สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มี.ค. ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๓๐ น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มี.ค. ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๓๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 มี.ค. 2566

| 6,075 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มี.ค. ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมกรมสารนิเทศ

และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑.   การจัดงานฉลองพระชนมายุ ๘ รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก ๒๖ มิ.ย. ๒๕๖๖

  • ด้วยปีนี้เป็นโอกาสมงคลที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จะมีพระชนมายุครบ ๘ รอบ (๙๖ พรรษา) ในวันที่่ ๒๖ มิ.ย. ๒๕๖๖ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองฯ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วยทั้งผู้แทนจากทั้งฝ่ายฆราวาส และฝ่ายบรรพชิต
  • รัฐบาลมีกำหนดจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ พิธีบำเพ็ญพระกุศลทักษิณานุประทาน เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๘ รอบฯ ในวันที่ ๒๕ มิ.ย. ๒๕๖๖ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ รวมทั้งพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุ ๘ รอบฯ และพิธีเจริญพระพุทธมนต์และพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระกุศล ในวันที่ ๒๖ มิ.ย. ๒๕๖๖ ณ วัดราชบพิธฯ และศาลากลางจังหวัดต่างๆ โดย สอท./ สกญ. จะดำเนินการจัดพิธีตามเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
  • นายดอน ปรมัตถ์วินัย รนรม./รมว.กต. ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมฯ ซึ่งจัดการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๑๕ มี.ค. ๒๕๖๖ โดยที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการจัดกิจกรรมที่จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่าง (๑) การน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงพระกรุณาโปรดให้มุ่งเน้นโครงการ/กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และสาธารณชนในวงกว้างที่จะมีผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาจิตใจและคุณธรรม (๒) ความยั่งยืนของโครงการที่สามารถต่อยอดและขยายผลได้ และ (๓) การให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน การศึกษา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งในและต่างประเทศ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลประกอบด้วย
  • นอกจากนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังได้เห็นชอบการดำเนินโครงการและกิจกรรมสำคัญรวม ๙ รายการ อาทิ (๑) โครงการการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่บริเวณกระทรวงมหาดไทยเดิม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิประวัติและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา (๒) โครงการสถาบันกรรมฐานศึกษาสมเด็จพระสังฆราช และทุนการศึกษาสมเด็จพระสังฆราชในพระสังฆราชูปถัมภ์ ดำเนินการมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการตามพระดำริด้านการศึกษา (๓) โครงการพัฒนาวัดต้นแบบ ได้แก่ วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ซึ่งได้ดำเนินโครงการคืนธรรมชาติสู่พื้นที่วัด ตามพระดำริและแนวทาง “Green Buddhism for Sustainable Development” (๔) โครงการธรรมะ สานใจ สูงวัยพลังบวก ซึ่งจะมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายบ้าน วัด โรงเรียน โดยจะเริ่มโครงการนำร่องใน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

 

๒.   การประชุมรัฐมนตรีบิมสเทค ครั้งที่ ๑๙

  • ในปีนี้ไทยเป็นประธานบิมสเทคหรือกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ [1] ไทยมุ่งสานต่อความร่วมมือในการฟื้นฟู ศก. ยุคหลังโควิด-๑๙ และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืนจากการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปีที่แล้ว
  • เมื่อวันที่ ๙ มี.ค. ๒๕๖๖ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รนรม./รมว.กต. เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีบิมสเทค ครั้งที่ ๑๙ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผช.รมต.กต. เข้าร่วมในคณะผู้แทนไทย
  • รนรม./รมว.กต. ได้ย้ำว่า บิมสเทคจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นและเป็นผู้เล่นในภูมิภาคที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพื่อผลักดันให้อ่าวเบงกอลเป็นภูมิภาคที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตร่วมกัน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการรับมือประเด็นระดับโลก เช่น การพัฒนามนุษย์ การพัฒนาสีเขียว ตลอดจนประเด็นความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ ค.ศ. ๒๐๓๐ ตามที่ไทยนำเสนอ เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือบิมสเทคสู่การเป็นภูมิภาคที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติและมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ รวมทั้งร่างเอกสารผลลัพธ์อื่น ๆ เช่น กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบบิมสเทค และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล โดยเอกสารเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการหารือในการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ ในช่วงเดือน พ.ย.นี้
  • กระทรวงฯ กำลังหารือความเป็นไปได้ในการจัด กปช.รมต.บิมสเทค อย่างไม่เป็นทางการช่วงกลางปีนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ รมต.บิมสเทค แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์สำคัญในภูมิภาคและระหว่างประเทศ และแม้จะมีการจัดการเลือกตั้ง แต่ก็จะไม่กระทบต่อการเป็นประธานบิมสเทคของไทย โดยไทยมีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ในฐานะประธานบิมสเทคอย่างแข็งขัน

