ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ณ กระทรวงการต่างประเทศ

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ณ กระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,650 view

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ณ กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลสำหรับ “หนังสือ ๓๓๓ ปี ราชทูตสยามเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส” (333 Years Siamese Envoy to France) จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ

  • หนังสือ “๓๓๓ ปี ราชทูตสยามเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส” (333 Years Siamese Envoy to France) ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไปในการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๓ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงการศึกษาธิการ โดยนางจุฬามณี ชาติสุวรรณ อธิบดีกรมยุโรป ได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังสระปทุม เพื่อรับพระราชทานประกาศนียบัตรรางวัลดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๔
  • กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมยุโรป ได้จัดทำหนังสือดังกล่าวเมื่อปี ๒๕๖๒ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี เป็นบรรณาธิการ เพื่อเฉลิมฉลองวาระการครบรอบ ๓๓๓ ปี ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงส่งคณะราชทูตสยาม นำโดยออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๒๒๙ ณ ห้องท้องพระโรงกระจก (Galérie des Glaces) ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการต่างประเทศไทย
  • กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่หนังสือให้แก่สถาบันการศึกษาของไทยที่มีภาควิชาฝรั่งเศส สถาบันการศึกษาของต่างประเทศ ตลอดจนหน่วยงานที่สนใจ

 

๒. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติ ครม. เกี่ยวกับเรื่อง CPTPP ด้านการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ และระหว่างเอกชนกับรัฐ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔

  • เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership - CPTPP) ในประเด็นสำคัญต่าง ๆ โดยเปิดรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคเอกชน ตัวแทนภาคประชาสังคม และจะประมวลเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาการเริ่มเจรจาเข้าเป็นสมาชิก CPTPP โดยยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับข้อคิดเห็นต่าง ๆ และคณะรัฐมนตรีจะปกป้องผลประโยชน์ของทุกภาคส่วน

 

๓. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ ๕ ปีของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC)

  • เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีสารแสดงความยินดีถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม ในโอกาสครบรอบ ๕ ปี ของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation – MLC)
  • สารดังกล่าวระบุว่า นับตั้งแต่การจัดตั้งเมื่อปี ๒๕๕๙ MLC ได้แสดงบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยง ศักยภาพการผลิต ความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน การเกษตรและการแก้ไขปัญหาความยากจน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ ซึ่งจีนได้แสดงความจริงใจที่จะแบ่งปันข้อมูลน้ำตลอดทั้งปีกับประเทศสมาชิก MLC อื่น ๆ
  • นอกจากนี้ ประเทศสมาชิก MLC ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อฟื้นฟูอนุภูมิภาคฯ หลังโควิด-๑๙ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังภายใต้ความปกติใหม่ (New Normal) เพื่อความเจริญรุ่งเรืองยั่งยืนของอนุภูมิภาค และเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกประเทศ

 

๔. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development

  • เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงในการเปิดการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development (APFSD) ครั้งที่ ๘ ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ภายใต้หัวข้อหลัก “Sustainable and resilient recovery from the coronavirus disease (COVID-19) pandemic in Asia and the Pacific”
  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการฟื้นฟูให้กลับมาดีกว่าเดิม (build back better) หลังโควิด-๑๙ เน้นย้ำให้ความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนให้วัคซีนโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะของโลก ซึ่งทุกคนต้องเข้าถึงได้ และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง รวมทั้งนำเสนอสามประเด็นหลักซึ่งทุกประเทศควรให้ความสำคัญและเร่งรัดการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูจากภาวะวิกฤติ ได้แก่ (๑) การสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยใช้แนวทางการพัฒนาที่เป็นของตนเอง ซึ่งไทยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (๒) การลดความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต และ (๓) การส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นในช่วงโควิด-๑๙ เสื่อมโทรมลง

 

๕. ผลการหารือระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศกับเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย (สวีเดน เวียดนามและอียิปต์)

