การประชุม Political Consultations ไทย-อิตาลี ครั้งที่ ๒ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

การประชุม Political Consultations ไทย-อิตาลี ครั้งที่ ๒ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,751 view

อธิบดีกรมยุโรป และรองอธิบดีกรมกิจการระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศอิตาลี ร่วมประชุม Political Consultations แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นสถานการณ์ในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ยืนยันความสำคัญของหลักการพหุภาคีนิยมเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ รวมทั้งหารือความร่วมมือรายสาขาที่เป็นรูปธรรม อาทิ การค้าการลงทุน โดยเฉพาะในเขต EEC การฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านโมเดล BCG ความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) และพลังงาน

เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ อธิบดีกรมยุโรป และนางสาวกาเบรียลลา บิออนดิ รองอธิบดีกรมกิจการระหว่างประเทศ (รับผิดชอบภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย) กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศสาธารณรัฐอิตาลี ได้เป็นประธานร่วมการประชุม Political Consultations ไทย-อิตาลี ครั้งที่ ๒ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายเชิดชู รักตะบุตร เอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม และนาย Lorenzo Galanti เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย เข้าร่วมด้วย

การประชุม Political Consultation เป็นกลไกหารือที่สำคัญระดับอธิบดีของกระทรวงการต่างประเทศไทยและอิตาลีโดยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากที่ได้ละเว้นมาเป็นเวลา ๔ ปี โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) และยืนยันความสำคัญของหลักการพหุภาคีนิยมเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทั้งสองฝ่ายได้หารือความร่วมมือรายสาขาที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ ด้านการค้าการลงทุน โดยเฉพาะในเขต EEC การฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านโมเดล BCG ความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) และพลังงาน ด้านอาหารและการเกษตร ด้านการศึกษา วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ด้านการพัฒนาและความร่วมมือไตรภาคีกับประเทศที่สาม ด้านสาธารณสุขและเภสัชกรรม และด้านความมั่นคง ทั้งนี้ ฝ่ายอิตาลียินดีต่อข้อเสนอไทยที่จะขยายความร่วมมือ SME โดยเฉพาะด้านผ้าและการออกแบบซึ่งจะมีส่วนช่วยเหลือสตรีในชุมชนห่างไกล

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในปี ๒๕๖๕ และการที่อิตาลีจะเป็นเจ้าภาพ G20 และ COP26 ร่วมกับสหราชอาณาจักรในปี ๒๕๖๔ พร้อมกันนี้ อิตาลีพร้อมพิจารณาเงินสนับสนุนให้แก่กองทุน COVID-19 ASEAN Response Fund รวมถึงยินดีสนับสนุนไทยในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปและความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทย-สหภาพยุโรปเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว

ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อประเด็นภูมิภาคและพหุภาคี อาทิ บทบาทอาเซียนในสถานการณ์เมียนมา การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรปครั้งที่ ๑๓ (ASEM13) และมุมมองต่ออินโด-แปซิฟิก ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Political Consultations ไทย-อิตาลี ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๖๕ ที่กรุงเทพฯ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