสู่การประชุมระดับสูงที่มีกำหนดจัดขึ้นในเดือน ก.ค. ๒๕๖๖ ต่อไป

๔. การนำคณะทูตและกงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทยพร้อมคู่สมรส ทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพและความสำเร็จของประเทศไทย ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ จังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา

  • ในวันที่ ๓๐ มี.ค. - ๑ เม.ย. ๒๕๖๖ กระทรวงฯ มีกำหนดนำคณะทูตและกงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทย พร้อมคู่สมรส ทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ แนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลฯ ที่จังหวัดกระบี่ โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่จังหวัดพังงา
  • กระทรวงฯ จัดกิจกรรมในลักษณะนี้ขึ้นทุกปี เพื่อนำคณะทูตและคู่สมรสไปเยี่ยมเยียนภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยในปีนี้จะเน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงยังเป็นโอกาสที่คณะทูตต่างประเทศจะได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Expo 2028 Phuket, Thailand ของประเทศไทย โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตด้วย

 

* * *

 

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/jzRS8ipoyW/?mibextid=qC1gEa

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”: https://www.youtube.com/user/mfathailand

 

กองการสื่อมวลชน
กรมสารนิเทศ

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบการแถลงข่าว_29_มีค_66_as_of_29Mar23_13.30.pdf