คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 47 ณ ระหว่างวันที่ 6-16 กรกฎาคม 2568 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 47 ณ ระหว่างวันที่ 6-16 กรกฎาคม 2568 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ก.ค. 2568

| 83 view
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 นายพืชภพ มงคลนาวิน รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee: WHC) สมัยสามัญ ครั้งที่ 47
 
รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยใน (1) การยึดหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage หรือ UNESCO Convention 1972) และการร่วมมือกับศูนย์มรดกโลก องค์กรที่ปรึกษา รัฐภาคีอนุสัญญาฯ และหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้องในการแสวงหาความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา และ (2) การให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งมรดกโลกอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินการร่วมกับศูนย์มรดกโลก อาทิ การเชิญองค์การที่ปรึกษาของศูนย์มรดกโลกมาลงพื้นที่ให้คำปรึกษา และการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การประเมินผลกระทบด้านต่าง ๆ (Heritage Impact Assessments: HIAs) ในบริบทของแหล่งมรดกโลก โดยดำเนินร่วมกับสำนักงานยูเนสโกกรุงเทพมหานครและศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ ภายใต้องค์การรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO SPAFA)
 
การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเป็นหนึ่งในการประชุมสำคัญในกรอบยูเนสโก จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ค.ศ. 1972 มีหน้าที่หลักในการอนุมัติคำขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกและปรับลดสถานะมรดกโลกให้เป็นแหล่งในภาวะอันตรายและ/หรือถอดถอนสถานะมรดกโลกที่เสื่อมโทรมและได้รับความเสียหายรุนแรง รวมถึงอนุมัติเงินสนับสนุนตามคำขอของรัฐภาคี โดยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 47 มีวาระพิจารณาข้อตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกของไทย 3 แห่ง ได้แก่ (1) เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานทวารวดีที่เกี่ยวข้อง (2) กลุ่มป่าแก่งกระจาน และ (3) กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
 
ปัจจุบัน ไทยมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและแหล่งมรดกทางธรรมชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก 8 แหล่ง ได้แก่ (1) เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (2) นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (3) แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (4) เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง (5) ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี (6) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง (7) พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ และ (8) พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และแหล่งในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) 7 แหล่ง ได้แก่ (1) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดพระบรมธาตุ) จังหวัดนครศรีธรรมราช (2) อนุสรณ์สถาน แหล่งต่าง ๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงของล้านนา (3) พระธาตุพนม กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง (4) กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด (5) สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา (6) พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และ (7) พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ ทะเลอันดามัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