๕.๑ การหารือกับกับนายยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย วันที่ ๒๒ มี.ค. ๒๕๖๔

  • ทั้งสองฝ่ายหารือการผลักดันการเจรจาความตกลงเสรีการค้า (FTA) ไทย - อียูให้มีความคืบหน้า และหารือประเด็นด้านการลงทุน เนื่องจากไทยเป็นฐานการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของสวีเดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยล่าสุด บริษัท Swedish Space Corporation (SSC) ได้เข้ามาลงทุนในไทยและจัดตั้งบริษัท SSC Space Thailand ขึ้นใน EEC Digital Park ถือเป็นบริษัทข้ามชาติด้านอวกาศแห่งแรกในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก นอกจากนี้ ไทยและสวีเดนได้ร่วมกันดำเนินโครงการบำบัดน้ำเสียสำหรับเทศบาลนครอ้อมน้อย ใน จ.สมุทรสาคร อีกด้วย
  • นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสวีเดนเชี่ยวชาญและสามารถแบ่งปันองค์ความรู้กับไทยได้ ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสวีเดนฯ เชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวสวีเดนจะกลับมาท่องเที่ยวประเทศไทยอีกภายหลังสถานการณ์โควิด-๑๙ คลี่คลาย

 

๕.๒ การหารือกับนายฟาน จี๊ ทัญ เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย วันที่ ๒๓ มี.ค. ๒๖๕๔

  • ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในฐานะ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง (Strengthened Strategic Partnership)” และสนับสนุนให้มีการหารือและแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงผ่านกรอบทวิภาคีที่มีอยู่ รวมถึงการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) ครั้งที่ ๔ นอกจากนั้น ยังได้หารือเกี่ยวกับแผนการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองการครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์ไทย – เวียดนามในปีนี้
  • ปลัดกระทรวงฯ แสดงความยินดีที่ภาคเอกชนไทยมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของเวียดนาม พร้อมทั้งขอบคุณรัฐบาลเวียดนามที่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุนนักลงทุนไทยในเวียดนามอย่างดีตลอดมา ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนมากที่สุดในต่างประเทศ

 

๕.๓ การหารือกับนายมุศเฏาะฟา มะฮ์มูด มุศเฏาะฟา เอลกูนี เอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย วันที่ ๑๗ มี.ค. ๒๕๖๔

  • ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือให้แน่นแฟ้นในด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและการประมง โดยอียิปต์มีความสนใจอย่างมากที่จะเรียนรู้ความเชี่ยวชาญด้านการประมงจากไทย
  • ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ขอบคุณอียิปต์ที่ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน/นักศึกษาไทยมุสลิมไปศึกษาที่อียิปต์อย่างต่อเนื่องมาหลายปี และขอบคุณอียิปต์ที่ช่วยดูแลนักเรียน/นักศึกษาไทยเหล่านั้น ที่มีจำนวนมากกว่า ๓,๗๐๐ คน ซึ่งอียิปต์ถือเป็นประเทศที่นักเรียนไทยมุสลิมนิยมไปศึกษาต่อมากที่สุด

 

๖. ผลการประชุม ASEAN-New Zealand Forum

  • เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-นิวซีแลนด์ ครั้งที่ ๒๘ ผ่านระบบการประชุมทางไกล
  • ที่ประชุมหารือถึงความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-นิวซีแลนด์ ซึ่งครอบคลุมหลากหลายมิติ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อประเด็นสำคัญในภูมิภาคและระหว่างประเทศ
  • รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวนำในประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-๑๙ รวมทั้งได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล
  • นอกจากนี้ ไทยได้เสนอให้นิวซีแลนด์พิจารณาดำเนินโครงการความร่วมมือกับอาเซียนในสาขาที่นิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญ อาทิ การเกษตรยั่งยืน การศึกษา การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการจัดการขยะทะเล

 