 

๓.   การจัดการเลือกตั้งทั่วไปนอกราชอาณาจักร ปี ๒๕๖๖

  • เมื่อวันที่ ๒๐ มี.ค. ๒๕๖๖ ได้มีการเผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่ง กกต. ได้กำหนดวันเลือกตั้งใน ปทท. เป็นวันที่ ๑๔ พ.ค. ๒๕๖๖ และเป็นหน้าที่ของกระทรวงฯ และ สอท./ สกญ. ในการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (ลต.นรจ.) โดย ลต.นรจ. จะต้องเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งใน ปทท. ไม่น้อยกว่า ๗ วัน ซึ่งแต่ละ สอท./สกญ. จะกำหนดวันเลือกตั้งและรูปแบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ต่อไป
  • ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ พ.ศ. ๒๕๖๖ ข้อ ๑๗ ออท. ต้องประกาศกำหนดวัน เวลา วิธีการออกเสียงลงคะแนน และสถานที่เลือกตั้งภายใน ๑๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.ฎ. ยุบสภาฯ มีผลบังคับใช้ กล่าวคือ ต้องประกาศภายในวันที่ ๒๙ มี.ค. ๒๕๖๖
  • ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัด ลต. นรจ. ผ่าน Social Media ของ สอท./สกญ. ในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่ โดยคาดว่า ในช่วงสิ้นเดือน มี.ค. นี้จะมีการเปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธิ ลต. นรจ.
  • ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อม ดังนี้
    • การตั้งคณะทำงานเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกราชอาณาจักร โดยมีอธิบดีกรมการกงสุล เป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานอื่น ๆ ภายในกระทรวงฯ ร่วมคณะ
    • การพัฒนาระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (Overseas Voting Monitoring System: OVMS) เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถติดตามสถานะการดำเนินงาน ลต. นรจ. ของ สอท./สกญ. ในลักษณะ real-time ได้
    • การเตรียมการด้านงบประมาณ/อุปกรณ์
    • การจัดอบรม จนท. กงสุลประจำ สอท./สกญ. เพื่อเตรียมการสำหรับการจัด ลต. นรจ. โดยได้จัดอบรมไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๖ ธ.ค. ๒๕๖๕ และมีกำหนดจะจัดอีก ๑ - ๒ ครั้งก่อนการจัด ลต. นรจ.
    • การจัดประชุม ๔ ฝ่าย (กต. กกต. มท. และ บ.ไปรษณีย์ไทย) เมื่อวันที่ ๑๑ ม.ค. ๒๕๖๖ โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับกฎระเบียบ งบประมาณ วัสดุ/อุปกรณ์ การพัฒนาระบบการลงทะเบียน ลต.นรจ. และการจัดส่งบัตร ลต.นรจ.
  • กระทรวงฯ ได้บูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ กกต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อให้การจัดการ ลต.นรจ. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น และโปร่งใส

 

๔.   บทบาทของไทยในการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development (APFSD) ปี ค.ศ. ๒๐๒๓ และกิจกรรมคู่ขนานที่เกี่ยวข้อง (๒๗ - ๓๐ มี.ค. ๒๕๖๖)

  • การประชุมเวทีหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Forum on Sustainable Development- APFSD) ครั้งที่ ๑๐ นี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๗ - ๓๐ มี.ค. ๒๕๖๖ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยจะหารือการกระตุ้นการฟื้นฟู ศก. จากโควิด-๑๙ ซึ่งมีส่วนจำเป็นในการผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ให้มีความคืบหน้า โดยจะนำไปสู่การหารือระดับสูงภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ในเดือน ก.ค. ของทุกปีที่นครนิวยอร์ก นอกจากนี้ ในปีนี้จะมีการประชุมระดับผู้นำในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG Summit) ในช่วงเดือน ก.ย. ที่นิวยอร์กด้วย
  • ในวันที่ ๒๗ มี.ค. ๒๕๖๖ รนรม./รมว.กต. มีกำหนดกล่าวในช่วงพิธีเปิด กปช. APFSD ครั้งที่ ๑๐ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๐.๐๐ น. โดยจะเข้าร่วมที่ศูนย์ประชุมฯ และ อธ. กรมองค์การ รปท. มีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงในนาม ปทท.
  • ในวันเดียวกัน กรมความร่วมมือฯ และ สนง. ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมกันจัดพิธีเปิดตัวโครงการความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี (UN South-South Triangular Cooperation: SSTC) เวลา ๑๒.๐๐ - ๑๒.๓๐ น. ณ บริเวณบูธจัดกิจกรรมของกรมความร่วมมือฯ
  • โครงการที่จะมีการนำเสนอเกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติ รัฐบาลไทย และประเทศคู่ร่วมมือด้านการพัฒนา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันนำเสนอโครงการความร่วมมือ เช่น สหภาพยุโรป องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เข้าร่วม
  • กิจกรรมอื่นที่สำคัญ ได้แก่ การกล่าวถ้อยแถลงโดยนางอุรีรัชต์ เจริญโต อธ.กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ นาย Oscar Fernandez-Taranco ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และนาง Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และการนำเสนอโครงการโดยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านเกษตรอินทรีย์ สาธารณสุข และสุขภาพแม่และเด็ก
  • สื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมทำข่าว สามารถลงทะเบียนได้ตามช่องทางของสหประชาชาติที่ https://indico.un.org/event/1003108 หรือหากมีประเด็นซักถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อ UNRCO ได้ทางอีเมล [email protected]

 

. แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงวันหยุดสงกรานต์

  • ใกล้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอเชิญชวนให้ประชาชนที่มีกำหนดการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศตรวจสอบเงื่อนไขการเข้าประเทศต่างๆ รวมทั้งเตรียมเอกสารต่างๆ และหนังสือเดินทางของตนให้พร้อม โดยตามข้อกำหนดของสายการบินต่าง ๆ จะไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางที่หนังสือเดินทางมีอายุน้อยกว่า ๖ เดือนเดินทาง
  • ในปัจจุบัน การทำหนังสือเดินทาง สามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยนอกจากกรมการกงสุล แจ้งวัฒนะแล้ว สามารถจัดทำหนังสือเดินทางได้ที่สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวอีก ๗ แห่งในกรุงเทพฯ และอีก ๑๘ แห่งทั่วประเทศด้วย ซึ่งท่านสามารถลงทะเบียนจองคิวออนไลน์ก่อนเข้ารับบริการได้ที่ https://www.qpassport.in.th/#/landing
  • สำหรับผู้ประสงค์จะทำหนังสือเดินทางด้วยตู้ kiosk ซึ่งสามารถกรอกข้อมูลและถ่ายรูปได้ด้วยตนเอง สามารถเข้ารับบริการได้ที่สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน ณ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ชั้น ๕ และสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางใหญ่ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า เวสต์เกต ชั้น G ได้
  • แนะนำให้คนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai Consular ซึ่งมีข้อมูลด้านกงสุลและรายละเอียดหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ สอท. /สกญ. ในประเทศต่าง ๆ อย่างครบถ้วน รวมทั้งสามารถขอรับความช่วยเหลือหากตกทุกข์ในต่างประเทศ ผ่านการกดปุ่ม SOS ในแอปพลิเคชั่น หรือประสานหมายเลข Hotline ของ สอท./สกญ. ในประเทศนั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ แม้ว่า สอท/สกญ. หลายแห่งจะปิดทำการช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ท่านสามารถติดต่อ สอท./สกญ. ทุกแห่งได้ตามหมายเลขสายด่วน (Hotline) รวมทั้งหมายเลข Call Center กรมการกงสุล ๐๒ ๕๗๒ ๘๔๔๒
  • ล่าสุด กรมการกงสุลได้จัดทำคลิปเตือนภัยเพื่อป้องกันประชาชนถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ กระทรวงฯ จึงขอย้ำอีกครั้งว่า “งานสบาย เงินดี” ไม่มีอยู่จริง และขอให้ท่านที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศตรวจสอบอย่างรอบคอบก่อนเดินทาง ทั้งนี้ สอท./ สกญ. พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ในต่างประเทศ

 

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/jrLr5HFadf/

 

* * * * *

กองการสื่อมวลชน

กระทรวงการต่างประเทศ

 

 

[1] ภูมิภาคบิมสเทคประกอบด้วย ๗ ปท. สมาชิก ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย มีประชากรรวมกันกว่า ๑.๕ พันล้านคน และมีกำลังซื้อสูง ทั้งยังเป็นโอกาสให้เราสานต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ BCG ด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบการแถลงข่าว_23_มีค_66_as_of_23Mar23_12.30.pdf