สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.

สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,921 view

สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.

ผ่าน Facebook กระทรวงการต่างประเทศ

 

. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๔ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๒ - ๖ สิงหาคม ๒๕๖๔

 

๑.๑ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๔ วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔

  • ประเด็นสำคัญในที่ประชุม
    • การรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีนและความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟู โดยที่ประชุมมีมติ
      • จะจัดสรรเงินจากกองทุนอาเซียนรับมือโควิด-๑๙ (COVID-19 ASEAN Response Fund) ไปจัดซื้อวัคซีนให้แก่ทุกประเทศสมาชิกอาเซียน โดยกองทุนนี้เป็นข้อริเริ่มของไทย และปัจจุบันมีการสมทบบริจาคจากประเทศอาเซียนและภาคีภายนอกแล้วทั้งสิ้น ๒๐.๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
      • รับรองกรอบการจัดทำระเบียงการเดินทางของอาเซียน ซึ่งไทยสนับสนุนให้มีการรับรองวัคซีนและใบรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดการเดินทางในภูมิภาค
      • ไทยได้ผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ BCG เพื่อช่วยฟื้นฟูภูมิภาคจากโควิด-๑๙ และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
    • ที่ประชุมผลักดันความร่วมมือภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) ๔ สาขาหลัก ได้แก่ ความร่วมมือทางทะเล ความเชื่อมโยง การพัฒนาที่ยั่งยืนและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดการเผชิญหน้าและส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ
    • ที่ประชุมเห็นชอบรับสหราชอาณาจักรเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน และรับเดนมาร์กและโอมาน เป็นอัครภาคีของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia - TAC) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาขั้นพื้นฐานของการมีความสัมพันธ์และความร่วมมือกับอาเซียน
  • ประเด็นสถานการณ์ในเมียนมา
    • กระทรวงการต่างประเทศแสดงความยินดีต่อการแต่งตั้งดาโตะ เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สองของบรูไนดารุสซาลาม เป็นผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา (Special Envoy of the ASEAN Chair on Myanmar) และพร้อมสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนพิเศษฯ ตามฉันทามติ ๕ ข้อของที่ประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔ โดยเชื่อมั่นว่าผู้แทนพิเศษฯ จะได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเมียนมา
    • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับเมียนมา โดยเสนอให้สำนักเลขาธิการอาเซียนเร่งเตรียมการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หรือ AHA Centre รวมทั้งจัดการประชุมประเทศผู้บริจาค หรือ Donors’ Conference เพื่อระดมการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ
    • ที่ผ่านมา ไทยได้สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา รวมทั้งอบรมให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์เพื่อช่วยเหลือประชาชนเมียนมาในการรับมือกับโรคระบาดด้วย

 

๑.๒ บทบาทของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - สหรัฐฯ ไทยสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ซึ่งสหรัฐฯ ประกาศสนับสนุนเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-๑๙
  • ไทยเสนอประเด็นส่งเสริมความร่วมมืออาเซียน-สหรัฐฯ ๔ ประการ ได้แก่

(๑) การสำรองวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในภูมิภาคสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต

(๒) การเสริมสร้างดุลยภาพทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค โดยมีอาเซียนเป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกผู้เล่นหลักในภูมิภาค

(๓) การพัฒนาความร่วมมือด้านดิจิทัล

(๔) การสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นแนวคิดที่สอดคล้องและสามารถสนับสนุนข้อริเริ่ม Build Back Better World (B3W) ของสหรัฐฯ

  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - จีน ไทยสนับสนุนข้อเสนอของจีนในการจัดตั้งศูนย์การผลิตและวิจัยวัคซีนในอาเซียน และการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ ๓๐ ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-จีน โดยเฉพาะกิจกรรมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน ซึ่งไทยเชิญชวนให้อาเซียนและจีนแสวงหาความร่วมมือตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - ญี่ปุ่น ไทยยืนยันความพร้อมในการเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น ระหว่างปี ๒๕๖๔ - ๒๕๖๗ และจะผลักดันความร่วมมือภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-อินเดีย ไทยเสนอแนวคิด "สร้างความสมดุล" เพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ ทั้งความสมดุลในสถาปัตยกรรมภูมิภาค และความสมดุลในการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาสีเขียวและดิจิทัล โดยที่ประชุมได้เน้นการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อฟื้นฟู จากโควิด-๑๙ อาทิ การทบทวนข้อตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย และการผลักดันโครงการถนนสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย และส่วนขยายภายใต้เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor – EWEC) ไปยัง สปป.ลาว กัมพูชาและเวียดนาม รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ภายใต้ AOIP ของอาเซียน และข้อริเริ่ม Indo-Pacific Oceans Initiative ของอินเดีย

 

. ผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายอิกนาซิโอ กัสซิส รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ ๑ - ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔

  • การเยือนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฉลองการครบรอบ ๙๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์
  • การพบหารือทวิภาคีกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
    • ทั้งสองฝ่ายเห็นความสำคัญของความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และเน้นส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในกรอบโมเดลเศรษฐกิจ BCG
    • ทั้งสองฝ่ายได้เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมการกงสุลไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ว่าด้วยความร่วมมือด้านการกงสุลเพื่อจัดตั้งกลไกการประชุมหารือด้านกงสุลระหว่างกัน ซึ่งเป็นกลไกการหารือด้านกงสุลกลไกแรกของไทย (ทั้งนี้ มีชาวไทยในสวิส จำนวน ๓๖,๐๐๐ คน ในขณะที่มีชาวสวิสในไทยกว่า ๑๕,๐๐๐ คน) และร่วมมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดภาพถ่าย ๙๐ ปี ความสัมพันธ์ ไทย- สวิตเซอร์แลนด์
  • การเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในการฟื้นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้า ไทย – EFTA ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติมในสาขาการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ สุขภาพและเทคโนโลยีการแพทย์ เครื่องมืออัจฉริยะและหุ่นยนต์ เทคโนโลยีดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของการผลิตวัคซีน mRNA และการลงทุนตั้งโรงงานผลิตวัคซีนใน EEC ซึ่งรองประธานาธิบดีฯ พร้อมขยายความร่วมมือมากขึ้นในเรื่องสาธารณสุข และยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และการผลิตวัคซีน
  • ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีและรองประธานาธิบดีฯ ได้ร่วมในพิธีรับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ ประกอบด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit จำนวน ๑.๑ ล้านชุด และเครื่องช่วยหายใจ จำนวน ๑๐๒ เครื่อง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณในไมตรีจิตของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์สำหรับการมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ครั้งนี้

 

. การเปิดเว็บไซต์ใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อบริการลงทะเบียนฉีดวัคซีนสำหรับชาวต่างชาติที่พำนักในไทย และสถานะล่าสุด

  • ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล ได้เปิดให้ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย ทุกกลุ่มอายุ และทุกจังหวัด ลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนเข็มแรก ทางเว็บไซต์ expatvac.consular.go.th
  • ณ วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. มีชาวต่างชาติลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวแล้ว ๓๕,๔๕๕ คน เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า ๖๐ ปี ๒๗,๖๖๒ คน ผู้มีอาย ๖๐ ปีขึ้นไป ๗,๗๙๓ คน โดยในจำนวนนี้ มีสตรีมีครรภ์ ๑๔๓ คน และเป็นผู้มีโรคประจำตัว ๗ กลุ่มโรคเสี่ยง ๒,๕๐๐ คน
  • กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกันจัดฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติที่ได้ลงทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ความจำเป็นเร่งด่วนเดียวกับของคนไทย เช่น ผู้สูงอายุ ตั้งครรภ์ หรือผู้มีโรคร้ายแรง โดยผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จจะได้รับอีเมล์ตอบกลับว่าได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น จะได้รับ SMS/อีเมล์ จากกระทรวงสาธารณสุขหรือศูนย์ฉีดวัคซีนแจ้งให้ไปรับวัคซีนตามความจำเป็นเร่งด่วนและในจังหวัดที่พำนักอาศัยต่อไป
  • ส่วนนักเรียน/นักศึกษา สัญชาติไทย ที่มีกำหนดเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศภายในปี ๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ มีแนวทางขอรับการฉีดวัคซีน ดังนี้

                    (๑) นักเรียน/นักศึกษา ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ศูนย์ฉีดวัคซีนและสุขภาพบางรัก (https://form.jotform.com/Bangrak_VH/BangrakVHcenter) เลือก “Thai Student planned to go abroad for education in 2021” นัดหมายการเข้ารับการฉีดวัคซีนพร้อมแนบเอกสาร ได้แก่ สำเนาหนังสือเดินทางที่มี Student visa และหลักฐานการรับยืนยันเข้าศึกษาจากสถาบันการศึกษาเป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้นให้รออีเมล์ตอบรับการลงทะเบียน

                    (๒) นักเรียน/นักศึกษา ที่อาศัยนอกกรุงเทพฯ ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ http://qr.w69b.com/g/m2TKAo9GM ที่เปิดระบบทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในสัปดาห์ที่ ๒ ของทุกเดือน โดยพร้อมแนบเอกสาร ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน/สำเนาหนังสือเดินทาง และเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สำเนาใบรับรองการเป็นนักศึกษา/สำเนาใบจ่ายเงินค่าเทอม/สำเนาใบเกรด/สำเนาใบตอบรับเข้าศึกษา จากนั้นให้รอการตรวจสอบเอกสารประมาณ ๓-๕ วัน และจะได้รับอีเมล์หรือ SMS ยืนยันหลังจากนั้นจึงจะได้รับ SMS ตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้ง นัดหมายเข้ารัับวัคซีน

  • กรณีของแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานผ่าน MOU ของกระทรวงแรงงาน หรือแรงงานต่างด้าวที่มีเลขประกันสังคม กระทรวงแรงงานจะเป็นผู้ดูแลการจัดฉีดและจะแจ้งข้อมูลให้ทราบต่อไป

 

New Website for vaccination registration for foreign residents of all age groups nationwide

  • From 1 August 2021, Department of Consular Affairs, Ministry of Foreign Affairs, has launched a new website expatvac.consular.go.th for foreign residents of all age groups nationwide to register for the first dose of COVID-19 vaccination.
  • The accumulated number of foreign residents registered (as of 3 August 2021 at 18.00 hrs.) is 35,455 persons which 27,662 are under 60 years old and 7,793 persons are 60 and over. Among those, 143 are pregnant and 2,500 are in 7-disease health condition groups.
  • The Ministry of Foreign Affairs, in coordination with the Ministry of Public Health, will arrange vaccination for those who registered in accordance with priority criteria similar to that of Thai nationals, e.g. elders, pregnancy and those with 7 underlying chronic diseases. The registered foreign residents will be notified of the dates and vaccination sites in accordance to their priorities and residencies.
  • After registration, please wait for email acknowledging the registration within a few hours. The assigned date and site of vaccination will later be informed through email or SMS. Later after receiving the appointment message from Ministry of Public Health or a Vaccination center, the registered person must reply within 24 hours to confirm the vaccination appointment.
  • For foreign workers under the Ministry of Labour's MOUs and migrant workers who have social security numbers, information will soon be provided by the Ministry of Labour.

 

. ประชาสัมพันธ์

    ๔.๑ รายการ Spokesman Live!!!

  • วันศุกร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ขอเชิญติดตามรายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์์นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “กรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับงานด้านการทูตเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ” สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

    ๔.๒ รายการ MFA Update และ บันทึกสถานการณ์

  • วันพฤหัสบดีที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ในหัวข้อ “ภารกิจสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ในการสนับสนุนทัพนักกีฬาไทยในโตเกียวโอลิมปิก” สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”
  • วันศุกร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู หัวข้อ "Strengthening Thai-Malaysian Border Relationship: Opportunities and Challenges" สามารถติดตามรับฟังได้ทาง Facebook “FM 88 Radio Thailand English”

 

. ช่วงถาม-ตอบ

.๑ นักเรียนในโครงการแลกเปลี่ยน AFS ที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ จะเข้าเงื่อนไขได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือไม่

  • นักเรียนนักศึกษาสามารถลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนที่ศูนย์ฉีีดวัคซีนและสุขภาพบางรัก โดยกระทรวงสาธารณสุข จะจัดการฉีดวัคซีนและกำหนดชนิดของวัคซีนให้

.๒ ประเด็นการให้นักศึกษาไทยกลับไปเรียนที่จีน

  • กระทรวงการต่างประเทศได้หยิบยกผลักดันประเด็นนี้กับทางการจีนในทุกโอกาสมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังน่าเป็นกังวล ฝ่ายจีนยังไม่สามารถอนุญาตให้นักศึกษาต่างประเทศกลับไปเรียนต่อ กระทรวงการต่างประเทศขอยืนยันว่าจะติดตามเรื่องนี้กับฝ่ายจีนอย่างต่อเนื่องต่อไป

.๓ ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนของชาวต่างชาติแต่ยังไม่ได้รับข้อความตอบกลับ

  • เมื่อลงทะเบียนขอรับการฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้วจะมีข้อความอีเมล์ ตอบกลับ (reply) จากระบบลงทะเบียนหรือศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ซึ่งอาจใช้เวลานานเนื่องจากมีผู้ลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ขอให้รอข้อความ โปรดอย่าลงทะเบียนซ้ำ หลังจากนั้น ขอให้รออีเมล์หรือ SMS แจ้งนัดวัน เวลา สถานที่ให้ไปฉีดวัคซีน

.๔ ผู้ที่จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา อยู่ในเกณฑ์ได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่

  • หากเป็นนักศึกษาที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศจะเข้าข่ายได้รับการฉีดวัคซีน สามารถลงทะเบียนกับศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

.๕ ประเทศไทยจะมีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา (Special Envoy of the ASEAN Chair on Myanmar) ในด้านใดบ้าง

  • ประเทศไทยจะสนับสนุนภารกิจของผู้แทนพิเศษฯ ตามฉันทามติ ๕ ข้อของผู้นำอาเซียน อย่างเต็มที่ รวมถึงภารกิจการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา

* * * * *

 

รับชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/7bcoepb60o/

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ppt_ประกอบการแถลงข่าวประจำสัปดาห์_5_ส.ค._64.pdf