๗. มาตรการล่าสุดในการอำนวยความสะดวกคนไทยและชาวต่างประเทศ ในการเดินทางเข้าประเทศไทย รวมถึงมาตรการผ่อนคลายการกักกันตัว

  • เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๔ ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ครั้งที่ ๔/๒๕๖๔ โดยมีสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวไทยและชาวต่างชาติ ดังนี้
  • การลดระยะเวลาการกักกันตัว ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ให้ลดระยะเวลาการกักตัวในสถานที่กักกันตัวประเภทต่าง ๆ (SQ LQ ASQ ALQ HQ AHQ และ OQ) จาก ๑๔ วัน เหลือ ๑๐ วัน ยกเว้นกรณีเดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์ ให้คงระยะเวลาการกักกันตัวไว้ที่ ๑๔ วันตามเดิม โดยกระทรวงสาธารณสุขจะประกาศรายชื่อประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์เป็นระยะ ซึ่งจะมีการปรับสถานะทุก ๑๕ วัน ทั้งนี้ ผู้เดินทางจะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ โดยวิธี RT-PCR จำนวน ๒ ครั้ง ในช่วงวันที่ ๓ – ๕ และ ๙ – ๑๐ ของการกักตัว

 

  • มาตรการผ่อนคลายในสถานกักกันตัว ตั้งแต่วันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๖๔ ให้มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบริเวณสถานกักกันตัวได้ โดยสามารถออกนอกห้องพักได้ตามเวลาและเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อาทิ การใช้ห้องฟิตเนส การออกกำลังกายกลางแจ้ง การใช้สระว่ายน้ำ การปั่นจักรยานในพื้นที่ปิดและมีการควบคุม และการซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอก

 

          ๓. เอกสารประกอบสำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เริ่มวันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

  • สำหรับคนต่างชาติ ให้ยกเลิกเอกสาร fit to fly/fit to travel สำหรับชาวต่างชาติ แต่ยังคงต้องแสดงเอกสารที่รับรองว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด-๑๙ โดยวิธี RT-PCR อายุไม่เกิน ๗๒ ชม. ก่อนการเดินทาง
  • สำหรับคนไทยสามารถเลือกแสดงเอกสาร fit to fly หรือเอกสารที่รับรองว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด-๑๙ โดยวิธี RT-PCR อายุไม่เกิน ๗๒ ชม. ก่อนการเดินทาง อย่างใดอย่างหนึ่ง

 

สถิติการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศไทย

  • ระหว่างวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๓ – ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนไทยกลับจากต่างประเทศแล้ว รวมจำนวน ๑๘๙,๑๖๕ คน (ทางอากาศ ๑๕๒,๐๕๑ คน/ทางบก ๓๔,๕๘๘ คน/ทางน้ำ ๒,๕๒๖ คน)
  • ระหว่างวันที่ ๙ ก.ค. ๒๕๖๓ - ๒๔ มี.ค. ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสืออนุญาตการเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Certificate of Entry - COE) ให้แก่ชาวต่างชาติแล้ว ๑๐๐,๖๗๓ คน โดยในกลุ่มนี้ เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยวและ Special Tourist VIsa (STV) ประมาณ ๑๖,๐๐๐ คน

 

๘. กระทรวงการต่างประเทศรับมอบรูปปั้นเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการต่างประเทศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๔ นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ อธิบดีกรมยุโรป และนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้รับมอบรูปปั้นเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ จากเคานต์ เจรัลด์ แวน เดอ สตราเทน พอนโธส (Count Gerald van der Straten Ponthoz) ผู้สืบเชื้อสายของเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ และประธานมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยจะนำรูปปั้นไปประดิษฐาน ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำราชอาณาจักรเบลเยียมต่อไป
  • เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ หรือ คุสตาฟ โรลิน-ยัคมินส์ (Gustave Rolin-Jaequemyns) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเบลเยียมและนักกฎหมายสัญชาติเบลเยียม ได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการทั่วไปในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างปี ๒๔๓๕-๒๔๔๔ และได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ อาทิ การเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสกรณีพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส การปรับปรุงระบบกฎหมายและการปกครองของสยามให้ทัดเทียมนานาประเทศ และการถวายคำแนะนำแนวทางการศึกษาในต่างประเทศแด่พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕

 

๙. ประชาสัมพันธ์

๙.๑ รายการ Spokesman Live!!! ในวันศุกร์ที่ ๒๖ มีนาคม เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. ขอเชิญติดตามชม รายการ “คุยรอบโลกกับโฆษก กต.” Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์คุณเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ เรื่อง “หุ่นยนต์ดินสอ นวัตกรรมของคนไทยที่ดังไกลไปทั่วโลก” ติดตามรับชมได้ทาง Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

 

๙.๒ งานสัมมนาออนไลน์โอกาสในการประกอบธุรกิจในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน

  • กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ร่วมกับสภาธุรกิจ ไทย-ลาตินอเมริกา จะจัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง โอกาสการประกอบธุรกิจในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ในวันพุธที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ - ๑๒.๐๐ น. เพื่อให้ข้อมูลโอกาสการค้าการลงทุนในลาตินอเมริกาสำหรับภาคเอกชนไทย โดยจะมีเอกอัครราชทูตจากลาตินอเมริกา ประจำประเทศไทย ๙ ประเทศ ได้แก่ บราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา ชิลี เปรู โคลอมเบีย ปานามา คิวบา และกัวเตมาลา เข้าร่วมบรรยาย (เป็นภาษาอังกฤษ)
  • ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนร่วมงานสัมมนาได้ทางแบบฟอร์มออนไลน์ https://forms.gle/q6xzjowAtw2fmQvt9 และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. ๐๒ ๒๐๓ ๕๐๐๐ ต่อ ๑๓๐๒๙ หรือที่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected]

 

๑๐. ช่วงถาม – ตอบ

๑๐.๑ เหตุกราดยิงที่ซูเปอร์มาเก็ตในเมืองโบลเดอร์ มลรัฐโคโลราโด

  • เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๓๐ น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ ๐๓.๓๐ น. ตามเวลาประเทศไทย ได้เกิดเหตุกราดยิงที่ซูเปอร์มาเก็ตในเมืองโบลเดอร์ ห่างจากเมืองเดนเวอร์ เมืองหลวง/เมืองหลักของรัฐโคโลราโด ประมาณ ๔๘ ก.ม.
  • กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ว่า มีผู้เสียชีวิต ๑๐ ราย (รวม จนท. ตำรวจ ๑ นาย) แต่ไม่ปรากฎความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย ทั้งนี้ ยังไม่มีการรายงานเกี่ยวกับสาเหตุของการยิงกราดครั้งนี้
  • อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกท่านใช้ความระมัดระวังในการสัญจรและทำกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าว และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของท่าน

 

๑๑. วันสำคัญและกิจกรรมประจำสัปดาห์
๑๑.๑
กิจกรรม Earth Hour กระทรวงการต่างประเทศขอเชิญชวนร่วมปิดไฟและประหยัดการใช้พลังงานเป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ในวันเสาร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ ในเวลา ๒๐.๓๐ น. ซึ่งเป็นวันจัดกิจกรรม Earth Hour ที่ทั่วโลกจะร่วมมือกันปิดไฟเป็นเวลา ๑ ชั่วโมงใน ๑ วันของทุก ๆ ปี เพื่อกระตุ้นสร้างความตระหนักรู้และใส่ใจต่อปัญหาโลกร้อน สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการ Earth Hour ได้ที่ www.earthhour.org

๑๑.๒ แสดงความยินดีที่นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หายป่วยจากโควิด-๑๙ และพ้นการรักษาพยาบาลแล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศขอส่งกำลังใจให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานต่อสู้กับการระบาดของโควิด-๑๙ และชาวสมุทรสาคร ให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

 

*   *   *   *   *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ppt_แถลงข่าว_25_มี.ค_๒๕๖๔.pdf